หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน

ช่วงปัจฉิมวัยท่านได้ไปจำพรรษา ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (หรือ วัดป่าภูริทัตถิราวาส ในปัจจุบัน) พอลงหลักปักฐานที่วัดป่าหนองผือนาในเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ทุ่มเทสอนอุบายธรรมเพื่อการหลุดพ้นให้รู้แจ้งเห็นจริงตามอริยสัจ แก่ลูกศิษย์คณะสงฆ์และฆราวาสญาติโยมทั้งหลาย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ตราบจนวาระสุดท้าย
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานแห่งยุค ตำนานชีวิตของท่านถูกกล่าวขานกันไม่รู้จบ เป็นที่ประจักษ์แก่ศิษผู้ใกล้ชิดถึงญาณความรู้ของหลวงปู่มั่นกว้างขวางแม่นยำทุกด้านหาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่ง ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทานุศาสน์ 4 อย่าง คือ
อัตถปฏิสัมภิทา - แตกฉานในอรรถ
ธรรมปฏิสัมภิทา - แตกฉานในธรรม
นิรุตติปฏิสัมภิทา - แตกฉานในภาษา
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา - แตกฉานในปฏิภาณ
โดยปฏิปทาที่ท่านยึดมั่นมาตลอดชีวิตนั้น คือธุดงค์ ซึ่งธุดงควัตรข้อสำคัญที่ท่านสามารถยึดมั่นมาตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต มี 7 ประการ คือ
ปังสุกุลิกังคธุดงค์ - ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
ปิณฑปาติกังคธุดงค์ - ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์
เอกปัตติกังคธุดงค์ - ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
เอกาสนิกังคธุดงค์ - ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์
ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ - ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม
เตจีวริตังคธุดงค์ - ถือใช้ผ้าไตรจีวร 3 ผืน
อารัญญิกังคะ - ถือละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน

หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ละสังขารเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 อายุ 79 ปี 56 พรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ซึ่งต่อมาอัฐิของท่านได้แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุในหลายที่ได้มีการแจกตามจังหวัดต่างๆที่ได้ส่งตัวแทนมารับ
วาระนิพพาน ณ วัดป่าสุทธาวาส หลังจากที่ท่านพักอาพาธที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ 11 วันแล้ว คณะศิษย์นุศิษย์ได้อาราธนาองค์หลวงปู่มั่นนอนในเปลพยาบาลแล้วนำท่านขึ้นรถเพื่อมาพัก ณ วัดป่าสุทธาวาส ออกเดินทางแต่เช้าถึงวัดป่าสุทธาวาสประมาณเกือบ 12 นาฬิกา จากบันทึกของหลวงตาทองคำ จารุวณฺโณผู้อุปฐากองค์หลวงปู่มั่นในช่วงอาพาธได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่องค์ท่านมรณภาพไว้ในหนังสือ "บันทึกวันวาน" ไว้ดังนี้

"... จากพรรณานิคม ถึงวัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เกือบ 12 นาฬิกา เพราะทางหินลูกรังกลัวจะกระเทือนมาก ท่านฯ ก็หลับมาตลอด นำท่านฯ ขึ้นกุฏิ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดก็มี ผู้เล่า ท่านวัน ท่านหล้า ผู้จัดที่นอนให้ท่านฯ ได้ผินศีรษะไปทางทิศใต้ ปกติเวลานอนท่านฯ จะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ด้วยความพะว้าพะวัง จึงพากันลืมคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางศีรษะของท่านฯเวลาประมาณ 01.00 น. เศษ ท่านฯ รู้สึกตัวตื่นตื่นขึ้นจากหลับ แล้วพูดออกเสียงได้แต่อือๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านฯ ประสงค์สิ่งใด มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ที่นั้น เห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนต์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้น มากันเต็มกุฏิ เท่าที่สังเกตดู ท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แต่อยากจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ท่านพลิกตัวไปได้เล็กน้อย ท่านหล้า (พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต) คงเข้าใจ เลยเอาหมอนค่อยๆ ผลักท่านไป ผู้เล่าประคองหมอนที่ท่านหนุน แต่ท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จะเป็นการรบกวนท่านฯ ก็เลยหยุด ท่านฯ ก็เห็นจะหมดเรี่ยวแรง ขยับต่อไปไม่ได้ แล้วก็สงบนิ่ง ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต้องเงี่ยหูฟัง ท่านวันได้คลำชีพจรที่เท้า ชีพจรของท่านเต้นเร็วชนิดรัวเลย รัวจนสุดขีดแล้วก็ดับไปเฉยๆ ด้วยอาการอันสงบ..."
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่