แชร์ประสบการณ์ "เมื่อคุณแม่เป็นโรค AVM (เอวีเอ็ม)"

แชร์ประสบการณ์ "เมื่อคุณแม่เป็นโรค AVM"
หรือที่เรียกว่า เส้นเลือดขอดในสมอง 

ต้องเล่าก่อนว่า ไม่เคยรู้จักโรคนี้มาก่อนเลย ......

• เริ่มจากคุณแม่มีอาการเดินล้มหมดสติ เมื่อญาติมาพบเห็น จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล (มีอาการชักเกร็งร่วมด้วย) 
พอทราบเรื่อง เราตกใจมากกก ปกติคุณแม่แข็งแรงมาโดยตลอด
**ปัจจัยร่วมคือ คุณแม่เริ่มมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
• เข้าห้องฉุกเฉิน ทำการตรวจเลือด เอกซเรย์สมอง CT Scan
(ผล CT Scan พบหลอดเลือดเเดงและหลอดเหลือดดำผิดปกติ และมีเลือดออกในสมองเล็กน้อย)
คุณแม่เริ่มมีภาวะโรคความดันโลหิตสูงพร้อมๆกัน อาจเป็นปัจจัยร่วมในการเกิดโรคครั้งนี้ด้วย
•  และมีการตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อความละเอียดแม่นยำ
(ผล MRI แพทย์แจ้งยืนยันพบเป็นโรค AVM เส้นเลือดผิดปกติในสมอง หรือเส้นเลือดขอดในสมอง 
• ได้พบแพทย์เพื่อผู้เชี่ยวชาญในการรักษา มีการวินิจฉัยในการรักษา
แพทย์มีการฉีดสารทึบรังสีผ่านทางขาหนีบเข้าเส้นเลือดแดงใหญ่ เพื่อดูเส้นเลือดที่ผิดปกติได้ชัดเจน และเพื่อทำการวินิจฉัยและวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
____________________________________________________________________________

**ข้อมูลเพิ่มเติม**
การรักษาโรคเอวีเอ็ม AVM ประกอบด้วย 3 วิธี 
1. การผ่าตัด เหมาะรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่รอยโรคมีขนาดเล็ก อยู่ตื้น ไม่ลึก
2. การใช้รังสีรักษา โดยการฉายรังสีด้วยเทคนิคที่ซับซ้อนที่บริเวณรอยโรค รังสีรักษาจะส่งผลให้หลอดเลือดที่ผิดปกติค่อยๆฝ่อลงไป เหมาะกับรอยโรคที่มีขนาดไม่ใหญ่เกิน 3 เซนติเมตร
3. การอุดหลอดเลือดที่ผิดปกติ (Embolization) โดยการรักษาทางรังสีร่วมรักษา โดยการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดที่ผิดปกติ และฉีดสารที่เรียกว่า Glue (สารที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน) หรือ กาว (Glue embolization) ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีรอยโรคได้หลายขนาด
อนึ่ง ในผู้ป่วยบางรายที่มีรอยโรคขนาดใหญ่ ก็อาจต้องใช้หลายๆวิธี ดังกล่าวร่วมกันในการรักษา
____________________________________________________________________________

• ผลการวินิจฉัยแพทย์แจ้ง การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด (ง่ายที่สุด) เนื่องจากอยู่บริเวณผิว ซึงทำการผ่าตัดได้ง่าย ในเคสคุณแม่
แพทย์ทำการนัดรักษาโดยการผ่าตัด
• เมื่อถึงวันที่แพทย์นัด: พบแพทย์คุยรายละเอียด/ความเสี่ยง พร้อม Admit เตรียมนอนโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดสมอง
ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งความเสี่ยงต่างๆขึ้นอยู่แต่ละบุคคล !! 
และเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด พยาบาลเเจ้งรายละเอียดต่างๆ เช่น แจ้งว่าทำการผ่าตัดโดยไม่มีการโกนผม ....

• เมื่อถึงวันทำการผ่าตัด AVM (เส้นเลือดที่ผิดปกติในสมอง)
- เวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่มารับไปห้องผ่าตัด และทีมแพทย์ดำเนินการผ่าตัด AVM เส้นเลือดที่ผิดปกติออก
- เวลา 11.00 น. จนท พาคุณแม่ออกจากห้องผ่าตัด (ทำการผ่าตัด 2-3 ชั่วโมงโดยประมาณ) เพื่อไปห้องพักฟื้น
- เวลา 13.30 น. คุณแม่ฟื้นตัวหลังจากผ่าตัด 2 ชั่วโมงครึ่ง

**ซึ่งแขนขาไม่อ่อนแรง ความจำปกติ กลับมาจำได้เร็ยมาก  ถือว่าโล่งอกมากกกกกกกกกกกกกกกกกก
แพทย์แจ้งว่า ฟื้นตัวได้เร็วมาก อีก 1 อาทิตย์ ให้มาตัดไหม 
• ทำการตัดแม็กที่เย็บออก แผลแห้งดี (แผลผ่าตัดคุณแม่ไม่ใหญ่มาก เส้นผมปิดก็แทบจะไม่เห็น)
• สามารถกลับไปพัก/ฟื้นฟูร่างกายที่บ้านได้ พร้อมทั้งทานยาตามแพทย์สั่ง
• แพทย์นัดทำ เอกซเรย์สมอง CT Scan หลังผ่าตัด
แพทย์แจ้งว่าผล CT Scan ไม่มีเส้นเลือดที่ผิดปกติแล้ว ได้ทำการผ่าตัด AVM ออกหมดแล้ว 
• คุณแม่ใช้ชีวิตปกติ ค่อยๆฟื้นฟูร่างกายเพื่อให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรง
** ใช้ระยะเวลาค่อยๆฟื้นฟู ซึ่งแรกๆคุณแม่เขียนหนังสือได้ช้า และยังไม่ปกติ
 
• หลังผ่าตัด 1 ปี และติดตามหลังผ่าตัด** แพทย์นัดทำตรวจ MRI การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อความละเอียดแม่นยำ
 เพื่อความสบายใจ ความละเอียดแม่นยำ 
แพทย์แจ้งว่าผล MRI ไม่มีเส้นเลือดที่ผิดปกติแล้ว ได้ทำการผ่าตัด AVM ออกหมดแล้ว สบายใจได้เลย
• ซึ่งปัจจุบันคุณแม่ใช้ชีวิตปกติ กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรง
ต้องขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาลทุกท่าน
ที่รักษาคุณแม่ให้หายป่วยจากโรคนี้ได้ 

เพื่อเป็นแนวทางสำหรับบางท่านที่ต้องการข้อมูลนะคะ ยิ้ม
พบแพทย์อย่างสม่าเสมอ 
ทุกอย่างใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู ให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงค่ะ
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน ให้การรักษาผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ 

หากผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

อมยิ้ม04

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

** ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลค่ะ** 
ขอบคุณข้อมูลจาก >> https://www.pobpad.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AD

โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม AVM
Avm (Cerebral arteriovenous malformation) หรือโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม เป็นโรคที่พบได้ยาก อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา โรคนี้เกิดจากการเชื่อมต่อที่ผิดปกติระหว่างหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงในสมองที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติ อย่างอาการปวดศีรษะ สับสน ชัก มีปัญหาในการมองเห็น หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยอาการเหล่านี้อาจปรากฏขึ้นในภายหลัง ส่วนวิธีรักษานั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดหลอดเลือดที่ผิดปกติ อาการ ลักษณะของผู้ป่วย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

- อาการของ AVM
           ภาวะเลือดออกในสมองเป็นอาการที่มักพบกว่าครึ่งหนึ่งในระยะแรกของโรค AVM ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น สับสน ได้ยินเสียงหวี่ภายในหู ปวดศีรษะข้างเดียวลักษณะคล้ายไมเกรนแต่ก็อาจปวดได้หลายจุดเช่นกัน มีปัญหาในการเดิน ชัก เป็นต้น แต่ผู้ที่ไม่มีเลือดออกในสมองอาจมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ชัก และอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
           นอกจากนี้ ความผิดปกติของโรค AVM ยังอาจทำให้เกิดความดันสูงในสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มีปัญหาในการมองเห็น กล้ามเนื้ออ่อนแรงตามร่างกายหรือใบหน้า รวมทั้งมีอาการชาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
           ตำแหน่งของ AVM นั้นเกี่ยวข้องกับลักษณะอาการทางประสาทที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต สูญเสียการมองเห็น พูดติดขัด สับสน ไม่สามารถเข้าใจการสื่อสารจากคนอื่นได้ และเสียการทรงตัว เป็นต้น นอกจากนี้ โรค AVM ยังมีอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว คือ อาการหลอดเลือดดำเกเลน (Vein of Galen) บกพร่องที่อาจส่งผลให้สมองบวม เส้นเลือดบนศีรษะปูดบวมจนสามารถเห็นได้ เกิดอาการชัก หยุดการเจริญเติบโต และหัวใจวายได้

- สาเหตุของ AVM
          โดยปกติแล้วหลอดเลือดแดงนั้นมีหน้าที่ในการลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนไปสู่สมอง โดยเลือดในหลอดเลือดแดงจะไหลเวียนอย่างช้า ๆ ผ่านกลุ่มหลอดเลือดฝอยจำนวนมาก และจะค่อย ๆ เข้าสู่ผนังที่มีรูขนาดเล็กรอบเนื้อเยื่อสมองอย่างช้า ๆ เพื่อเติมออกซิเจนและสารอาหารให้กับเนื้อเยื่อสมอง จากนั้นเลือดจะไหลเวียนเข้าตามเส้นเลือดฝอยและกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำที่มีหน้าที่ลำเลียงเลือดกลับสู่หัวใจและปอดเพื่อเติมออกซิเจน
แต่ในผู้ที่เป็นโรค AVM กลุ่มหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงนั้นเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้เลือดจากหลอดเลือดแดงไหลเวียนตรงสู่หลอดเลือดดำเร็วกว่าปกติโดยไม่ผ่านกลุ่มหลอดเลือดฝอย 
           อย่างไรก็ตาม นักวิจัยและแพทย์ยังไม่พบสาเหตุหลักของโรคนี้ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาที่บกพร่องตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์ที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้น นอกจากนี้ โรค AVM ยังอาจส่งผ่านทางพันธุกรรมได้อีกด้วย

- การวินิจฉัย AVM
  แพทย์อาจเริ่มต้นการวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย และสอบถามอาการ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาท นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการตรวจสอบ ดังนี้
          ตรวจเส้นเลือดสมองด้วยการฉีดสี (Cerebral arteriography) เป็นการตรวจสอบลักษณะและตำแหน่งของหลอดเลือดที่เกิดความผิดปกติ เพื่อนำมาวางแผนในการรักษา
          เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงรายละเอียดภายในสมอง ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจฉีดสีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อที่จะได้รายละเอียดของส่วนที่ผิดปกติชัดเจนมากยิ่งขึ้น
          ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นการประมวลผลคลื่นไฟฟ้าภายในเซลล์สมองซึ่งจะแสดงผลออกมาในรูปแบบของกราฟ ที่อาจบอกได้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมอง
          ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการใช้แม่เหล็กแรงสูงและคลื่นวิทยุเพื่อแสดงภาพในสมอง โดย MRI อาจสามารถบอกได้ถึงตำแหน่งของ AVM ได้และยังสามารถแสดงรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อสมองได้ด้วย

- การรักษา AVM
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็มมักมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง ร่วมถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยแพทย์อาจเลือกวิธีในการรักษาแตกต่างกันไปตามลักษณะของผู้ป่วยแต่ละคน อย่างอายุ ปัญหาสุขภาพ การตั้งครรภ์ อาการ รวมถึงตำแหน่ง และขนาดของ AVM ซึ่ง
วิธีที่แพทย์ใช้รักษาโรค AVM อาจมีดังนี้

1/ การอุดเส้นเลือด (Endovascular embolization) แพทย์จะสอดท่อที่มีขนาดเล็ก บาง และยาวเข้าไปตามหลอดเลือด เมื่อไปถึงตำแหน่งที่พบปัญหาแพทย์จะใช้อุปกรณ์ อย่างลวดขนาดเล็ก กาว หรือบอลลูนไปอุดในหลอดเลือดเพื่อลดการไหลเวียนเลือดในส่วนนั้น โดยแพทย์อาจใช้เพียงวิธีนี้ในการรักษา หรือใช้วิธีนี้เพื่อลดความของภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาในรูปแบบอื่นด้วย

2/ การผ่าตัด (Surgical removal) เพื่อนำหลอดเลือดบริเวณที่ผิดปกติออก แพทย์มักจะนำวิธีมาใช้ ในกรณีที่ AVM นั้นอยู่ไม่ลึกมากและมีความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมองหรืออาการชักอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งความเสี่ยงนั้นจะสูงขึ้นตามระดับความลึกของบริเวณที่เป็นปัญหา

3/ รังสีศัลยกรรม (Stereotactic radiosurgery) เป็นการใช้รังสีในการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสีพลังงานสูงไปยังบริเวณหลอดเลือดเพื่อทำลายส่วนที่มีปัญหา โดยระดับพลังงานของรังสีนั้นอาจขึ้นอยู่กับอาการผิดปกติ มักใช้ในกรณีที่ AVM นั้นมีขนาดเล็กและอยู่ลึกเข้าไปในสมอง หรือสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเลือดออกที่รุนแรง

- ภาวะแทรกซ้อนของ AVM
           ภาวะแทรกซ้อนจาก AVM อาจแบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรค และจากการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนจากโรค อาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น มีปัญหาในการมองเห็นและการสื่อสาร ปวดศีรษะเป็นเวลานาน สมองได้รับความเสียหาย ภาวะเลือดออกในสมอง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage) ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) หลอดเลือดฉีกขาดง่าย อาการชาตามร่างกายและใบหน้า กล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ อ่อนแรง และอาจทำให้เกิดอาการชัก เป็นต้น
            ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังจากการรักษา เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง สมองบวม ชัก และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

- การป้องกัน AVMโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็มนั้นเป็นที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นโรคอาจเกิดมาจากพันธุกรรมที่มักเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารหรือเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับโรค AVM คือการหมั่นสังเกตอาการผิดปกที่เกิดขึ้น ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ในคนทั่วไปพบว่าความชุก ของ Intracranial arteriovenous malformation อยู่ที่ 10-18 คน ต่อ 100,000 คน และอาจพบได้ประมาณร้อยละ 0.05 ในการทำ screening magnetic resonance imaging (MRI) ของสมอง
 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูล
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่