แชร์ประสบการ พบจิตแพทย์ รักษาอาการซึมเศร้า ทั้งรพ.รัฐฯ และเอกชนฯ

สวัสดีครับ
ผมป่วยมีอาการซึมเศร้า ตอนนี้รักษาตัวมาใช้ระยะเวลา ก็ร่วม 6-7 ปีได้ครับ
กระทู้นี้ จะไม่ลงรายละเอียดเรื่องที่มา อาการ และการปฏิบัติตัวในเชิงการรักษานะครับ แต่จะมาเล่าถึงประสบการณ์จากการเข้ารับการรักษาตัวให้ ว่าไปรพ.รัฐฯ เป็นอย่างไร และไป รพ.เอกชน เป็นอย่างไรครับ

หมายเหตุ* กระทู้นี้ ไม่ใช่ตัวแทนของการรักษาในรพ.รัฐฯทั้งหมด หรือรพ.เอกชนทั้งหมด แต่ละที่อาจมีความแตกต่าง หรือคล้ายคลึงกันได้

เริ่มที่ รพ.รัฐกันก่อน เพราะผมก็เริ่มต้นรักษาแบบจริงจัง ก็ที่รพ.รัฐฯ ---------------------------------------------------
ผมไปขอเข้ารับการรักษาที่รพ.รัฐ ในเขตจังหวัดนนทบุรี เป็นรพ.เฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยจิตเวชโดยเฉพาะ แถวๆ กระทรวงสาธารณสุข
ที่นี่คนไข้ค่อนข้างเยอะ เพราะเป็น รพ.รัฐ แต่ละครั้งที่มาพบแพทย์ จะมีเวลาได้พูดคุยอยู่ที่ประมาณ 10-15 นาทีก็จบ
ผมพบแพทย์ที่นี่ เดือนละหนึ่งครั้ง

ช่วงแรกๆที่ผมรักษาตัว ผมยังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอะไรมากนักถึงโรคที่ตัวเองเป็น เจอแพทย์เสร็จ หมอว่าไง ก็ตามนั้น ซึ่งการพบแพทย์เพียงครั้งละ 10-15 นาทีนั้น ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก สำหรับอาการป่วยทางจิตเวช ความรู้ถึง background ชีวิต และปัญหาต่างๆ มีส่วนสำคัญมากในการทำความเข้าใจและวางแผนการรักษา และสำหรับแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การพบแพทย์แต่ละครั้งที่นี่ จึงทำได้เพียงถามว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเป็นยังไง วันนี้เป็นยังไง อาการเป็นยังไง มีอะไรอยากเล่าให้หมอฟังบ้าง แค่นี้ก็หมดแล้วสำหรับการเจอกันครั้งหนึ่ง

ผมพบแพทย์ที่นี่พร้อมกับหาความรู้ในการดูแลจัดการตัวเองด้วยตัวเองไปด้วย โดยผมไปเจอ "การรักษาโรคซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา" บน facebook แล้วก็ตามด้วย youtube ผมได้เรียนรู้ว่า เราต้องฝึกฝน พัฒนาทักษะในการจัดการอารมณ์ ในฝั่งของการไม่ใช้ยา เพื่อให้ถึงจุดที่เราสามารถหยุดยาได้และไม่กลับมาเป็นอีก เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วยกันกับการใช้ยา ใช้สองมาตรการคู่ขนานกัน

**การรักษาโดยไม่ใช้ยา ไม่ใช่การห้ามใช้ยา และไม่ได้ต่อต้านหรือปฏิเสธการใช้ยา แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทักษะและการปรับวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการรักษา ให้เราสามารถสู้โรคได้ในฝั่งที่ไม่ใช้ยา ยาเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ในการรักษาไปด้วยกันได้ แต่จะเป็นการรักษาที่มุ่งหวังให้สามารถหยดยาได้อย่างยั่งยืน หากคนไข้ไม่มีทักษะและวิถีชีวิตยังก่อให้เกิดโรค ก็จะกลับเป็นซ้ำได้เมื่อหยุดยา**

แต่ละครั้งก็จะวนเวียนอยู่แค่การถามตอบได้ไม่กี่คำ คำแนะนำที่ได้ก็มีเพียง ให้ออกกำลังกาย ไม่กินเหล้าได้ก็ดี ไม่เคยมีการแนะนำอะไรเพิ่มเติมที่เป็นการบำบัด หรือฝึกฝนทักษะอะไร ซึ่งตอนนั้น ผมก็คิดว่า ไม่เป็นไร เราศึกษาเองก็ได้

ผมพบแพทย์ที่รพ.รัฐอยู่ราวๆ 6 เดือน ก็เกิดเหตุโควิดระบาด พอผมไปพบหมอตามนัด คุณหมอท่านกักตัว ผมจึงได้พบกับหมออีกท่านหนึ่งแทน หลังจากคุณหมออ่านชาร์ตและประวัติของผม ท่านก็บอกกับผมเป็นคำแรกเลยคือ ให้ทำใจเลยนะ ว่าชีวิตนี้เราจะต้องกินยาไปทั้งชีวิต

ผม "อีหยังวะ" ขึ้นมาดังๆในใจ และคิดว่าไม่เอาละ ที่นี่รักษากันแบบนี้ ผมไม่เอาด้วย

มาต่อกันที่ รพ. เอกชน ---------------------------------------------------

ครั้งแรกที่ได้พบหมอที่รพ.เอกชน หมอให้เวลาคุยกับผม 60 นาที เพื่อซักประวัติ และเล่าถึงปัญหาที่เราเจออยู่ รวมไปถึงวงจรชีวิต สภาพแวดล้อม ฯลฯ หลังจากครั้งแรก ก็จะพบหมอครั้งละ 30 นาที ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการที่จะพูดคุย และแนะนำไปถึงทักษะที่จะนำกลับไปฝึกฝนได้ แต่ครั้งไหนที่มีเรื่องมาปรึกษาเยอะ ก็อาจจะไม่พอที่จะถ่ายทอด หรือแนะนำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน

**ผมจงใจเลือกมาหาคุณหมอที่นี่ ท่านนี้โดยเฉพาะ เพราะท่านเป็นเจ้าของสโลแกน แก้ซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา ที่ผมตามฟัง ตามศึกษาอยู่ ถึงตอนนี้ผมหาคุณหมอมาได้ราวๆ 3 ปี**

นอกจากการพบหมอตามนัดเป็นการส่วนตัวแล้ว ผมยังศึกษาเพิ่มเติมด้วยการลงเรียนคอร์สออนไลน์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทำให้เราจะเรียนรู้และมีพัฒนาการได้เร็วกว่า ลงเรียนออนไลน์ จะเรียน คอร์สละ 4-6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ชม. นั่นคือเป็นการร่นระยะเวลาที่เราต้องเทียวไปเทียวมาเจอหมอทีละ 30 นาที กว่าจะถ่ายทอด และฝึกฝนแต่ละทักษะ และกว่าจะได้กลับมาเจอคุณหมอตามนัด 1-2 เดือนครั้ง อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ

การรักษาโรคซึมเศร้า จะไม่เหมือนโรคทางกายภาพทั่วไป เช่น โรคจากไวรัส แบคทีเรีย โรคพวกนั้น กินยา หาย ก็กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

แต่โรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวช เป็นอาการที่เป็นผลปลายทางของหลากหลายสาเหตุที่สะสมรวมกัน อาจจะมีเรื่องราวในอดีต บาดแผลทางใจในวัยเด็ก หรือเหตุการณ์รุนแรง กรรมพันธ์ รวมไปถึงวิถีชีวิตที่ใช้ดำเนินมานานด้วย mind set อันหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการรักษา คือความคิดที่ว่า รักษาให้หาย จะได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม เพราะถ้าการใช้ชีวิตเดิมนั้นทำให้โรคนั้นแย่ลง หรือมีส่วนทำให้มีอาการได้มากขึ้น และไม่ได้เป็นการแก้ปมปัญหาที่ค้างคาอยู่ในใจมานาน วิถีชีวิตเราก็อาจจะต้องปรับ พฤติกรรมบางอย่างอาจจะต้องเปลี่ยน และเติมทักษะในการจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม

บทสรุป ---------------------------------------------------

การรักษาใน รพ.รัฐ ส่วนมาก แพทย์จะไม่ค่อยมีเวลาให้คนไข้ หากเป็นการตรวจรักษาทั่วไป จะมีเวลาคุยกับคนไข้น้อยมาก ข้อจำกัดนี้ ทำให้แพทย์ไม่สามารถที่จะรักษาอะไรได้มากไปกว่า พูดคุยเล็กน้อยแล้วจ่ายยา ซึ่งวงจรนี้ก็ทำให้แพทย์จำนวนหนึ่ง อาศัยแต่มาตรการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว และยังทำให้แพทย์จำนวนหนึ่งพึ่งแต่ยา และมี mind set ในแบบที่ผมเจอ คือไม่คิดจะรักษาด้วยวิธีอื่นนอกจากยา

การรักษาในรพ.เอกชน แพทย์จะมีเวลาพูดคุยกับคนไข้ได้มากกว่า และทำให้ทางเลือกในการรักษาก็มีความยืดหยุ่นกว่า และสามารถออกแบบการรักษาให้เหมาะกับแต่ละบุคคลได้มากกว่า แต่ก็จะแลกมากับค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงกว่า ทั้งค่ายาและค่าบริการทางการแพทย์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่