วันศุกร์รถติด มาฟังเรื่องการลงทุนกันดีกว่าครับ ขอเสนอเรื่อง บทเรียนจากหนังเรื่อง Moneyball เมื่อปลาเล็กอยากเอาชนะปลาใหญ่

ถอดบทเรียนการลงทุนจาก Moneyball เมื่อคุณเป็นปลาเล็กที่ต้องงัดกับปลาใหญ่ในเกมที่ยากจะชนะ

หากกำลังมองหาหนังซักเรื่องที่สอดแทรกบทเรียนเกี่ยวกับการลงทุน Moneyball คงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกยอดเยี่ยมที่ไม่ควรมองข้ามเลยครับ

 บทความข้างล่าง มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่องนี้ หากใครไม่อยากเสียอรรถรสในการชม อาจจะลองไปหาภาพยนตร์เรื่องนี้มาชมกันก่อนนะครับ แต่ถ้าใครดูแล้ว หรือค่อยดูก็ได้ เรามาเริ่มถอดบทเรียนลงทุนสนุกๆ จากเรื่องนี้กันได้เลยครับ

Moneyball เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2011 ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสืออ้างอิงจากเรื่องจริงชื่อ Moneyball : The Art of Winning an Unfair Game โดยเล่าผ่านกีฬาเบสบอลด้วยตัวละครหลักสองคน ได้แก่ Billy Beane ผู้จัดการทีม Oakland Athletics และ Peter Brand นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญสถิติ
ภายในเรื่อง ได้เล่าประวัติของ Beane ว่าเคยเป็นผู้เล่นที่ถูกจับตาจากแมวมอง (Scout) ของหลายทีมดังในเมเจอร์ลีกเป็นพิเศษว่าจะกลายเป็นดาวรุ่งที่สามารถนำทีมคว้าชัยได้ในทุกแมทช์ จนต่อมาได้รับเลือกให้เล่นร่วมกับทีม New York Mets แต่ผลงานในฐานะผู้เล่นของเขากลับไปได้ไม่สวยนัก และต้องเกษียณออกจากการเป็นนักกีฬาไปอย่างน่าเสียดาย ก่อนจะลงเอยเป็นผู้จัดการให้กับทีม Oakland Athletics ซึ่งเป็นทีมท้ายตารางที่ทำผลงานได้แย่ต่อกันมาอย่างยาวนาน

Beane พบต้นตอของปัญหาที่ทำให้แพ้ติดต่อกันมาหลายฤดูกาลของทีม Oakland Athletics โดยเฉพาะเงินทุนสนับสนุนจากเจ้าของทีมที่มีจำนวนจำกัดและน้อย ส่งผลให้วิธีการทำงานแบบเดิมๆ ของโค้ชและแมวมองส่วนใหญ่ที่มีทุนหนาใช้กันแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่สามารถใช้ได้กับทีมของ Oakland เนื่องจากข้อจำกัดด้านเงินทุน อีกทั้งทางทีมก็ทะยอยเสียผู้เล่นมือดีที่สุดของพวกเขาไปให้กับทีมอื่นที่เสนอค่าตัวสูงกว่า จนขาดผู้เล่นตัวหลักไปอีกด้วย เพราะทีมที่มีเงินทุนสูงสามารถเสนอค่าตัวเพื่อดึงตัวผู้เล่นไปอยู่ได้สบายๆ มันจึงกลายเป็น unfair game ของทีม Oakland ที่มองทางไหนก็เจอแต่ทางตัน

Beane ได้พบกับ Peter Brand นักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้หลักการทางสถิติเข้ามาช่วยวิเคราะห์ผู้เล่น ซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมนักในขณะนั้น และเป็นผู้จุดประกายให้ Beane สนใจนำเอาหลักการทางสถิติมาประยุกต์ให้เข้ากับกีฬาเบสบอล โดย Brand บอกไปว่า “การที่คุณไม่ต้องให้เงินเดือนสูงๆ กับผู้เล่นเพียงคนเดียว มันจะเปิดโอกาสให้กับทุกความเป็นไปได้ที่น่าสนใจ” และในวันนั้นแทนที่ Beane จะทุ่มเงินซื้อตัวผู้เล่นใหม่ กลับซื้อตัว Brand มาทำงานด้วยแทน ทำให้เขารู้จักกับ Sabermetrics ซึ่งเป็นการใช้สถิติในการวิเคราะห์และคัดตัวผู้เล่น

พวกเขาได้นำผลลัพธ์ทางสถิติ มาปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแผนการเล่น ด้วยการเลือกผู้เล่นที่ทำเบสได้มากที่สุด ไม่ใช่ทำแต้มได้มากที่สุด โดย Brand ได้ส่งรายงานวิเคราะห์ตัวผู้เล่นชุดแรก โดยยกตัวอย่างผู้เล่นพิตเชอร์คนหนึ่งชื่อ Bradford ซึ่งสถิติประเมินผลผู้เล่นพบว่า ถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริงจากวิธีการที่เก่าเกินไป ซึ่ง Brand เสนอว่าหากเราสนใจหาพิตเชอร์ Bradford คือ ตัวเลือกที่ดีที่สุดจากงบประมาณที่เรามี ไม่ใช่เพียงพวกเขาจะได้พิตเชอร์ที่มีมูลค่าที่แท้จริงจากการประเมินกว่า 3 ล้านเหรียญ ในราคาเพียง 2 แสนเหรียญ แต่พวกเขายังจะได้พิตเชอร์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในวงการเบสบอลอีกด้วย ทำให้ Beane ทุ่มสุดตัวโดยอิงจากหลักสถิติเพื่อเฟ้นหา “คุณค่า” ที่แท้จริงของผู้เล่นเข้ามาร่วมทีม ทำให้ Oakland สร้างสถิติใหม่ของวงการเมเจอร์ลีกเบสบอลด้วยการชนะติดต่อกันถึง 20 เกมรวด ซึ่งถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 100 ปีของวงการเลยทีเดียว แม้สุดท้ายทีม Oakland จะไปไม่ถึงแชมป์เมเจอร์ลีก แต่มันก็ทำให้วิธีการของพวกเขาทั้งคู่ได้รับความสนใจ และเป็นโจทย์ในการศึกษาจนกลายเป็นหนึ่งในวิธีการเลือกผู้เล่นในปัจจุบัน

สิ่งที่ได้จากภาพยนตร์ที่ชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “คุณค่าที่แท้จริง” ภายในของสิ่งที่เรากำลังจะลงทุนและพยายามเพิกเฉยต่อรูปลักษณ์ภายนอก การเป็นผู้เล่นที่ตีโฮมรันได้สองถึงสามครั้ง ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นผู้เล่นที่สุดยอด โดยเฉพาะจากสื่อ และแมวมองที่ให้ความสนใจกับผู้เล่นด้วยปัจจัยในการพิจารณาที่คล้ายๆ กัน มักจะทำให้เกิด Anchoring Trap [1] ซึ่งเป็นผลพวงให้ผู้เล่นบางคนถูกให้มูลค่าที่สูงกว่าความเป็นจริง (Overvalued) และบางคนถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง (Undervalued) และหากพวกเขาไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางเล่นไว้ได้แล้ว สุดท้ายค่าตัวของพวกเขาก็จะลดฮวบอยู่ดี ไม่ต่างอะไรจากราคาสินทรัพย์ที่นักวิเคราะห์และสื่อที่พูดถึงกันเยอะ ราคาก็มักจะวิ่งจากแรง เพราะนักลงทุนทั่วไปอาจจะถูกข้อมูลเหล่านี้ชี้นำ ทำให้เผลอสร้างอคติในการตัดสินใจ จนเป็น Confirming Evidence Trap [2]

ในช่วงแรกของเกมการแข่งขัน แม้ Oakland จะเปลี่ยนวิธีการจัดทีม และวิธีการจัดการหลายๆ อย่าง แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จตั้งแต่แรก ทำให้พวกเขาต้องพ่ายแพ้ในหลายๆ เกม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาแพ้หมดรูปทั้งฤดูกาล เช่นเดียวกันกับการลงทุน การแพ้ในหนึ่งเกมย่อยไม่ได้หมายถึงการแพ้ในเกมลงทุน สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราควรปรับ mindset การลงทุนของตัวเอง ให้เป็นผู้เล่นที่รู้จักการบริหารสินทรัพย์ให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ถูกถีบออกจากตลาดเร็วเกินไป ซึ่งผมเคยเขียนไปในบทความก่อนหน้าเกี่ยวกับประเภทผู้เล่นในเกมลงทุน คุณเป็นผู้เล่นแบบไหน ลองพิจารณาดูได้จากบทความนั้นนะครับ [3]

สุดท้ายไม่ว่าเราจะรู้ทฤษฎีมามากมายขนาดไหน คงไม่มีอะไรสั่งสอนเราไปได้ดีกว่าการลองผิดถูกและสั่งสมประสบการณ์นั้นด้วยตัวเอง เพราะการขึ้นไปเล่นในสนามที่ใหญ่ขึ้น เราจะได้เจอทั้งผู้เล่นระดับปีศาจและภัยพิบติระดับพระเจ้าที่พร้อมเขมิบเราอย่างไม่ใยดี การอาศัยประสบการณ์ผสมกับความรู้ จะทำให้เราลดความเสี่ยงที่จะเสียหายจากผู้เล่นเหล่านี้ได้อย่างรอบคอบมากขึ้น การที่เรากำลังผจญกับสถานการณ์ที่ยากจะชนะ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ มันจะบีบให้เหลือตัวเลือกไม่มาก แต่มันก็ทำให้เราพิจารณาทางเลือกใหม่ที่ช่วยทำลายข้อจำกัดจากปัจจัยที่คอยขีดเส้นให้ และสร้างวิธีการที่มีโอกาสสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่า นำมาสร้างการจัดการ รวมถึงรูปแบบการบริหารที่ชาญฉลาด เพื่อช่วยลดความน่าจะเป็นที่ทำเราแพ้ลงไปได้

สำหรับบทความที่ถอดจากภาพยนตร์ Moneyball เรื่องนี้ ด้วยวิถีการดำเนินของโลก ทุกคนย่อมเข้าใจดีกว่าการเป็นปลาเล็กในบ่อที่มีแต่ปลาใหญ่มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่เล่นเกมและใช้วิธีการเดียวกันกับปลาใหญ่ เพื่อหวังจะได้ผลลัพธ์เท่ากัน หรือดีกว่าได้ สิ่งที่ปลาเล็กต้องทำเพื่อไม่ให้แพ้ และสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง คือ คอยปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นให้เหมาะกับตัวเองให้มากที่สุด สั่งสมประสบการณ์จากทั้งตัวเองและผู้อื่น แล้วนำมาปรับใช้ และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการเป็นปลาเล็กที่ฉลาดและปรับตัวอยู่เสมอ จะทำให้เราไม่แพ้ในเกมนี้อย่างแน่นอน

สำหรับใครที่สนใจบทความที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้นะครับ
[1] กับดักในการตัดสินใจ [กับดักที่ 1 Anchoring Trap] - https://www.facebook.com/udomsak.em/posts/113730624592855
[2] กับดักในการตัดสินใจ [กับดักที่ 2 Confirming Evidence Trap] - https://www.facebook.com/udomsak.em/posts/114226147876636
[3] นักลงทุน นักเก็งกำไร หรือแค่ นักพนัน จริงๆ แล้วคุณเป็นใคร? - https://www.facebook.com/udomsak.em/posts/113724454593472
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่