REVIEW: ชีวิตนักเรียนนอกในวัยเกษียณ ประสบการณ์การฝึกงานช่วงเรียน เหนื่อยมาก โหด ไม่มันส์ และไม่ฮาเล้ยยย

สวัสดีค่ะอมยิ้ม04เพื่อนสมาชิกพันทิปทุกท่าน มาตามสัญญาที่ว่าจะมาเล่าประสบการณ์การฝึกงานระหว่างเรียนปริญญาตรีที่ฟินแลนด์ค่ะ
จากตอนเดิมที่หนูถิ่นเขียนเล่าเรื่องได้มาเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ฟินแลนด์หลังเกษียณการทำงานที่ประเทศไทยตอนอายุ 55 ปี ถ้าสมาชิกท่านใดยังไม่ได้อ่าน สามารถอ่านย้อนหลังตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้ค่ะ
https://ppantip.com/topic/41372528
https://ppantip.com/topic/41446525
 
หนูถิ่นมาเรียนต่อปริญญาตรีด้านการท่องเที่ยว หลักสูตรนี้จะต้องมีการฝึกงานรวมทั้งหมด 800 ชั่วโมง อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำว่าควรแยกฝึกงานเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงซัมเมอร์ปีที่ 1 ให้ฝึกสักประมาณ 320 ชั่วโมง ประมาณ 2 เดือน จะเก็บได้ 12 หน่วยกิต ซึ่งปิดเทอมช่วงซัมเมอร์ จะได้หยุดประมาณ 3 เดือนค่ะ 

ถ้าเราฝึกช่วงแรกไปแล้ว ปีสุดท้ายจะได้เหลือฝึกงานไม่หนักจนเกินไป เพราะเป็นช่วงที่เราต้องทำ Thesis ด้วย ฝึกช่วงหลังอีก 500 ชั่วโมง จะเก็บได้ 18 หน่วยกิต ก็จะกินเวลาประมาณ 3 เดือนค่ะ แต่หนูถิ่นคิดว่าจะปรึกษาอาจารย์ว่าซัมเมอร์ปีที่ 2 ขอฝึกงานอีกสัก 300 ชั่วโมงหรืออาจจะเก็บให้ครบอีก 500 ชั่วโมงไปเลย เพราะเพิ่งมารู้ทีหลังว่า เราสามารถเอาชั่วโมงทำงานที่ได้เงินมาเป็นชั่วโมงฝึกงานได้ ถ้าวิธีนี้ทำได้ ปีสุดท้ายจะได้ไม่ต้องฝึกงานเยอะ เอาเวลาไปเขียน Thesis ดีกว่า  
 
การที่นักเรียนจะฝึกงานเราต้องไปหาเองว่าเราจะไปฝึกงานที่ไหน ทางมหาวิทยาลัยจะส่งอีเมลล์มาว่าตรงไหนบ้างที่จะรับนักเรียนไปฝึกงานหรือที่ไหนบ้างมีงานให้นักเรียนทำช่วงปิดเทอมใหญ่นี้ เรียกว่า summer job ซึ่งช่วงปิดเทอมนี้นักเรียนสามารถทำงานได้ไม่จำกัดชั่วโมง ปกติตามกฎหมาย นักเรียนจะทำงานพาร์ทไทม์ได้สัปดาห์ล่ะไม่เกิน 30 ชั่วโมง หากเราสนใจงานไหน ก็ต้องไปสมัครเองค่ะ ได้หรือไม่ได้อยู่ที่ตัวเราค่ะ
 
หนูถิ่นเห็นอีเมลล์ที่อาจารย์ส่งมา มีงานให้ฝึกทางด้าน restaurant and café ก็รู้สึกสนใจมาก จึงเขียนอีเมลล์ไปสมัคร เพราะเขารับนักเรียนที่เรียนทางด้าน Tourism สมัครล่วงหน้าก่อนปิดเทอม 3 เดือน ทุกเดือนจะอัพเดทประชุมออนไลน์กับ onsite supervisor ทุกอย่างเป็นไปอย่างดีเลยค่ะ

ระบบของทางมหาวิทยาลัย ก่อนฝึกงานก็จะต้องเขียน Essay 1 เรื่อง คือเขียน Learning agreement ว่าเราเป็นใครมาจากไหน เราตั้งเป้าการเรียนเรายังไง แล้วเราจะเช็คได้ยังไงว่าเราทำตามเป้าหมายเราได้ อะไรประมาณนี้ค่ะ และต้องทำสัญญากับบริษัทที่เราจะไปฝึกงาน ต้องมีสัญญาก่อน จึงจะเริ่มฝึกงานได้ ทุกอย่างก็ทำผ่านไปด้วยดีค่ะ ช่วงฝึกงานเราต้องเขียนไดอารี่ทุกสัปดาห์ว่าทำอะไรบ้าง และได้เรียนรู้อะไรบ้าง ต้องบันทึกเวลาการทำงานทุกวัน และในแต่ล่ะวันทำอะไรบ้าง 

การฝึกงาน เข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 4 โมงเย็น พักทานกลางวันเวลา 11.30 น. พักแค่ครึ่งชั่วโมง ทำงานวันล่ะ 7.5 ชั่วโมงค่ะ พอฝึกงานจบ ต้องให้ onsite supervisor เซ็นต์รับบรองใบตารางเวลาการฝึกงาน พร้อมประเมินการทำงานเราด้วย หนูถิ่นต้องรวบรวมเอกสารทุกอย่างส่ง และทำวีดิโอฝึกงานหรือทำเป็นสไลด์ฝึกงานให้อาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้เกรดเราด้วยค่ะ 

หลังจากคุยกับ onsite supervisor ทุกเดือน เขาก็อธิบายให้ฟังว่างานของเขาคือเป็นบริษัทที่จัดงานอีเว้นท์เกี่ยวกับการให้คนได้มาทำกิจกรรมช่วงฤดูร้อน ก็จะเป็นการวิ่งเทรล และ orienteering ที่หนูถิ่นมาฝึกงานคือได้ทำ 2 อีเว้นท์ อีเว้นท์แรกวันแข่งขันคือแค่วันเดียว อีเว้นท์ที่สอง วันแข่งขันประมาณ 1 อาทิตย์ ซึ่งจะมีการขายอาหาร และหนูถิ่นก็มาฝึกงานเกี่ยวกับ restaurant and café  ซึ่งจริง ๆ หนูถิ่นได้ฝึกงานที่เราตั้งใจมาฝึกแค่อาทิตย์เดียว

แต่เพื่อเป็นการเก็บชั่วโมงให้ครบ 320 ชั่วโมง ก็จะมีงานเตรียมการก่อนอีเว้นท์ ซึ่ง onsite supervisor ก็อธิบายให้ฟังว่ามีงานทำป้ายต่างๆ ทำเมนูรายการอาหาร เพื่อไปติดในสถานที่แข่งขัน ก็เป็นงานออฟฟิตธรรมดา ๆ งานทางด้านเอกสาร ทำป้ายเคลือบลามิเนท  ส่งจดหมายให้ลูกค้า และหลังอีเว้นท์ก็คือการเก็บงานให้เรียบร้อย ฝึกงานที่นี่ไม่ได้เบี้ยเลี้ยงค่ะ ส่วนใหญ่ฝึกงานที่ประเทศนี้จะไม่ได้เบี้ยเลี้ยงค่ะ แต่ได้ประสบการณ์ทำงานกับคนฟินน์ เพื่อจะได้มี  connection กับคนฟินน์ในการมองหางานในอนาคต 


งานเคลือบพลาสติกป้ายต่าง ๆ ที่จะเอาไปติดในงานอีเว้นท์   

  จัดการเรื่องบัตรจอดรถของแต่ล่ะวัน

ส่งจดหมายให้ลูกค้า เป็นงานออฟฟิตธรรมดา ๆ 

ช่วงเดือนแรกฝึกงานก็อยู่แต่ในออฟฟิต ทำงานด้านเอกสารกับไปเช็คของที่ warehouse ว่ามีของเหลืออยู่ในสต็อคเท่าไหร่ เช่น แก้วน้ำ จานกระดาษ กระดาษทิชชู ถุงมือ อุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ  sport drink (เป็นเครื่องดื่มที่เอามาชงให้ผู้เข้าแข่งขันดื่มหลังวิ่งเข้าถึงเส้นชัย) เจลล้างมือ มีของจิปาถะอีกมากมาย 

ลืมบอกไปวันที่หนูถิ่นเริ่มเข้าออฟฟิตมาฝึกงาน onsite supervisor ไม่ได้อยู่ที่ออฟฟิตนะคะ เขาอยู่อีกเมืองนึง หนูถิ่นต้องทำงานกับคนฟินน์ผู้หญิง 2 คน คนที่อายุ 29 ปีเป็นพนักงานของบริษัทนี้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ส่วนอีกคนอายุ 22 ปีเป็นนักเรียนปีสุดท้ายที่มาฝึกงานเหมือนกัน แต่เขาเคยฝึกงานที่นี่มาครั้งนึงแล้ว ที่จริงเขาก็พูดภาษาอังกฤษได้ แต่เขาจะทำเป็นพูดไม่ได้ เวลาหนูถิ่นถามอะไรเขา เขาก็ไม่เคยตอบให้เข้าใจเลย จะพูดแต่ว่าพูดไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ขนาดคนฟินน์ที่พูดอังกฤษไม่ได้ ถามเขาว่าคำนี้ภาษาอังกฤษพูดยังไง  เขายังไม่บอกเลย คือไม่ช่วยให้ในกลุ่มสื่อสารกันได้  

onsite supervisor จะออนไลน์เข้ามาประชุมทุกวันว่าวันนี้ให้ทำอะไร แต่เขาเป็นคนฟินน์ทั้งหมด เขาพูดภาษาฟินน์กันง่ายกว่า ถ้าจะใช้ภาษาอังกฤษในการประชุม คนที่อายุ 29 ปี ที่เป็นพนักงานบริษัทนี้ก็ฟังไม่รู้เรื่อง สรุปว่าเขาใช้ภาษาฟินน์ในการประชุม แล้วให้ 2 คนนั้นมาบอกหนูถิ่นว่าต้องทำอะไรบ้าง หนูถิ่นก็ต้องพยายามเข้าใจเวลาเขามาบอกให้ทำงาน ทุกอย่างเป็นภาษาฟินน์หมด แม้กระทั่งตาราง Excel ที่ต้องคีย์จำนวนเวลาไปเช็คสต็อค งานแรก ๆ คือ งานเคลือบพลาสติกเอกสาร ป้ายต่าง ๆ ที่ต้องเอาไปติดในป่า ป้ายบอกทาง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ป้ายบอกระยะทางวิ่ง 

 การวิ่งเทรลจะมีระยะทาง 78, 55, 38, 21, 10 กิโลเมตร  แต่ละระยะทางก็ยังมีแยกเป็นชาย หญิง เด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง งานอีเว้นท์แรกวิ่งเทรล ผู้เข้าแข่งขันไม่มาก ประมาณ 3-400 คนค่ะ การวิ่งเทรลคือการวิ่งผจญภัยในป่าตามเส้นทางที่เขากำหนดไว้ แต่เส้นทางที่วิ่งต้องเผชิญกับเนิน ดิน หิน ทราย ไม่ใช่เป็นการวิ่งทางเรียบ ผู้เข้าแข่งขันที่วิ่งระยะทาง 55 และ 78 กิโลเมตร จะมีสัญญาณ GPS ติดตัวไปด้วย เผื่อหลงป่า เจ้าหน้าที่จะได้ตามหาตัวเจอ ผู้เข้าแข่งขันวิ่ง 78 กิโลเมตร คนที่ได้ที่หนึ่ง ใช้เวลาวิ่งแค่ 8 ชั่วโมงกว่า ๆ คนสุดท้ายที่วิ่ง 78 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่ง 16 ชั่วโมง มีเงินรางวัลให้ด้วยค่ะ ที่หนึ่งได้รับเงิน 2,500 ยูโร จะมีกล้องวงจรปิดดูได้ตลอดเวลาว่าผู้เข้าแข่งขัน อยู่ตรงไหนในป่าค่ะ  

ส่วน Orienteering จะเป็นการวิ่งที่เขาให้แผนที่และเข็มทิศนำทาง และต้องเดินทางไปตามจุดควบคุมที่กำหนดไว้เพื่อเก็บคะแนนและไปให้ทันเวลา อีเว้นท์ที่หนูถิ่นมานี้จะมีการแข่งวันนึง แล้วก็พักวันนึง สองวันสุดท้ายแข่งต่อเนื่องกันเลย หนูถิ่นก็ยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ค่ะ งานอีเว้นท์นี้จะใหญ่กว่าอีเว้นท์แรก มีคนมาร่วมงาน 4,000 – 4,500 คน ทั้งสองอีเว้นท์นี้จะมีผู้เข้าแข่งขันจากต่างประเทศด้วยค่ะ มีอยู่วันนึงมีชาวสเปนครอบครัวนึงหลงอยู่ในป่า แต่สุดท้ายก็ตามกันจนเจอ ทุกวันจะเห็นมีรถ Ambulance มารับคนบาดเจ็บ แต่หนูถิ่นก็ไม่เห็นว่าบาดเจ็บยังไงค่ะ  

กลับมาเล่าต่อเรื่องฝึกงาน หนูถิ่นเข้าไปใน warehouse เช็คของ ลองคิดดูสภาพแก้วน้ำ จานกระดาษ กระดาษทิชชู เหลือจากปีที่แล้ว แล้วเก็บเข้าโกดังไว้ 1 ปี แล้วจะเอามาใช้อีก ฝุ่นเขรอะเลย หนูถิ่นก็อดรนทนไม่ได้ ถามสองสาวออกไปว่าฝุ่นจับขนาดนี้ยังใช้ได้อีกหรือ ทั้งจานทั้งแก้วน้ำ  สองสาวไม่ตอบ แต่แอบซุบซิบภาษาฟินน์กัน ซึ่งหนูถิ่นฟังไม่ออก ในใจหนูถิ่นคิดว่า เฮ้อ! ก่อนจะมาฝึกงาน restaurant and café มาถามหนูถิ่นว่ามี Hygiene passport ไหม หนูถิ่นก็อุตส่าห์ไปสอบให้ผ่านมาเรียบร้อย คิดในใจ อยากฝึกงานให้จบ อย่าพูดมาก เงียบไว้ดีกว่า

ตอนที่หนูถิ่นฝึกงานใกล้จบ เขาให้หนูถิ่นเขียน Feedback ให้เขาด้วยว่ามีอะไรจะเสนอแนะเขา หนูถิ่นก็เลยเขียนประเด็นนี้ เพราะว่าตอนเก็บงาน เขาสั่งจานกระดาษ แก้วน้ำกระดาษมาเพิ่มอีกในวันแข่งขัน ก็จะมีของเหลือหลังงานเป็นกล่อง ๆ เลย สุดท้ายก็เอาไปเก็บใน warehouse อีก 1 ปี แล้วกว่าจะได้เอามาใช้อีกฝุ่นก็จับ หนูถิ่นเสนอแนะเขาว่าไม่ควรสั่งมาเก็บข้ามปี น่าจะพยายามคำนวณให้เหลือจำนวนหลังการจัดงานแต่ล่ะครั้งน้อยที่สุด พอปีต่อไปจะจัดงานจะได้สั่งของใหม่เข้ามา ภาชนะต่าง ๆ จะได้สะอาด

วันแข่งขันงานแรกมาถึง ต้องเดินทางไปที่สถานที่แข่งขันซึ่งก็เป็นอุทยานแห่งชาติชื่อว่า Hossa National Park วิวป่าสนสวยงามมาก อุทยานนี้อยู่ห่างจากเมือง Kajaani ที่หนูถิ่นอยู่ประมาณ 200 กิโลเมตร เมืองนี้อยู่ใกล้ชายแดนรัสเซียมาก ๆ เลยค่ะ แต่พอลงรถ แทบจะไม่อยากลงรถเลย แมลงเยอะมาก ตัวเล็กตัวน้อย มีตัวต่อ แมลงวันใหญ่กว่าแมลงวันหัวเขียวบ้านเราอีก ยุงด้วย บินตอมเราอย่างกับว่าเราเป็นของเน่าเหม็น กัดเราด้วย ปัดไม่หวัดไม่ไหวเลยทีเดียว หนูถิ่นไม่ได้เอาสเปรย์ฉีดกันมาก่อน วิ่งหนีขึ้นรถ แมลงพวกนี้มาตอมแต่พวกต่างชาติ 

คนฟินน์เดินกันชิวมาก เหมือนแมลงพวกนี้ไม่ได้ไปรบกวนอะไรพวกเขาเลย พอมาถึงสถานที่ก็ลุยงานเลยทันที แปลงร่างเป็นกรรมกรแบกหาม เอาของลงจากรถตู้ เอาของลงรถมาจัดเป็นออฟฟิตที่จะให้คนมาลงทะเบียน สองสาวฟินน์ไม่ช่วยเลยจ้า  หนูถิ่นแบกอยู่คนเดียว ฮึบสู้ ๆๆๆๆ เหมือนตกระกำลำบาก เหนื่อยมาก เท่านั้นยังไม่พอ 

พอ onsite supervisor มาถึง ก็เกณฑ์หนูถิ่นไปช่วยตอกป้ายบอกทางผู้เข้าแข่งขัน เป็นป้ายที่เราทำมาจากออฟฟิต ป้ายเคลือบพลาสติก แล้วเอาแม็กซ์ยิงให้ติดกับไม้ แล้วเอาไม้ตอกลงบนดิน ดินก็แข็งมาก มีมากกว่านั้น สั่งงานหนูถิ่นใหญ่เลย ให้สร้างรั้ว กางเต็นท์ ชี้ให้ดูว่าตรงนี้เราจะทำเป็นจุด Finish line ที่ผู้เข้าแข่งขันวิ่งเข้าเส้นชัย แล้วหนูถิ่นอยู่หน่วยนี้ เป็นคนแจกน้ำ แจกอาหารให้ผู้เข้าแข่งขัน 

หนูถิ่นก็บอกหัวหน้าว่า หนูถิ่นไม่เคยมางานแบบนี้ จินตนาการไม่ออกว่าจะสร้างออกมาอย่างไร เขาก็นิ่งไป พอสักพักก็มาช่วยกางเต็นท์ ซึ่งเวลากางเต็นท์ ต้องใช้คน 4 คนยืนกันคนล่ะมุมเพื่อกางเต็นท์ออกมา ตอนสั่งหนูถิ่น เราไม่มีคน จะไปหาคนที่ไหนมาช่วย พอสร้างรั้ว ก็ต้องมีเครื่องมือขันน็อตให้มันยึดติดกัน งานโหดมาก พอสร้างรั้วเสร็จก็ต้องเอาป้ายสปอนเซอร์ต่าง ๆ มาติดที่รั้วอีกทีนึง หนูถิ่นก็อดทนสุด ๆ เลยนะ


วิวด้านใน Hossa National Park

วิวบ้านพักใน Hossa National Park 

วิวบ้านพักใน Hossa National Park


ทางเดินลงไปว่ายน้ำในทะเลสาบ


รถตู้ที่ใช้ในการเดินทาง


Event center office ที่หนูถิ่นขนของจากรถตู้มาลงที่นี่ค่ะ


กางเต็นท์เพื่อทำเป็นจุดบริการน้ำและอาหาร

 
สร้างรั้วและติดป้ายสปอนเซอร์


ติดตั้งป้ายบอกทางแบบนี้ รอบ ๆ National Park
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่