เจ้าแม่โพสพ (ไหว้ศาลเจ้า ep6)

ตอนผมเป็นเด็ก ผมอยู่กับยาย ยายมักสอนผมเสมอว่า กินข้าว ต้องกินให้หมดจาน เพราะยายเคยเป็นชาวนามาก่อน รู้จักความยากลำบากของการทำนาดี เพราะฉะนั้นกว่าจะปลูกข้าวให้โต ออกรวงได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่ดำนา ต้องก้มๆเงยๆ ปวดหลังและยังต้องหมั่นดูแล ขจัดวัชพืชและศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ กว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ด 
 
“กินข้าว จึงควรกินให้หมดจาน อย่ากินทิ้งกินขว้าง ควรตักข้าวให้พอกับที่เรากิน”
 
ผมยึดมั่นถือมั่นต่อคำสั่งสอนของยายมาโดยตลอดจนทุกวันนี้ กินข้าวต้องกินให้หมดจาน และรำลึกถึงบุญคุณของข้าวหรือพระแม่โพสพที่ช่วยให้เราเติบโตขึ้นมาเป็นคนถึงทุกวันนี้....
 
พูดถึงแม่โพสพ หรือเทพธิดาประจำข้าวแล้ว ก็ให้หาข้อมูลว่า มีศาลเจ้าแม่โพสพในกรุงเทพฯที่ไหนบ้าง ช่างบังเอิญไปค้นเจอศาลเจ้าแม่โพสพอยู่ไม่ไกลมากนัก แถวลาดพร้าวซอย ๑ นี่เอง
 
ว่าแล้วก็ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปลงสถานีปลายทางห้าแยกลาดพร้าว ตรงกับเซ็นทรัลลาดพร้าวนั่นแหละ ออกจากสถานีก็เดินไปเรื่อยๆ จนถึงถนนลาดพร้าว ตาก็คอยมองป้ายลาดพร้าวซอย ๑ เดินผ่านห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอลล์ ก็จะเจอซอย เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามซอย ไม่ไกลนัก ก็จะเจอศาลเจ้าแม่โพสพอยู่ทางด้านขวามือพอดี
 
ผมมาหยุดยืนถ่ายรูปป้ายหน้าศาลเจ้า ก่อนเดินผ่านเข้าไป เห็นรถจอดอยู่หลายคัน และมีป้ายเขียนว่าวันนี้มีประชุม คงมีประชุมคณะกรรมการมูลนิธิศาลเจ้า ในใจก็คิดเลยไปว่า เอ...แล้วเราจะไปไหว้ศาลเจ้าแม่โพสพได้หรือไม่หนอ...

 
แล้วก็เดินเข้าไปหน้าศาล เปิดอยู่ ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำศาล จึงเข้าไปไหว้เจ้าแม่ พร้อมกับถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก...
 
ประวัติศาลเจ้าแม่โพสพ มีดังนี้
 
......พระแม่โพสพ “เทวีแห่งข้าวพันธุ์ธัญญาหาร” ตามคติความเชื่อของไทยเป็นที่เคารพสักการะและกราบไหว้บูชามาตั้งแต่ครั้งโบราณของชาวไทย ลาว และละแวกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะถือเป็นผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ในด้านข้าวปลาอาหาร โดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าว มักบูชาเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกตามฤดูกาล
 
พระแม่โพสพ เป็นความเชื่อที่รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นภาคเทวสตรี บางตำราเรียก ‘พระไพรศรพณ์’ อันเป็นอวตารในภาคเทพบุตร ซึ่งมีตำราหลากหลายที่กล่าวถึงกำเนิดความเป็นมา มีอาทิ
 
“พระแม่โพสพ” เป็นการแบ่งภาคของ “พระพรหม” ด้วยทรงร้อนอาสน์ในความทุกข์ร้อนของมวลมนุษย์ เมื่อทรงตรวจดูก็พบว่า ประไลยโกฎิพระดาบส ได้บำเพ็ญตบะด้วยความมุ่งมั่น แต่ต้องหิวโหยอดอยากเพราะขาดอาหาร อยู่ในชายป่าริมแม่น้ำ จึงอวตารลงมาในนาม ‘พระไพรศรพณ์’ บันดาลให้เกิดฝนตกทั่วบริเวณอาศรม เมื่อฝนซาก็ปรากฏเมล็ดข้าวสาลีโปรยทั่วบริเวณ และเจริญเติบโตขึ้นเป็นรวงข้าวเหลืองอร่าม พระดาบสจึงได้เก็บเกี่ยวมารับประทานและแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน บางส่วนให้เป็นอาหารของนกกา จากนั้นมาท่านก็ได้ดูแลรดน้ำต้นข้าวสาลีอย่างสม่ำเสมอ และได้แบ่งเมล็ดพันธุ์ไปให้ชาวบ้านนำไปเพาะปลูกจนมีข้าวสาลีมากมาย ทำให้ชาวบ้านพ้นจากความอดอยาก ประไลยโกฏิดาบสจึงบอกกล่าวให้ชาวบ้านบูชาบวงสรวง ‘พระแม่ไพรศรพณ์’ ด้วยความเคารพนับถือที่เป็นผู้ประทานข้าวให้แก่เหล่ามวลมนุษย์ และเป็นความเชื่อสืบต่อมาจนปัจจุบัน
 

หรือบางตำรากล่าวว่า “พระแม่โพสพ” เป็นนางฟ้าอยู่ เป็นสนมเอกขององค์อัมรินทราธิราช บนสรวงสวรรค์ วันหนึ่งนำดอกไม้ไปถวายองค์อัมรินทราธิราช พระองค์ทรงมองเห็นว่า พระแม่โพสพซึ่งมีเนื้อเหลืองอร่ามดั่งทองนั้น ดูหม่นลง จึงให้นางเสียสละเนื้อให้แก่ชาวโลก นางจึงเสด็จลงมายังโลกโดยเก็บดอกไม้สวรรค์มาด้วย เพื่อมาหา ‘ฤาษีตาไฟ’ ซึ่งฤาษีตนนี้จะนั่งหลับตาตลอดเวลา และลืมตาเมื่อดอกไม้ในป่าหิมพานต์บานเพียงครั้งเดียว โดยจะออกจากฌานด้วย เพราะถ้าไม่ได้ออกจากฌานแล้ว เมื่อลืมตาไฟก็จะไหม้
 
 เมื่อพระแม่โพสพเข้าไปหา ฤาษีได้กลิ่นดอกไม้สวรรค์จึงลืมตาโดยยังไม่ออกจากฌาน ปรากฏว่าไฟไหม้พระแม่โพสพจนเป็นเถ้า ฤาษีเห็นดังนั้นก็แปลกใจ จึงชุบขึ้นมาถามไถ่ พระแม่โพสพบอกวัตถุประสงค์แล้วกลายรูปเป็นเมล็ดข้าว พระฤาษีจึงใช้ไม้เท้าตีลงบนข้าวและอธิษฐานจิต ข้าวแตกกระจายเป็นแมลงเม่าบินลงมาตกทั่วภาคพื้นดิน มนุษย์จึงเก็บพืชพันธุ์ไปปลูกให้ลูกหลานกินสืบต่อมา  เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม พระไพรศรพณ์ หรือ พระแม่โพสพ นับว่ามีบุญคุณใหญ่หลวงแก่มนุษย์โลกให้ได้มีข้าวพันธุ์ธัญญาหารในการดำรงชีพ การบูชาพระแม่โพสพนั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเรื่อยมา แม้พระมหากษัตริย์ก็ยังบูชาคุณพระแม่โพสพทุกปี นับแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ในฤดูกาลทำนา ชาวนาก็จะมีการจัดพิธีเคารพบูชาและขอพรทุกครั้งในทุกๆ ขั้นตอน นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ คนไทยโบราณ เมื่อรับประทานข้าวเสร็จแล้วจะยกมือพนม เพื่อไหว้ขอบคุณพระแม่โพสพด้วย
 
ลักษณะทางศิลปะของ “พระแม่โพสพ” เป็นสตรีมีใบหน้างดงาม รัดเกล้าเพียงน้อยแล้วปล่อยสยาย ประดับด้วยอัญมณี และทองคำสีเหมือนรวงข้าว ประทับนั่งอยู่บนอาสนะอันงดงาม บ้างก็ประทับนั่งอยู่บนพาหนะเป็นหงส์ พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือพระขรรค์ อีกข้างถือรวงข้าว หรือตามจินตนาการของผู้สร้าง ซึ่งส่วนใหญ่วัดในแถบภาคกลาง โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในย่านที่เป็นทุ่งนา มักมีการจัดสร้าง “รูปบูชาพระแม่โพสพ” เพื่อให้ชาวนาได้เช่าไว้สักการบูชา  ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ไม่นิยมทำเป็นพระเครื่อง เนื่องจากผู้บูชาจะไม่นิยมอัญเชิญมาห้อยคอ เหมือนเทพองค์อื่น แต่จะบูชาไว้บนหิ้งเช่นเดียวกับการบูชานางกวัก  นอกจากนี้ วัดหลายๆ แห่ง ยังนิยมจัดสร้าง รูปปั้นพระแม่โพสพ ไว้ในวัด เพื่อเป็นที่สักการบูชาของชาวนาในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย
 
ขอขอบคุณ : บทความ “พระแม่โพสพ เทวีแห่งข้าวพันธุ์ธัญญาหาร” โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

 
ศาลเจ้าแม่โพสพที่ซอยลาดพร้าว ๑ นี้ มี ๒ ชั้น ๆ ล่างกราบไหว้สักการะแม่โพสพ ตี่จูยิ้มะ (เจ้าที่) เทพผู้เฝ้าประตู ส่วนชั้นบน กราบไหว้สักการะเทพไฉ่ซิงยิ้มะ ไท่ส่วยยิ้มะ เจ้าพ่อเสือ ปึงเถ่ากง เจ้าแม่กวนอิม และทีกง (เทพยดาฟ้าดิน)  

พอกราบไหว้เสร็จ ก็เดินทางกลับ ระหว่างทางมีของกินมากมายนะครับ แต่เผอิญวันที่ผมไปนั้น อิ่มเสียแล้ว คราวนี้เลยไม่ได้รีวิวอาหารอร่อยแถวศาลเจ้านะครับ

 
ภาพและเรื่องโดยนายสามเหลี่ยม
#ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ตลาดใหม่บ้านหมี่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่