JJNY : ยูเครนป่วน ต้นทุนพุ่ง│หวั่นโอมิครอนลามทำลายศก.│ศึกรัสเซีย-ยูเครน!ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน│รัสเซียขู่ฟินแลนด์-สวีเดน

ยูเครนป่วนต้นทุนธุรกิจพุ่ง ผวา “ค่าไฟ-น้ำมัน-วิกฤตส่งออก”
https://www.prachachat.net/general/news-874533
 
 
สงครามรัสเซียบุกยูเครนป่วนโลก ไทยเตรียมรับผลกระทบทางอ้อม 3 เรื่องใหญ่ “เงินเฟ้อ-ส่งออก-น้ำมัน” บอร์ดพลังงานเผยแนวโน้มค่าไฟฟ้า-ค่า Ft งวดสองขึ้นแน่ ๆ เหตุราคาก๊าซธรรมชาติ-LNG ขยับขึ้น ทูตพาณิชย์รัสเซียรอประเมินหลังมาตรการคว่ำบาตร ชี้ค่าเงินรูเบิลอ่อน

สินค้านำเข้ารัสเซียราคาพุ่ง สภาเรือถกด่วนเอกชน 10 กลุ่มรับมือวิกฤตส่งออก-ค่าระวาง ททท.หวั่นกระทบนักท่องเที่ยวรัสเซีย หลังโควิดเข้ามาเที่ยวไทยเป็นอันดับ 1 “อุบลไบโอ” รับส้มหล่นแป้งมันขายดี หลังราคาข้าวสาลียูเครนพุ่ง

คว่ำบาตรรัสเซียกระทบไทย
 
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน สำหรับประเทศไทยคงไม่ถูกผลกระทบตรง ๆ แต่ทางอ้อมจะมีค่อนข้างมากผ่าน 3 ทางหลักคือ
 
1) ผลกระทบเรื่องเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างใหญ่ที่จะซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพของคนไทยให้ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ (ก๊าซธรรมชาติ-น้ำมัน-โลหะสำคัญ) รายใหญ่ของโลก แต่เครื่องมือที่ใช้รบกันระหว่างรัสเซียที่บุกยูเครนไปแล้วกับฝ่ายตะวันตกจะเป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ก็จะกระทบไทยในเรื่องค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ซัพพลายดิสรัปชั่น
 
2) การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบกับยุโรปโดยตรง เพราะยุโรปต้องซื้อก๊าซจากรัสเซียจำนวนมาก ดังนั้นหากมีการปิดท่อส่งก๊าซหรือการคว่ำบาตรไม่ให้ซื้อก๊าซจากรัสเซีย เศรษฐกิจยุโรปก็จะมีปัญหาในฐานะที่ประเทศไทยส่งออกไปยุโรปเป็นอันดับ 4 ของตลาดส่งออก ไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน ส่วนการส่งออกไปรัสเซีย แม้มีไม่มากแต่ก็คงทำให้ผู้ที่ส่งออกไปรัสเซียได้รับผลกระทบไปด้วย 3) ภาวะปิดรับความเสี่ยง (risk off) หรือการที่คนเกิดความกังวล มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงไปอยู่สินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งยังไม่ทราบได้ว่าจะเกิดอะไรบ้างจากการคว่ำบาตร
 
สำหรับผลกระทบในแง่ “ค่าครองชีพ” นั้น เพียงแค่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นไปเป็น 130-140 เหรียญ/บาร์เรล ก็จะมีผลกระทบลามไปอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ค่าขนส่ง ราคาก๊าซหุงต้ม ดังนั้นหากราคาน้ำมันสูงขึ้น เงินเฟ้อของไทยก็ต้องพุ่งขึ้นด้วย อาจจะไปถึง 3-4% ต่อปี “และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะค้างอยู่นานหรือไม่” นอกจากนี้ ภาระรัฐบาลก็จะมากขึ้นจากปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนราคาพลังงานอยู่ราวเดือนละ 10,000 ล้านบาท หรือปีละกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะรับมือไหวหรือไม่
 
ส่วนนโยบายการเงิน ภาวะขณะนี้คงยังไม่ใช่จุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย แต่การไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็อาจจะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากกรณีที่ต่างประเทศมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนห่างจากดอกเบี้ยของไทยมาก ๆ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทผันผวนไปด้วย
 
“การดำเนินนโยบายการเงินจะมีข้อจำกัดมากขึ้น ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ถามว่า แบงก์ชาติอยากขึ้นดอกเบี้ยไหม ก็ไม่อยาก แต่ว่าถึงจุดหนึ่งอาจจะโดนกดดัน เช่น เงินบาทอ่อนไปเรื่อย ๆ หรือเงินเฟ้อสูงไปเรื่อย ๆ หรือส่วนต่างดอกเบี้ยห่างมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าราคาน้ำมันดิบขึ้นไป 130-140 เหรียญก็จะกลายเป็นทั้งภาระการคลังและภาระของผู้บริโภค
 
แต่ราคาน้ำมันที่แพงคงไม่ถึงขั้นทำให้อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทย (GDP) ติดลบ เพราะไทยไม่ได้รับผลกระทบทางตรง “แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เรากำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวแล้วมาเจอช็อกอย่างนี้ก็จะยิ่งเหนื่อย ซึ่งเศรษฐกิจก็อาจจะชะลอลงไป” ดร.พิพัฒน์กล่าว
 
“อาคม” ห่วงราคาน้ำมันดิบ
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ราคาน้ำมันดิบจะขึ้นไปประมาณเท่าไหร่ แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับ 90-100 เหรียญ/บาร์เรล ถือว่ายังอยู่ในขอบเขตที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะบริหารจัดการได้ (ตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร)
 
ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็เข้าไปช่วยระดับหนึ่ง (ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงมา 3 บาท/ลิตร) โดยราคาน้ำมันดิบ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปรากฏน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่ 92.81 เหรียญ/บาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์ 99.08 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ 98.80 เหรียญ/บาร์เรล
 
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบด้านโลจิสติกส์ โดยให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางในการรวบรวม ประสานและเผยแพร่รายชื่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญตลาดรัสเซีย และร่วมมือกับสมาพันธ์ สมาคมด้านโลจิสติกส์
 
ส่วนการค้าระหว่างไทย-รัสเซีย ปี 2564 มีมูลค่า 2,780 ล้านเหรียญ ขยายตัวร้อยละ 12.84 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกไปยังรัสเซียมูลค่า 1,028 ล้านเหรียญ และนำเข้าจากรัสเซียมูลค่า 1,752 ล้านเหรียญ
 
สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล, อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
 
ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ, ปุ๋ย, ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์สินแร่โลหะอื่น ๆ, เครื่องบิน อุปกรณ์การบินส่วนยูเครน การค้าระหว่างไทย-ยูเครนมีมูลค่า 386.47 ล้านเหรียญ หรือขยายตัวร้อยละ 25.56 โดยไทยส่งออกไปยังยูเครนคิดเป็นมูลค่า 134.76 ล้านเหรียญ และนำเข้าจากยูเครนมูลค่า 251.71 ล้านเหรียญ
 
ค่าไฟฟ้างวด 2 ขึ้นแน่
 
นายคมกริช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft ) งวด 2 จะต้องปรับขึ้นตามสมมุติฐานต้นทุนราคาก๊าซในตลาดโลกปรับขึ้นก็จะส่งผลให้ค่าไฟปรับขึ้นแน่นอน เพราะประเทศไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 60% ก่อนหน้านี้ กกพ.ได้วางสมมุติฐานเพื่อกำหนดค่า Ft งวดแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2565 ราคาเฉลี่ย 18 เหรียญ/ล้าน BTU แต่ตอนนี้ขยับเป็น 20 กว่าเหรียญ/ล้าน BTU ไปแล้ว
 
และช่วงนั้น (Ft งวดแรก) ราคาน้ำมันดิบก็ยังไม่ได้สูงถึง 100 เหรียญ/บาร์เรล แต่ก็ยังสามารถคำนวณเป็นสัดส่วนว่า ราคาน้ำมันขึ้นเท่านี้จะกระทบราคาก๊าซเท่านี้ เพราะจะขึ้นอยู่กับมีสัดส่วนการผสมก๊าซในแต่ละช่วงด้วย หากสัดส่วนก๊าซธรรมชาติในอ่าวเปลี่ยนแปลง ต้นทุนก็ปรับเปลี่ยนตาม
 
ราคาน้ำมันจะเชื่อมโยงถึงราคาก๊าซและอัตราแลกเปลี่ยน หากสถานการณ์ปกติราคาน้ำมันแพงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนก็จะทำให้ราคาปรับขึ้นและส่งผลถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทย และราคา LNG ที่มันตามตลาด ประกอบกับต้นทุนค่าระวางเรือที่ปรับขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง กระทบต่อการขนส่ง LNG ไทยต้องนำเข้า LNG บางส่วน และยิ่งเมื่อปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดน้อยลง
 
จากช่วงเปลี่ยนผ่านแหล่งผลิตเอราวัณ เราก็พึ่งการนำเข้า LNG แบบ spot มากขึ้น นับจากปลายปี 2564 ที่ผ่านมา พอเกิดสงครามขึ้นมา ราคา sport ในตลาดก็ปรับขึ้นสูง แล้วไทยก็ไม่ได้มีการเก็บสต๊อก LNG ไว้มาก เพราะมีพื้นที่เก็บแค่ 4 ถังเท่านั้น ส่วนการใช้ไฟฟ้าของประเทศก็เพิ่มขึ้นนิดหน่อย อุตสาหกรรมส่งออกจะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงแรมไม่ได้เพิ่มมากนัก” นายคมกริชกล่าว
 
สภาเรือนัดหารือค่าระวาง
 
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.อยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยมีประเด็นที่ต้องจับตาคือ สถานการณ์การขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ และราคาสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร
 
โดย สรท.จะเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น กลุ่มอาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, เครื่องนุ่งห่ม, ไก่ เข้ามาหารือถึงผลกระทบ รวมไปถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะนัดประชุมกันในวันที่ 1 มีนาคมนี้
 
ล่าสุดมีการประเมินสถานการณ์จาก สรท.เข้ามาว่า การเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตจากราคาพลังงาน (น้ำมัน-ก๊าซ) และราคาวัตถุดิบ อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ อาจจะส่งผลให้คำสั่งซื้อจากผู้ค้าลดลง ทาง สรท.ประเมินว่า หากสถานการณ์สู้รบไม่บานปลายหรือขยายวงกว้างออกจาก 2 ประเทศคู่สงคราม การส่งออกสินค้าไทยน่าจะยังเติบโตได้ที่ร้อยละ 5
 
โดยคาดการณ์การส่งออกไตรมาส 1/2565 จะยังเติบโตได้ร้อยละ 8 เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ถ้าการสู้รบยังยืดเยื้อต่อไปอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 2/2565 อาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4,000-5,000 ล้านเหรียญ โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ)
 
ทาง สรท.มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 2 ข้อ คือ 1) ให้รักษาเสถียรภาพเงินบาทอยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาท/เหรียญสหรัฐ เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลกและให้ผู้ส่งออกยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ กับ 2) เพื่อรับมือกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุน ขอให้รัฐบาลพิจารณาอนุญาตให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามสัดส่วนของราคาต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
 
นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย กล่าวว่า ขณะนี้ต้องติดตามรายละเอียดในเรื่องของ “มาตรการคว่ำบาตร” ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่การทำธุรกิจ การขนส่ง รวมไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชนในรัสเซียยังเป็นปกติ แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การหยุดโครงการท่อส่งก๊าซไปยังเยอรมนี (Nord Stream 2) และค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและยูโร
 
จากปัจจุบันค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าจาก 70 รูเบิล/เหรียญสหรัฐ เป็น 80 รูเบิล/เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น และหากการคว่ำบาตรมีการใช้มาตรการตัดการเข้าถึงเงินเหรียญสหรัฐของธนาคารในรัสเซีย ถ้าถึงจุดนี้จะมีผลกระทบต่อภาคการค้า การส่งออก เศรษฐกิจทันที
กระทบนักท่องเที่ยวรัสเซีย
 
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบโดยตรงและอย่างชัดเจนต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย เนื่องจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวรัสเซียถือเป็นตลาดใหญ่ ติดอันดับท็อป 6-7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย โดยในปี 2561-2562 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียราวปีละ 1.4 ล้านคน หรือเป็นรายได้ 100,000 ล้านบาทต่อปี
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและการออกเดินทางท่องเที่ยวของชาวรัสเซียแน่นอน โดยไทยก็น่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบในอันดับต้น ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่คนรัสเซียให้ความนิยม
 
ที่ผ่านมาแม้ทั่วโลกยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คนรัสเซียได้เริ่มทยอยออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแล้ว ในส่วนของประเทศไทยพบว่า นักท่องเที่ยวรัสเซียบางส่วนกลับมานับตั้งแต่เปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เมื่อ 1 กรกฎาคม 2564 จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1-21 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมดรวม 88,755 คน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวรัสเซียจำนวน 12,563 คน สูงสุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ เยอรมัน 9,953 คน และฝรั่งเศสจำนวน 8,352 คน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่