ทำไมทหารญี่ปุ่นในช้วง WW2 ถึงได้สูถวายหัวองค์พระจักรพรรดิขนาดนั้นครับเขามีวิธีฝึกยังไงครับ

กระทู้คำถาม
สงสัยจริงๆครับทำไมทหารญี่ปุ่นถึงสู้เพื่อองค์พระจักรพรรดิขนาดนั้นครับขนาดที่ว่ามีกองบินคามิคาเสะที่กล่าวกันว่ามีจำนวนคนมากกว่าจำนวนเครื้องบินสะอีดกับหน่วยขีปนาวุธไคเท็นอยากรู้ครับเขามีวิธีฝึกทหารยังไง
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 6
จริงๆแล้วคนญี่ปุ่นที่ชอบสงคราม กระหายความยิ่งใหญ่ มีแต่ลูกหลานตระกูลซามูไรเท่านั้น ซึ่งก่อนสงครามโลกเคยมีคนกลุ่มนี้อยู่ประมาณหนึ่งล้านเศษ ซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มอีลิทที่มีอิทธิพลในสังคม และช่วยกันขับดันประเทศญี่ปุ่นให้ไปในทางก้าวร้าวที่พวกเขาต้องการ ส่วนคนญี่ปุ่นที่เป็นประชาชนคนธรรมดาจะไม่ชอบสงคราม และไม่ได้มีความจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิด้วย คนญี่ปุ่นที่เป็นประชาชนจริงๆในสมัยก่อนนั้นเป็นผู้ถูกปกครอง พวกเขาจะไม่ชอบกลุ่มชนชั้นปกครองทั้งหมด นับตั้งแต่พวกซามูไรไล่ขึ้นไปจนถึงพระจักรพรรดิ เพราะเห็นเป็นกลุ่มคนที่กดขี่เบียดเบียนประชาชน ชอบก่อสงครามแย่งชิงอำนาจ ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเดือดร้อนอยู่เนืองๆ พวกเขาจะมองดูคนเหล่านี้ด้วยความกลัวและความเกลียด หรืออย่างดีที่สุดก็แค่รู้สึกเฉยๆ

หลังการปฏิรูปเมจิ จักรพรรดิเมจิพอรวมประเทศได้เรียบร้อยก็ร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตย และจัดให้มีเลือกตั้ง ทำให้อำนาจได้เปลี่ยนไปสู่มือของประชาชน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกที่ญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยนั้น กลุ่มนักการเมืองที่มีพื้นเพเป็นรอยัลลิสต์จะชนะเลือกตั้ง แต่พอสมัยเมจิผ่านเลยไป พอเข้าสู่สมัยไทโช (1913-1926) ประชาธิปไตยของญี่ปุ่นก็เบ่งบาน คนญี่ปุ่นตื่นตัวกับประชาธิปไตยมากขึ้น ถึงตอนนี้นักการเมืองสายเสรีนิยมมักจะชนะเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ นักการเมืองพวกนี้ไม่ค่อยเชื่อฟังพระจักรพรรดิ รวมทั้งไม่ชอบให้เกิดสงครามเพราะชอบการค้ามากกว่า และถ้ามีปัญหาระหว่างประเทศก็จะแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทูต  พวกนักการเมืองได้พาประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยที่ดีงามช่วงหนึ่ง ทำให้ทหารญี่ปุ่นที่ตอนนั้นเริ่มจะขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจรู้สึกไม่พอใจ เพราะยังชอบจะขยายอำนาจด้วยสงครามตามนิสัยของทหาร ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับทหารเกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศเป็นประจำ

ความเข็มแข็งของฝ่ายเสรีนิยมของญี่ปุ่นในสมัยไทโชนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะจักรพรรดิโยชิฮิโตเป็นผู้ที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย และไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศได้เต็มที่ แต่พอถึงสมัยโชวะ (1926-1997) จักรพรรดิฮิโรฮิโตเป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยาน และต้องการจะได้อำนาจกลับมาอยู่ในมือของตัว จึงสนับสนุนทหารที่นิยมเจ้าให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลพลเรือน กลุ่มรอยัลลิสต์เริ่มชูเคมเปญที่จะพาประเทศกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช การเมืองญี่ปุ่นหลังจากนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด พวกรอยัลลิสต์ได้ลอบสังหารนายกรัฐมนตรีฮามางูจิและนักการเมืองจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีความพยายามทำรัฐประหารถึงสามครั้งเพื่อจะถวายคืนพระราชอำนาจ แต่ฝ่ายประชาธิปไตยมีความเหนียวแน่น สามารถปราบการก่อกบฎของทหารกลุ่มรอยัลลิสต์ได้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตามถึงแม้ฝ่ายประชาชนจะสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ แต่นักการเมืองที่โดดเด่นก็เสียชีวิตไปหลายคนในระหว่างการรัฐประหารที่นองเลือด

เมื่อเกิดเหตุการณ์มุกเดนในเดือนกันยายน 1931 ในตอนแรกรัฐบาลพลเรือนของวาคัทซึกิรู้ทันว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของทหารญี่ปุ่นเอง และไม่อนุญาตให้มุกแมนจูเรีย แต่กองทัพกวนตงได้บุกเข้าไปโดยพลการ รัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งให้ถอยกลับออกมามิฉะนั้นจะถือว่ากบฏ ทำให้ความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับกองทัพถึงจุดแตกหัก ทหารกลุ่มซากุระไกจึงก่อการรัฐประหาร แต่ดำเนินการบางอย่างผิดพลาดทำให้รัฐบาลสามารถปราบได้ แม้ว่าการทำรัฐประหารด้วยกำลังทหารจะล้มเหลว แต่กองทัพก็ได้หันไปร่วมมือกับกลุ่มอีลิทก่อรัฐประหารเงียบ คือพร้อมใจกันทำตามที่พวกเขาต้องการโดยไม่ฟังคำสั่งรัฐบาล โดยอ้างว่าสถานการณ์ไม่ปกติและจะฟังแต่คำสั่งของพระจักรพรรดิเท่านั้น พวกเขารวมพลังกันทั้งในสภาและนอกสภา บีบบังคับรัฐบาลพลเรือนญี่ปุ่นให้ยอมออกคำสั่งย้อนหลังอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นบุกแมนจูเรียได้ นายกรัฐมนตรีวาคัทซูกิได้เข้าเฝ้าขอให้พระจักรพรรดิช่วยห้ามกองทัพ แต่พระจักรพรรดิกลับแนะนำให้เขาทำตามความต้องการของกองทัพ วาคัทซิกิจึงจำต้องยอมทำตามความต้องการของทหารในช่วงแรก แต่ในเวลาต่อมาเขาทนรับสภาพแบบนี้ไม่ได้ จึงลาออกจากตำแหน่ง และสภาได้เลือกซึโยชิ อินุไกขึ้นมาเป็นนายกแทน

อินุไกเป็นเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ดีที่สุดคนหนึ่งของซุนยัดเซ็น เขาเป็นคนหัวแข็งและกล้าหาญ ในตอนที่เขาได้เข้าเฝ้าเพื่อรับตำแหน่งเขาได้เตือนพระจักรพรรดิแบบนุ่มๆให้เลิกสนับสนุนการกระด้างกระเดื่องของกองทัพ เขาได้ส่งทาคาโน่ไปเจรจากับจีนเพื่อแก้ปัญหาแมนจูเรียโดยสันติ ทาคาโน่ได้เจรจากับหวางจิงเว่ยและบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้นที่จะถอยคนละก้าว อย่างไรก็ตามอินุไกเชื่อว่าแผนสันติภาพกับจีนจะต้องถูกต่อต้านจากกองทัพ เขาจึงเตรียมจะใช้อำนาจที่มีปลดกลุ่มทหารที่กระด้างกระเดื่อง แต่ทว่าในทำเนียบมีสายลับของทหารแฝงอยู่ ผลคืออินุไกถูกทหารกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปสังหารคาโต๊ะทำงานในทำเนียบก่อนที่จะทันได้ออกคำสั่งปลดฟ้าผ่า หลังจากอินุไกถูกสังหาร รัฐสภาก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกองทัพ ทหารได้ตั้งทาคาฮาชิ นักการเมืองที่เชื่อฟังคำสั่งของทหารให้รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับจากนั้นเป็นต้นมารัฐบาลญี่ปุ่นได้กลายเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของกองทัพ นักประวัติศาสตร์ถือว่าเหตุการณ์ 15 พฤษภาคม 1932 คือจุดที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนจากประชาธิปไตยไปเป็นเผด็จการ

หลังจากที่ทหารได้ครองอำนาจ ทหารเห็นว่าการเลือกตั้งในช่วงหลังๆนี้ ฝ่ายรอยัลลิสต์แพ้ฝ่ายเสรีนิยมทุกที เพราะจริงๆแล้วคนที่ภักดีและเชื่อฟังพระจักรพรรดิมีแต่กลุ่มอีลิทซึ่งเป็นทายาทของตระกูลซามูไรหรือขุนนางเก่าซึ่งมีประมาณหนึ่งล้านคนเท่านั้น แต่ประชาชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันกับพระจักรพรรดิ ดังนั้นทหารจึงระดมทำแคมเปญปลูกฝังค่านิยมทหารและความจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิลงไปในระบบการศึกษาของญี่ปุ่น เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน ดังนั้นความนิยมทหารและความจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิจึงไม่ใช่ธาตุแท้ของชาวญี่ปุ่น แต่เป็นค่านิยมที่เพิ่งจะถูกสร้างขึ้นในช่วงก่อนสงครามโลกไม่นานนัก เป็นเรื่องของการล้างสมองเยาวชนเพื่อเตรียมจะนำประเทศเข้าสู่สงคราม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่