One for the Road : ถึงเพื่อนรัก พ่อ และแฟนเก่าส์ ขอโทษที่เราเห็นแก่ตัว (Spoil)

ความรู้สึกที่หลงเหลือหลังดู One For The Road และทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้ คือการที่ตัวหนังตั้งคำถามกับความเป็นเราที่สร้างปัญหาในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเพื่อน แฟน ครอบครัว มากกว่าการขยี้ที่มาที่ไปและเรื่องราวที่เกิดขึ้น (อย่างที่หน้าหนังหลอกเราไว้) ส่วนตัวเชื่อว่าในทุกความสัมพันธ์ มันขับเคลื่อนด้วยความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ เพียงแต่ทั้งสองคนจะจัดการมันไปด้วยกันได้ดีแค่ไหน จะเติบโตและเรียนรู้หรือจะเลิกกันไปซะก่อน ซึ่งพูดได้เลยว่าคือเรื่องที่ยากที่สุด

มันง่ายมากเลยที่เราจะเคยเป็นแฟนเก่าที่นิสัยแย่ หรือเป็นเพื่อนที่โคตรใจร้ายแบบอู๊ด และบทเรียนสุดท้ายที่อู๊ดเจอก็สอนเราว่า สิ่งที่เราคิดและทำลงไปในจังหวะหนึ่งของชีวิตเพราะความนึกถึงคนอื่นน้อยกว่าตัว ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ อาจส่งผลต่อชีวิตของอีกคนหนึ่งในความสัมพันธ์อย่างไม่อาจย้อนกลับ และไม่แน่ว่าสิ่งเหล่านั้นเองจะย้อนกลับมานำพาเราไปสู่ความโดดเดี่ยว การไม่อภัย และรสขมขื่นในวาระสุดท้าย อย่างที่อู๊ดต้องเจอก็ได้

ในหน้า A ของเรื่อง การตัดสินใจตระเวนเอาคำขอโทษไปคืนแฟนเก่าทีละคนของอู๊ด ชวนให้เรานึกถึงการกระทำของจีนในฮาวทูทิ้ง (อีกหนึ่งเรื่องโปรด) อยู่หน่อยๆ แต่ต่างกันที่คนรักเก่าของอู๊ด มีแผลที่ซุกซ่อนอยู่มากกว่านั้น บอกได้ว่า ‘ความฝัน’ ของพวกเธอก็รับบทเด่นไม่แพ้กัน

ประเด็นที่ซุกซ่อนในหน้า A คือจุดร่วมของบรรดาผู้หญิงผู้เป็นคนรักเก่าของอู๊ด นั่นก็คือการที่พวกเธอไม่อาจไปถึงความฝันที่ตัวเองหวังไว้ ไม่ว่าจะด้วยโอกาสอันต่ำต้อยของการอยู่ในประเทศที่ไม่เอื้อต่ออาชีพในฝันของอลิซ หนูนาที่เป็นตัวอย่างความฝันของผู้หญิงที่มักถูกมองข้ามหรือโยนทิ้งจากคนใกล้ชิด รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ความเป็นแม่ของรุ้งที่ปิดตายประตูสู่การที่เธอได้ออกไปทำในสิ่งที่รักโดยปริยาย ทั้งหมดนี้ถูกพูดออกมาน้อยนิด แต่ลงตัวมาก เชื่อว่าทีมเขียนบทตั้งใจสอดแทรกประเด็นนี้ของผู้หญิงไว้เป็นส่วนสำคัญในหนัง

แต่เมื่อเดินทางมาถึงหน้า B หนังก็กระชากเราไปสู่อีกองค์หนึ่งที่เต็มไปด้วยลายเซ็นของผู้กำกับ ฉูดฉาด ชวนติดตาม และเซอร์ไพรส์ ซึ่งสีสันการเล่าเรื่องแบบนี้ช่วยประคับประคองพล็อตที่ติดละครไปหน่อยไว้ได้ ซึ่งการที่หนังทำเซอร์ไพรส์ด้วยการให้อู๊ดเปิดเผยด้านที่ไม่ดีเอาเสียเลยของตัวเองออกมา ซึ่งส่งผลอย่างสาหัสสากันต์ต่อเพื่อนรักอย่างบอสและพริมคนรัก กลายเป็นว่าทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของอู๊ดมากขึ้น (ซึ่งแอบหาได้ยากในหนังจีดีเอชและหนังไทยเรื่องอื่นๆ) จนเอาใจช่วยลึกๆ ให้ตัวละครนี้ได้ทำภารกิจเสร็จสิ้น และเดินทางกลับบ้านครั้งสุดท้ายอย่างปลอดโปร่งใจ แม้สิ่งที่เขาทำบางอย่างจะไม่สมควรได้รับการให้อภัยก็ตาม

“อยากให้เธอเจอสิ่งดีๆ นะอลิซ”

สิ่งที่เกิดขึ้นในการอำลากันไม่กี่นาทีระหว่างอู๊ดกับอลิซ คือไดอะล็อกที่ทรงพลังที่สุดในหนังเรื่องนี้ แม้ว่าหนังจะไม่ได้บอกแน่ชัดว่าอะไรที่ทำให้อู๊ดกับอลิซแยกทางกัน แต่ไม่กี่นาทีที่สนทนามันเต็มไปด้วยความรู้สึก และเยื่อใยระหว่างกันที่มันจริงมากๆ จนน้ำตาปริ่มออกมาเลย

สำหรับอู๊ด อลิซน่าจะเป็นความรักในช่วงท้ายของการอยู่นิวยอร์ก ความฝันของเธอคือการเป็นนักเต้น ส่วนตัวเขาเองคงพยายามทำความสัมพันธ์นี้ให้ดีที่สุด (หรืออาจเพื่อลบล้างสิ่งที่เคยทำผิดมาจากรักครั้งก่อนหน้า) จนเลือกที่จะทิ้งฝันเรื่องบาร์ที่จะทำกับเพื่อนรักอย่างบอส เพื่อกลับไทยมาเปิดโรงเรียนสอนเต้นด้วยกัน แต่สุดท้ายด้วยอะไรสักอย่างทำให้สุดท้าย ทั้งคู่ต้องตัดสินใจบอกลากัน และอลิซก็ต้องเผชิญกับโลกของการถูกทิ้งให้ทำตามความฝันในประเทศนี้เพียงลำพัง

การต่อสู้เพื่อฝันของอลิซ จบลงด้วยข้อจำกัดในบ้านเกิดของเธอ โรงเรียนสอนเต้นที่วาดฝันจึงเป็นได้แค่เพียงโรงเรียนสอนลีลาศให้ผู้สูงวัย แต่ถึงจะบาดเจ็บจากความฝัน รวมทั้งความรัก เธอก็บอกว่าเธอแฮปปี้กับชีวิตแบบนี้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง (หรืออาจเพราะนาฬิกาความฝันมันหยุดเดินลงไปแล้วก็ได้)

บทสนทนาสุดท้าย ทำให้อู๊ดได้รับรู้ว่าอลิซยังไม่ลืมความสัมพันธ์ดีๆ ที่มีระหว่างกัน หลังจากขอโทษกันและกันในการเต้นรำ และโบกมือร่ำลากันด้วยรอยยิ้ม สิ่งที่อู๊ดอยากให้อลิซมากที่สุด คงเป็นคำอวยพรเรียบง่ายให้เธอได้เจอสิ่งดีๆ ในชีวิตสักที


“ขอโทษนะหนูนา ที่ทำให้เธอไม่ได้โบยบิน”

แม้ไม่ได้ลงรายละเอียดระหว่างอู๊ดกับหนูนาไว้มากมาย แต่ที่รู้แน่ชัดคือเธอเป็นสาวน้อยที่ฝันอยากโลดแล่นในฐานะนักแสดง และดั้นด้นมาตามความฝันที่มหานครนิวยอร์ก ในช่วงเวลาที่คบกัน ขณะที่เส้นทางของหนูนาเข้าใกล้ความฝันขึ้น แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนและไว้ใจจากอู๊ด แถมเธอยังต้องเจอกับการกระทำแย่ๆ ของคนรัก ที่เอาอารมณ์และความโลกแคบของตัวเองมาขัดขวางจนเธอพลาดโอกาสการออดิชั่นครั้งสำคัญเพื่อเป็นนักแสดงที่นิวยอร์ก และนั่นคงเป็นเหตุให้เธอหอบกระเป๋ากลับไทยด้วยความผิดหวังทั้งในรักและความฝัน

เพราะรู้ตัวว่าสร้าง toxic และบาดแผลไว้ให้ชีวิตหนูนาแค่ไหน คำอำลาสุดท้ายของอู๊ดจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าคำสำนึกผิดและคำขอโทษ และแม้ว่ารางวัลอู๊ดสการ์ที่เอามาคืนให้จะโดนปัดตกพื้นอย่างไร้เยื่อใย แถมยังโดนขับไสให้ออกไปพ้นๆ แต่การได้เห็นกับตาว่าเธอยังไม่ทิ้งฝัน ยังได้รับโอกาสเพื่อพิสูจน์ตัวเอง อย่างน้อยก็ในฐานะนักแสดงไทย ประกอบกับข้อความที่หนูนาให้สัมภาษณ์ในทีวี ก็น่าจะทำให้อู๊ดให้อภัยตัวเองได้บ้าง

หนูนา อาจจะเป็นแฟนคนแรกของอู๊ดที่นิวยอร์ก เป็นคนที่เขาทำผิดพลาดด้วยมากที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ก็คืออดีตที่มีส่วนในการประกอบร่างสร้างตัวตนของกันและกันมากที่สุดเช่นกัน


“อย่าลืมตัวเองนะ พี่รุ้ง”

อู๊ดเจอกับพี่รุ้งที่นิวยอร์กในช่วงเวลาที่เขากำลังเหงา อาจเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งเลิกรากับหนูนาก็เป็นได้ ช่างภาพรุ่นพี่คนนี้ทำให้รอยยิ้มกลับมาบนใบหน้าเขาได้อีกครั้ง เปรียบเสมือนฟ้าหลังฝนที่มีรุ้งสดใส แต่สุดท้ายเมื่อเธอตัดสินใจจะกลับไทย กลับไม่มีอู๊ดคอยเคียงข้างหรือรั้งเธอเอาไว้ให้อยู่ต่อ มันทำให้เธอได้รู้ว่าความสัมพันธ์ที่เขามีให้ช่างเบาบาง และจบลงง่ายๆ เท่านั้น

ตัดภาพกลับมาไทยในวันนี้ พี่รุ้งกลายเป็นคุณแม่ที่ต้องรับหน้าที่ดูแลลูกสาวที่น่ารัก และทิ้งอาชีพช่างภาพไว้เบื้องหลัง ไม่แปลกใจเลยที่การมาหาของอู๊ด สำหรับพี่รุ้ง มันเท่ากับการเปิดกล่องความฝันที่เธอเคยปิดตายไปแล้ว อู๊ดผู้กลับมาพร้อมฉากหลังที่เป็นนิวยอร์ก ความทรงจำในมหานครแห่งความฝัน อดีตทั้งมวลที่เธอหันหลังกลับไปไม่ได้และอยากจะลืมมันไปซะให้หมดด้วยซ้ำ

ฟิล์มม้วนสุดท้ายที่นิวยอร์ก ที่อู๊ดไม่ได้คืนให้พี่รุ้ง สุดท้ายก็ยังคงไม่ถูกใครล้าง เช่นกันกับความฝันของเธอที่จะไม่ถูกหยิบขึ้นมา จนกว่าจะถึงวันใดวันหนึ่งข้างหน้าหรืออาจไม่มีวันนั้นอีกเลยก็ได้


“คิดถึง และลาก่อนนะพ่อ”

เรื่องราวของอู๊ดกับพ่อถูกหยิบมาเล่าคลอเหมือนบทเพลงประกอบหนังแบบเบาๆ ตลอดเรื่อง จนเราแทบจะลืมไปแล้วว่าที่จริง หนังเปิดเรื่องด้วยบ้านตึกแถวของอู๊ด ซึ่งก็คือร้านแผ่นเสียงของพ่อ สิ่งที่เชื่อมโยงอู๊ดและพ่อก็คือเสียงเพลงที่บรรเลงไปตลอดการเดินทาง และแบกกราวด์ของการเป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่ต้องดิ้นรน

ไม่รู้เหมือนกันว่าอู๊ดคิดยังไงกับอาชีพนักจัดรายการวิทยุของพ่อ ซึ่งมันดูค่อนข้างจะล้าหลังและคนละโลกกับชีวิตในนิวยอร์กของเขา (สังเกตได้จากตอนที่รายการวิทยุถูกเปิดขึ้นที่ร้านอาหาร เขาก็ดูไม่ได้ภูมิใจที่จะบอกใครเท่าไหร่นัก) นี่อาจเป็นเหตุผลของการเดินทางไปหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ณ นิวยอร์ก จนทำให้เขาเลือกอยู่ห่างพ่อในวาระสุดท้ายและไม่ได้ร่ำลา

แต่แล้วเมื่อมาถึงวาระสุดท้ายของตัวเอง พ่อกลับกลายเป็นคนที่อู๊ดคิดถึงและอยากสื่อสารด้วย สังเกตได้ทั้งจากแผ่นเสียงที่ถูกรื้อมาเปิดฟัง และเทปบันทึกรายการของพ่อที่ถูกหยิบมาเป็นซาวด์แทรกประกอบการเดินทาง ซึ่งตัวพ่อเองก็ใช้สิ่งนี้เป็นสื่อกลางในการบอกลาลูกชายคนนี้เช่นกัน

แม้อัฐิของพ่อจะถูกปล่อยให้ปลิวไปกับสายลม เช่นเดียวกับพ่อที่ขับรถมาในจินตนาการของอู๊ด เพื่อโบกมือลากันเป็นครั้งสุดท้าย แต่อู๊ดรู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ความเป็นพ่อจะยังคงอยู่ในทุกอย่าง ที่ประกอบร่างเป็นตัวตนของเขา


“กลับไปหาคนที่สำคัญกับที่สุดนะบอส”

ไม่ต่างกับการฟังเพลงในเทปสักอัลบั้ม เพลงที่คนทั่วไปชอบได้ง่ายมักจะอยู่ในหน้า A แต่ hidden track ที่เราอาจจะชอบมันมากๆ หรือไม่ก็เกลียดจนกรอผ่านไปเลย มักถูกซุกซ่อนอยู่ในหน้า B

สำหรับเรา แม้ภาพรวมจะชอบหนังครึ่งแรกมากกว่า แต่ยอมรับว่าครึ่งหลังของหนังคือส่วนที่ทรงพลังและกำหนดทิศทางของหนัง ซึ่งหากทำได้ไม่ดีในภาพรวม เราก็คงไม่อาจชอบหนังเรื่องนี้ได้เลย

หลังหลอกให้ตายใจในความสัมพันธ์อันงดงามของอู๊ดกับบอสในองค์แรกที่อาจเรียกได้ว่าหน้า A แต่เมื่อพลิกไปสู่หน้า B เรื่องราวในมุมของบอส เจ้าของชีวิตที่ดูใช้ชีวิตไปวันๆ ก็ค่อยๆ ถูกเล่าอย่างลงรายละเอียด และละเมียดพอที่จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดบอสจึงกลายเป็นคนไร้แก่นสารแบบนั้น ทั้งหมดที่บอสเจอคือการหักหลัง ทั้งจากแม่ผู้ไปมีอนาคตกับครอบครัวใหม่ พริม คนรักที่แอบรับเงินจากแม่เพื่อพาเขามานิวยอร์ก และที่ทิ่มแทงมากที่สุด คือเพื่อนรักอย่างอู๊ด ที่อิจฉาเขาเสียจนเลือกที่จะหักหลัง ไม่เปิดเผยความจริงเรื่องพริมมาตลอด ซึ่งภาพรวมในการเล่าส่วนนี้เราคิดว่าผู้กำกับทำมันออกมาได้ซับซ้อน ชวนติดตาม และเป็นมนุษย์ดีทีเดียว

สำหรับอู๊ด ก่อนที่บอสจะกลายมาเป็นเพื่อนรัก มันเป็นมิตรภาพที่เริ่มต้นจากความชัง (ส่วนตัวชอบตรงนี้ เพราะมันคือมนุษย์มากๆ) เพราะถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ชีวิตของอู๊ดไม่มีต้นทุนอะไรได้เท่าบอส ไม่ว่าจะฐานะ แพสชั่น และคนรัก อู๊ดมานิวยอร์กทำงานเสิร์ฟไปวันๆ เพียงเพื่อจะหนีให้พ้นจากชีวิตที่ติดกับอยู่กับความล้าหลังและลำบาก แถมยังไม่อาจประคองความรักที่ดีไว้ได้เลยสักครั้ง ต่างกันกับบอสที่เพียบพร้อมเหลือเกินในความคิดของเขา แต่กลับเลือกใช้ชีวิตให้ผ่านไปวันๆ อย่างกับคนกลวงเปล่า

ในวันที่อู๊ดเดินทางใกล้ถึงวันสุดท้ายของชีวิต agenda ที่ซุกซ่อนอยู่ในภารกิจกลับไปหาแฟนเก่าส์ของเขา เรามองว่ามันไม่ใช่การได้สารภาพผิดกับเพื่อนรักเพื่อให้ตัวเองพ้นความรู้สึกผิด แต่มันคือการที่อู๊ดตั้งใจเฉลยให้เห็นว่า ที่จริงแล้วบอสมีคนที่รักเขาอยู่ ทั้งแม่และพริม เพื่อบอกเป็นนัยๆ ให้เพื่อนของเขาที่ยังมีวันและเวลาเหลือในชีวิต ได้กลับไปใช้ชีวิตในแต่ละวันให้สมกับที่ได้มีชีวิตต่อไปเถิด

ไม่ว่าซีนสุดท้ายที่บอสกลับมาเจอกับพริม จะเป็นภาพที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง หรือเป็นแค่ภาพความปรารถนาของอู๊ดก่อนตาย เท่านี้เขาก็คงอิ่มเอมใจแล้ว


เมื่อดู One For The Road จบ อู๊ดคือตัวละครที่เชื่อมโยงกับเรามากที่สุด ทำให้เรานึกถึงวันธรรมดาวันหนึ่งที่ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า หากเราได้รับโอกาสอันไม่น่าอภิรมย์ที่ได้รู้ล่วงหน้าว่าจะเดินทางไปถึงวันสุดท้ายชีวิตเมื่อไหร่ เราก็อาจจะลืมความทุกข์ในปัจจุบันไปเสียสิ้น แล้วอาจจะเลือกทำอะไรบางอย่างที่ไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลในความคิดคนอื่นแบบที่อู๊ดทำก็ได้

เพราะเราคือมนุษย์ เราจึงเคยทำผิดพลาดกับใครบางคนไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ และหนึ่งในสิ่งที่เราอยากทำในวันสุดท้าย อาจเป็นการทำอะไรโง่ๆ เช่นการขอโทษผู้คนเหล่านั้น แม้จะต้องแลกมากับการได้รู้ว่าจะไม่มีใครอภัยกับสิ่งที่เราทำลงไปก็ตาม

“ขอบคุณนะอู๊ด และขอให้โชคดีกับการเดินทาง”

เขียนโดย สลิลา

https://www.facebook.com/MyOwnPrivateFilm/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่