บันได ปัญหาของบ้าน ขึ้นแล้วไม่อยากลง ลงแล้วไม่อยากขึ้น

บ้านหลังนี้สร้างมาราว ๆ ปี 2551 ค่ะ ตอนสร้างคุณพ่อป่วย แล้วก็เสียพอดี ตอนสร้างไม่มีคนคุม เราก็ยังเด็ก
พอบ้านใกล้เสร็จเราก็ไม่โอเคกับบันไดค่ะ แต่บ้านหลังนี้ตอนเราไม่ได้จะเป็นคนอยู่อาศัย ก็ไม่มีปากเสียงอะไร
พอมาถึงตอนนี้ เราต้องมาอยู่บ้านหลังนี้ค่ะ ปัญหาบันไดก็วนกลับมาในใจเราอีกครั้ง
การเดินขึ้นบันได การเดินลงบันได ไม่โอเคมาก ๆ สำหรับเราค่ะ อยากจะขอคำแนะนำ คำปรึกษา
จากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่มีความรู้ค่ะ เราควรแก้ไขบันไดพวกนี้อย่างไรดีคะ 
เราควรกลับไปวัดขนาดบันได จากจุดไหนถึงจุดไหนบ้างเพื่อให้เพื่อน ๆ ตอบคำถามของเราได้คะ

** ขอเพิ่มเติมตรงคำว่าไม่โอเคค่ะ
คือเวลาก้าวขึ้นลูกตั้งแต่ละลูกขนาดไม่เท่ากันเลยค่ะ ลูกนอนก็ไม่พอดีกับการวางเท้า ทำให้การขึ้นลงต้องจับราวบันไดตลอดค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
เราก็เจอมา ความสูงแต่ละขั้นไม่เท่ากัน
ถ้าให้ดี ต้องเฉลี่ยความสูง และขนาดลูกนอนใหม่ แต่ปัญหาจะอยู่ที่จุดเลี้ยว ถ้าจัดความสูงไม่ดีหัวจะติด,ชนเพดานได้

เราก็เจอ ขั้นบันไดเดิมของเราสูง๑๔-๒๐ซม.  ทำให้สะดุดบ่อย ดีที่หัวยังไม่ทิ่ม เราเลยออกแบบคำนวนทำบันไดใหม่ ให้ลูกนอนเท่ากัน ลูกตั้งสูง๑๒ซม. ดีที่บันไดเราเป็นบันไดตรง มีพื้นที่ต่อขั้นบันไดไปอีก เลยยืดบันไดไปอีกประมาณ๖๐ซม. ลองสังเกตราวบันไดด้วย ด้านล่างจะเตี้ยกว่าด้านบนเยอะ เพราะไม่ได้แก้ไขราวบันได

ของคุณควรให้ช่างขีดแนวบันไดที่ผนัง พยายามเสริมจะง่ายกว่าทุบ ช่วงหักเลี้ยวอาจต้องทำเป็นขั้นบันไดข้างในแคบข้างนอกกว้างหรืออื่นๆตามความเหมาะสม ที่สำคัญต้องให้ช่างทำลูกนอนและลูกตั้งให้เท่ากัน และชันให้น้อยที่สุด(อาจต้องขยายบันไดที่ชั้นล่างไปอีก๒-๓ขั้น) และต้องวัดความสูงของคนในบ้านให้เตี้ยกว่าขอบเพดานชั้นบนด้วย

รูปเพิ่งถ่ายตอนมืด ถ่ายจากบนลงล่าง พยายามดูหน่อย
พรุ่งนี้ตอนสว่างๆ อาจถ่ายให้ดูใหม่


รูปตอนเช้า จะเห็นว่าบันไดงอกมาอีก๒ขั้น เมื่อเทียบกับราวบันได
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 8
...ขนาด ระยะต่างๆ  ของบ้านรวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน จะต้องทำตามหลักของการยศาสตร์ (Ergonomic or Human Factor or Human Scale)
   บันไดก็เป็นสิ่งก่อสร้างในบ้านที่มีหลักการยศาสตร์ควบคุมเช่นกัน  ออกมาในรูปแบบของข้อกำหนดตามกฎหมาย
   ข้อกำหนดของบันไดจะแตกต่างกันในบางข้อตามท้องถิ่น  และมักออกเป็นมาตรฐานขั้นต่ำครอบคลุมไว้ อาจไม่ครบถ้วน  ดังนั้นส่วนหรือระดับของบันไดที่ดีกว่าและความครบถ้วน จะต้องเกิดจากความเข้าใจของผู้ออกแบบ-คำนวณตามหลักการที่ต้องศึกษาจากตำราและข้อกำหนดของอารยประเทศ

   การออกแบบคำนวณบันไดในขนาดขั้นบันได(ความสูงขั้นหรือระยะตั้ง ความลึกขั้นหรือระยะนอนของขั้นบันได) รูปแบบ-รูปลักษณ์ของบันได แผงราวบันได จะต้องทราบระยะต่างๆ เช่น
   -ความสูงระหว่างชั้น(จากพื้นปู-ปิดผิวสำเร็จของชั้นบนและล่างที่จะสร้างบันได
   -ขนาดของช่องบันได(กว้างและยาว)ที่พื้นชั้นบน
   -ขนาดของพื้นที่ชั้นล่างที่บันไดจะตั้งอยู่ได้
   -ความสูงของสิ่งกีดขวางทางเดินบันได เช่นคานหรือขอบฝ้า (อาจวัดจากพื้นชั้นบนมายังใต้ท้องคานหรือฝ้า) ซึ่งสิ่งกีดขวางนี้จะก่อให้เกิดเรื่องของระยะดิ่งบันได(การติดศีรษะ) ซึ่งต้องมีระยะไม่ต่ำกว่า 1,900 mm ตามข้อกำหนดสำหรับอาคารพักอาศัย
   -ความสูงฝ้า
   ฯลฯ

   บันไดตามรูปของ จขกท. เป็นชนิดบันไดตรง ประเภทหักมุมรูปตัว L  แบ่งเป็นขั้นบันไดตรง 2 ช่วง  1 ขั้นชานพักที่หักมุม 90 ํ
   ขั้นบันไดมีขนาดไม่เท่า สังเกตุจากกระเบื้อง(น่าจะเป็นขนาด 200 mmx200 mm) ดังนี้
   -มีความสูงขั้นหรือระยะตั้งของขั้นต่ำกว่า 200 mm (ขั้นที่ 3 และ 4 )และสูงกว่า 200 mm (ตามข้อกำหนดกฎหมาย ห้ามสูงกว่า 200 mm)
   -มีความลึกขั้นหรือระยะนอนของขั้นทั่วไปประมาณ 220 mm  แต่บางขั้นมากกว่ามาก(ขั้นที่ 1 และ 2 )
   ผลคือได้บันไดที่มีค่าการย่างก้าวและค่าความชันบันไดไม่คงที่ ผิดเพี้ยนกันมาก โอกาสก้าวพลาดตกบันไดสูง  บันไดที่ดีต้องมีค่าทั้งสองเท่ากันกันทุกขั้นและมีค่าคงที่ภายใต้ข้อกำหนด
   การแก้ไข: ต้องนำระยะต่างๆที่กล่าวไว้ข้างบนมาออกแบบ-คำนวณให้ได้บันไดที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิดด้วยผนัง 2 ด้าน จึงเสมือนเป็นบันไดที่ถูกบังคับด้วยช่องและปล่องบันได
   และที่สำคัญ ต้องนำชานพักมาทำเป็นขั้นบันไดที่เรียกกันว่า ขั้นแบบ Winders เพื่อเพิ่มจำนวนขั้นบันไดและหรือขยายช่วงบันได
   ตามรูปล่าง เป็นขั้นบันได Winders ในระดับการที่ 3 แบบ Tapering ที่มุมในของขั้นไม่เป็นมุมแหลม


https://www.facebook.com/panawongsa/photos/pcb.3482407721873399/3482317971882374
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่