มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (ภป)

มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (ภป) เป็นองค์กรไทยที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนแนวทางทวิ/ พหุภาษา โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธ์ุมายาวนานกว่า 15 ปี ทั้งนี้เนื่องด้วยประเทศไทยมีภาษาที่ใช้สื่อสารมากกว่า 70 ภาษา แต่ภาษาไทยเป็นภาษาเดียวที่ใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน ด้วยเหตุนี้เด็กกลุ่มชาติพันธ์ุส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลจึงไม่เข้าใจภาษาไทยอันเป็นสื่อสำคัญที่ใช้สอนในชั้นเรียน ผลที่เกิดขึ้นคือ เด็กกลุ่มนี้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานและมีการเลิกเรียนกลางคัน มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดการเรียนการสอนโดยนำเอาภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนเพื่อตอบสนองกับความต้องการในห้องเรียนของนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว

มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ เป็นองค์กรไทยที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1989  (พ.ศ.2532) โดยในเริ่มต้นนั้นให้การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธ์ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เท่านั้น แต่ภายหลังในปี 2006 มูลนิธิฯร่วมกับสำนักงานการศึกษานอกระบบในการในการจัดการเรียนการสอนในชุมชนตามแนวทางทวิภาษาท้องถิ่น-ไทย (กะเหรี่ยงโปว์-ไทย) ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่  ต่อมาในปี 2007 มูลนิธิฯร่วมกับสพฐ. ได้ริเริ่มโครงการนำร่องการจัดการเรียนการสอนแนวทางทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานสำหรับ เด็กกลุ่มชาติพันธ์ุมอญที่โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และในปี 2008 ได้เพิ่มโรงเรียนนำร่องในพื้นที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ (ภาษากะเหรี่ยงโปว์) คือ โรงเรียนบ้านพุย อ.เวียงแก่นและอ.เทิง จ.เชียงราย (ภาษาม้งขาว) คือ โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน โรงเรียนบ้านแผ่นดินทอง โรงเรียนห้วยหาน และโรงเรียนบ้านห้วยคุ รวมทั้งหมด 5 โรงเรียน ดังนั้นในตอนเริ่มต้นจึงมีโรงเรียนนำร่องจำนวนทั้งหมด 6 โรงเรียน ใน 3 กลุ่มภาษา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินจากมูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพ็ชตาล๊อซี่ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และเนื่องจากการจัดการเรียนการสอนแนวทางนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้ในชั้นเรียนได้ดีและเร็วขึ้น จึงมีโรงเรียนที่นำการจัดการเรียนการสอนแนวทางนี้ไปใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันรวมโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนขยายผลทั้งหมด 63 โรงเรียนใน 8 กลุ่มภาษา (ข้อมูลปี 2564)

นอกจากนี้มูลนิธิฯได้พัฒนาความร่วมมือกับหลายๆหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กองกับการตำรวจตระเวรชายแดนที่ 33 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่  มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพ็ชตาล๊อตซี่ มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก มูลนิธิฟีเลนโทรปีคอนเนคชั่น องค์กรนานาชาติ SIL ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ และอื่นๆ การพัฒนาภาษาท้องถิ่นตัวอักษรไทย สนับสนุนการอนุรักษ์/พัฒนาภาษาของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น การอบรมวิธีการสอน พัฒนาศักยภาพของครูผู้สอน ค่าตอบแทนครูท้องถิ่น การพัฒนาหลักสูตรสำหรับครูผู้สอนในมหาวิทยาลัย และการขับเคลื่อนงานในระดับต่างๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่