🇹🇭💜มาลาริน💜🇹🇭17ก.ย.2565 ป่วยนอนร.พ.เหลือ764คน หาย969คน เสียชีวิต14คน รักษาอยู่9,928คน/ยกเลิกสัญญา9 รพ.เอกชน/โรคRSV



สปสช.จัดมาตรการรองรับ หลัง 1 ต.ค.65 นี้ยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน
วันเสาร์ ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2565, 15.25 น.



สปสช. ย้ำ “ไม่ลอยแพผู้ป่วย” เตรียมพร้อมมาตรการรองรับ 1 ต.ค.65 นี้ “ยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อในระบบบัตรทอง” เร่งจัดหาหน่วยบริการรองรับเพิ่ม พร้อมประสานดูแลผู้ป่วยมีนัดรักษา/ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรักษาต่อเนื่อง  
   
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่ สปสช.ได้ยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท จำนวน 9 แห่ง ได้แก่....👇

รพ.มเหสักข์, รพ.บางนา 1, รพ.ประชาพัฒน์, รพ.นวมินทร์, รพ.เพชรเวช, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.บางมด และ รพ.กล้วยน้ำไท

ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดย รพ.ทั้ง 9 แห่งนี้ ดูแลประชากรผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 696,103 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 62,331 คน หรือประมาณร้อยละ 9 ที่ใช้สิทธิรับบริการ โดยเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 24,058 คน  
 
ทั้งนี้ ขอเรียนว่าที่ผ่านมา สปสช.ได้เตรียมพร้อมมาตรการต่างๆ รองรับไว้แล้ว เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับให้การดูแล เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา ฯลฯพร้อมจัดระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้บริการ ได้แก่ ระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มทางเลือกกับให้กับประชาชน ขณะเดียวกันได้จัดหาโรงพยาบาลรับส่งต่อ พร้อมกับประสานและจัดหน่วยบริการแห่งใหม่เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีนัดรักษาหรือติดตามอาการ  

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่ลงทะเบียนใช้สิทธิกับ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่งนี้ กรณีผู้ป่วยใน ที่ยังนอนอยู่ รพ. รักษาต่อไปได้ จนกว่าจะปลอดภัย กรณีที่เป็นผู้ป่วยนัดรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ที่มีนัดติดตามอาการ ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด และกรณีหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ฯลฯ ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเร่งด่วน สปสช.ได้ประสานและจัดหาหน่วยบริการเพื่อให้การรักษาต่อเนื่องแล้ว เบื้องต้นขอให้ท่านติดต่อขอรับเวชระเบียน (ข้อมูลและประวัติการรักษา) กับโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ในขณะนี้ โดย สปสช.ได้ทำหนังสือถึง รพ. ทั้ง 9 แห่ง เพื่อขอข้อมูลผู้ป่วยพร้อมประวัติการรักษาด้วยเช่นกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประสานส่งต่อผู้ป่วย  

“ผู้ป่วยที่ต้องรักษาต่อเนื่องถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเร่งด่วน ซึ่ง สปสช.ได้ขอข้อมูลจากโรงพยาบาลเพื่อติดต่อไปยังผู้ป่วยในการแจ้งหน่วยบริการที่จะเข้ารักษารักษาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยรายใดไม่ได้รับการติดต่อจาก สปสช. ขอให้ท่านโทรมายังสายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า สำหรับผู้ป่วยไตที่มีนัดฟอกไตกับทั้ง 9 รพ.เอกชนนี้ ยังคงรับบริการได้ตามนัดเหมือนเดิม เนื่องจากการยกเลิกสัญญาไม่ได้รวมถึงการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 
  
ส่วนกรณีผู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องนั้น พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ระหว่างนี้ขอให้ท่านตรวจสอบสิทธิการรักษา ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ...👇
  
1.ผู้ที่สถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้น (หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ) และสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ (หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป) เป็น 1 ใน 9 รพ.เอกชน ขอให้ท่านลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแห่งใหม่ที่อยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งในกรณีที่ไม่มีหน่วยบริการในเขตพื้นที่ให้เลือกลงทะเบียน ขออย่ากังวลใจ เพราะขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการเร่งจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หากเกิดภาวะเจ็บป่วยท่านก็ยังใช้สิทธิบัตรทองรักษาได้ โดยเข้ารับบริการที่ทุกหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งในระบบบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  

2.ผู้ที่สถานพยาบาลเข้ารับการรักษาเบื้องต้น (หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ) เป็นคลินิกเอกชนหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ไม่ใช่ รพ. 9 แห่งนี้ และมีสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ (หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป) ระบุว่า เป็น 1 ใน 9 รพ.เอกชน เมื่อเจ็บป่วยท่านยังคงเข้ารับการรักษาได้ตามรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้นตามสิทธิได้เช่นเดิม กรณีที่จะต้องถูกส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลอื่น สปสช.ได้ประสานงานให้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ได้จัดหาเพิ่มให้ ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิรักษาเหมือนเดิมทุกประการ 

ตรวจสอบสิทธิการรักษาที่เว็บไซต์ สปสช. https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml หรือที่ไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิกลิงค์ https://lin.ee/zzn3pU6 เลือกเมนูตรวจสอบสิทธิ หรือแอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูตรวจสอบสิทธิตนเอง  
ดูรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  

เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/hospital 
เว็บไซต์ Nostra map https://map.nostramap.com/NostraMap/ หรือแอปพลิเคชัน Nostra Map เลือกชั้นข้อมูลที่เขียนว่า รายชื่อสถานพยาบาลในระบบ สปสช.  
(เลือกประเภทการขึ้นทะเบียนที่ระบุว่า บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป หรือหน่วยบริการประจำ) 

  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 กด 6  
2.ช่องทางออนไลน์ 
ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand 
ไลน์ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ พิมพ์ไลน์ไอดี @traffyfondue หรือคลิก https://lin.ee/nwxfnHw

https://www.naewna.com/local/680667

กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน หวั่นป่วยด้วยโรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV)


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปกครองเฝ้าระวังสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุไม่เกิน 5 ขวบ ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) เนื่องจากพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว

วันที่ 17 กันยายน 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว (สิงหาคม-พฤศจิกายน) มีโอกาสพบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 2 ก.ย. 2565 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 1,445 ราย มีผลตรวจพบเชื้อ RSV จำนวน 131 ราย (ร้อยละ 9) โดยตรวจพบเชื้อพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี (ร้อยละ 58) โดยพบจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่ และสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปี – มิ.ย. 65 พบผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นอาร์เอสวี จำนวน 2,341 ราย
 
โรคนี้ติดต่อได้จากการสูดละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก ผู้ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังจากติดเชื้อ 2 วัน ช้าสุดประมาณ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วันหลังจากเริ่มมีอาการ สำหรับการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กโรคมีโอกาสลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลม เนื้อปอด ทำให้เกิดอาการหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบตามมาได้ 
 
ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายกับโรคไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบเสียงหายใจมีเสียงหวีด เสียงครืดคราดในลำคอ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง และอาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวีโดยตรง การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง คือ เด็กเล็ก เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำผู้ปกครองและสถานศึกษาหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน เด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างใกล้ชิด ป้องกันได้โดยการล้างมือบ่อยๆ ล้างอย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหารและหลังเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณหน้า ตา จมูก ปาก ไม่ใช้ภาชนะอาหารและของใช้ส่วนตัวร่วมกันผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ส่วนผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบายเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งเวลาไอจาม ทำความสะอาดบ้านรวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากพบเด็กมีอาการป่วย ควรแยกออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

https://www.naewna.com/local/680661

ติดตามข่าวโควิดวันนี้ค่ะ....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่