วัคซีนไขว้ในกลุ่มอายุ 5-11 ปี ยังไม่มีการศึกษาระยะที่ 1 & 2 ออกมารองรับ แม้แต่การศึกษาเดียวในโลกใบนี้ ❗️

คุณหมออาจารย์โรงเรียนแพทย์ชี้ 👉 ปัจจุบันการใช้วัคซีนสูตรไขว้ในกลุ่มอายุ 5-11 ปีนั้น ยังไม่มีการศึกษาในระยะที่ 1 และ 2 ออกมารองรับเลยแม้แต่การศึกษาเดียวในโลกใบนี้
 
ที่มา : https://www.facebook.com/175994423041493/posts/995085881132339/?d=n

 

Evidence based medicine Vs Expert opinion.
 
การฉีดวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปี ในปัจจุบันมีแต่การให้วัคซีน Pfizer 2 เข็มเท่านั้นที่มีการศึกษาในระยะสามในขนาดการศึกษาสองสามพันรายที่พบว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก (90.7%) และมีความปลอดภัยสูงมากจากข้อมูลการฉีดไปแล้วมากกว่าแปดล้านโดสที่สหรัฐ ส่วนการให้วัคซีน Sinovac และ Sinopharm สองเข็ม ในปัจจุบันมีแต่ผลการศึกษาในระยะที่สองในการศึกษาขนาดเล็กหลักสามสี่ร้อยราย ที่เจาะระดับภูมิต้านทานหลังการฉีดวัคซีนสองเข็มออกมาว่ามีระดับของภูมิต้านทานต่ำกว่า Pfizer สองเข็มประมาณสิบเท่า แต่ยังไม่มีการศึกษาในระยะที่สามที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อตีพิมพ์ออกมาเลยในปัจจุบันแม้แต่เพียงการศึกษาเดียว
   
ส่วนการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ที่ให้ Sinovac หรือ Sinopharm  แล้วตามด้วย Pfizer แม้ว่าโดยหลักการน่าจะดีกว่าสูตร Sinovac หรือ Sinopharm 2 เข็ม และมีข้อมูลการเจาะระดับภูมิในผู้ใหญ่และเด็กโตว่าระดับของภูมิต้านทานขึ้นดีก็ตาม แต่ต้องมีสังเกตว่าในการศึกษาสูตรไขว้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโตนั้นใช้วัคซีน Pfizer ขนาด 30 mcg แต่ในวัคซีน Pfizer ในเด็ก 5-11 ปีนั้นใช้ขนาด 10 mcg เท่านั้น จึงไม่น่าจะเอาข้อมูลในเด็กโตหรือผู้ใหญ่มาใช้กับเด็กในกลุ่ม 5-11 ปี ได้โดยอนุโลม เนื่องจากเราก็มีตัวอย่างก่อนหน้านี้แล้วว่าวัคซีน Pfizer ในเด็กเล็กมาก (6 เดือนถึง 5 ปี) ที่ใช้วัคซีนขนาด 3 mcg สองเข็มนั้น พบว่ากระตุ้นภูมิต้านทานได้ไม่ดีมาแล้ว 
   
ในความเป็นจริงในปัจจุบัน การใช้วัคซีนสูตรไขว้ในกลุ่มอายุ 5-11 ปีนั้น จึงยังไม่มีการศึกษาแม้แต่ในระยะที่ 1 และ 2 ออกมารองรับเลยแม้แต่การศึกษาเดียวในโลกใบนี้
   
การที่จะพิจารณาให้วัคซีนชนิดใดกับประชาชน จึงควรจะมีข้อมูลการศึกษาในระยะที่สามรองรับก่อนเสมอถ้าเป็นไปได้ ส่วนการศึกษาวิจัยในระยะที่หนึ่ง สองและสามที่แตกต่างไปจากมาตราฐานคำแนะนำที่เป็นสากลในปัจจุบัน ก็มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการทางการแพทย์ แต่ควรทำในรูปแบบการศึกษาวิจัยตามมาตราฐานทางจริยธรรมในการทำวิจัย ให้กำหนดกลุ่มประชากรและขนาดการวิจัยที่ชัดเจน และที่สำคัญที่สุดต้องให้ประชาชนทราบว่าตนเองเองมาเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัย และรับรู้ข้อมูลและวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยและให้ความยินยอมหลังจากได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนเสมอ
     
เมื่อได้ผลการศึกษาในระยะที่สามออกมาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ที่มีการตรวจสอบทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว จึงค่อยนำมาเป็นข้อมูลที่จะใช้กับประชาชนอีกที ก็จะเป็นตัวอย่างการกำหนดนโยบายทางสาธารณสุขที่อ้างอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Evidence based medicine) มากกว่าการใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (Expert opinion) แบบในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีและได้รับการยอมรับจากบุคลากรทางแพทย์โดยทั่วไปได้มากที่สุดนะครับ
ปล.โดยส่วนตัวเข้าใจและเห็นใจในคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากอาจจะมีข้อจำกัดหลายๆอย่าง และถูกกำกับและควบคุมจากฝ่ายการเมืองนะครับ แต่ยังอยากมีความคาดหวังให้คำแนะนำจากองค์กรที่น่าจะเป็นตัวแทนทางด้านวิชาการของประเทศ และไม่ได้อยู่ในการกำกับและควบคุมจากทางการเมือง ให้คำแนะนำที่มีหลักฐานจากการศึกษาในระยะที่สามมารองรับให้มากกว่าในปัจจุบันนะครับ
    
ส่วนเหตุผลที่อธิบายไว้ว่า เป็นการให้ทางเลือกไว้ให้ผู้ปกครองที่ปฏิเสธวัคซีน mRNA ได้มีทางเลือกนั้น ทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง USA, Canada, AUS, NZ, Israel, etc. เขาใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากำหนดคำแนะนำให้กับประชาชน ให้ใช้แต่วัคซีนที่มีการศึกษาระยะที่สามรองรับกับเด็กในประเทศได้เท่านั้นนะครับ ถ้ากำหนดนโยบายและคำแนะนำที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ มันจะเป็นหลักให้แพทย์ได้ใช้คำแนะนำดังกล่าว อธิบายให้กับพ่อแม่และผู้ปกครองได้ง่ายขึ้นด้วยนะครับ 
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนโควิดในเด็ก 5-11 ปี
https://youtu.be/pjPuZW-Dpls

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่