สุขภาพช่องปากแม่ สำคัญกับลูกน้อยอย่างไร ?

สุขภาพช่องปากแม่ ปัญหาสุขภาพช่องปากของแม่เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของลูก แม่ที่มีฟันผุหลายซี่จะมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากมาก มีโอกาสสูงที่จะถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกมากขึ้น

ทำให้ลูกมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคฟันผุ มีการศึกษาพบว่า เด็กที่แม่มีสุขภาพช่องปากไม่ดี มีปัญหาสุขภาพช่องปากมากกว่าเด็กที่แม่มีสุขภาพช่องปากดีถึง 5 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ในคุณแม่ที่มีโรคปริทันต์อักเสบ
การได้รับบริการขูดหินน้ำลายและทำความสะอาดช่องปากจะช่วยลดภาวะเหงือกอักเสบ และการอุดฟันช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากคุณแม่ได้
---------------------------

จริงหรือไม่ที่กล่าวกันว่า แม่ตั้งครรภ์จะฟันผุง่าย เพราะลูกแย่งแคลเซียม

ไม่จริง เรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ผิด ที่จริงแล้วปัญหาสุขภาพช่องปากในช่วงตั้งครรภ์ มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป เช่น การรับประทานอาหารบ่อยครั้ง มีการกินจุบจิบมากขึ้น

รวมถึงพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากอาจเปลี่ยนไปด้วย เช่น คุณแม่บางท่านมีอาการแพ้ท้องรุนแรง การแปรงฟันอาจกระตุ้นการอาเจียน ทำให้ไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้เต็มที่เช่นเดิม จึงเกิดปัญหาเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ และโรคฟันผุ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

มีคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก รับการรักษาตามความจำเป็น และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อสามารถช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปาก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดช่วงตั้งครรภ์
---------------------------

การทำฟันช่วงตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่ ?

ในช่วงตั้งครรภ์สามารถทำฟันได้อย่างปลอดภัย โดยปกติแล้วทันตแพทย์จะนัดทำการรักษาทางทันตกรรมในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) เพราะเป็นช่วงที่อาการแพ้ท้องมักจะน้อยลงหรือไม่มีอาการแพ้ท้องแล้ว และขนาดครรภ์ยังไม่ใหญ่มาก ยังสามารถนั่งบนเก้าอี้ทำฟันได้โดยไม่อึดอัด
อย่างไรก็ตาม

หากมีอาการฉุกเฉินหรือเร่งด่วน เช่น ปวดฟัน เหงือกบวมเป็นหนอง ฟันได้รับอุบัติเหตุ หรือมีภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น มีรูผุขนาดใหญ่ มีฟันผุเหลือแต่ราก มีวัสดุอุดชำรุดที่มีขอบคมห รือรบกวนการรับประทางอาหาร

สามารถไปพบทันตแพทย์ได้ทุกอายุครรภ์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายกว่าตามมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่