JJNY : ติดเชื้อ8,640 เสียชีวิต13│ชาวนาสู้น้ำมัน-ปุ๋ยแพงไม่ไหว│ปชช.กุมขมับ20วัน น้ำมันขึ้น5ครั้ง│ราคาหวยปณ.ยังแพงลิ่ว

ยอดผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้ 8,640 ราย เสียชีวิต 13 ราย หายป่วย 8,641 ราย
https://www.matichon.co.th/covid19/covid19-alert/news_3142683
  
 
ยอดผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้ 8,640 ราย เสียชีวิต 13 ราย หายป่วย 8,641 ราย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2565 วันนี้พบ ผู้ติดเชื้อ รวม 8,640 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 8,445 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 195 ราย ผู้ป่วยสะสม 138,267 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
 
หายป่วยกลับบ้าน 8,641 ราย หายป่วยสะสม 88,488 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 82,720 ราย
 
เสียชีวิต 13 ราย
 

 
ชาวนาสู้น้ำมัน-ปุ๋ยแพงไม่ไหว สวนทางราคาข้าว จำต้องปล่อยที่นารกร้าง
https://ch3plus.com/news/economy
 
ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง กระทบกับชาวนาเต็มๆ ทำต้นทุนทำนาพุ่ง สวนทางราคาข้าวที่ถูกแสนถูก สู้ต่อไม่ไหว ต้องปล่อยที่นารกร้าง
 
นาข้าว ในอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่วันนี้ถูกทิ้งร้าง หลังจากชาวนาที่นี่ ตัดสินใจเลิกทำนา เพราะขายข้าวได้ไม่คุ้มทุน จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซ้ำเติมด้วยต้นทุนการผลิต ทั้งปุ๋ย ยากำจัดแมลง ที่แพงขึ้นมาก ล่าสุดน้ำมันดีเซล ที่ใช้ใส่เครื่องทำนา ก็ขยับขึ้นต่อเนื่อง แตะลิตรละ 30 บาทแล้ว
นางสาว กรวลัย บุญวงษ์ สภาเกษตรกรวังน้อยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บอกว่า วันนี้ชาวนากำลังเดือดร้อนหนัก จากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น แตะระดับลิตรละ 30 บาท ประกอบกับราคาปุ๋ย จากเดิมกระสอบละ 500-700 บาท วันนี้ราคาพุ่งขึ้นไปอยู่ที่กระสอบละ 900-1,200 บาทแล้ว
 
นอกจากนี้ ค่ายากำจัดศัตรูพืช รวมถึงเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็แพงขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้นทุนการทำนา ขยับขึ้นจาก 5,200-7,000 บาท เป็น 9,000-10,000 บาทต่อไร่แล้ว สวนทางกับราคาข้าว ยังอยู่ที่ตันละ 6,000-6,500 บาท เท่านั้น บวก/ลบแล้ว ขาดทุนย่อยยับ และยังต้องมาถูกซ้ำเติมจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นเกือบทุกรายการ
 
สิ่งที่ชาวนาต้องการ คือ ให้รัฐบาลเข้าควบคุมราคาสินค้าทุน ทำการเกษตรให้ถูกลงกว่านี้ หรือ ไม่ก็ขยับราคาประกันจาก 10,000 บาท เป็น 15,000 บาทต่อตัน เพื่อให้ชาวนาอยู่ได้
 
ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/M35UPAlrWy8  
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
 

  
ปชช.กุมขมับ 20 วัน น้ำมันขึ้น 5 ครั้ง ถึงเวลาลดภาษี พยุงราคาไม่เกิน 30 บาท/ลิตร
https://ch3plus.com/news/category/275419
 
ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งไม่หยุด แตะระดับ 88 เหรียญต่อบาเรลแล้ว ส่งผลราคาในประเทศ ไม่ถึง 1 เดือน ขึ้นมา 5 ครั้งแล้ว
 
ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเรา ตั้งแต่ต้นปี ผ่านมา 20 วัน ปรับขึ้นไปแล้วถึง 5 ครั้ง  ครั้งแรก วันที่ 5 ตามมาด้วยวันที่ 8 / 11 / 14 และวันนี้ 20 มกราคม ปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 5  รวมแล้ว แก๊สโซฮอล์ 95 ขึ้นมาแล้ว 2 บาท ส่วนดีเซลบี 7 ขึ้นมาแล้ว 1.50 บาท และมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก
 
จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังพุ่งไม่หยุด  วันนี้ เวสต์เท็กซัส ปรับขึ้นอีก 1.53 ดอลลาร์ หรือ 1.76% อยู่ที่ 86.96 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนเบรนท์ อยู่ที่ 88.44 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับขึ้น 0.93 ดอลลาร์ หรือ 1.05% หลังตลาดกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่ตึงตัว จากเหตุระเบิดท่อส่งน้ำมันจากอิรักไปยังตุรกี
ขณะที่นักวิเคราะห์ OPEC ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากการฟื้นคืนของอุปสงค์หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโอมิครอน
 
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งกระทรวงพลังงาน จับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการราคาขายปลีกในประเทศ พร้อมยืนยันว่า จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาดูแล เฉลี่ยเดือนละ 3-4 พันล้านบาท เพื่อไม่ให้ไปซ้ำเติมต้นทุนราคาสินค้า ค่าขนส่ง และค่าครองชีพประชาชน
 
ทั้งนี้มีรายงานว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางเพื่อปรับลดราคาน้ำมัน โดยแนวทางที่ 1 ปรับสูตรเหลือบี 5 หลังราคาไบโอดีเซล ทะลุ 56 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนราคาดีเซลถึงลิตรละ 2-3 บาท และแนวทางที่ 2 คือ ลดภาษีน้ำมันดีเซล จากที่เก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตรลง
ซึ่งสอดคล้องกับ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ระบุว่า ถึงเวลาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงลิตรละ 2-3 บาท เพื่อพยุงราคาน้ำมัน เพราะหากมองไปที่กองทุนน้ำมัน เงินกู้เหลือจำกัด เพราะกู้มาเต็มเพดานแล้ว
 
อาจารย์พรายพล ยังประเมินว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในขาขึ้น และมีโอกาสพุ่งแตะระดับ 100 เหรียญ ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์ความตึงตัวของอุปทานยังไม่คลี่คลาย
 
ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/9VVVVJQmYwc  

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่