ทุกชีวิตก็มีค่าเท่ากัน แต่สังคมไทยเชิดชูคุณค่า "Privilege Status" สูงส่งกว่า "ชีวิตคนธรรมดา"


บอยเตรียมใจมาแล้วว่า หลังเขียนเรื่องนี้จะถูกด่า และคงมีแฟนคลับดารา หรือคนที่ตามข่าวคุณ #แตงโม โจมตีอย่างหนัก หากไม่เข้าใจเจตนาของบอย เพราะมัน non-political correctness ในการนำเสนอประเด็น ที่ไปสร้างความด้อยค่า เปรียบเทียบ และทำให้เกิดข้อถกเถียง
บอยอยากต่อยอดจากบทความที่เขียนเมื่อวาน ให้คุณเห็นภาพมากขึ้น  เลยใช้กรณี 2 เรื่องนี้ มาทำให้คุณเกิดความเข้าใจเชิงประจักษ์

1) บอยมั่นใจว่าถ้าบอยถามรายละเอียดข่าวคุณแตงโม จะมีประชาชนส่วนหนึ่งจำได้ เล่าเป็นฉากๆ เล่าเหตุการณ์บนเรือ เล่าสถานการณ์เกาะติดการติดตามหาร่างของคุณแตงโมได้อย่างแม่นยำ แต่แทบไม่มีใครรู้ว่า คุณป้าพนักงานกวาดถนน ที่บอยนำเสนอคู่กัน ก็มีรายละเอียด แต่ไม่มีคนจำได้ครับ

2) คุณป้านารี ในวัย 59 ปี พนักงานกวาดถนนทำงานด้วยความระมัดระวังปกติ กำลังกวาดถนนอยู่ด้านหลังเสากั้น แต่คนขับมองไม่เห็นว่ามีเสาเหล็กกั้นขวางถนนอยู่จึงพุ่งชนเข้าเต็มแรง ก่อนที่จะเสยร่าง ลากร่างมาไกลกว่า 50 เมตร จนเสียชีวิตในจุดเกิดเหตุ ก็สาหัสไม่แพ้ชีวิตดาราที่ตกเรือเลยใช่ไหมครับ?

3) ดูเหมือนชีวิตคุณป้านารีไม่มีใครเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเธอ ไม่มีดาราหรือแฟนละครคนไหน แห่มาช่วยเรียกร้องรุมสาปคนขับที่ประมาทอย่างมาก ไม่มี ไม่ได้ยินเสียงนั้น ทุกอย่างเงียบกริบ เราก็หวังว่าดาราและแฟนคนไทยจะลุกขึ้นมา call out ให้คุณป้าเป็นล้านๆ เสียง แบบข่าวคุณแตงโม

4) อุตสาหกรรมสื่อ ก็คือธุรกิจประเภทหนึ่ง ที่หากินกับคนดู หวังพึ่งปริมาณคนดู และความนิยม เอาใช้ในการสร้างยอดซื้อโฆษณาจากเหล่าธุรกิจแบรนด์ต่างๆ เพื่อเป็น "ฐานของความสำเร็จ" ของช่องตัวเอง ทุกคนทำงานเพื่อผลประโยชน์ และสนเพียงข่าวที่ "ขายได้ ข่าวที่ทำเงิน ข่าวที่คนสนใจ" ไม่ใช่ข่าวที่ทำเพื่อสติปัญญาของคนดู

5) สื่อเก่งมากที่ช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาให้คนไทยอินกับข่าวดาราคนหนึ่งตกเรือ สร้าง emotional effect ให้ spotlight ส่องแสงสว่างจนคนไทยส่วนหนึ่งอิน นอนไม่หลับ เช็คโทรศัพท์ดูความคืบหน้าตลอดเวลา ขนาดตายแล้วก็ยังทำข่าวหมอดู ข่าวไสยศาสตร์ และขยี้ดราม่าไม่หยุด แต่ข่าวสารอื่นๆ วิถีชีวิตประชาชน #ม็อบชาวนา และทุกสิ่งที่สำคัญรอบตัวประชาชนกลับเงียบกริบ

6) คนไทยตกเป็นเหยื่อของสื่อ ที่สร้างอารมณ์ความสนใจ และกำหนดประเด็น (Agenda Setting) ในสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญเพื่อประชาชน แต่เพื่อสนองตอบธุรกิจตัวเอง คนดูเป็นเพียงฟันเฟืองที่สร้างประโยชน์ให้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่า "ข่าวดารา" หรือ Privilege Status มันขายได้เสมอ

7) Privilege Status อย่างดารา (หรือพวกกลุ่มอภิสิทธิ์สูงกว่านั้น) คนแห่ให้ความสนใจทุกการขยับตัวของชีวิตพวกเขา ไม่ว่าจะคบกัน เป็นแฟน งานแต่ง มีลูก มีชู้ เตียงหัก ทะเลาะกัน ละครเรื่องใหม่ อุบัติเหตุ หรือตายลาโลก คล้ายการซุบซิบนินทาเจ้านายในบริษัท ชนชั้นเจ้านายสำคัญเสมอ ในโครงสร้างสังคมแบบข้าทาส 

คนให้ค่ากับคนที่ได้รับความนิยมสูงๆ แรงศรัทธาล้นปรี่ แต่กลับไม่เคยก้มลงมองคุณภาพชีวิตตัวเอง แทบไม่ได้แคร์ปัญหาปากท้อง ขับเคลื่อนความคิดเพื่อเรียกร้องให้ตัวเอง มัวแต่สนใจให้ค่าคนที่สุขสบายกว่าเรา

8 ) ทำไมคนไทยให้ค่า Privilege Status? เราถูกวางโครงสร้างอำนาจทางค่านิยมในคนทั้งประเทศแบบ "เป็นข้าทาส" เราชินกับลัทธิบูชาตัวบุคคล ที่กดทับให้คนไม่เท่ากัน เมื่อมีแฟนคลับ มีดารา มีคนสูงค่ากว่า และมีคนต่ำกว่าเสมอ ต้องตามกรี๊ด ตามหวงแหน ตามดูผลงาน ตามชีวิต มีข่าวเฉพาะเป็นช่วงตัวเองเลยคือ "ข่าวบันเทิง" เป็นช่วงพิเศษ คนไทยถูกมอมเมาและ brainwash ให้เป็นทาส ผ่านค่านิยมจากโครงสร้างสังคม สื่อมวลชนไทย และการอบรมสั่งสอน การถ่ายทอดทางวัฒนธรรมโดยที่เราไม่รู้ตัว

หนัง ละคร ซีรีส์ วรรณกรรมเก่าเก็บ ระบบการศึกษา หลักสูตร ทุกอย่างที่เราเสพ ไม่เคยพาคนไทยไปข้างหน้า แต่พาเราถอยหลังดักดานในค่านิยมเก่าไม่เป็นสากล

9) ในขณะที่ย้อนมาดูสวัสดิการชีวิตคนกวาดถนนในไทย และเงินเดือนของพวกเขา ชีวิตที่ไม่มีความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่มีดาราสักคนมา spotlight ก็เพราะไม่ใช่พวกพ้องน้องพี่เดียวกันไง สะท้อนสังคมระบบอุปถัมภ์ในประเทศ สะท้อนปัญหาของการยกย่องเชิดชูพวกเดียวกันขึ้นหิ้ง แต่ไม่เคยเรียกร้องความยุติธรรม และแยแสชีวิตเพื่อนมนุษย์คนอื่นในชาติ เพราะสวัสดิการคนรากหญ้า ไม่ได้กระทบชีวิตพวกคุณคนดังแม้แต่น้อย

10) ดาราส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนเรียกร้อง จะเดือดร้อน ก็เมื่อวันที่ภัยมาถึงตัวคุณเท่านั้น คุณไม่เคยพูดเพื่อคนอื่น ไม่เคยขับเคลื่อนอะไรให้ใคร แล้วนั่นทำให้เราหมดศรัทธาในดาราคนดังของประเทศนี้ ประเทศที่มองไม่ออกว่า "ปัญหาของชาติต้องร่วมกันตะโกนด่า และผลักดัน จึงจะปรับปรุงสำเร็จก้าวหน้า" ในประเทศที่... dak ภาษีแต่ไม่ทำงาน เพราะถ้าภาษีเราทำงาน ป้ากวาดถนนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้แน่นอน

11) สื่อ ประชาชนส่วนใหญ่ และดาราดัง พวกคุณแทบจะไม่เคยรักษาสิทธิ์ตัวเอง (Assertiveness) เวลาคนถูกกดขี่ ...คุกคามประชาชน และมีความไม่ชอบธรรมในสังคม พวกคุณเงียบกริบไง ไม่เคยรักษาผลประโยชน์ที่เรามีร่วมกันในชาติ ประเทศเลยเดินทางดักดานมาจนถึงจุดนี้ ในทุกวันนี้ ปล่อยให้... บริหารประเทศผิดทางได้อย่างหน้าตาเฉย

ไม่รู้มองอะไรออกไหม เราเล่าอะไรที่ไกลกว่าเรื่องดาราเสียอีก แต่กฎหมายประเทศนี้ไม่เอื้อให้เราพูดเท่าไหร่ 

ขอให้พวกคุณคิดได้ว่า "ทุกชีวิตในประเทศนี้ก็มีค่าเท่ากัน" ถึงเวลา "ตาสว่าง" ได้รึยังนะคนไทย?

ขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอให้ดวงวิญญาณของคุณนารีสู่สุขติครับผม

บทความจากเพจตุ๊ดส์review
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
คนที่คุณรู้จัก กับคนที่คุณไม่รู้จัก

การโฟกัสมันต่างกันอยู่แล้ว แค่นั้นเอง จะดึงดราม่าทำไม
ความคิดเห็นที่ 1
ก็ปกติหนิ เป็นดาราย่อมมีคนที่รู้จักมากกว่าอยู่แล้วมันก็เลยดังและเป็นกระแสฮือฮากว่า บางทีมันก็ไม่ได้เกี่ยวไรกับ Privilege อะไรนั่นเลย
อย่ามาดราม่าควีน (หมายถึงผู้เขียนที่เป็นเจ้าของบทความ)
ความคิดเห็นที่ 4
ไม่ใช่แค่สังคมไทยครับ ไม่ว่าสังคมประเทศไหนในโลกการเสียชีวิตของคนที่มีชื่อเสียงก็ย่อมเป็นที่สนใจและเป็นข่าวมากกว่าคนธรรมดา ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน ไม่เกี่ยวกับ Privilege Status หรือ Elite อะไรทั้งนั้นมั่วซั่วสิ้นดี

ข่าวมันต้องขายให้คนจำนวนมาก การเสียชีวิตของคนที่มีชื่อเสียงมีคนจำนวนมากสนใจ ส่วนการเสียชีวิตของคนธรรมดาไม่มีคนสนใจ แล้วจะให้มันเป็นข่าวเหมือนๆกันเท่าๆกันได้ยังไง

คนที่คิดว่ามันต้องเหมือนสิ แปลก
ความคิดเห็นที่ 10
เอาข่าวแตงโมไปเทียบกับข่าวคนกวาดขยะ แล้วบอกว่าสังคมให้ค่าให้แสงไม่เท่ากัน โอ้ยยย ขนาดเพจของแก ยังเกาะข่าวแตงโม20กว่าโพสต์เลย ได้ยอด Engagement ไปเท่าไหร่ล่ะ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 6
กระทู้นี้จะโดนไหม ฉันเอาบทความจากเฟซบุ๊กมาลง ไม่ได้คิดเอง เขียนเอง ฉะนั้นถ้าจะลบ ลบกระทู้พอ อย่าแบนฉันเลยนะ

ไหว้สาล่ะเว็บมาสเตอร์ ฉันกลัว ขี้เกียจสมัครใหม่ 555
ความคิดเห็นที่ 45
หลายท่านคิดว่านี่เป็นบททความจากจขกท. ตามจริงบทความนี้มาจากเพจตุ๊ดส์review ออกตัวก่อนว่าที่เอามาลงก็เพราะอยากดู อยากหยั่งเชิงคนในนี้ว่าจะคิดเห็นอย่างไรกัน ไม่ใช่ว่าถูกอกถูกใจเลยเอามาลง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่