ลัดเลาะฝั่งธน@วัดอรุณ
By Auntie & Yayee
หลังจากที่เก็บตัวอยู่บ้านกันมานานเพราะพิษโควิด วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใสได้โอกาสออกมาเดินเล่น และทำบุญที่วัดอรุณราชวราราม บรรยากาศที่วัดในวันนี้เรียกว่าเป็นภาพที่ไม่คุ้นชินเอาซะเลย เพราะปกติจะคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แต่วันนี้สามารถเดินเก็บภาพได้สบายๆในบรรยากาศเงียบสงบ
เรามาทำความรู้จักวัดอรุณฯกันหน่อย ว่ามีความเป็นมาอย่างไร วัดอรุณราชวราราม เป็น 1 ใน 6 วัด ที่เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร (ส่วนวัดที่เหลือมีวัดไหนบ้างนั้นโปรดติดตามต่อในตอนต่อไป) เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก ทำไมถึงรู้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยโน้น เพราะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดอ ฟอแบง ทหารฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ขึ้นมาหลังจากที่มาประจำการที่ป้อมธนบุรี ก็มีวัดอรุณปรากฏอยู่ในแผนที่นั้นแล้ว
วัดอรุณ เริ่มมีความสำคัญหลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชและล่องเรือพระที่นั่งมาถึงวัดนี้ในยามรุ่งเช้าพอดี ทรงเสด็จขึ้นถวายสักการะพระมหาธาตุ และพระราชทานนามวัดนี้ว่าวัดแจ้ง
ในสมัยกรุงธนบุรี วัดแจ้ง ได้รับการบูรณะใหม่กลายเป็นวัดในพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และได้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อนด้วย
เรามาเริ่มเดินชมโบราณสถานภายในวัดกันดีกว่า เริ่มจาก
พระบรมราชานุเสาวรีย์รัชกาลที่ 2
บริเวณใกล้ศาลาท่าน้ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีพระบรมราชานุเสาวรีย์รัชกาลที่ 2 ประดิษฐานอยู่ พระองค์ เคยประทับที่พระราชวังเดิม มาเป็นเวลา 28 ปีเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหลวงอิศรสุนทร หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดให้บูรณะวัดแจ้งครั้งใหญ่ และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดอรุณราชธาราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4ได้พระราชทานชื่อใหม่เป็น วัดอรุณราชวราราม
ด้านล่างของพระบรมราชานุเสาวรีย์มีรูปช้างหล่อ เพราะ รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชสมัญญา ว่า พระเจ้าช้างเผือก เนื่องจากในรัชกาลของพระองค์ทรงมีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบารมีหลายเชือก
ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3
บรรยากาศบริเวณทางเดินหน้าพระบรมราชานุเสาวรีย์รัชกาลที่ 2
ด้านซ้ายคือวิหารน้อย ด้านขวาคือโบสถ์น้อย
วิหารน้อย ตั้งอยู่ด้านหน้าพระปรางค์ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ ส่วนด้านขวานั้นคือ โบสถ์น้อย ซึ่งเป็นโบสถ์เดิมของวัดนี้ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงผนวช เสด็จมาประทับที่โบสถ์แห่งนี้ในช่วงปลายรัชกาล ปัจจุบันยังคงเก็บรักษาพระแท่นบรรทมของพระองค์ไว้ และยังประดิษฐานพระบรมรูปหล่อของพระองค์ไว้ที่นี่ด้วย
ในที่สุดก็เดินมาถึงแลนด์มาร์คสำคัญของวัดนี้ พระปรางค์วัดอรุณ
พระปรางค์ ถ่ายจากประตูทางเข้า
ในสมัยโบราณพระปรางค์วัดอรุณมีความสูงเพียง 16 เมตรเท่านั้น หลังจากที่รัชกาลที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดให้พระราชโอรส คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) มาบูรณะวัดอรุณให้ดีขึ้น และตั้งใจที่จะบูรณะพระปรางค์ให้เป็นพระมหาธาตุคู่เมืองกรุงเทพ จึงสร้างพระปรางค์เป็นทรงจอมแหครอบพระปรางค์องค์เดิม และทำฐานรากให้สูงขึ้น ใหญ่ขึ้น โดยเริ่มสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 องค์ปรางค์ประธานมีความสูงถึง 67 เมตร ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีจากเมืองจีน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3
ภายในบริเวณพระปรางค์ ในวันที่ไร้นักท่องเที่ยว
พระปรางค์วัดอรุณสร้างในคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุ มีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ในซุ้มจตุรมุขทั้ง 4 ด้าน มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ และ มีมณฑปทิศ ปรางค์ทิศล้อมรอบ เหมือนเขาสัตตบริภัณฑ์ ยอดนพสูรย์มีพระมหามงกุฏครอบอยู่มีความหมายว่าต่อไปเจ้าฟ้ามงกุฏ (รัชกาลที่ 4)จะได้ครองราชย์ต่อไป
พระปรางค์วัดอรุณเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพมาเกือบสองร้อยปี เพราะการติดต่อค้าขายกับต่างชาติในสมัยก่อนต้องใช้ทางเรือ เมื่อเดินเรือมาแล้วมองเห็นพระปรางค์วัดอรุณก็คือมาถึงกรุงเทพแล้ว
ทางเดินเข้าไปพระอุโบสถ
หลังจากเดินชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เราก็จะเดินเข้าไปด้านใน เพื่อจะไปยังพระอุโบสถ ก็ประจันหน้าเข้ากับทวารบาล 2 ตน ไม่ใช่ใครอื่น ก็คือ ยักษ์วัดแจ้ง ในตำนานนั่นเอง ยักษ์สีขาวชื่อ สหัสสเดชะ ยักษ์สีเขียว ชื่อทศกัณฐ์ เป็นยักษ์ทวารบาลไทยคู่แรกที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังมีดีกรีเป็นยักษ์ต้นแบบของยักษ์วัดพระแก้วอีกด้วย ด้านหลังทวารบาล ก็คือ ซุ้มประตูทรงจตุรมุข ที่มีความสวยงาม ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันเป็นลวดลายพุดตานก้านแย่ง ตามแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3
สหัสสเดชะ
ทศกัณฐ์
เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูนี้เข้าไป ก็จะผ่านเข้าไปหาพระอุโบสถ
ทางเดินเข้าพระอุโบสถ
ด้านหน้าพระอุโบสถ และ ซุ้มเสมา
ในวัดอรุณฯมีความเป็นที่สุดอยู่หลายอย่างมาก เช่น ซุ้มเสมาหินอ่อน ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นซุ้มเสมาที่สวยงามที่สุดของวัดหลวงในกรุงเทพมหานคร และเป็นวัดที่มีตุ๊กตาหินของจีนมาที่สุดในกรุงเทพมหานครด้วย
บรรยากาศรอบพระอุโบสถ
และสิ่งที่ชอบมากที่สุด ดูกี่ครั้งก็ไม่เบื่อคือ เสาและผนังด้านนอกพระอุโบสถที่ดูอ่อนหวาน เพราะประดับด้วยกระเบื้องจีนสีสวยหวานลายดอกไม้ร่วง
แท่นสิงโตหินและซุ้มเสมาด้านข้างพระอุโบสถ
สิงโตหิน และ ตุ๊กตาหินจีน ที่เรียงรายอยู่รอบๆพระอุโบสถ และ พระระเบียงมีอริยาบถแตกต่างกันไป นอกจากตุ๊กตาแล้วยังมีช้างสำริด ที่มีท่าทางแตกต่างกันอีกด้วย ช้างเหล่านี้หล่อขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่ออุทิศถวายรัชกาลที่ 2 ตาม พระราชสมัญญาว่าพระเจ้าช้างเผือก
ตุ๊กตาหินจีนและช้างสำริด
ถะ มี 4 มุมรอบพระอุโบสถ
พระพุทธนฤมิตร
พระพุทธนฤมิตร เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ฉลองพระองค์รัชกาลที่ 2 ที่รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หล่อขึ้น และ รัชกาลที่ 5 อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ด้านหน้าพระอุโบสถ
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก
เข้ามากราบพระประธานในโบสถ์ ในสมัยเรียนนั้นอาจารย์สอนว่า พระพุทธรูปองค์นี้ หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และเชื่อกันว่าทรงปั้นพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้ด้วยพระองค์เอง วันนี้โชคดี ได้เข้ามาดูใกล้ๆแบบไม่มีคนอื่นเลย ความสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ได้มีแค่นี้ แต่ยังประดิษฐานพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 ไว้ที่ตรงกลางผ้าทิพย์ ดังนั้น วัดอรุณราชวราราม จึงถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
ในที่สุดก็จบทริปวัดอรุณฯ ได้ ทำบุญ เก็บภาพบรรยากาศ และถือโอกาสทบทวนความรู้ที่เคยได้เรียนมา และบันทึกเป็นเรื่องเล่าเก็บไว้ด้วยในคราวเดียวกัน
พบกันใหม่ในทริปต่อไป....
บันทึกแห่งการเดินทางของสาวสองวัย:ลัดเลาะฝั่งธน@วัดอรุณ
By Auntie & Yayee
เรามาทำความรู้จักวัดอรุณฯกันหน่อย ว่ามีความเป็นมาอย่างไร วัดอรุณราชวราราม เป็น 1 ใน 6 วัด ที่เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร (ส่วนวัดที่เหลือมีวัดไหนบ้างนั้นโปรดติดตามต่อในตอนต่อไป) เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก ทำไมถึงรู้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยโน้น เพราะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดอ ฟอแบง ทหารฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ขึ้นมาหลังจากที่มาประจำการที่ป้อมธนบุรี ก็มีวัดอรุณปรากฏอยู่ในแผนที่นั้นแล้ว
วัดอรุณ เริ่มมีความสำคัญหลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชและล่องเรือพระที่นั่งมาถึงวัดนี้ในยามรุ่งเช้าพอดี ทรงเสด็จขึ้นถวายสักการะพระมหาธาตุ และพระราชทานนามวัดนี้ว่าวัดแจ้ง
ในสมัยกรุงธนบุรี วัดแจ้ง ได้รับการบูรณะใหม่กลายเป็นวัดในพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และได้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อนด้วย
เรามาเริ่มเดินชมโบราณสถานภายในวัดกันดีกว่า เริ่มจาก
ด้านล่างของพระบรมราชานุเสาวรีย์มีรูปช้างหล่อ เพราะ รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชสมัญญา ว่า พระเจ้าช้างเผือก เนื่องจากในรัชกาลของพระองค์ทรงมีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบารมีหลายเชือก
พระปรางค์วัดอรุณเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพมาเกือบสองร้อยปี เพราะการติดต่อค้าขายกับต่างชาติในสมัยก่อนต้องใช้ทางเรือ เมื่อเดินเรือมาแล้วมองเห็นพระปรางค์วัดอรุณก็คือมาถึงกรุงเทพแล้ว
พบกันใหม่ในทริปต่อไป....