JJNY : 5in1 47องค์กรจี้ประยุทธ์ลาออก│คนไทยอดอยาก2.6แสนคน│ขึ้นอีก!"ไข่เป็ด"│“พท.”ห่วงน้ำท่วมหลายที่│‘ศิริกัญญา’ปลุก กสทช.

47 องค์กร แถลงจี้ ประยุทธ์ ลาออกทันที ไม่ต้องรอศาลตัดสิน ชงปิดสวิตช์ส.ว.
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7237837

 
ราษฎรและเครือข่าย 47 องค์กร แถลงการณ์ จี้ ประยุทธ์ ลาออกทันที เตือน บิ๊กป้อม อย่าชิงยุบสภา ให้รัฐสภาเร่งแก้ รธน. มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ
 
วันที่ 29 ส.ค.2565 กลุ่มราษฎร และเครือข่าย รวม 47 องค์กร ออกแถลงการณ์ กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และการขึ้นรักษาการนายกรัฐมนตรี โดยราษฎร เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นความจริงที่ประจักษ์ได้ โดยไม่ต้องอาศัยคำวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปี ตามกรอบรัฐธรรมนูญแล้ว
 
ทั้งนี้ การขึ้นดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรักษาการนายกฯ อาจส่งผลให้การเมืองไทยมีแต่เลวลง และนำมาซึ่งการใช้อำนาจแทรกแซงทำลายความเป็นไปของกระบวนการเลือกตั้ง จึงขอประกาศแก่ พล.อ.ประวิตร อย่าใช้อำนาจที่ท่านไม่มี สร้างสุญญากาศทางกฎหมายด้วยการประกาศยุบสภา ขณะที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ยังไม่ประกาศใช้
  
ราษฎร จึงขอย้ำข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
 
1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที
2. ศาลรัฐธรรมนูญต้องวางกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการพิจารณาประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ และต้องมีคำวินิจฉัยออกมาโดยเร็วที่สุด
3. ให้รัฐสภาเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจวุฒิสภา ในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง
 


เปิดตัวเลขคนไทย อดอยาก 2.6 แสนคน ผงะ! เกษตรกรผลิตเองแต่กลับไม่มีกิน
https://www.thansettakij.com/economy/538271

สศช. เปิดข้อมูล วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร พบตัวเลข คนไทย อดอยาก 2.6 แสนคน หลังมีการบริโภคไม่เพียงพอกับความต้องการสารอาหาร ที่น่าตกใจ คือ ครัวเรือนเกษตรกร กลับกลายเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหาร ทั้งที่เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารที่สำคัญ
 
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่วชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงาน ภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 โดยนำเสนอบทความ “วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน” พบข้อมูลน่าสนใจ ครัวเรือนรายได้น้อยยังมีปัญหาการเข้าถึงอาหาร โดยพบตัวเลขคนไทย อยู่ในภาวะอดอยากถึง 2.6 แสนคน
 
ทั้งนี้ตามรายงานระบุถึง สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของไทย อ้างอิงจากข้อมูล Global Food Security Index : GFSI ที่จัดทำและรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 113 ประเทศ จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit พบว่า ในปี 2564  ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 113 ประเทศทั่วโลก 
 
โดยมีคะแนนอยู่ที่ 64.5 จาก 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีคะแนนอยู่ที่ 63.6 คะแนน ซึ่งไทยอยู่ในอันดับสูงเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 15 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี 
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว หากพิจารณาความมั่นคงทางอาหารตามนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ การมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์จากอาหาร และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร ยังมีประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ เรื่องหนึ่งที่น่าตกใจ นั่นคือ 
 
ครัวเรือนรายได้น้อย ยังมีปัญหาการเข้าถึงอาหาร แม้ว่าข้อมูล GFSI ในปี 2021 จะระบุว่า ผลการประเมินองค์ประกอบด้านความสามารถในการหาซื้ออาหาร ของไทย จะมีค่าคะแนน 81.8 ซึ่งอยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม พบว่า ข้อมูลดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนด้านอาหาร 
  
ชี้ให้เห็นถึงจำนวนคนไทยที่มีการบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการสารอาหารต่อวันที่มีสัดส่วนประชากรภายใต้เส้นความยากจนด้านอาหาร 0.38% ในปี 2563 หรือมีคนไทยที่มีการบริโภคไม่เพียงพอกับความต้องการสารอาหารจำนวน 2.6 แสนคน โดยอยู่ในเขตชนบทสูงกว่าในเมือง 
 
นอกจากนี้ งานศึกษาหลายชิ้น พบว่า ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารกระจุกตัวอยู่ในเขตชนบท ในแถบแห้งแล้งกันดารและห่างไกลการคมนาคม ขณะที่ ครัวเรือนเกษตรกรมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหารทั้งที่เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารที่สำคัญ โดยแนวโน้มการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารของครัวเรือนเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตอาหารกำลังลดลงทุกขณะ 
 
สะท้อนว่า แม้โดยรวมระดับรายได้ของคนในประเทศส่วนใหญ่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหาร แต่การเข้าถึงอาหารในกลุ่มเปราะบางยังจำเป็นต้องสร้างมาตรการเพื่อรับมือความไม่มั่นคงทางอาหารของกลุ่มดังกล่าว


  
ขึ้นราคาอีก! "ไข่เป็ด"ปรับราคาใหม่วันนี้ ไซส์ใหญ่อยู่ที่ 5.10 บาท/ฟอง
https://siamrath.co.th/n/377844

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดไข่ ได้แจ้งปรับขึ้นราคาไข่เป็ดอีก 10 สตางค์ /ฟอง มีผลทันทีในวันนี้ โดยเป็นการขึ้นราคาไข่เป็ด ครั้งที่ 3 ในรอบไม่ถึงเดือน ส่งผลให้ราคาไข่เป็ดขนาดใหญ่อยู่ที่ 5.10 บาท/ฟอง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้ เนื่องจากผู้เลี้ยงเป็ดไข่ได้มีการปลดกรงทำให้ไข่เป็ดขาดตลาด
 

  
“เพื่อไทย” ห่วงน้ำท่วมหลายพื้นที่ ชี้รัฐต้องเฝ้าระวัง นาข้าวเสียหาย - จี้ สธ.รายงานสถานการณ์ “ฝีดาษลิง” อย่านิ่งนอนใจ หวั่นซ้ำรอยโควิด
https://siamrath.co.th/n/377697

วันที่ 29 ส.ค.65 นางสาวชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำหลาก และน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ กรุงเทพมหานครจากฝนตกหนักต่อเนื่อง  ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งเริ่มมีความจุสูงจนต้องเร่งระบาย โดยเฉพาะเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 70%  ส่วนการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา รัฐบาลต้องใส่ใจติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีการปรับการระบายน้ำ อาจทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรหลายแห่ง ในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน เช่น จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นา หากมีน้ำท่วมขังติดต่อกันหลายวัน จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงอยากให้รัฐบาลจัดเตรียมแผนการเฝ้าระวังน้ำ หากมีความจำเป็นต้องระบายน้ำ  ต้องเร่งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนและพื้นที่รับน้ำอย่างทันท่วงที  เพราะหากปล่อยน้ำท่วมโดยไม่ดูดำดูดีพี่น้องเกษตรกร  ไร้ซึ่งการวางแผนป้องกันหรือรับมือ เท่ากับซ้ำเติมทุกข์ยากปัญหาปากท้องที่กำลังเผชิญอยู่ให้ฟื้นตัวยากลำบากมากขึ้นไปอีก  
 
อย่างไรก็ตามขณะนี้พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเริ่มได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมาเพื่อออกสู่ทะเล และเนื่องจากช่วงเวลานี้เริ่มมีน้ำทะเลหนุน ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มมีน้ำล้นตลิ่งและเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนแล้ว  จึงขอตั้งคำถามว่ารัฐบาลได้เตรียมการรับมือ ป้องกัน และวางแผนแก้ปัญหาในภาพใหญ่อย่างไร เพราะในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 8 ปี เกิดน้ำท่วมหลายครั้ง  ใช้งบประมาณแผ่นดินต่อปีไปมหาศาล  แต่ยังไม่เห็นแนวทางใดๆ ในการวางแผนและบริหารจัดการน้ำในระยะยาวแต่อย่างใด 
 
ทั้งนี้ ตนมองว่า พลเอกประวิตร  วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ท่านเล่นการเมืองเก่งด้วยการเกาะกระแสนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. โดยโทรศัพท์สายตรงให้ทหารมาช่วยในพื้นที่ กทม. แต่หากมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน  อย่าลืมว่าน้ำท่วมทั่วทั้งประเทศ จากภาคเหนือ กลาง จรดอีสาน และท่วมมาต่อเนื่องหลายสัปดาห์  จึงอยากให้พลเอกประวิตรพิจารณาดูแลทุกพื้นที่อย่างรอบคอบด้วย
 
นางสาวชญาภา  ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงในไทยว่า หลังจากที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงยืนยันรายที่ 7 เมื่อวันที่ 28 ส.ค.65  ส่วนตัวมีความเห็นว่า กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการติดต่อโรคนี้อย่างใกล้ชิดให้เทียบเท่ากับโรคระบาดใหม่อื่นๆ  รวมถึงต้องรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อด้วยความเป็นจริง  เนื่องจากที่ผ่านมานับตั้งแต่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงรายแรกในไทยตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.65 แล้วมีเพียงผู้ติดเชื้อไม่ถึง 10 ราย  หากมองในแง่ดีคงเพราะผู้ติดเชื้ออยู่ในวงแคบ แต่หากมองในมุมกลับ สังคมย่อมมีสิทธิเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ตรงตามความเป็นจริงแล้วหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาจากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนหลายครั้ง ล้วนทำให้ประชาชนเกิดความหวั่นวิตกถึงการควบคุมการระบาดของโรคอื่นๆ  ตามไปด้วย
 
“การรายงานความจริง ไม่รายงานต่ำกว่าความจริง  ไม่ปกปิด เป็นความรับผิดชอบของรัฐ ที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตประชาชน  โรคระบาดเป็นเรื่องที่คนไทยไม่อยากเจอ แต่หากต้องเจอก็ควรรู้เท่าทัน ป้องกันและรับมือได้ทัน รัฐเองควรรับผิดชอบในจุดนี้อย่างหนัก อย่านิ่งนอนใจ อย่าให้ซ้ำรอยโควิดที่การรายงานตัวเลขสร้างความสับสนให้ประชาชน” นางสาวชญาภา กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่