ทักษิณ กับพวกรวม 5 ราย อนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2546-2547

 
“…การจัดซื้อเครื่องบินล็อตแรก และล็อตที่สอง พบว่าเงินลงทุนที่ ครม.อนุมัติ มีราคาแตกต่างกัน 600-700 ล้านบาท เห็นได้จากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 ลำที่ 1 (#1) เงินลงทุนอยู่ที่ 5,031 ล้านบาท ,ลำที่ 2 (#2) เงินลงทุนอยู่ที่ 5,040 ล้านบาท ลำที่ 3 (3#) เงินลงทุนอยู่ที่ 5,098 ล้านบาท และลำที่ 4 (4#) เงินลงทุนอยู่ที่ 5,748 ล้านบาท…”
...........................

สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวน คดีกล่าวหา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับพวกรวม 5 ราย กรณีอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2546-2547 ไม่คุ้มค่า ทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหนี้สินเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน องค์คณะไต่สวนฯชุดนี้ ยังเข้าไปไต่สวนกรณีการอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบินของ บมจ.การบินไทย จำนวน 75 ลำ เมื่อปี 2554 ด้วย แต่กรณีดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า มีการกล่าวหาบุคคลใดบ้าง

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2546-2547 และการอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ เมื่อปี 2554 มาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้

กรณีอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500

การจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 4 ลำ เพื่อนำไปใช้พัฒนาเส้นทางบินตรงสู่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการอนุมัติจัดซื้อ 2 ล็อต ได้แก่

ล็อตแรก เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2546 ครม.มีมติอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ 2545/46-2549/50 ของ บมจ.การบินไทย จำนวน 15 ลำ วงเงินลงทุนรวม 58,324 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ (แอร์บัส) A340-500 จำนวน 3 ลำ วงเงินลงทุนรวม 15,169 ล้านบาท กำหนดส่งมอบระหว่างเดือน มี.ค.-ต.ค.2548

ล็อตที่สอง เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547 ครม.มีมติอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี พ.ศ. 2548/49-2552/53 ของ บมจ.การบินไทย จำนวน 14 ลำ วงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ (แอร์บัส) A340-500 จำนวน 1 ลำ วงเงินลงทุน 5,748 ล้านบาท กำหนดส่งมอบเดือน ต.ค.2550

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อเครื่องบินล็อตแรก และล็อตที่สอง พบว่าเงินลงทุนที่ ครม.อนุมัติ แตกต่างกัน 600-700 ล้านบาท เห็นได้จากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 ลำที่ 1 (#1) เงินลงทุนอยู่ที่ 5,031 ล้านบาท ,ลำที่ 2 (#2) เงินลงทุนอยู่ที่ 5,040 ล้านบาท ลำที่ 3 (3#) เงินลงทุนอยู่ที่ 5,098 ล้านบาท และลำที่ 4 (4#) เงินลงทุนอยู่ที่ 5,748 ล้านบาท
 
 
(ที่มา : หนังสือด่วนที่สุดที่ คค (คปร) 0805.4/252 ลงวันที่ 5 พ.ย.2547 เรื่อง โครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนรัฐวิสาหกิจ ปี 2548/49-2552/2553 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสนอ ครม.เมื่อ 23 พ.ย.2547)

สำหรับเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A340-500 ทั้ง 4 ลำ รวมถึงเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A340-600 จำนวน 6 ลำ ซึ่งจัดซื้อในช่วงปี 2546-2547 นั้น บมจ.การบินไทย ได้ปลดระวางเครื่องบินทั้งหมดในปี 2557-2558 ทั้งๆที่ยังเหลือเวลาใช้งานอีก 5-6 ปี นื่องจากมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันมาก

ทั้งนี้ อนุมัติจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ทั้ง 4 ลำ ดังกล่าว อนุมัติในช่วงที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม (3 ต.ค.2545-2 ส.ค.2548) เป็นผู้ลงนามเสนอเรื่องเข้าม ครม. ส่วน พิเชษฐ สถิรชวาล เป็น รมช.คมนาคม (3 ต.ค.2545-11 มี.ค.2548)

ขณะที่ ทนง พิทยะ เป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.การบินไทย และ กนก อภิรดี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บมจ.การบินไทย

กรณีอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน 75 ลำ

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2554 ครม.มีมติอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน ปี 2554-2565 ของ บมจ.การบินไทย จำนวน 75 ลำ วงเงินรวมทั้งสิ้น 457,127 ล้านบาท
ประกอบด้วย

1.โครงการจัดหาเครื่องบินระยะแรกปี 2554-2560 จำนวน 37 ลำ วงเงินลงทุน 210,602 ล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุน 5,473 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุน 216,075 ล้านบาท

2.โครงการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 ปี 2561-2565 จำนวน 38 ลำ แบ่งเป็นการจัดหาเครื่องบินแบบ Firm Order จำนวน 21 ลำ วงเงินลงทุน 125,992 ล้านบาท และการจัดหาแบบ Option Order จำนวน 17 ลำ วงเงินลงทุน 103,081ล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุน 11,979 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุน 241,052 ล้านบาท
 
(ที่มา : เอกสารประกอบการพิจารณาโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2554 - 2565 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เสนอ ครม.เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2554)

ทั้งนี้ บมจ.การบินไทย ทยอยจัดซื้อเครื่องบิน ระยะแรก โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2554 และจัดหาได้ครบทั้ง 37 ลำ ในปี 2561

ต่อมาในเดือน ม.ค.2561 บอร์ดการบินไทยอนุมัติจัดซื้อเครื่องบิน ระยะที่ 2 จำนวน 38 ลำ พร้อมทั้งขยายกรอบระยะเวลาในจัดหาเป็นออกไป 1 ปี จากปี 2561-2565 เป็นปี 2562-2566 และเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอ ครม.อนุมัติ ต่อไป

แต่เนื่องจากแผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ ต้องผ่านขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่ง บอร์ด สศช.ได้ตั้งสังเกตเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งทุน ทำให้การพิจารณาต้องใช้เวลา และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2562 จึงส่งเรื่องกลับมาให้ บมจ.การบินไทย พิจารณาใหม่

ต่อมาวันที่ 24 ก.ย.2562 บอร์ดการบินไทย ได้พิจารณาแผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ และมีมติให้ฝ่ายบริหารการบินไทย ทบทวนโครงการฯ หลังจาก ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแลบมจ.การบินไทย สั่งการให้ทบทวนแผนจัดหาฯให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบิน และจัดทำแผนการตลาดให้ชัดเจน

กระทั่งถึงปัจจุบัน บมจ.การบินไทย ไม่ได้มีการจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 38 ลำ ดังกล่าว และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในเวลาต่อมา หลังเกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 

สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบิน ปี 2554-2565 ของ บมจ.การบินไทย จำนวน 75 ลำ อนุมัติในสมัยที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มี โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ในขณะนั้น เป็นผู้เสนอเรื่องให้ ครม.อนุมัติ และ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย

อนึ่ง เกี่ยวกับคดีนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างชั้นไต่สวนเท่านั้น และ ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดแต่อย่างใด ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย จึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จากนี้จึงต้องติดตามต่อไปว่า เมื่อองค์คณะไต่สวนฯได้ไต่สวนฯข้อเท็จจริงแล้ว จะมีมติให้การแจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ และที่ประชุม ป.ป.ช.ใหญ่ จะมีมติออกมาอย่างไร ?

ที่มา https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/102660-nacc-TG-THAI-Aircraft-A340-500-investigate-report.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่