สงครามรัสเซีย-ยูเครน จีนคงจะปวดหัวกับรัสเซียมิใช่น้อย

ในภาพใหญ่ปัจจุบัน ปัญหาความขัดแย้งและแข่งขันกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จนคล้ายจะกลายเป็นสงครามเย็นครั้งที่ 2 เป็นปัญหาที่นับว่าอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง ปัญหาระดับโลกหรือระดับภูมิภาค และแม้แต่ระดับภายในประเทศของหลาย ๆ ประเทศที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อหรือมีต้นตอมาจากปัญหาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ในภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ถึงแม้ทางรัสเซียและยูเครนจะมีเหตุผลของตนเองในการทำสงคราม  สุดท้ายไม่ว่าผลของสงครามจะเป็นอย่างไร เมื่อมองในภาพใหญ่เรื่องการแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แล้ว คงจะบอกได้เพียงว่า จีนเสียกระบวนและเสียเปรียบจากสงครามครั้งนี้ ในขณะที่สหรัฐฯ มีความได้เปรียบแทบจะในทุกมิติ กระทู้นี้จะบอกว่าทำไม

1. จีนไม่สามารถยอมให้รัสเซียล้มได้ เพราะจีนยังมีศักยภาพทางทหารที่ห่างไกลนักกับสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีรัสเซียเข้ามาช่วยเพื่อใช้ในการคานอำนาจให้ใกล้เคียงกัน เรื่องนี้มีผลในการเจรจาต่อรองและความเชื่อมั่นของบรรดาประเทศเล็กประเทศน้อยที่กำลังถูกบีบให้เลือกข้างทั้งทางตรงและทางอ้อม

2. ยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะประเทศในฝั่งเนโต้ มีความแน่นแฟ้นเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น (ดูได้จากการประชุมของยุโรปเมื่อวาน 24 มี.ค. 2565) ถึงแม้ยุโรปจะไม่ได้เป็นศัตรูกับจีนโดยตรง แต่ยุโรปเป็นศัตรูกับรัสเซีย ในขณะที่จีนถึงแม้จะกล่าวทางการทูตว่าไม่ได้สนับสนุนรัสเซียในการทำสงคราม แต่ก็ไม่ได้ขัดขวาง จุดยืนที่ต่างกันนี้จะถูกขยายให้กว้างขึ้น

3. หากสงครามในยุโรปขยายตัว จีนคงจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในฝั่งเอเชียตะวันออกไม่ได้ ความเสียเปรียบเรื่องอำนาจทางทหารและไม่มีรัสเซียช่วยเพราะติดพันกับสงครามของตนเอง อาจจะบีบให้จีนต้องยอมเสียเปรียบในการเจรจา ในฉากทัศน์นี้จะทำให้สหรัฐฯ ชนะไวขึ้น

4. หากสงครามไม่ขยายตัวยังจำกัดแค่ในยูเครน โลกจะถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างหลวมๆ คล้ายกับสมัยสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับ โซเวียต แต่ครั้งนี้เป็น สหรัฐฯ + ยุโรปตะวันตก กับ จีน + รัสเซีย ทำไมต้องใช้คำว่าหลวมๆ เพราะในสงครามเย็นครั้งที่แล้วมีการแยกฝั่งกันอย่างชัดเจนทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ในครั้งนี้จะไม่ชัดเจนขนาดนั้น แต่จะเป็นการเอนน้ำหนักการสนับสนุนทางด้านการเมืองและอุดมการณ์ ในทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะต้องใช้เวลาปรับสภาพแวดล้อมอีกซักพัก เพราะสายการผลิตของโลกที่เกี่ยวข้องกันระหว่างประเทศทั้งสองฝ่ายทำให้ไม่สามารถตัดขาดกันได้ในระยะสั้นและระยะกลาง แต่ระยะยาวมีแนวโน้มจะถูกแยก ในฉากทัศน์นี้ทำให้โอกาสในการจะซุ่มเงียบพัฒนาเศรษฐกิจจีนแซงหน้าสหรัฐฯ จะริบหรี่ห่างไกลออกไป  สรุปแล้ว  สหรัฐฯ จะชนะช้าลง

5. จีนก็รู้ผลที่จะเกิดดี แต่ด้วยศักยภาพที่ยังไม่สามารถเป็นฝ่ายรุกทางยุทธศาสตร์ได้ คงจะต้องตั้งรับคอยแก้ปัญหาอยู่ร่ำไป น่าสนใจว่าจีนจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ตำรายุทศาสตร์ตะวันออกที่ไม่มีรูปแบบหลักการตายตัวทำให้มีสิ่งไม่คาดคิดอยู่เสมอ

ปล. ความเห็นส่วนตัว โปรดพิจารณาด้วยวิจารณญาณของทุกท่านเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่