JJNY : 4in1 เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ13ปี│โควิดทำคนหมดไฟพุ่งเกือบ10เท่า│พท.ชี้สงครามซ้ำเติมปากท้อง│‘ปูติน’เตือนอย่าคว่ำบาตร

น้ำมันดิบดันเงินเฟ้อ พุ่ง 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี
https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/167441
  
 
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผย อัตราเงินเฟ้อ ก.พ.65 แตะระดับ 104.10 ขยายตัว 5.28% ผลพวงจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ดันต้นทุนราคาพลังงาน อาหารเพิ่มตาม
 
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย กุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับ 104.10 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 5.28% (YoY)
 
สาเหตุหลักมาจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
 
ทั้งหมดปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบ นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ต่ำสุดในรอบปี 2564 ซึ่งส่งผลให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้นด้วย
 
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 1.80 (YoY) จากร้อยละ 0.52 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเพียงร้อยละ 1.06 (MoM) เนื่องจากราคาเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ลดลง
 
• สินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 29.22 จากร้อยละ 19.22 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก
 
• หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 4.51 จากร้อยละ 2.39 ในเดือนก่อนหน้า เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสด อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ซึ่งปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ ราคาปรับลดลง ทั้ง ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียน จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาราคาสินค้าแพงในช่วงระยะเวลานี้ได้เป็นอย่างดี
 
สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมีนาคม 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงานที่ยังสูง (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า) เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นได้เช่นกัน รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับฐานราคาในช่วงต้นปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นได้อีกทาง
 
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลง เช่น  กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร ผักสด ผลไม้ รวมทั้งมาตรการภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงมีความเสี่ยง และเคลื่อนไหวในช่วงกว้าง ซึ่งจะประเมินสถานการณ์และปรับตัวเลขคาดการณ์ให้มีความเหมาะสมในเดือนมีนาคม 2565
 

 
พบโควิดระบาด ทำคนหมดไฟพุ่งเกือบ 10 เท่า ย้ำปัญหาใหญ่ ต้องแก้ไข
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6922760
 
โควิดระบาด ทำคนหมดไฟพุ่งเกือบ 10 เท่า พลังใจลดกว่า 80% ย้ำเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ต้องเร่งแก้ไขด่วน เตรียมดูแลผู้ป่วยทางจิตที่ติดโควิดด้วย
 
วันที่ 4 มี.ค.2565 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่าจากการเก็บข้อมูลพบว่าการระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้คนเข้าสู่ภาวะหมดไฟสูงถึง 9.7 เท่า ฆ่าตัวตายสูงถึง 5.9 เท่า ซึมเศร้า 4.8 เท่า และเครียด 2.1 เท่า โดยพลังใจคนลดลงกว่า 80% นับเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน
  
ทั้งนี้การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนกระจายไปหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทำให้คนวิตกกังวลกันมาก ทางกรมสุขภาพจิตมีนโยบายลดความตระหนกกังวลและสนับสนุนดูแลผู้ป่วยจิตเวชในช่วงนี้ไปด้วย โดยทางกรมฯ จะดูแลและให้บริการผู้ป่วยนอกเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวที่ติดเชื้อและไม่แสดงอาการด้วย
 
เบื้องต้นกรมสุขภาพจิตจะนำร่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวชตามนโยบาย “เจอ แจก จบ” ใน รพ.จิตเวช 5 แห่ง ได้แก่ รพ.ศรีธัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และสถาบันราชานุกูล โดยจะขยายไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในสังกัดกรมสุขภาพจิตต่อไปในอนาคตต่อไป
 

 
โฆษก พท. ชี้ สงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ซ้ำเติมปากท้องคนไทย รบ.ต้องเตรียมรับมือวิกฤตทุกด้าน
https://www.matichon.co.th/politics/news_3215967

“โฆษกพท.” ชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมเศรษฐกิจปากท้องไทย ย้ำ รบ.ต้องเตรียมรับมือวิกฤตทุกด้าน
 
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมงานในเสวนาวิชาการเพื่อสาธารณะ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “ปัญหาและทางออก ข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครน สงครามเย็นครั้งที่ 2 ?” ร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ โดยนางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ติดตามสถานการณ์วิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด และในฐานะกมธ.ต่างประเทศ โดยนายศราวุธ เพชรพนมพร ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ส.ส. อุดรธานี พรรคพท. ได้จับตาติดตามสอบถามแผนและการรับมือกับวิกฤต เพื่อเป็นคำมั่นสัญญากับประชาชนจากรัฐบาล ในการปกป้องประชาชนไทย แต่ในส่วนของรัฐบาล มองว่ายังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ได้เลย
 
ซึ่งตรงข้ามกับส่วนของข้าราชการประจำด้านการต่างประเทศ ที่ทำได้ดีกว่ามาก ทั้งนี้ วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมการรับมือเพิ่มเติมในทุกด้านให้ทันท่วงที โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยเปราะบางจากการบริหารจัดการผิดพลาดในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 มาแล้ว วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลจะเตรียมการรับมืออย่างไรเพื่อดูแลประชาชนไทยที่อาจต้องรับผลกระทบในอนาคต ทั้งราคาพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น และราคาอาหารอันเนื่องมากจากวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ หากสงครามยืดเยื้อ จะยิ่งซ้ำเติมความเดือนร้อนของประชาชนที่มีอยู่ก่อนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
 
เราหวังจะเห็นสถานการณ์คลี่คลายในเร็ววัน ทุกๆ ชาติสามารถร่วมมือกันทำให้เกิดการเจรจาเกิดขึ้นได้ เพื่อนำไปสู่การยุติสงคราม หากเกิดการพูดคุยเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ และหากประเทศไทยสามารถให้ความร่วมมือด้านมนุษยธรรมได้ ประเทศไทยก็ควรดำเนินการโดยเร็ว เพื่อลดการสูญเสียของพลเมืองโลก” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่