เชียงใหม่<UNKNOWN>อุโบสถสองสงฆ์ วัดพระสิงห์


...อุโบสถวัดพระสิงห์เรียกว่า "มหาอุโบสถาคารหลวง" พระเจ้ากาวิละและราชวงศ์ร่วมกันสร้าง
ชาวบ้านเรียกว่า "อุโบสถสองสงฆ์" อาจจะหมายถึงอุโบสถพระภิกษุและพระภิกษุมณี 

อุโบสถหลังนี้มีบันไดขึ้น ๒ ด้าน คือ ด้านใต้เป็นทางขึ้นของพระสงฆ์ ด้านเหนือเป็นทางขึ้นของภิกษุณี

ทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับอุโบสถหลังนี้ว่าเป็นอุโบสถภิกษุณีจริงหรือไม่
เพราะถ้าเป็นจริงอย่างที่ชาวบ้านเรียกชื่อ 
อาจกล่าวได้ว่าเมืองเชียงใหม่เมื่อร้อยปีมาแล้วมีอุโบสถของภิกษุณี เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน

...พิจารณาจากรูปแบบแผนผังของอุโบสถหลังนี้แล้ว มีลักษณะแปลกกว่าอุโบสถทั่วไป
รูปแบบเป็นอาคารคล้ายวิหารทุกอย่าง แต่มีประตูทางเข้า ๒ ด้าน จารึกกล่าวว่า
พระเจ้ากาวิละสร้างปราสาทด้วยหนึ่งหลังในอุโบสถ 

ฮันส์ เพนธ์ กล่าวว่า
"ภายในอุโบสถมีปราสาทหลังหนึ่ง คงสร้างด้วยอิฐ ด้านนอกปิดด้วยปูน (ลงรัก) ปิดด้วยทองคำ มีลวดลาย"
(ฮันส์ เพนธ์ และคณะ, "จารึกวัดพระสิงห์ ๒๓๕๕" ในประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๔, 
จารึกในพิพิธภัณฑ์เชียงใหม่, เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๓, หน้า ๑๙๓.)

ท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่าภิกษุและภิกษุณีอาจจะทำสังฆกรรมร่วมกัน
จึงเป็นเรื่องที่น่าต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป พบเอกสารกล่าวถึงอุโบสถและภิกษุณี ๒ เรื่อง ดังนี้

...๑. เอกสารพับสาโบราณไม่ระบุศักราช อธิบายถึงอุโบสถที่ใช้น้ำแทนสีมาหินหรือ "อุทกสีมา" นั้น
น้ำในแม่น้ำน้อยใหญ่หรือลำห้วย ที่มีน้ำตลอดฤดูเข้าพรรษา น้ำนั้นใช้เป็นอุทกสีมาให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้
ปริมาณน้ำต้องมีความลึกประมาณเท่ากับภิกษุณีนุ่งผ้าสบงตามปกติ และชายผ้าสบงของภิกษุณี
จุ่มลงในแม่น้ำลึกประมาณ ๒ นิ้ว ถือว่าแม่น้ำนั้นถูกลักษณะอุทกสีมา
จากข้อความดังกล่าว ดูประหนึ่งชาวล้านนารู้จักภิกษุณีหรือการนุ่งผ้าของภิกษุณี
หรือพระสงฆ์ล้านนานำความรู้เรื่องอุทกสีมานี้มาจากที่อื่น
"...อุทกเขปสิมาแล ที่นี้จักวิสัชนาอุทกเขปสิมาก่อนแล เวมะ น้ำน้อยก็ดี แม่น้ำใหญ่ก็ดี 
สระโบกขรณีก็ดี น้ำห้วยก็ดี ยังตั้งอยู่ใน ๔ เดือนเต็มตาม รดูฝนคือว่า ตั้งแต่เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำไป/
เถิงเดือนเจียงเพ็งเป็นรดูฝน คันน้ำนั้นยังตั้งอยู่ พอ ๔ เดือนนี้ ก็ควรกระทำสังฆกรรมแล
จักเป็นประหมาณเท่าภิกษุณี / นุ่งผ้าสะบงเป็นปริมณฑล ลักขณปกฺกติ 
ตีนผ้าสบงชุบน้ำประหมาณ (๑) นิ้วมือ ๒ นิ้ว ก็ดี แม่น้ำอันนั้นก็ถูกนทีลักขณะแล
สังฆก็ควรกระทำสังฆกมฺมแล... ห้องวิสัชนาอุทธกุกเขตสีมาก็แล้วเท่านี้ก่อนแล..."
(อรุณรัตน์ วิเชียวเขียว (ปริวรรต) ๒๕๔๑, ปกิณกะจากพับสา, 
เอกสารหายากสมบัติของจากหอสมดุกลางมหาวิทยาลัย คอร์แนล สหรัฐอเมริกา, 
เชียงใหม่ : วิทยาลัยครูเชียงใหม่, หน้า ๒-๓. (อัดสำเนา))

...๒. คัมภีร์ใบลานล้านนา ต้นฉบับของวัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน 
ถ่ายไมโครฟิล์มไว้ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"จดหมายเหตุล้านนาบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ พ.ศ.๒๒๗๑-๒๓๙๗"
ผู้ปริวรรตคิดว่าเอกสารฉบับนี้มีความน่าเชื่อถือ เพราะบันทึกมีลักษณะเป็นบันทึกส่วนตัว
ผู้บันทึกเรียงลำดับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างย่อพร้อมกับบันทึกวันเดือนปีไว้ชัดเจน
สันนิษฐานว่า ผู้บันทึกอาจเป็นโหรท่านได้บันทึกถึงอุโบสถภิกษุณีไว้ว่า 
ในปี พ.ศ.๒๓๖๐ เจ้าหลวงคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ ๒ ซึ่งปกครองสืบต่อจากพระเจ้ากาวิละ
ได้สร้างวิหารวัดพระธาตุจอมทอง อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ ได้ก่อธาตุ (เจดีย์) วัดพระสิงห์
ครอบอุโบสถภิกษุณี สร้างหอธรรม (ปิฎกมณฑป) ครอบเสาอินทขีล (วัดเจดีย์หลวง) ความว่า
..."...สักกะ ๑๑๗๙ ตัว (พ.ศ.๒๓๖๐) ปีเมืองเป้า พญาวันเดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ 
เจ้าพญาสุธัมมราชเสฏหัตถีสุวัณณปทุมมา (เจ้าหลวงคำฝั้น) สร้างวิหารหลวงจอมทอง
ก่อธาตุพระสิงห์กรวม (อุ) โบสถภิกษุณี สร้าง (หอ) ปิฎกกรวมเสาอินทขีล 
อันพญาอินทร์เจ้าฟ้ามาตั้งไว้ เจดีย์หลวงกลางเวียงพิงค์เชียงใหม่ ก็วันเดียวกันปีเดียวนั้นแล..."
(สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต), "จดหมายเหตุล้านนาบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ พ.ศ.๒๒๗๑-๒๓๙๗"
ในหลักฐานประวัติศาสตร์ล้านนา จากเอกสารคัมภีร์ใบลานและพับหนังสา, เชียงใหม่ : 
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า ๒๖. (อัดสำเนา))

...ธาตุเจดีย์ที่เจ้าหลวงคำฝั้น (พญาสุธัมมราชเสฏหัตถึสุวัณณปทุมมา) สร้างนั้น
ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้บูรณะใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน อุโบสถภิกษุณีอาจถูกสร้างครอบไปแล้ว
หรืออาจเป็นสิ่งก่อสร้างที่ชาวเชียงใหม่สมมุติขึ้นแทนอุโบสถของภิกษุณีก็อาจเป็นได้
การที่ชาวบ้านเรียกว่า "อุโบสถสองสงฆ์"
คงจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับภิกษุณีอย่างใดอย่างหนึ่งที่คนในสมัยนั้นเข้าใจกันดี
มิเช่นนั้นพวกเขาคงไม่เรียกว่าอุโบสถสองสงฆ์ เรื่องนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป

ผมเองเชื่อเหลือเกินว่า ผู้มาเยือนเชียงใหม่ คงมีน้อยคนที่จะไม่มากราบไหว้ และ/หรือ ไม่ได้ถ่ายรูปอุโบสถสองสงฆ์นี้
แต่ก็คงมีอีกไม่น้อย ที่ไม่ทราบว่าอุโบสถหลังนี้ คืออะไร จึงนำมาเล่าขานให้รับทราบกันในหัวข้อ <UNKNOWN>
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่