@@@ ปตท. เร่งลงทุนโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า @@@@

กระทู้คำถาม
ปตท. เร่งลงทุนโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จับมือค่ายจีน-สหรัฐ ดันไทยฐานผลิต รถมอเตอร์ไซค์-รถเก๋ง-รถบัส EV
.
-กรุงเทพธุรกิจ- ปตท.เปิดแผนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท เดินเครื่องโรงงานประกอบ “อีวี” ต้นปี67 กลางปีผลิตมอร์เตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผนึก “สกุลฏ์ซี” ประกอบรถอีบัส เร่งแอป “อีวีมี” บริการเช่ารถอีวี ดึงบิ๊กดาต้าวิเคราะห์ข้อมูลตลาด วางแผนผลิตอีวีในอนาคต มั่นใจมาตรการรัฐหนุนตลาดอีวี
.
ช่วงต้นปี 2564 กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มขยับในเรื่องของธุรกิจอีวี เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่ดี จึงเกิดแผนธุรกิจ EV Value Chain ซึ่ง ปตท.มีหลายส่วนงานที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกระจายในหลายบริษัท และนำมาสู่การตั้งบริษัท อรุณพลัส จำกัด ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มอีวีของ ปตท. โดยทำหน้าที่ประสานการลงทุนกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งร่วมลงทุนกับพันธมิตรในและต่างประเทศ
.
การเกิด อรุณ พลัส ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท จะช่วยขยายภาพทั้ง EV Value Chain ซึ่งจะเหมือนกับคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน โดยผู้ซื้ออีวีจะดูสถานีชาร์จว่าพอหรือไม่ รวมทั้งดูว่ามีการลงทุนสถานีชาร์จเท่าไหร่ เพราะกังวลว่าลงทุนแล้วจะได้เงินคืนเมื่อไหร่ ดังนั้น ปตท.จึงยกมาทั้งแวลูเชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดพร้อมกัน
.
ทั้งนี้ อรุณ พลัส มีหน้าที่แสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ และอีวีจะเป็น New S-Curve ให้ ปตท.โดยเฉพาะรายได้ ถ้าไม่ทำจะมีกระทบ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจขายน้ำมันและโรงกลั่นที่จะปิดตัวในอนาคตตามเทรนด์อีวี
.
รวมทั้งประเมินว่าในช่วง 2 ปี ข้างหน้า ตลาดอีวีจะคึกคัก ซึ่งรถอีวีไม่มีส่วนประกอบที่ซับซ้อน การเข้าศูนย์บริการเบื้องต้นอยู่ที่ระยะทาง 50,000 กิโลเมตร ส่วนแบตเตอรี่ประกันประมาณ 8 ปี และอาจเสื่อมสภาพลง ซึ่งต้นทุนรถ 1 คัน ไปอยู่ที่แบตเตอรี่ที่ 30-40%
.
“พอเห็นภาพว่าชิ้นปลามันที่ทำรายได้อยู่ในภาคผู้ผลิต เพราะรถ 1 คัน ราคาหลักล้านบาท โดยรถ 10,000 คัน ก็ 1 หมื่นล้านบาท จึงเกิดความร่วมมือกับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัดหรือฟ็อกซ์คอนน์ ที่ครบ 1 ปีที่ลงนามเพื่อสร้างฐานการผลิตรถอีวีในไทย”
.
ตั้งโรงงานใกล้แหลมฉบัง
.
ทั้งนี้ อรุณ พลัส กับฟ็อกซ์คอนน์ได้ตั้ง บริษัท ฮอริซอน พลัส จำกัด ช่วงเดือน ก.พ.2565 โดยอรุณ พลัสถือหุ้น 60% ฟ็อกซ์คอนน์ 40% เพื่อประกอบรถให้กับแบรนด์ต่างๆ โดยจะไม่ทำแบรนด์แข่งกับลูกค้าและเปิดรับทุนแบรนด์ โดยการประกอบรถอีวี 1 คันในเบื้องต้นสามารถผลิตชิ้นส่วนในประเทศได้ถึง 60-70% เครื่องยนต์บางอย่างนำเข้า 20-30% อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์ ซึ่งฟ็อกซ์คอนน์จะสนับสนุนอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์และดึงต่างประเทศเข้ามาลงทุน
.
“ตอนนี้มีพื้นที่สร้างโรงงานในใจ 3-4 แห่ง โดยจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกด้วยงบลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ บนพื้นที่ 300-400 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อลดต้นทุนขนส่ง และรองรับตลาดส่งออกช่วงแรก ซึ่ง ปตท.มีเวลาสร้าง 18 เดือน เพื่อให้ทันผลิตต้นปี 2567 ซึ่งปลายปีนี้ลูกค้าต้องเริ่มคุยกับเราถึง สเปก ยี่ห้อ หรือแบตเตอรี่ เป็นต้น เพราะเราจะมีรายละเอียดให้ลูกค้าเลือกว่าต้องการเมนูไหนบ้างก็เลือกได้เลยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุน”
.
เริ่มผลิต“อีวี”ได้ในปี 67
.
รวมทั้ง มีกำหนดแล้วเสร็จและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ ต้นปี 2567 กำลังการผลิตระยะแรกปีละ 50,000 คัน และขยายกำลังการผลิตปีละ 150,000 คัน ในปี 2573 สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
.
ทั้งนี้ ฮอริซอน พลัส จะต้องสกรีนลูกค้า เพราะเมื่อทำสัญญาให้ผลิต เช่น 20,000 คัน/ปี พอถึงเวลาแบรนด์อาจขายไม่ได้ตามเป้า อาจเกิดปัญหาจะฟ้องร้องได้ เพราะการจะผลิตเบื้องต้นต้องหลักหมื่นคัน/ปี และขณะนี้ได้หารือแล้ว 5-6 แบรนด์ ทั้ง จีน ยุโรป และแบรนด์รถในสหรัฐ
.
นอกจากนี้ จากความร่วมมือกับ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ขยายโอกาสทางธุรกิจ EV แบบครบวงจร อาทิ ให้บริการเช่า หรือจัดจำหน่าย EV พวงมาลัยขวารุ่นแรกของแบรนด์ Neta V ซึ่งในงานมอเตอร์โชว์ 2022 โฮซอนได้นำ Neta V และ Neta U Pro พวงมาลัยซ้ายมาโชว์ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี โฮซอน มีความสนใจนโยบายรัฐ ดังนั้น ปี 2567 จะต้องผลิตรถในประเทศไทยตามจำนวนที่ขาย ซึ่งอรุณ พลัส พร้อมที่จะผลิตให้ ส่วนการทำมาร์เก็ตติ้ง อรุณ พลัส จะไม่เข้าไปยุ่ง เพื่อไม่ไปบล็อกแบรนด์อื่น
.
ลุยแผนผลิตมอร์เตอร์ไซค์
.
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ได้พัฒนาแพลตฟอร์มบริการสวอพหรือสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า หรือ Swap&Go จำนวน 22 ตู้ชาร์จทั่วกรุงเทพฯ นำร่องตีตลาดกลุ่มไรเดอร์ รับ-ส่งของเดลิเวอรี่ราว 50 คัน ถือเป็นการทดลองตลาดที่ดี
.
รวมทั้งกลางปี 2565 จะร่วมลงทุนผลิตมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้ากับผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์แบรนด์ไทย อาทิ เทคโนโลยีแบตเตอรี ร่วมถึงมีการทำมาร์เกตติ้ง ผ่านศูนย์บริการ ฟิต ออโต้ ของโออาร์เป็นมัลติแบรนด์ และไม่จำกัดเฉพาะรถที่ผลิตกับอรุณ พลัส เท่านั้น
.
“การซ่อมบำรุงรถอีวีไม่มีความซับซ้อนและไม่เป็นอุปสรรคกับช่างในบ้านเรา ซึ่งทั้งกลุ่ม ปตท.พร้อมทรานฟอร์มเทคโนโลยี อนาคตเมื่อตลาดอีวีโต จะต้องขยายศูนย์บริการเพิ่ม”
.
เดินหน้าผลิตรถบัสไฟฟ้า
.
นอกจากนี้ อรุณ พลัส ยังเดินหน้าผลิตรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) ตัวถังผลิตจากอลูมิเนียมขึ้นรูปพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยใช้แพลตฟอร์มของฟ็อกคอนน์ที่เน้นรูปแบบอีโค่พาร์ทเนอร์ ขณะนี้ได้หารือทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ทหาร หรือแม้แต่ผู้ให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น มีแผนผลิตปีนี้กว่า 20 คัน เบื้องต้นจะใช้โรงงานบริษัท สกุลฏ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ประกอบ
.
“รถบัสที่จะบริการเห็นว่ามีการเช่ายังอยู่ระหว่างสัญญาเช่าของหน่วยงานรัฐ ดังนั้น ผู้ให้บริการเช่ารถบัสในหน่วยงานรัฐจะต้องคิดถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของรถบัสอีวี ซึ่งแพงกว่าอยู่แล้วแต่ต้องคิดค่าไฟฟ้ากับน้ำมันให้คุ้ม รวมถึงการจะลงทุนสถานีชาร์จเองหรือไม่ ตอนนี้”
.
“อีวีมี”แอปเช่ารถยนต์ไฟฟ้า
.
ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ในการขับรถอีวี อรุณ พลัส จึงตั้ง บริษัท อีวีมี พลัส ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เพราะกว่าจะมีรถตัวเองต้องใช้เวลา 2 ปี จึงเปิดให้เช่าใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น EVme เพื่อเป็นมาร์เก็ตเพลสสร้างธุรกิจต้นน้ำ โดยเมื่อทราบข้อมูล (Big Data) ลูกค้า อาทิ การจอง 1 สัปดาห์สูงสุด รองลงมาคือ 3 วัน ช่วงวันศุกร์-อาทิตย์ เป็นกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงข้อมูลการชาร์จ เป็นต้น จะเป็นประโยชน์ต่ออรุณ พลัส ในสายการผลิต
.
https://www.bangkokbiznews.com/business/999287
.
---------------------------------------------------------------------------
Thailand Development Report หรือ TDR เป็นบล็อกข่าวและข้อมูลที่ทำขึ้นมาเพื่อมุ่งเน้นในการนำเสนอข่าวและบทความด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
ช่องทางการติดตาม
Facebook : facebook.com/ThaiDevReport
Website : thdevelopmentreport.blogspot.com
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพจ สนับสนุนเพจ
E-mail : thdevelopmentreport@gmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่