JJNY : ติดเชื้อ 24,792 ดับ 63│หมอธีระชี้ไม่ใช่เวลาวาดฝัน│คนทำมะขามเปียกช้ำ! แทนมะนาวไม่ช่วย│สหรัฐฯสนับสนุนสืบสวนรัสเซีย

ติดเชื้อโควิดเพิ่มวันนี้ 24,792 ราย ดับ 63
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3226799
 
 
วันที่ 11 มีนาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยถึงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 โดยมีจำนวนรวม 24,792 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 24,712 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 80 ราย ผู้ป่วยสะสม 913,214 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
 
หายป่วยกลับบ้าน 22,065 ราย หายป่วยสะสม 721,582 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 222,998 ราย และเสียชีวิต 63 ราย
 

 
หมอธีระ ชี้ ไม่ใช่เวลาวาดฝันว่าโควิด จะเป็นโรคประจำถิ่น ในเวลาไม่กี่เดือน
https://www.nationtv.tv/news/378866330

นพ.ธีระ ชี้ ไม่ใช่เวลา วาดฝันว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในระยะเวลาไม่กี่เดือน แนะ กระทรวงศึกษา- อุดมศึกษาฯ ให้ความสำคัญนโยบายการใส่หน้ากากในสถานที่ศึกษา
 
11 มีนาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat " ระบุ 
 
ทะลุ 452 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,550,689 คน ตายเพิ่ม 5,994 คน รวมแล้วติดไปรวม 452,928,405 คน เสียชีวิตรวม 6,049,774 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น
   
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.69 ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.33 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.61 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
  
...สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 74 คน สูงเป็นอันดับ 19 ของโลก
   
...อัพเดตความรู้จากงานวิจัย
1. "การมีนโยบายใส่หน้ากากในโรงเรียนช่วยป้องกันโควิด-19 ได้มาก"
Angelique E และคณะ จากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล Pediatrics เมื่อวันที่ 9 March 2022 ที่ผ่านมา ทำการศึกษาในหลายรัฐ ตั้งแต่กรกฎาคมถึงธันวาคม 2021 โดยมีนักเรียนถึง 1.12 ล้านคน และบุคลากรในโรงเรียนอีก 157,069 คน
  
โรงเรียนที่ไม่มีนโยบายให้นักเรียนและบุคลากรใส่หน้ากาก จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อมากกว่าโรงเรียนที่ให้ใส่หน้ากากถึง 7.5 เท่า ในขณะที่โรงเรียนที่ใส่บ้างไม่ใส่บ้าง ไม่บังคับ จะมีความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อมากกว่าโรงเรียนที่ให้ใส่หน้ากาก 2.1 เท่า
  
ผลจากการศึกษาในอเมริกานี้ สะท้อนให้เห็นถึง ความสำคัญของนโยบายการใส่หน้ากากในโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายนี้ พร้อมรณรงค์ และสนับสนุน กระตุ้นหนุนเสริมให้บุคลากรในสถานศึกษาและนักเรียนนิสิตนักศึกษาใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
 
2. "Long COVID"
Science ฉบับล่าสุด 10 March 2022 ออกเป็นฉบับพิเศษเกี่ยวกับโควิด-19 ล้วนๆ บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่สนใจควรหาอ่านอย่างยิ่ง บทความวิชาการหนึ่งในนั้นสรุปให้เห็นความรู้วิชาการที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19
  
อาการผิดปกติระยะยาวหลังติดเชื้อ หรือภาวะ Long COVID นั้น พบมากขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิด Long COVID มีราว 20-40% เกิดได้ทุกเพศ ทั้งชายและหญิง แต่หญิงจะบ่อยกว่าชาย ทุกวัย ทั้งเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ โดยผู้ใหญ่พบบ่อยกว่าเด็ก
  
ความผิดปกติเกิดขึ้นได้หลากหลายระบบของร่างกาย ทั้งสมอง/ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ผิวหนัง ทางเดินอาหาร รวมถึงอาการทั่วร่างกาย กลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกตินั้น ขณะนี้เชื่อว่าอาจเป็นได้ 4 กลไก ได้แก่
การเกิดการอักเสบตามระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง (Chronic inflammation)
การมีไวรัสโควิด-19 หลงเหลือแฝงในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย (Viral persistence)
การเกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Auto-antibody) และภาวะไม่สมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเดินอาหาร (Dysbiosis)
  
...สถานการณ์ไทยเราขณะนี้ การระบาดรุนแรง กระจายทั่ว และสายพันธุ์ย่อย BA.2 ขยายวงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสมรรถนะในการแพร่เชื้อได้ไวกว่าสายพันธุ์ Omicron ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ด้วยสถานการณ์เช่นปัจจุบัน ไม่ใช่เวลามาสร้างกระแสให้คนหลงใหลได้ปลื้ม วาดฝันว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในระยะเวลาไม่กี่เดือน ทั้งที่เป็นไปได้ยาก
  
ภาวะปกติ หรือ Normal นั้น ใครๆ ก็ล้วนปรารถนา ไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นกันทั้งโลก แต่ด้วยความรู้จนถึงบัดนี้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และด้านพฤติกรรมศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 แบบ pandemic ทั่วโลกมาหลายปีอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่อาวุธที่มีอยู่ตอนนี้อย่างวัคซีน ต่อให้จะฉีดกี่เข็ม ก็ยับยั้งการติดเชื้อแพร่เชื้อไม่ได้ แม้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ บทเรียนจากหลายประเทศที่หวนกลับไปประกาศอิสรภาพให้คนใช้ชีวิตแบบปกติที่คุ้นเคยในอดีต โดยปราศจากการป้องกันตัว ก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นคือ ติดเยอะ ป่วยเยอะ และตาย
  
ดังนั้น "ความปกติในอดีต" จึงไม่ใช่ความปกติที่จะกลับมาได้ในสภาวะที่ยังระบาดกันแบบนี้ ควรยอมรับเสียทีว่า "ความปกติ" ที่เป็นไปได้ในระยะถัดจากนี้ไป ต้องเป็น"ความปกติใหม่ที่ปลอดภัยและดีกว่าเดิม" ไม่ใช่ "ความปกติที่อันตราย" แบบในอดีต ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน
อย่าทำให้เกิด Endemic delusion
อย่าทำให้เกิด Pretendemic เลยครับ
 
เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งเรื่อง Long COVID และปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมจะตามมาระยะยาวอย่างมากมาย
การสร้างนโยบายที่ไม่ประมาท ก้าวเดินช้าๆ แต่มั่นคงและปลอดภัยควรเป็นสิ่งที่กระทำ
การควบคุมป้องกันโรคในขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอครับ
ด้วยความปรารถนาดีเสมอ
 
อ้างอิง
1. Angelique E et al. School Masking Policies and Secondary SARS-CoV-2 Transmission. Pediatrics. 9 March 2022.
2. COVID-19: 2 Years on. Science. Special issue. 10 March 2022.

https://www.facebook.com/thiraw/posts/10224011488987526
 

 
คนทำมะขามเปียกช้ำ! ให้ใช้แทนมะนาวก็ไม่ช่วย ราคาตกต่ำ หลังประเทศเพื่อนบ้านเข้าตีตลาด
https://ch3plus.com/news/economy/ch3onlinenews/282369
 
ชาวบ้านที่ทำมะขามเปียกโอดปีนี้มะชามเปียกราคาต่ำสุดในรอบหลายปี หลังเจอมะขามเปียกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตีตลาด ซ้ำร้ายราคาน้ำมันพุ่งกระทบหนัก ออกตระเวนขายไม่ได้ ต้องยอมซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เผยรัฐแนะให้ใช้มะขามเปียกแทนมะนาวก็ไม่ช่วยอะไร
 
ชาวบ้านบ้านคำแมด หมู่ 1 ตำบลคำแมด อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น กำลังช่วยกันปลอกเปลือก แกะเม็ดมะขามเพื่อทำเป็นมะขามเปียกส่งขายสร้างรายได้ ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้มีกว่า 200 ครัวเรือน แทบทุกบ้านทำอาชีพเสริมโดยการรับจ้างปอกเปลือกและแกะเม็ดมะขาม สร้างรายได้เดือนละหลักพันถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน โดยหลังจากปอกเปลือกและแกะเม็ดออกจะบรรจุใส่ถุงรอพ่อค้าคนกลางมารับซื้อครั้งละประมาณ 1 ตัน
 
น.ส.ธนวันต์ รักษาพันธ์ อายุ 51 ปี อยู่บ้านคำแมด หมู่ 1 เล่าว่า หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านทำมะขามเปียกส่งขายมานานหลายสิบปี ส่วนตนมีอาชีพรับซื้อมะขามฝักตามสวนต่าง ๆ แล้วมาจ้างชาวบ้านปอกเปลือกและแคะเม็ดออกขาย โดยจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงหมู่บ้าน โดยว่าจ้างคนในหมู่บ้านทำ โดยจะทำกันแทบทุกครัวเรือน ที่ผ่านมาราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณ กก.ละ 50-60 บาท มีบางปีสูงถึง กก.ละ 100 บาท แต่มาปีนี้ราคาตกต่ำมากอยู่ที่ กก.ละ 35 บาทเท่านั้น ซึ่งปีนี้มีผลผลิตจำนวนมากและออกผลเร็ว เริ่มออกมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมและจะหมดในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้
 
ส่วนราคาที่ตกต่ำอยู่ขณะนี้คาดว่าน่าจะเกิดจากมีมะขามเปียกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตีตลาดในเมืองไทย ทำให้ผลผลิตล้น พ่อค้าคนกลางจึงกดราคาลง ปกติจะออกตระเวนขายให้กับห้องเย็นตามต่างจังหวัดเพราะจะได้ราคาดีกว่า แต่พอมาในช่วงสถานการณ์โควิดเริ่มเดินทางน้อยลง อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ต้องงดเดินทาง จำใจต้องขายกับพ่อค้าคนกลาง แม้จะต้องขายในราคาที่ต่ำ
 
ส่วนเรื่องที่รัฐบาลแนะให้ใช้มะขามเปียกแทนมะนาว ที่ราคาขายปลีกพุ่งสูงถึงลูกละ 5 – 8 บาท นั้น คิดว่าสามารถแทนกันได้น้อย มีอาหารไม่กี่ชนิดเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจะให้ใช้ทดแทนกันก็ไม่ได้ทำให้ยอดการสั่งซื้อมะขามเปียกเพิ่ม แต่ถึงแม้ราคาจะตกต่ำแทบจะไม่คุ้มทุนเพราะต้องเดินทางไปเก็บฝักมะขามที่เหมาสวนไว้ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ปกติแล้วจะตระเวนทั่วภาคอีสาน แต่พอน้ำมันแพงก็เหมาเฉพาะสวนตามจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนจากการจ้างชาวบ้านปอกเปลือกและแกะเมล็ดก็อยู่ที่ 12 บาทต่อ 1 กก.ทำให้ต้องพยายามทำมะขามให้หลากหลายมากขึ้น
 
ปัจจุบันมีมะขามฝักยักษ์ที่ยังไม่สุกเอานำมาทำทำมะขามแช่อิ่ม มะขามสามรส นอกจากนี้เม็ดมะขามยังขายได้ กก.ละ 1 บาท ส่วนเปลือกมะขามที่แกะแล้วก็จะนำไปทำปุ๋ยได้อีก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่