ชีวิตผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ตอนที่ 1 โซลเดอร์ (Solder) ตะกั่วที่ไม่ใช่ตะกั่ว

ทุกวันนี้มีใครที่ใช้ชีวิตโดยที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลยบ้างฮะ
.
บางคนอาจจะบอกว่ามีปู่ย่าตายายไง อยู่บ้านเฉยๆไม่ใช้มือถือ ไม่ได้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แน่ๆ แต่ช้าก่อน หม้อหุงข้าว, โทรทัศน์, พัดลม หรือแม้แต่นาฬิกา ถ้าเป็นรุ่นใหม่ๆก็จัดว่าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันหมดแล้วนะครับ โดยเฉพาะพวกที่มีฟังชั่นการใช้งานฉลาดๆเนี่ย ใช่แน่นอน
.
ส่วนตัวในฐานะที่ทำงานอยู่ในแวดวงอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างยาวนาน วันนี้ขออนุญาตขุดความรู้เก่าเอามาเล่าให้ฟังตามที่จั่วหัวไว้นะครับ เราไปรู้จักสิ่งเล็กๆที่เรียกว่า Solder กัน (ออกเสียงว่าโซลเด้อร์ แต่ไม่ได้มาจากภาคอีสานนะ)
.
พวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ๆกันอยู่ทุกวันนี้เนี่ย ถ้าใครเคยแกะดู แน่นอนว่าจะเห็นแผงวงจรไฟฟ้าอยู่ด้านใน ซึ่งถ้าดูลึกๆลงไปอีกบนแผงวงจร เราจะเห็นว่าพวกชิ้นส่วนตัวเล็กๆ (เรียกรวมๆว่า Component) ซึ่งทั้งหมดถูกยึดติดกับแผงวงจร (PCB, printed circuit board) ด้วยโลหะสีเงินๆ
.

 
ไอ่เจ้าสีเงินๆนั่นแหละครับ เราเรียกว่าโซลเดอร์ หรือแปลไทยว่า ตะกั่วบัดกรี
อย่างไรก็ตาม Solder นั้น จริงๆแล้วไม่ได้แปลว่าตะกั่วนะครับ
.
ถ้าแปลตรงตัว Solder จะแปลว่าตัวประสาน ซึ่งในที่นี้มันคือการประสาน (และนำไฟฟ้า) ให้ชิ้นส่วนติดอยู่กับแผงวงจรนั่นเอง ส่วนตะกั่วนั้นภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Lead (ออกเสียงว่าลีด ตัวย่อในตารางธาตุคือ Pb)
.
เออ แล้วทำไมเราถึงเรียกว่าตะกั่ว?
ก็เพราะเมื่อก่อนมันเป็นตะกั่วจริงๆน่ะสิ
.
ในสมัยแรกเริ่ม ในวงการอิเล็กทรอนิกส์ใช้ตะกั่วจริงๆทำหน้าที่เป็นโซลเดอร์ เพื่อยึด (ประสาน) ชิ้นส่วนให้ติดกับแผงวงจร ด้วยคุณสมบัติที่หาง่าย ราคาถูก ใช้งานก็ง่าย
.
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาเราเริ่มรู้ว่าตะกั่วนี่มันอันตรายนะ สมัยผมเรียนมัธยม ในแบบเรียนมีพูดถึงโรคที่เกิดจากพิษสารตะกั่ว คือตอนนั้นรู้จักแบบแพ็คคู่ แบบว่าท่องจำไปสอบคือโรคมินามาตะ กับโรคอิไตอิไต ซึ่งตอนนี้จำไม่ได้แล้วว่าอันไหนเกิดจากตะกั่ว 5555 จะกูเกิ้ลก็ขี้เกียจ เอาเป็นว่าตะกั่วมันอันตรายก็แล้วกัน
.
พอรู้ดังนี้แล้ว เราเลยมีการเลิกใช้ตะกั่วในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการเลิกใช้ไม่ได้ประกาศวันนี้พรุ่งนี้เลิกนะครับ แต่เป็นการค่อยๆลดการใช้ เพราะถ้าเลิกแบบปุปปัป มันจะส่งผลกระทบรุนแรงทั้งโรงงานผู้ผลิต คนทำสินค้า คนทำโซลเดอร์ คนทำตัวต้านทานตัวเก็บประจุ บลาๆ คือกระทบหมดแหละว่าง่ายๆ
.
ช่วงแรกเขาเลยประกาศให้สินค้าที่จะผลิตในปีถัดๆไปจะห้ามมีตะกั่วแล้วนะ เพื่อให้บริษัทที่ออกแบบพัฒนาสินค้ารู้ตัวก่อน แล้วเริ่มวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่เป็นแบบไม่มีตะกั่ว
.
ส่วนสินค้าเก่าๆที่ผลิตขายๆกันอยู่ มาตรการจะค่อยๆเข้มขึ้นๆในแต่ละปี เพื่อให้เจ้าของสินค้ามีเวลาไปคิดหาเอาวัตถุดิบที่ปลอดภัยกว่ามาใช้แทนตะกั่วในปีถัดๆไป
.
ซึ่งมาตรฐานสินค้าปลอดสารพิษ ที่ไม่ใช่แค่ตะกั่วอย่างเดียวนะแต่รวมไปถึงปลอดสารปรอทและสารพิษอื่นๆด้วย ในวงการอิเล็กทรอนิกส์เราเรียกว่า RoHS ถ้าเห็นโลโก้นี้อยู่บนแผงวงจรหรือบนเครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะได้รู้ว่า อ๋อ ที่มามันเป็นแบบนี้
.
ปัจจุบันเข้าใจว่าเป็น RoHS กันหมดแล้วนะ อาจจะมียกเว้นอุปกรณ์บางอย่างที่ผลิตน้อย และ ใช้งานเฉพาะทางจริงๆ
 

 

.
แต่ตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ เมื่อไม่กี่ (สิบ) ปีก่อน ก็ยังพอเห็นซากอารยธรรม ที่เป็นกระบวนการผลิตแบบตะกั่วๆอยู่ จำได้ว่าพี่ที่สอนงานบางคนยังบ่นๆอยู่ว่า โซลเดอร์ลีดฟรี มันใช้ยากเพราะต้องใช้ความร้อนสูงขึ้นในการละลาย ยังไม่พอมันยังหนืดและเย็นไวกว่าตะกั่วธรรมดา ทำให้ต้องใช้ฝีมือมากขึ้น แน่นอนว่างานเสียช่วงแรกๆก็เยอะขึ้นด้วย
.
ลืมบอกไป คือในโรงงานจะเรียกทับศัพท์ไปเลยว่าโซลเดอร์ ไม่ค่อยมีใครเรียกตะกั่ว แล้วก็โซลเดอร์ที่ไม่มีสารตะกั่วเนี่ย ภาคภาษาอังกฤษเรียกว่า Lead Free Solder เราก็เรียกกันว่า โซลเดอร์ลีดฟรี แต่บางคนยังอุตส่าห์เรียกว่าตะกั่วลีดฟรีก็มี
ซึ่งในโรงงานไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร เราก็จะเข้าใจกันแหละ
.
แต่ไม่ใช่กับคนนอก เลยเป็นที่มาของเรื่องฮาๆเรื่องนึง

คือการสั่งซื้อของเอาเข้ามาผลิตในโรงงานที่อยู่ในเขตปลอดภาษีของนิคมอุตสาหกรรมบ้านเรา มันต้องมีการระบุคำแปลด้วย สรรพากรเขาจะได้รู้ว่ามันคืออะไร ไม่ได้ลักลอบเอาอะไรแปลกๆเข้ามานะ
มีพี่ผมท่านนึงให้คำแปล Lead Free Solder ว่า “ตะกั่วบัดกรีที่ไม่ใช่ตะกั่ว”
.
หลังจากแปลส่งไปได้ไม่นาน พวกผมโดนฝ่ายจัดซื้อเรียกไปด่าเรียงตัว (เพราะจัดซื้อโดนสรรพากรด่ามาอีกที) เรื่องนี้เจอกันทีไรก็ขุดเอามาเล่ากันแบบโคตรฮา แต่ตอนโดนด่าในห้องเย็นนี่ไม่มีใครฮานะ 5555
.
กลับมาที่โซลเดอร์ สำหรับใครที่เรียนมาทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะเคยได้ทำงานที่เรียกว่า “การบัดกรี” เนาะ .ใครนึกไม่ออกลองเดินไปดูตามร้านซ่อมคอม หรือ ซ่อมมือถือ หรือลองหาดูในยูทูป
 

 
บัดกรีคือการใช้หัวแร้งละลายลวดบัดกรี พอของเหลวที่ละลายนั้นเย็นลงมันก็จะยึดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้ติดกับแผงวงจร กระบวนการนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Soldering และลวดบัดกรีนั้นคือ Solder Wire เพราะอยู่ในรูปแบบที่เป็นลวด (Wire)
.
การบัดกรีแบบใช้หัวแร้งเนี่ย ในโรงงานจะเรียก Hand Soldering หรือ Manual Soldering เพื่อสื่อว่าเป็นกระบวนการทำงานที่ใช้คนทำ
.
นั่นแปลว่ามีกระบวนการ Soldering ที่ใช้เครื่องจักรทำด้วยนะ
กระบวนการนี้น่าสนใจ ตอนที่ผมเห็นครั้งแรกนี่มีตะลึงไปเหมือนกัน คือมันดูไฮเทคเหมือนในหนังไซไฟยังไงยังงั้น เอาไว้เดี๋ยวมาเล่าต่อตอนที่ 2 ละกันเนาะ ขอดู feedback ตอนนี้ก่อน ถ้าคนอ่านน้อยก็ตัดจบ 5555
.
เรื่องนี้เขียนจากความทรงจำล้วนๆมีค้นเพิ่มบ้างนิดหน่อย ผิดพลาดตรงไหนขออภัยนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่