ชวนอ่านบทสัมภาษณ์คนเขียนบทโทรทัศน์กรงน้ำผึ้ง

กระทู้คำถาม
ณา แต่งพสุเลิศ หรือเจ้าของนามปากกา วรรณา แต่งพสุเลิศ และ อาณาจินต์ นักเขียนบทละครโทรทัศน์มือดีที่สร้างชื่อจากละครแนวดราม่า แม้งานเขียนบทของเธออาจจะไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับระยะเวลา 10 กว่าปีที่โลดแล่นบนเส้นทางนักเขียน แต่ผลงานของเธอส่วนใหญ่ก็โด่งดังและงานเขียนของเธอก็เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้จัดละคร หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอก็ไปทำงานประจำเป็นก็อบปี้ไรเตอร์ จากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ออสเตรเลีย ด้านการสื่อสาร พอจบก็มามาทำงานก็อปปี้ไรเตอร์เหมือนเดิม พร้อมกับเขียนบทละครโทรทัศน์เป็นงานอดิเรก อาทิ ฟ้าเพียงดิน, รักริษยา, เลือดขัตติยา ต่อมาได้มาเป็นผู้จัดการฝ่ายละครให้กับไอทีวี ก่อนจะมาเริ่มเขียนบทอย่างจริงจังให้กับบริษัทเอ็กแซ็กท์ จนทำให้ชื่อของ วรรณา แต่งพสุเลิศ กลายเป็นที่รู้จักจากผลงาน ลอดลายมังกร, ละอองดาว, เล่ห์ภุมเรศ, หัวใจศิลา, ลูกไม้เปลี่ยนสี, พ่อมาลัยริมทาง, รุ้งร้าว, เพลงรักริมขอบฟ้า ล่าสุดกับงานละครแนวคอมเมดี้ที่กำลังทำเรตติ้งให้กับช่อง 3 ขณะนี้คือ "ผมไม่อยากเป็นสายลับ" เส้นทางการเขียนบทไม่ต่อเนื่องทั้งที่ชอบและอยากเขียนบทตั้งแต่ตอนเรียนจบ "เมื่อก่อนเป็นอะไรที่ลำบากเหมือนกันสำหรับคนเขียนบทหน้าใหม่ที่จะก้าวเข้ามาเพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องเข้ามายังไง เหมือนยังหาช่องทางเข้าไม่ได้ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่ค่อยมั่นคง เคยไปเขียนบทละครเด็กให้กับช่อง 5 แต่พอได้ทำงานประจำก็มาทำจนชิน คิดว่าถ้าออกจากงานประจำมาเขียนบทอย่างเดียวจะอยู่ได้ไหม เลยเขียนบทเป็นงานอดิเรกไปก่อน คือตอนนั้นเราไม่มั่นใจเพราะเรายังไม่มีชื่อเสียงยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ถ้าเรามีชื่อเสียงและมีคนป้อนงานให้ตลอดก็สามารถเลี้ยงชีพได้ แต่กว่าที่ผู้จัดฯ จะเชื่อถือเราอาจจะยากนิดนึงและใช้เวลานานนิดนึง แล้วเมื่อก่อนจะใช้ชื่อจริงๆ คือ วรรณา แต่งพสุเลิศ เป็นนามปากกา แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้ อาณาจินต์ เพราะอยากลองใช้อะไรใหม่ๆ" อาชีพเขียนบทเลี้ยงชีพไม่ได้ถ้าไม่มีชื่อเสียง "สมมติเด็กใหม่ๆ ที่อยากเข้ามา อาจจะมีความรู้สึกว่าผู้จัดฯ จะมั่นใจในการทำงานของเขาหรือเปล่า เขียนแล้วจะเป็นยังไง เป็นแทบทุกคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ นอกจากจะโชคดีที่ว่าพอเขียนเรื่องแรกแล้วโอเค.เลยมันก็สามารถเลี้ยงชีพได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผลงานด้วยนะ ถ้าผลงานโอเคน่าจะง่ายกว่า"

ส่วนใหญ่งานเขียนบทจะเน้นแต่ละครแนวดราม่า "เมื่อก่อนเขียนแต่แนวดราม่าหนักๆ เพราะเราสร้างชื่อมาจากดราม่าคนเลยอาจจะเชื่อว่าเราเขียนดราม่าได้ดี แต่พอได้มาลองเขียนละครคอมเมดี้บ้าง อย่าง "พ่อมาลัยริมทาง" และ "ผมไม่อยากเป็นสายลับ" ก็ชอบเพราะใจจริงอยากเขียนมานานแต่ไม่มีโอกาส เพราะเราอยากลองอะไรหลากหลายอยากเปลี่ยนตัวเอง อยากได้มุมมองอะไรใหม่ๆ บ้าง มองอะไรตลกบ้างหลังจากมองอะไรซีเรียสมานาน และให้เขียนแบบเดิมๆ ก็เบื่อแล้ว แล้วลึกๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนตลกแต่ไม่ถึงกับขำก๊ากแต่ชอบตลก ตอนนี้รู้สึกอยากเขียนแนวโรแมนติกคอมเมดี้ แบบเกาหลี และแนวผีๆ เพราะไม่เคยเขียน มันคงน่าตื่นเต้นดีและได้คิดอะไรใหม่ๆ ด้วย คือตอนนี้วงการละครเรามองว่าค่อนข้างคึกคักนะ แล้วละครยังไงก็มีคนดู คนเขียนบทใหม่ๆ ตอนนี้ก็มีเข้ามาเยอะมาก ทำให้มีมุมมองใหม่ๆ เกิดขึ้น เหมือนมาสร้างสีสันให้วงการละคร ในขณะที่แนวละครก็หลากหลายมากขึ้น คนเขียนบทเยอะขึ้น ทำให้ผู้จัดฯ มีทางเลือกมากขึ้น" แล้วคนเขียนบทมีโอกาสเลือกงานไหม "ถ้าเป็นคนที่มีชื่อเสียงมีโอกาสเลือกงานมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่คนเขียนบทไม่ค่อยเลือกงาน เพราะผู้จัดฯ เห็นอยู่แล้วคนนี้เหมาะกับงานเขียนแนวไหน หรือถ้าเขาอยากจะเลือกก็ได้ถ้าเขามีงานล้นมือ" จริงๆ แล้วคนเขียนบทไม่ค่อยแฮปปี้ถ้าต้องถูกแก้บท "จริงๆ ไม่อยากให้แก้ กว่าที่เราจะเขียนออกมาเราคิดแล้วคิดอีก เพราะอยากให้งานออกมาดีที่สุด แต่ถ้าเขาให้แก้มีเหตุผลของเขาและเรายอมรับได้ก็โอเค. แต่ถ้าเรายอมรับไม่ได้หรือรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราก็จะไม่อยากแก้เพราะเหตุผลไม่ได้ แต่ถ้าเขาอยากให้เราแก้จริงๆ เราก็ต้องแก้ เพราะเรารับงานมาแล้วก็ต้องทำให้จนจบเรื่อง เรารับงานมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบงานจนจบ แต่พอแก้ไปคนที่โดนด่าคือคนเขียนบท ซึ่งเราก็เคยโดนมาเหมือนกัน โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ตโดนด่าเยอะเหมือนกัน ตอนหลังเริ่มไม่อยากอ่านแล้ว เพราะด่าแรงเหมือนกันประมาณว่า "คนเขียนบทคนนี้ผู้จัดฯ น่าจะเลิกจ้างได้แล้ว" ทั้งที่เราก็แก้ตามที่ผู้จัดฯ บอก ก็อาจจะมีเสียเซลฟ์ไปบ้างนิดนึง แต่ก็ต้องทำใจยอมรับและคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เจอจนชินแล้ว แต่ถ้าให้เลือกได้เราไม่อยากแก้ถ้ามันไม่ได้จริงๆ หรือไม่มีเหตุผล" เคยเจอให้แก้บทเพื่อตามกระแส "ก็มีเหมือนกัน ถ้ากระแสมีเหตุผลเราแก้ให้แต่ถ้ากระแสแบบนี้เป็นลบมากกว่าเราก็จะบอกเขา ถ้าเขาเชื่อก็โอเค.เราไม่ต้องแก้ แต่ถ้าเขาไม่เชื่อจะเอาให้ได้เราก็แก้ให้ก็ได้" นอกจากเขียนบทยังเขียนพล็อตเองด้วย "ก็มีบ้างที่พล็อตเองเพราะบางเรื่องทำให้เรามีแรงบันดาลใจ อย่างเรื่อง "ลูกกรุง" ที่บริษัทเอ็กแซ็กท์ซื้อไปและเขากำลังทำบทอยู่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพลงลูกกรุงยุค คุณชรินทร์ นันทนาคร ซึ่งเราชอบและฟังมาแต่เด็กก็น่าจะเอาเพลงมาคิดเป็นเรื่องราวได้ และเรื่อง "รักออกอากาศ" ของโพลีพลัสซื้อไป เป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ส่วนตอนนี้ที่กำลังพล็อตอยู่เป็นแนวคอมเมดี้ เพราะเห็นฟีดแบ็กจากละคร "ผมไม่อยากเป็นสายลับ" ค่อนข้างดีเลยรู้สึกว่าทำคอมเมดี้ก็ดีนะ เพราะคนคงอยากดูอะไรสบายๆ เขาดูอะไรเครียดๆ มาเยอะแล้ว อยากมาดูอะไรที่ผ่อนคลายดีกว่า แต่ดราม่าก็ยังเขียนได้นะเพียงแต่อยากลองหลายๆ แบบ"

ต้องแอ็กทีฟตัวเองเพื่อไม่ให้เชย "ตอนนี้ก็มีน้องใหม่เข้ามาเยอะเราก็ต้องปรับตัวเองต้องพัฒนาตัวเอง เช่น หาข้อมูลใหม่ๆ มาหรือเขียนบทให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ต้องช่างสังเกตว่าคนแบบนี้มีพฤติกรรมยังไง อ่านหนังสือเยอะๆ อย่างการเล่าเรื่องสมัยนี้จะเร็วกว่าสมัยก่อนเยอะ เราก็เล่าเรื่องให้กระชับไม่ยืดเยื้อ เพราะตอนนี้คนดูชอบดูอะไรเร็วขึ้น หรืออย่างมุกตลกเราก็ต้องเอามุกทันสมัย มุกที่เด็กสมัยนี้เขาคุยกัน" แรงจูงใจในการทำงาน "เวลาเห็นละครเราออกอากาศถ้าคนดูชอบเราจะรุ้สึกมีกำลังใจเขียนต่อไป คนอื่นเราไม่รู้นะแต่สำหรับเราอันนี้สำคัญมากเลยคือคนดู แต่ถ้าไม่ดีคนดูไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เราก็ปรับปรุงแก้ไข" คนจะทำงานเขียนบทได้นอกจากมีใจรักแล้วต้องมีความอดทนสูง "คนที่จะมาทำงานนี้ได้ต้องรักงานนี้จริงๆ ถึงจะโดนแกล้งยังไงต้องอดทนนิดนึงจนกว่าเราจะสร้างชื่อสร้างเครดิตได้ ถ้าเราผ่านขั้นตอนนั้นมาได้ก็โอเค.แล้วสามารถทำเป็นอาชีพได้ แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนนั้นได้อาจจะยากนิดนึงแต่เราก็ต้องผ่านมาให้ได้ ถ้าเราผ่านมาได้เราจะอยู่ในอาชีพนี้ได้เรื่อยๆ เพราะรายได้ก็โอเค.สามารถเลี้ยงชีพได้สำหรับคนที่มีชื่อเสียงหรือมีเครดิต แต่ถ้าใหม่ๆ ยังไม่เท่าไหร่ นอกจากใจรักต้องมีความอดทน อดทนกับการถูกแก้บท ยิ่งถ้าเป็นหน้าใหม่โดนแก้แน่ๆ เพราะฝีมือและด้วยประสบการณ์ของเขายังน้อย ต้องอดทนรอ อดทนยอมรับฟังคำวิจารณ์ คนดูจะชอบไหม ถ้าดีเขาก็แจ้งเกิดได้เลยนะแต่ถ้าไม่มีจบเลย คือของแบบนี้ก็อยู่ที่จังหวะด้วยนะ เพราะถ้าเกิดแป๊กขึ้นมาโอกาสได้ทำเรื่องต่อไปน้อยมาก ผู้จัดฯ อาจจะไม่เชื่อว่าเราจะเขียนได้หรืออาจจะไม่ให้งานต่อไป" เส้นทางนักเขียนกว่าจะเดินมาถึงวันนี้ "รู้สึกลุ่มๆ ดอนๆ นิดนึงถ้าเทียบกับคนอื่น มันอาจจะอยู่ที่จังหวะที่เราเข้ามาก็ได้ เพราะตอนที่เราเข้ามาคนเขียนบทเริ่มเยอะแล้วไม่เหมือนสมัยก่อน กว่าจะอยู่ในวงการได้ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองนิดนึง สมมติผู้จัดฯ คนนี้เชื่อถือเราแล้วแต่ผู้จัดฯ อีกคนไม่เคยใช้งานเราอาจจะไม่แน่ใจว่าเราจะเขียนสไตล์แบบไหน จะเหมาะกับละครของเขาไหม" ในวงการนักเขียนบทมีการสกัดดาวรุ่งบ้างไหม "มีค่ะ อย่างเช่นคนเขียนบทบางคนที่ทำกับผู้จัดฯ คนนี้ ช่องนี้มาตลอด พอคนอื่นจะเข้าไปบอกให้เขาช่วยแนะนำให้หน่อยได้มั้ยก็คงยากนิดนึง เขาก็มีเหตุผลของเขานะ คงกลัวจะไปแย่งงานเขาทำให้งานเขาน้อยลง มันไม่ได้แย่งงานกันง่ายๆ ถ้าผู้จัดฯ เลือกคนนี้แล้วเขาก็จะเชื่อมั่นคนนี้ไม่ค่อยเปลี่ยนหรอก เราก็เคยโดนทั้งตอนที่ยังไม่มีชื่อเสียงและมีชื่อเสียงแล้วก็โดน เรารู้สึกว่าเราก็ไมได้จะไปแย่งงานเขา ถ้าเกิดผู้จัดฯ เชื่อถืองานของเขาอยู่แล้วคงไม่เอามาให้เราทำหรอก เพียงแต่เราอยากหาโอกาสใหม่ๆ บ้าง เราก็ไม่เคยทำแบบนี้กับน้องๆ ด้วย ก็มีน้องๆ ขอให้เราแนะนำหน่อยจะส่งพล็อตยังไงเราก็ให้เบอร์โทร.เขาไปติดต่อเอาเองเลยให้เขาพิสูจน์ตัวเอง คนเราอาชีพเดียวกันไม่น่าจะกีดกันกัน ควรจะช่วยกันหาโอกาสให้กันดีกว่าเพราะละครก็มีเยอะมาก"

ตัวบทสัมภาษณ์ตั้งแต่ปี 2554 แล้วนะครับ : 
https://www.sanook.com/movie/19269/gallery/58738/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่