JJNY : เสียชีวิต 13 ป่วยใหม่ยังทะลุพัน│คลังลงดาบซ้ำเศรษฐีที่ดิน│เครือข่ายปชช.บุกร้องรัฐแก้หนี้-ที่ดิน-แหล่งน้ำ│9จว.อ่วม

เสียชีวิต13ศพ โควิดวันนี้ ป่วยใหม่ยังทะลุพัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 674 ราย
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_7266429
 
โควิดวันนี้ ศบค. รายงานสถานการณ์เบื้องต้นพบผู้ป่วยใหม่ยังทะลุ 1,000 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 674 ราย เผย ติดเชื้อเสียชีวิตเพิ่ม 13 ราย
 
วันที่ 15 ก.ย.2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน ว่า เบื้องต้นมีผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) 1,125 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 1,125 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ – ราย ผู้ป่วยสะสม 2,447,874 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
หายป่วยกลับบ้าน 1,024 ราย หายป่วยสะสม 2,459,815 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 10,409 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 13 ราย เสียชีวิตสะสม 10,893 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 674 ราย ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK) (สัปดาห์ที่ 36 : 4-10 ก.ย.65) จำนวน 107,503 คน สะสม 7,940,017 คน
 
เนื่องจากตั้งแต่ 1 มิ.ย. 65 เป็นต้นมา มีการปรับระบบรายงาน โดยรายงานเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล จึงทำให้รายงานยอดผู้ป่วยสะสม มีจำนวนที่น้อยกว่ายอดผู้หายป่วยสะสม
 


คลัง ลงดาบซ้ำเศรษฐีที่ดิน เก็บภาษีปลูกกล้วยกลางเมือง
https://www.prachachat.net/finance/news-1049125

คลังชี้ท้องถิ่นมีอำนาจพิจารณาเก็บภาษีเศรษฐีนำที่ดินใจกลางเมืองปลูกพืชเกษตร หากประเมินว่า เจ้าของที่ดินแปลงใดมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี ตามกฎหมายให้อำนาจ

วันที่ 15 กันยายน 2565 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กรุงเทพมหานครขอหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในกรณีที่มีการปลูกพืชการเกษตรในที่รกร้างว่างเปล่าใจกลางเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ว่าคณะอนุกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มีการประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานครในกรณีดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ส่งรายงานมาที่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีตนเป็นประธาน

“คณะอนุกรรมการดังกล่าว จะต้องส่งคำวินิจฉัยดังกล่าวมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผมในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อหาข้อสรุป อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่ได้เสนอเรื่องมาให้พิจารณา”

อย่างไรก็ดี ในหลักการของการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละท้องถิ่นเอง เช่น หากพบว่ามีการปลูกพืชการเกษตรเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ก็สามารถจัดเก็บภาษีได้ ซึ่งเรื่องนี้ ในหลักการต้องดูที่เจตนาด้วย แม้ว่าจะมีการปลูกพืชเกษตรในที่รกร้างว่างเปล่า ถ้าเจตนาเลี่ยงภาษี ทางท้องถิ่นก็ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่า จะมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีที่รกร้างว่างเปล่า ก็เพราะต้องการให้เกิดการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากขึ้น หากการปลูกพืชเกษตรตามข้อกำหนดของกฎหมาย ก็ถือว่า มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ๆ อย่างถูกต้อง โดยตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจัดเก็บภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรในอัตราที่สูงกว่าที่ดินประเภทอื่น ๆ นั้น ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
 
“หากเป็นที่ดินรกร้างไม่ว่าอยู่ที่ใดในประเทศ แล้วเจ้าของที่ดินนำที่ดินแปลงนั้นไปทำการเกษตร ตามข้อกำหนดว่า จะต้องมีต้นไม้ในพื้นที่กี่ต้นต่อไร่ หากเป็นไปตามข้อกำหนดที่กฎหมาย กำหนด ก็ต้องถือว่าที่ดินแปลงนั้นได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร”
 
ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุด ที่จะให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ตามประเภทที่ดินดังนี้ คือ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราเพดานอยู่ที่ 0.15 %ของมูลค่าที่ดิน, ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานอยู่ที่ 0.3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินประเภทอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีเพดานอยู่ที่ 1.2%
 
ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า โดยคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะกำหนดอัตราภาษีแนะนำ แต่ละประเภทที่ดิน ให้เป็นแนวทางให้ท้องถิ่นจัดเก็บ ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราแนะนำ หรือสูงกว่าก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด
 
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพนั้น กฎหมายยังกำหนดอีกว่า หากที่ดินแปลงใดปล่อยไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และถูกเสียภาษีในอัตราที่รกร้างว่างเปล่าแล้ว ยังไม่ได้นำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ประโยชน์ ยังคงปล่อยไว้ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่านั้น ในทุก 3 ปี จะปรับอัตราภาษีเพิ่มอีก 0.3% หากไม่ได้ทำประโยชน์อะไรอีก ก็จะปรับขึ้นภาษีไปเรื่อย ๆ แต่สูงสุดจะต้องไม่เกิน 3% ของราคาประเมิน



ปิดจราจรรอบทำเนียบ หลังเครือข่ายประชาชนบุก เรียกร้องรัฐแก้หนี้-ที่ดิน-แหล่งน้ำ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3563555

ปิดจราจรรอบทำเนียบ หลังเครือข่ายประชาชนบุก เรียกร้องรัฐแก้หนี้-ที่ดิน-แหล่งน้ำ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เช้าวันเดียวกันนี้ (15 ก.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้ทำการจัดและปิดเส้นทางการจราจรโดยรอบทำเนียบรัฐบาล เป็นการชั่วคราว โดยถนนพิษณุโลก ปิดตั้งแต่แยกสวนมิกสักวัน จนถึงแยกนางเลิ้ง, แยกนางเลิ้งเปิดใช้หนึ่งช่องทางฝั่งราชวินิตมาแยกวัดเบญจฯ, ถนนราชดำเนิน ปิดตั้งแต่แยกสวนมิกสักวัน จนถึงมัฆวาน สืบเนื่องจาก เมื่อเวลา 00.01 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาคและเกษตรกรทั้งประเทศ นำโดย นายประพาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค นายอุทัยรัชต์ ปรีชา (ผู้ประสานงาน) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (รักษาการ นรม.) เพื่อหามาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกขององค์กร รวมทั้งเกษตรกรทั้งประเทศ
 
ทั้งนี้สภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค ได้กำหนดประเด็นปัญหาและสาระสำคัญเพื่อยื่นเสนอต่อรัฐบาลประกอบด้วยประเด็นหลักดังนี้ 
1. การแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป 
2. การแก้ปัญหาที่ดินและป่าไม้
3. การแก้ปัญหาการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรและประชาชนทั่วไป 
4. การแก้ปัญหาแหล่งน้ำทั้งระบบ

โดยเช้านี้ กลุ่มสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค ปักหลักที่บริเวณ ประตู 2 มหาวิทยาลัยพระนคร ถึงด้านหน้ากรมหลวงชุมพรฯ มียอดจำนวน 900 คน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่