คดีเงินสินสอด 1 ล้านหาย กับปัญหาที่น่าสนใจทางกฎหมาย

คดีนี้ เจ้าบ่าวทอม ถูกแม่แจ้งข้อหาลักทรัพย์

ปัญหาที่น่าสนใจคือ ปัญหาในข้อกฎหมายว่า คดีนี้เจ้าบ่าวจะมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์ได้หรือไม่

โดยปกติ  เงินถือเป็น "สังกมทรัพย์" (อ่านว่า "สัง-กะ-มะ-ทรัพย์") หมายถึง สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกติอาจใช้ของอื่นอันเป็นประเภท และชนิดเดียวกัน มีปริมาณเท่ากันแทนได้ 

และการกู้ยืมเงิน ถือเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งผู้ยืมไม่จำเป็นต้องส่งใช้เงินธนบัตรฉบับเลขที่เดียวกันเป๊ะๆ ให้แก่ผู้ให้กู้ แต่สามารถส่งใช้ธนบัตรอื่น หรือจะชำระโดยโอนเงินผ่านธนาคาร หรือวิธีอื่นใดที่มีผลเป็นการชำระเงินจำนวนเดียวกันก็ได้

ดังนั้น กรณีนี้ ถ้าเจตนาของเจ้าบ่าวทอม กับทางผู้ให้เงินมา ตั้งใจจะทำเป็นสัญญากู้ยืมเงิน   เงินที่ยืมมาก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าบ่าวทันที เพียงแต่เวลาคืน เจ้าบ่าวก็สามารถนำเงินธนบัตรฉบับอื่นไปคืนได้  ฉะนั้น เมื่อกรรมสิทธิ์ในเงินตกเป็นของเจ้าบ่าว  เจ้าบ่าวจึงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเอาเงินมามอบให้เป็นสินสอดแก่เจ้าสาว (จริงๆ ต้องพูดว่า เป็นการให้โดยเสน่หา ไม่ใช่สินสอด เพราะสินสอดคือทรัพย์ที่ฝ่ายชายให้แก่พ่อแม่ของหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสด้วย  แต่เคสนี้ เจ้าบ่าวเป็นผู้หญิง)

เมื่อเป็นการให้โดยเสน่หา  เงินจึงตกเป็นของพ่อแมฝ่ายหญิงตั้งแต่ส่งมอบแล้ว  เมื่อลักคืนไป ก็เป็นความผิดสำเร็จในข้อหาลักทรัพย์

แต่ในกรณีนี้  ต้องดูว่า เจตนาแท้จริงของ ทอม กับผู้ให้เช่าเงินสินสอด ว่า ตั้งใจทำเป็นสัญญาเช่าทรัพย์เฉพาะสิ่ง คือเงินปึกที่ห่อด้วยพลาสติกปึกนั้นเท่านั้นหรือไม่ เช่นมีการทำเครื่องหมายไว้ที่พลาสติก  หรือห้ามเปิดพลาสิกออกเด็ดขาด หรือผู้ให้เช่าต้องส่งคนประกบไม่ให้เงินคลาดสายตา  พอเสร็จงานหมั้น ก็รีบคืนเงินปึกนั้นให้คนของผู้ให้เช่าไป

ถ้าใช่อย่างหลัง  รูปคดีก็จะเป็นอีกแบบ  เพราะถือว่า กรรมสิทธิ์ในเงินปึกนี้ ยังเป็นของผู้ให้เช่าอยู่  ทอมยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในเงินดังกล่าว  เมื่อไม่มีกรรมสิทธิ์ในเงิน  แต่มีเพียงสิทธิครอบครอง  ดังนั้น จึงไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปให้แก่ผู้ใดได้  และพ่อแม่เจ้าสาวก็จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในเงินปึกดังกล่าวเพราะหลักกฎหมายมีว่า "ผู้รับโอน (พ่อแม่) ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (ทอม)"

ดังนั้น กรณีนี้  เจ้าบ่าวทอมก็จะไม่มีความผิดในข้อหาลักทรัพย์

ทีนี้  ทางผู้ให้เช่าเงินสินสอดเอง ก็ต้องพยายามให้รูปคดีออกไปอย่างหลัง เพราะว่า ถ้าเป็นอย่างแรก ก็คือ เป็นสัญญากู้ยืมเงิน  อย่างนี้ผู้ให้เช่าสินสอด ก็จะมีความผิดอาญาในข้อหาให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี  แต่ถ้าเป็นสัญญาเช่าเงินสินสอด  อย่างนี้ ไม่มีกฎหมายห้ามคิดค่าเช่าเกินร้อยละ 15 (วันเดียวเงิน 1 ล้าน ได้ค่าตอบแทน 45,000 บาท ก็เกินกว่าอัตรา 15% ต่อปีอยู่แล้ว)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่