เชียงใหม่-รู้จักกับคำว่า "ยางเนิ้ง" เปลี่ยนชื่อเป็น "สารภี"


..........ยางเนิ้งเคยเป็นชื่อของอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ 
คำว่ายางเนิ้งเป็นภาษาล้านนา หมายถึง ต้นยางที่โน้มเอน 
ต้นยางเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีอายุยืนนานมาก เป็นไม้ที่มีลำต้นตั้งตรง แข็งแรงและสูงลิบลิ่ว

..........เมื่อท้องถิ่นหนึ่งเกิดมีต้นยางบางต้นที่ยืนโน้มเอนจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาด 
ยางเนิ้ง จึงกลายเป็นลักษณะพิเศษของท้องถิ่นนั้น และได้กลายเป็นชื่อของท้องถิ่นในที่สุด

..........ในปี พ.ศ.2434 รัฐบาลสยามได้ก่อตั้งอำเภอยางเนิ้ง เพราะตัวอำเภอตั้งอยู่ที่บ้านยางเนิ้ง 
ต่อมาในปี พ.ศ.2470 ด้วยความรู้สึกที่ว่าภาษาท้องถิ่นฟังไม่เพราะหูของนักปกครองจากส่วนกลาง 
อำเภอยางเนิ้งจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสารภี 
เพื่อมิให้ชื่อใหม่ต่างจากชื่อเก่ามากเกินไป โปรดสังเกตว่าชื่อของอำเภอใหม่ก็ยังเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง 
เพียงแต่ฟังดูเป็นภาษากรุงเทพฯ มากกว่าคำว่ายางเนิ้ง

..........นี่เป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดของการครอบงำวัฒนธรรมจากส่วนกลาง 
กล่าวคือ ส่วนกลางต้องการให้ท้องถิ่นรับวัฒนธรรมส่วนกลางไปใช้ หมิ่นแคลนวัฒนธรรมท้องถิ่น 
ขณะเดียวกันฝ่ายท้องถิ่นก็เห็นว่าวัฒนธรรมของตนเองด้อยกว่า กระทั่งดูหมิ่นและละทิ้งวัฒนธรรมของตัวเอง 
และหันไปยอมรับวัฒนธรรมส่วนกลางเป็นหลัก

..........เหมือนกับคนล้านนาบางท้องที่เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านของตนจากหนองบัวเป็นประทุมนิเวศน์ 
เรียกหมู่บ้านหลักปันว่า หลักพัน และเรียกหมู่บ้านตีนดอยว่า เชิงดอย ฯลฯ

..........ในปี พ.ศ.2442 ข้าหลวงคนแรกของมณฑลพายัพ คือ เจ้าพระยาสุรสีห์ วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) 
ได้กำหนดให้มีการปรับปรุงถนนในเชียงใหม่ ด้วยการปลูกต้นไม้ริมถนนสายต่างๆ

..........ให้ปลูกต้นไม้เมืองหนาวในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นสัก และต้นสน รอบๆ คูเมือง 
ให้ปลูกต้นขี้เหล็กริมถนนสายเชียงใหม่-หางดง-สันป่าตอง และให้ปลูกต้นประดู่ริมถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ฯลฯ

..........มาถึงปีนี้อำเภอยางเนิ้งก่อตั้งมาครบรอบ 100 ปี 
ต้นยางที่ข้าหลวงมณฑลพายัพกำหนดให้ปลูกมีอายุได้ 92 ปี ในช่วงวันที่ 2-4 สิงหาคมที่ผ่านมา 
อำเภอสารภีได้จัดงานสำคัญ คืองานอนุรักษ์ต้นยางครบรอบ 100 ปี

..........ที่ว่าสำคัญก็เพราะต้นยางที่ปลูกสองข้างถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน 
ยังหลงเหลืออยู่ถึง 1,227 ต้น อยู่ในเขตอำเภอสารภี 903 ต้น 
กล่าวได้ว่าเป็นถนนใหญ่สายเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ร่มรื่นเรียงรายตลอดสองข้างทาง
และอาจเป็นถนนใหญ่สายเดียวในเมืองไทยที่มีลักษณะเช่นนี้

..........ขณะที่ต้นไม้เมืองหนาวสูญหายไปหมดแล้วในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ เหลือต้นสักเพียงไม่กี่ต้น 
ต้นสนไม่หลงเหลืออยู่เลยแต่กลับมีต้นคอนกรีตและคอนโดฯ ริมคูเมืองขึ้นมาแทนที่ 
ส่วนต้นขี้เหล็กริมถนนสายเชียงใหม่-สันป่าตองและต้นประดู่ริมถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ก็แทบไม่เหลือร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน

..........คนอำเภอสารภีตระหนักถึงคุณค่าของการรักษาต้นไม้และสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาความชุ่มฉ่ำให้กับผู้คนและบ้านเมือง 
ดังนั้นประชาชนที่นี่จึงร่วมใจกันสละเงินคนเล็กละน้อยจัดพิธี "บวชต้นยาง" ขึ้น 
เพื่อหวังจะรักษาชีวิตของต้นยางที่ยังหลงเหลืออยู่ให้ยืนยาวต่อไป 
พร้อมกันนี้ก็ได้ปลูกต้นยางขึ้นใหม่ด้วยซึ่งการรณรงค์ของชาวอำเภอสารภีนี้ควรได้รับการปรบมือจากคนล้านนาและทั่วประเทศทีเดียว

..........การยืนหยัดอยู่ของต้นยางริมถนนสายนี้ 
และการจากไปของต้นสัก ต้นสน ต้นขี้เหล็กและต้นประดู่ในเขตอำเภออื่นๆ ของเชียงใหม่ 
เกิดจากปัจจัยที่แตกต่างกันไป เช่น ต้นสักและต้นสนริมคูเมืองถูกโค่นเพราะผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ในอดีต 
ไม่เห็นคุณค่าและมองว่ากีดขวางการจราจร ส่วนต้นประดู่และต้นขี้เหล็กถูกโค่นเพราะมีการขยายถนน 
ส่วนต้นยางยังคงอยู่เพราะเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่มาก บริเวณสองข้างถนนมีบ้านเรือนและร้านค้าหนาแน่น 
ต่อมามีการสร้างถนนไฮเวย์สายเชียงใหม่-ลำปาง ซึ่งสามารถแยกเข้าลำพูนได้ 
ถนนสายเชียงใหม่-สารภี-ลำพูน จึงไม่จำเป็นต้องขยายออกไป

<<< บันทึกท้ายกระทู้ >>>
เป็นอีกกระทู้หนึ่งที่บันทึกไว้เป็นที่ระลึกถึงเชียงใหม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่