แชร์ประสบการณ์ บ้านประหยัดไฟ solar cell , TOU meter และการใช้ EV car แทนรถน้ำมันในยุคน้ำมันแพง

สวัสดีเพื่อนๆชาวพันทิบครับ หลังจากย้ายบ้านมาได้สักพัก หลังรีวิวการซื้อบ้านและตกแต่งบ้านไปแล้ว วันนี้มีโอกาสได้มารีวิว ระบบประหยัดค่าไฟที่บ้าน เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้หลายๆคนที่มีแผน จะใช้ solar cell หรือรถไฟฟ้าครับ

***เคยทำไว้แล้วกระทู้บินไปเพราะมีชื่อร้านที่เราไปใช้บริการด้วย เหมือนไปโฆษณาให้เค้า เลยผิดกฏ ขออภัยนะครับ  ครั้งนี้จะระมัดระวังครับ ***

กระทู้นี้แบ่งเป็น 4 ส่วนนะครับ
1. solar cell
2. TOU meter
3. ติดฟิล์มกันร้อน
4. รถ EV car

1. Solar cell

     เริ่มจากไปหาข้อมูลมาก่อนครับ ว่า solar cell มีกี่แบบ ข้อดีข้อเสีย ต่างกันอย่างไร  กำลังไฟที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร ก็สรุปมาได้ตามนี้ครับ
หลักในการติด มี 3 แบบครับ

1-1 on grid  คือ เชื่อมกับระบบไฟของการไฟฟ้า แปลงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ได้เลยครับ ไม่มีแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นแบบที่เราเลือก และคนนิยมใช้ที่สุดครับ ควรทำเรื่องขออนุญาต และ ทำเรื่องขายไฟคืนด้วยครับ

1-2 off grid คือ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับระบบของการไฟฟ้าเลย เอาพลังงานแสงอาทิตย์ลงแบตเตอรี่ แล้วเก็บไว้ใช้ได้ตลอดครับ

1-3 hybrid  คือ ผสมข้อ 1 และ 2 เข้าด้วยกันครับ

     เลือกแบบไหนดี ......... กรณีที่มีคนอยู่บ้านตอนกลางวัน หรือ เป็น home office  แบบon grid จะคุ้มค่ามากครับ แต่หากกลางวันไม่มีคนอยู่บ้าน การติดแบบนี้จะสูญเปล่าทันที  อย่าคิดเรื่องการขายไฟคืน เพราะมันเล็กน้อยมากเป็นพลพลอยได้มากกว่า 
      ที่บ้าน ภรรยาเป็นแม่บ้าน และกำลังจะมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นมา ได้ใช้ไฟกลางวันตลอดครับ เลยตัดสินใจเลือกแบบ on grid กัน
   
      แล้วทำไมถึงไม่เลือก hybrid ล่ะ.......  ค่าแบตเตอรี่ราคาค่อนข้างสูงมากครับ การคืนทุนใช้เวลานาน แต่หากเทคโนโลยีดีขึ้นราคาแบตถูกลง อนาคตเป็นทางเลือกที่ดีเยี่ยมครับ  เราจึงควรเลือก inverter ที่สามารถมาแปลงเป็นระบบ hybridได้ในภายหลังครับ

หลังจากเราเลือกชนิดได้แล้ว เราก็ต้องเลือกขนาดไฟที่เหมาะสม ปัจจุบัน ตามท้องตลาด เริ่มกันที่ 3 kWh ขึ้นไป  ส่วนใหญ่มักติดกันไม่เกิน 10 kWh สำหรับบ้านอยู่อาศัยครับ
เราเลือกที่ 5 kWh กัน เพราะมองแล้วว่าเพียงพอแก่การใช้งานและคืนทุนได้ในเวลาไม่นานครับ

การใช้งานผ่าน application ดูเข้าใจง่าย ครับ เช่นจากรูปนี้ ผลิตได้ 1070 วัตต์ มาถึง inverter 937 วัตต์  บ้านใช้ 257 วัตต์ ขายคืนการไฟฟ้า680 วัตต์เป็นต้นครับ


สำหรับการติดตั้ง ก็หาต้องดูทิศบ้าน หาจุดที่แสงลงดีที่สุดแล้วก็จัดการเลยครับ ส่วนใหญ่ใช้ที่ยึดหลังคาเป็นรางตามรูป แข็งแรงดีมากครับ


จากนั้นก็ลงแผ่น solar cell ตามจำนวนวัตต์ที่ต้องการครับ


หลังจากได้พลังงานแสงอาทิตย์แล้วก็จะส่งพลังงานมายัง inverter ตัวนี้เพื่อนแปลงเป็นไฟบ้านครับ


สำหรับการเลือกร้าน ก็แนะนำเลือกร้านที่น่าเชื่อถือ มีการรับประกันที่ดี และที่สำคัญ **** มีบริการทำความสะอาดหลังการขายนะครับ*** ยิ่งหน้าหนาวฝุ่นเกาะเยอะ ควรมีการล้าง และ การดูแลหลังการขาย อันนี้สำคัญมากครับ  แผ่นที่ใช้ก็ควรเป็น mono การรับประกันควร 25 ปีขึ้นไป

appication ควรใช้ได้ง่าย ดูการผลิตและการใช้แบบ real time ได้ครับ
ในกรณีที่ผลิตไม่พอใช้ ก็จะดึงไฟจาก กฟผ.มาใช้ด้วยกันได้ด้วยครับ

ข้อควรรู้
** ไฟ 3 เฟส 1 เฟส  ราคาติดไม่เท่ากัน
**ควรทำเรื่องขอเสมอ ให้ร้านที่เชื่อถือได้แนะนำ เพราะถ้าไม่ได้ใช้มิเตอร์ดิจิตอล แล้วไฟดีดมิเตอร์กลับ ผิดกฏหมายนะครับ
** หลายคนมักบอกให้รอราคาถูกก่อนค่อยติด  แต่ไปๆมาๆ ช่วง 1-2 ปีมานี้ กลับแพงขึ้นครับ เพราะวัตถุดิบและค่าขนส่งแพงขึ้นมาก ต้องชั่งน้ำหนักดีๆตรงนี้

เนื่องจากเป็นการใช้ไฟแค่เฉพาะตอนกลางวัน จึงเป็นที่มาของการประหยัดไฟกลางคืนด้วยหัวข้อต่อไปครับ มิเตอร์ TOU

2. TOU meter (Time of Use Tariff : TOU Tariff)
       เป็นมิเตอร์ที่เราขอจากการไฟฟ้าได้ครับ โดยอัตราค่าไฟจะไม่เท่ากันในแต่ละช่วง แบ่งเวลาแบบนี้ครับ

   2.1  ช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) ระหว่างเวลา 09.00-22.00 น. ของวันทำงาน (จันทร์-ศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้า 5.2674 บาท ต่อหน่วย

   2.2  ช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) ระหว่างเวลา 22.00-09.00 น.ของวันทำงาน (จันทร์-ศุกร์) และช่วงเวลาระหว่าง 00.00-24.00 ของวันเสาร์-อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ วันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย) อัตราค่าไฟฟ้า 2.1827 บาท ต่อหน่วย

แปลง่ายๆนะครับ เวลาทำการ จ-ศ 9-22 น.ราคาค่าไฟจะแพงกว่าปกติ นอกนั้น เวลากลางคืนวันธรรมดา และ ทั้งวันของวันหยุด ส-อา ค่าไฟจะถูกลงครับ

ขึ้นตอนการขอเปลี่ยนง่ายมากครับ สามารถทำออนไลน์ได้เลย จขกท. ขอไปแค่ 2 อาทิตย์ ก็มีช่างมาเปลี่ยนให้เรียบร้อยครับ
ตอบเมล โอนเงิน ทำตามขั้นตอนทางอีเมล ทุกอย่างออนไลน์หมด สะดวกและรวดเร็วมาก ชื่นชมระบบชองกฟผ.เลยครับ


ขั้นตอนการติด เราไม่ต้องทำอะไรครับ ช่างจาก กฟผ. มาเปลี่ยนหม้อที่เสาหน้าบ้าน 10-20 นาทีก็เป็นอันเสร็จครับ

****มองว่าตอนนี้คุ้มมากกับค่าเปลี่ยน เห็นข้อมูลจากเมื่อก่อน ค่าเปลี่ยน 3 หมื่นบาท แต่เดี๋ยวนี้ ที่เปลี่ยนไป 7 พันมีทอน ****

กล่าวโดยสรุป ถึง ตอนนี้ จะเห็นได้ว่า
  - การใช้ไฟของที่บ้านคือ กลางวันใช้ solar cell กลางคืนใช้ TOU meter จากการไฟฟ้า
กลางคืนสำคัญเพราะ แอร์เปิดทั้งคืน เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสัดส่วนการใช้ไฟเยอะสุดในบ้านแล้ว การติด tou จึงช่วยได้มากตรงนี้
  - คนทำงานทั่วไป กลางวันไม่อยู่บ้าน อยู่บ้านแค่กลางคืน กับ วันหยุด ส-อา จะคุ้มค่ามากกับการติด TOU โดยไม่ต้องติด solar ครับ

3. ฟิล์มกันร้อน
   ตามที่บอกไป ว่า แอร์กินสัดส่วนค่าไฟเยอะที่สุดครับ การติดฟิล์ม ช่วยประหยัดค่าแอร์ได้ดีเลย  สิ่งที่ได้จากการติด film
      - บ้านเย็นขึ้น ประหยัดค่าไฟชัดเจน
      - ได้ความสวยงามที่ตัวกระจก
      - ได้ความ private มองจากภายนอกเข้ามาได้ยาก

กระจกเข้มขึ้น บ้านดูสวยขึ้น
ฟิล์มมีหลายแบบ ขึ้นกับงบประมาณเลยครับ ส่วนใหญ่ติดแบบเหมาหลัง คำแนะนำคือ เลือกร้านที่คิดส่วนเกินไม่แพงมากครับ บางเจ้าเหมามาราคาเท่ากัน แต่พอ ส่วนเกิน เจ้าหนึ่งคิด ตร.ฟ.ละ 50 อีกเจ้าแค่ 30 บาท เป็นต้น
   หลังติดแล้วบ้านเย็นขึ้นชัดเจนครับเวลากลับมาบ้าน ซื้อความสบายใจในระยะยาว

4. รถ EV car 100%
      ก่อนจะรีวิวต้องบอกก่อนว่า บริบทคนเราไม่เหมือนกันครับ บางคนอาจจะยังไม่เหมาะกับการมีรถไฟฟ้า ด้วยเรื่องสถานที่อยู่ หรือเหตุผลใดๆก็ตาม
ส่วนของ จขกท.  บ้านพร้อม ระบบไฟที่บ้านสามเฟสพร้อม  จึงเป็นที่มาของการใช้รถ EV ครับ
     
       อัตราการสิ้นเปลือง 
       รถของ จขกท. 50 kWh วิ่งได้จริง 320 km คิดค่าไฟประมาณ 4 บาทต่อหน่วย ตกที่ กม.ละ 60-70 สต.
       แต่ มีมิเตอร์ TOU เลยถูกลงอีก ตกกิโลเมตรละ  40 สต.
       
ระบบชาร์จ
- ชาร์จช้า คือแบบ AC ที่ติดที่บ้าน
- ชาร์จเร็ว คือแบบ DC ที่เห็นตามปั๊ม (แต่เช็คดีๆนะบางตู้ข้างนอกเช่นตามห้างเป็น AC )
ตั้งแต่ซื้อมา จนตอนนี้  ชาร์จฟรีกับทาง ปตท.มาตลอด เนื่องจากสาขาตรงที่ทำงาน มี 1 ปั๊ม และ ปากทางบ้านมีอีก 2 ปั๊ม สะดวกมากครับ

ส่วนใหญ่ใช้เวลาชาร์จบวกลบ 30 นาที อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ชาร์จไม่เต็มแล้วไป balance ไฟต่อที่บ้านเอาครับ
ชาร์จที่ปั๊มจะเป็นแบบ DC จะไฟขึ้นไวมาก จน 80 % จึงเริ่มช้าลง การรับไฟได้มากน้อยขึ้นกับ on board charger ของรถแต่ละรุ่นครับ พอเริ่มช้า ก็มักมาชาร์จแบบ AC ต่อที่บ้าน เพื่อ balance ไฟด้วย


สำหรับขั้นตอนการติด home charger  ตรงนี้มีขั้นตอนครับ ส่วนใหญ่ทางค่ายรถจะแถม wall charger  และติดตั้งฟรี
แต่...บ้านควรเตรียมพร้อมครับ ตรงนี้มีค่าใช้จ่ายในการ เดินสายไฟ หรือ ขอหม้อเพิ่ม หรือเปลี่ยนหม้อ ให้เป็น 30/100 ถ้าเป็นไปได้ควรเป็น 3 เฟสครับ
ค่าใช้จ่ายตรงนี้หลักหมื่น
     มีทริคนิดนึงครับ บางคนใช้วิธีขอหม้อเพิ่ม เป้นหม้อ TOU สำหรับชาร์จรถเลย ตรงนี้ถือว่าดีครับ

สิ่งต่อมาที่ควรมีคือ application ต่างๆ สำหรับหาที่เติมไฟกรณีไปข้างนอก ต้องเรียนรู้ระบบการจ่าย การจอง  และ มักจะต้องมีบัตรเครดิตครับ


การจองก็จิ้มไปบนแผนที่เลย จุดชาร์จ เริ่มเยอะขึ้นเรื่อย
ของปตท.ยังชาร์จฟรีไม่มีกำหนดครับ จองรายชม. เช่น
- จองไว้ 11 โมง จะชาร์จได้ถึง 11.50 น. ระบบจะตัดไฟ
- ไปเลทได้ไม่เกิน 15 นาที ไม่งั้นหลุดคิว
- 11.50 น. คิวเที่ยงถ้ามาเร็ว เริ่มชาร์จได้เลย

จากที่ใช้รถไฟฟ้ามา มองว่า อนาคตต้องเป็นรถที่คนส่วนใหญ่ใช้แน่นอนครับ เร่งดี ไม่ก่อมลพิษ  ค่าบำรุงรักษาถูก
ระหว่างชาร์จ นั่งกินข้าว ดูหนังรอบนรถได้ สะดวกดีครับ

แต่ก็มีข้อต้องพัฒนาอีกเยอะครับ
- จุดชาร์จสาธารณะต้องมากขึ้น
- การพัฒนาแบตเตอรี่  ให้ถูกลง น้ำหนักเบาลง  เพราะราคารถส่วนที่หนักและแพงสุดคือแบตเตอรี่เลยจุดนี้
- ระยะทางควรได้มากกว่านี้ 

 โดยสรุปค่าไฟของ จขกท.
 
ปกติไฟอยู่ประมาณ 2500- 3000 บาท  หลังจากติดระบบเหล่านี้ไปแล้ว ค่าไฟเหลือประมาณ 1000-1500 บาท

ค่าน้ำมัน ปกติ 7500 บาท ตอนนี้ไม่เสียแล้ว
 
    สรุป ณ ตอนนี้ ประหยัดไปเดือนละ 9000 บาท แต่อนาคต ต้องใช้ไฟบ้านในการชาร์จรถแน่นอนถ้า ปตท.ไม่ให้ชาร์จฟรี ก็อาจจะเซฟแค่เดือนละ 7-8 พันบาทครับ คืนทุนค่า TOU , solar ที่ประมาณ 3-4 ปี จากนั้นคือกำไร
    บางท่านถามว่าแล้วรถล่ะ... พอดีคันเก่า 6 ปี กับ 12 ปีแล้ว เลยถึงเวลาต้องถอยคันใหม่มาใช้เป็นคันหลักครับ อยากได้ความแตกต่าง เลยเลือกรถ EV 
และอย่างที่บอก บริบทคนเราต่างกัน ของผมบ้านมีที่พร้อม ไฟพร้อม รอบๆบ้านที่ทำงานมี่จุดชาร์จฟรี จึงเหมาะแก่การใช้รถไฟฟ้ามากครับ

ก็เป็นแนวทาง เป็นไอเดีย หวังว่าคงมีประโยชน์กับทุกท่านนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่