มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้


มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้

     มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เรียกสั้นๆ ว่ามะเร็งโพรงมดลูก หรือมะเร็งมดลูก เป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ในผู้หญิงไทย โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 60-70 ปี และ 95% มีอายุมากกว่า 40 ปี  
     หลายคนเข้าใจผิดว่ามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นมะเร็งชนิดเดียวกันกับมะเร็งปากมดลูก ในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุการเกิดโรค ธรรมชาติของโรค รวมถึงการดูแลรักษาของทั้งสองโรคมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามหากตรวจพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกตั้งแต่ระยะแรก โอกาสในการรักษาหายค่อนข้างสูง  วันนี้พี่หมอจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคนี้ไปด้วยกัน เพื่อที่จะได้สังเกตตัวเองหรือให้คำแนะนำกับคนที่รักกันนะครับ

ทำความรู้จักมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 🔎
     มดลูกเป็นอวัยวะให้ทารกฝังตัวและเจริญเติบโต  ลักษณะคล้ายชมพู่คว่ำ ภายในเป็นโพรง ผนังภายในคือเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) ซึ่งจะหนาตัวขึ้นทุกเดือน เพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับตัวอสุจิ หากไม่มีการตั้งครรภ์เยื่อบุโพรงมดลูกจะสลายตัวออกมาเป็นประจำเดือน ส่วนล่างของมดลูกคือปากมดลูกซึ่งเชื่อมกับช่องคลอดด้านล่าง
     หากเซลล์ภายในเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ อาจส่งผลให้เกิดการหนาตัวกว่าปกติแต่ไม่ลอกหลุดอย่างสมบูรณ์ ทำให้มีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายอย่างมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) ได้ครับ

อาการ 😟
      อาการที่พบในผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือ อาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น มีประจำเดือนน้อยหรือมากเกินไป ประจำเดือนกะปริบกะปรอย มีบ่อยกว่าปกติ หรือมีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจจะมีการลุกลามไปภายนอก และแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้นะครับ
      แม้มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมักเกิดในผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน แต่ผู้ที่ยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน หากพบอาการประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น นานเกินไป น้อยเกินไป ไม่สม่ำเสมอ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย  โดยเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีพันธุกรรมในครอบครัว มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ประจำเดือนมาไม่ปกติครับ


สาเหตุ 🤔
แม้สาเหตุโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่แน่ชัด แต่โดยทั่วไปมะเร็งเกิดจากโครงสร้างของเซลล์ที่ผิดปกติหรือกลายพันธุ์จากการที่เยื่อบุหนาตัวแต่ไม่ลอกอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอาจเกิดจากการไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงก็ได้ครับ  ซึ่งเมื่อเกิดภาวะฮอร์โมนผิดปกติก็จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ความเสี่ยงดังกล่าวได้แก่
·  การได้รับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ที่มากเกินไป เช่น การรักษาวัยทองด้วยฮอร์โมน  การรับประทานสมุนไพรบางชนิดที่มีเอสโตรเจน เช่น กวาวเครือ โดยไม่ได้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนร่วมด้วย 
·  น้ำหนักเกิน เนื่องจากชั้นไขมันในร่างกายเป็นที่สะสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน  
·  รับประทานยารักษามะเร็งเต้านม  ซึ่งมีคุณลักษณะกระตุ้นการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูก 
·  ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือมีภาวะประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ  
·  เยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติหลังหมดประจำเดือน   
·  ผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
·  ประวัติพันธุกรรม มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งบางชนิด

การวินิจฉัย 🔬
หากเพื่อน ๆ มีอาการผิดปกติและไปปรึกษาแพทย์ คุณหมออาจมีการตรวจเพิ่มเติมดังนี้ครับ
·  อัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound) เพื่อตรวจความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกและลักษณะที่ผิดปกติในโพรงมดลูก โดยใช้เครื่องมือตรวจขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อเก็บภาพภายใน วิธีนี้จะให้ภาพชัดเจนที่สุด แต่หากเพื่อน ๆ ไม่สะดวกใจอาจปรึกษาแพทย์ผู้ทำการตรวจให้พิจารณาใช้วิธีอื่นได้ครับ
·  การตรวจเลือด เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจสารเคมีในเลือด และตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง  
·  การตรวจชิ้นเนื้อ หากได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดและพบเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้นหรือมีลักษณะผิดปกติ และ/หรือมีเลือดออกผิดปกติ จำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันผลวินิจฉัย โดยแพทย์จะนำตัวอย่างเซลล์จากเยื่อบุโพรงมดลูกไปตรวจในห้องทดลอง วิธีนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจมีหลายวิธี ดังนี้
1. ดูดชิ้นเนื้อไปตรวจโดยไม่ต้องวางยาสลบ (Endometrial sampling) ในกรณีที่มีปากมดลูกขนาดไม่เล็กและสามารถใส่เครื่องมือได้ง่าย
2. ขูดมดลูก (Curettage) ซึ่งจะต้องวางยาสลบในห้องผ่าตัด 
โดยทั้งสองกรณีสามารถทำการส่องกล้องเพื่อดูโพรงมดลูก (Hysteroscopy) ร่วมด้วยเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้นครับ
ระยะของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แบ่งเป็น 4 ระยะ
·  ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ภายในมดลูก
·  ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามไปที่ปากมดลูก
·  ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่ไปนอกมดลูกสู่อวัยวะใกล้เคียง ภายในอุ้งเชิงกรานหรือต่อมน้ำเหลือง
·  ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งกระจายไปบริเวณท้องหรืออวัยวะอื่นๆ  เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ตับ  

การรักษา 🩺
หากเพื่อนๆ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก็ไม่ต้องตกใจไปครับ การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีหลายวิธี โดยแพทย์พิจารณาตามระยะของโรคและความพร้อมของผู้ป่วย ดังนี้                    
1. การผ่าตัดมดลูกรวมถึงปีกมดลูก รังไข่ และต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งผ่าตัดเปิดหน้าท้องและการผ่าตัดแบบส่องกล้อง 
2. การฉายแสง
3. การให้ยาเคมีบำบัด
4. การใช้ฮอร์โมน โดยการรับประทานฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ในรูปยาเม็ด  
โดยการเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค ความต้องการมีบุตร และความพร้อมของคนไข้เป็นหลัก และหากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก ก็มีโอกาสที่จะหายจากโรคมากขึ้นด้วยนะครับ
 
การป้องกัน 🛡️
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่การลดปัจจัยเสี่ยงจะช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกลงได้ ดังนี้
· พบแพทย์เพื่อปรึกษา เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ฮอร์โมนทดแทน
· รับประทานยาคุมกำเนิด ติดต่อกันอย่างน้อย 1 ปี อาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ อย่างไรก็ตามควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา
· ควบคุมน้ำหนัก ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณที่เหมาะสม 
 
          ผู้หญิงมีความเสี่ยงโรคในระบบสืบพันธุ์มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะโรคในโพรงมดลูก ซึ่งมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน  การตรวจภายในจึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่มีประจำเดือนผิดปกติ แต่ด้วยความอายหรือความกลัวอาจทำให้หลายคนละเลยปัญหาที่จุดซ่อนเร้นดังกล่าว ส่งผลให้โรคลุกลามจนไม่สามารถรักษา ทั้งที่ความจริงแล้วหากตรวจพบสิ่งผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะสามารถรักษาให้หายได้ครับ
        นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หากตรวจพบและทำการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองและติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอด้วยนะครับ 😊
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่