CODA - แม่มีความสุขมากที่ลูกได้รู้จักตัวเอง (Spoil)

แม้ว่าพล็อตเรื่องของ CODA ดูจะแฝงประเด็นที่จริงจังมากๆโดยเฉพาะในเรื่องความไม่สมบูรณ์ของร่างกายมนุษย์ แต่ในตัวอย่างหนัง กลับทำให้เรารู้สึกว่า นี่อาจจะเป็นแค่หนังวัยรุ่นทั่วๆไป ที่แค่มีประเด็นครอบครัวแทรกเข้ามา หนังน่าจะดูสนุกและเอาใจคนชอบดูหนังในวงกว้างได้ แต่ขณะเดียวกัน เรากลับไม่แน่ใจในประเด็นจริงจังที่หนังจะสื่อสาร ว่าจะมีหรือไม่ และถ้ามี จะทำมันออกมาได้ดีแค่ไหน
 
แต่พอดูจบ เราบอกได้เลยว่าเราชอบหนังเรื่องนี้มาก หนังไม่ได้แค่ดูสนุกเพียงอย่างเดียว แต่กลับเต็มไปด้วยประเด็นจริงจัง ที่พูดออกมาอย่างทีเล่นทีจริงบ้าง แต่ในจังหวะสำคัญๆ หนังเล่ามันได้จริงจังเอามากๆ และนี่คือหนัง Coming of Age ดีๆเรื่องหนึ่งในปีนี้เลย

CODA ผลงานของผู้กำกับหญิง วัย 44 ปี Sian Heder เราไม่เคยชมผลงานของเธอมาก่อนเลย นี่เป็นงานแรกที่เรารู้จักเธอ เราคิดว่าผลงานของเธอมีความน่าสนใจมาก เพราะ CODA เป็นผลงานที่ค่อนข้างดูง่ายมาก แต่กลับมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในรายละเอียด และเรารู้สึกว่าเธอค่อนข้างใส่ใจรายละเอียดของคนหูหนวก และที่สำคัญตัวละครหลักที่หูหนวกในหนังเรื่องนี้ เป็นนักแสดงที่หูหนวกจริงๆ ดังนั้นการกำกับคงไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนประโยคที่ตัวละครแม่ในเรื่องนี้พูดกับลูกสาว ว่า "I was worried that we wouldn't connect" ซึ่งเราเข้าใจว่าคนหูหนวกกับคนที่ได้ยินเสียง มันคงมีบางอย่างที่กั้นเอาไว้ โดยไม่อาจเชื่อมต่อกันได้อย่าง 100% แต่เราดูหนังเรื่องนี้แล้ว เราเชื่อว่า ผู้กำกับกับนักแสดงพวกเขา connect กันได้อย่างไร้รอยต่อ จนมันพาให้หนังสามารถไปถึงในจุดที่ต้องการได้จริงๆ ซึ่งต้องให้เครดิตผู้กำกับว่าเธอทำมันออกมาได้ดีมากๆ

กลุ่มนักแสดงหลักเรื่องนี้ ทำได้ดีทุกคน โดยเฉพาะ 4 ตัวละครหลักในครอบครัว เราชอบการแสดงของ Daniel Durant เป็นพิเศษ มิติของบทพี่ชาย มันค่อนข้างซับซ้อน และเขาสื่อสารได้ดีมากในซีนริมทะเลที่โกรธ Ruby ว่าทำไมเธอจะเลือกไม่ไปสอบชิงทุน เขารู้สึกว่าเขาสามารถดูแลครอบครัวได้ เขาแสดงออกได้จนเราเชื่อว่าเขารู้สึกแบบนั้นจริงๆ
 
ดนตรีและเพลงประกอบ ทำได้ยอดเยี่ยมสมกับที่เป็นหนังที่เกี่ยวกับการร้องเพลงจริงๆ เราชอบเพลง Both Sides Now ที่ Ruby ร้องตอนออดิชั่นเข้า Berklee มากๆ เราชอบเนื้อร้องในตอนท้ายของเพลง

"I've looked at life from both sides now 
From up and down and still somehow
It's life's illusions I recall
I really don't know life at all"

ซีนที่ประทับใจอย่างเด็ดขาด คือ ซีนงานร้องเพลงที่พ่อแม่และพี่ชาย ไปชมการแสดงร้องเพลง ของ Ruby แล้วช่วงเพลงที่ร้องคู่กับ Miles อยู่ๆเพลงก็เงียบไป เราเข้าไปถึงความรู้สึกของตัวละคร พ่อแม่และพี่ชายได้ทันที นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถามมาตลอดทั้งเรื่อง ว่าถ้าเราเป็นพวกเขา เราจะรู้สึกยังไง ซึ่งซีนนี้มอบสิ่งนั้นให้เราอย่างชัดเจน เรารู้แล้ว่าพวกเรารู้สึกยังไง
 
อีกซีน คือซีนที่ Ruby ไปสอบออดิชั่นที่ Berklee ช่วงท่อนที่ Ruby เริ่มใช้ภาษามือพร้อมกับร้องเพลงไปด้วย มันหมดจดจริงๆ นี่ไงที่อาจารย์เคยถามว่า "เธอมีเรื่องที่จะเล่าไหม" ถึงซีนนี้จะน้ำเน่ามาก ซึ่งปกติเราจะไม่ชอบเลย แต่ซีนนี้ก็ขอยอมรับไปเลยว่าเราชอบซีนน้ำเน่าซีนนี้มากๆ

หนังสร้างความย้อนแย้งอย่างโจ่งแจ้งในประเด็นที่ตัวละครลูกสาว Ruby Rossi ซึ่งโตมาในครอบครัวคนหูหนวก แต่เธอกลับชื่นชอบในการร้องเพลง ซึ่งมันย้อนแย้งมากๆ เพราะนี่เป็นสิ่งที่คนในครอบครัวของเธอจะไม่มีทางเข้าใจเธอได้ เธอชอบร้องเพลง แต่ในขณะที่ครอบครัวของเธอไม่มีใครเคยได้ยินเสียงเพลงเลย ซึ่งมันก็มีความเจ็บปวดอยู่ลึกๆเช่นกัน มีซีนหนึ่งที่แม่ถึงกับถาม Ruby ว่า "ถ้าแม่เป็นคนตาบอด Ruby ก็จะเลือกเป็นศิลปินวาดรูปไหม" ฟังแล้วเราถึงกับจุกในลำคอเลย มันเป็นคำถามสำคัญนะ ว่าเรายังควรจะยืนยันไปต่อในสิ่งที่เราชอบไหม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ครอบครัวของเราอาจจะไม่มีทางเข้าใจมันได้เลย

"หนูไม่เคยทำอะไรตามลำพังโดยไม่มีครอบครัวอยู่ด้วยมาก่อนเลย"
นี่คือคำพูดของ Ruby ที่พูดกับอาจารย์ Bernardo ไม่แปลกที่ตัวละครอย่าง Ruby จะไม่กล้าร้องเพลง Happy Birthday ต่อหน้าเพื่อนๆ เพราะแทบจะตลอดทั้งชีวิต เธอต้องใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมาตลอด เพราะเธอมีหน้าที่สำคัญที่ต้องคอยช่วยสื่อสารทุกเรื่องให้คนในครอบครัว มันจึงบ่งบอกว่าตัวเธอเอง ก็ไม่เคยได้ใช้ชีวิตในแบบที่เธออาจจะต้องการด้วยซ้ำไป และเธออาจจะแทบไม่รู้เลยว่าชีวิตที่เธอต้องการ เป็นอย่างไร

หนังเล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของ Ruby นักเรียน ม.ปลาย ที่ต้องตัดสินใจอนาคตของตัวเองว่าจะดำเนินไปในทิศทางไหน ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงสำคัญของครอบครัว ที่ต้องประสบปัญหาในการประกอบอาชีพการจับปลาเพื่อหาเลี้ยงชีพเช่นกัน

"ขาดลูกไปเราจะทำยังไง"
"หนูอยู่กับพ่อแม่ไปตลอดชีวิตไม่ได้หรอกนะ"
ซีนที่ Ruby ระเบิดอารมณ์ใส่พ่อและแม่ มันค่อนข้างสะเทือนใจเรามากเลย เราไม่รู้จะเข้าข้างฝ่ายไหนดี ครอบครัวต้องการ Ruby มาช่วยในการดำเนินอาชีพจับปลาต่อไป ส่วน Ruby เอง ก็ถึงเวลาที่ต้องเลือกเดินตามสิ่งที่ตัวเองชอบนั่นคือการร้องเพลง เราเข้าใจทั้งสองฝ่ายอย่างสุดซึ้ง นี่คือชีวิตจริงที่พวกเราต้องเจอตลอด เราไม่สามารถเลือกทุกอย่างในชีวิตได้ ตอนนี้เราได้แต่นั่งนิ่ง เป็นคนนอกที่เฝ้าดูเรื่องราวของพวกเขาต่อไป

ขณะที่พ่อแม่ไม่อยากให้ Ruby ไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยด้านการร้องเพลง อยากให้อยู่ช่วยครอบครัวในการออกจับปลามากกว่า แต่พี่ชายอย่าง Leo กลับไม่เห็นด้วย ประเด็นนี้เราเข้าใจ Leo อย่างมาก ตัวเขารู้สึกว่า เขาสามารถดูแลครอบครัวและช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ได้ต้องการให้ Ruby ต้องมาคอยดูแลตลอดไป มันเป็นมิติสำคัญของลูกชายคนโต เราเข้าใจความรู้สึกของเขา การอยากให้ Ruby ได้ไปทำตามสิ่งที่เธอรักก็เรื่องหนึ่ง แต่ลึกๆคือเขาอยากเป็นคนที่ดูแลครอบครัวในฐานะลูกชายคนโตของบ้าน เรารู้สึกว่าเขาแบกความกดดันนี้อยู่ลึกๆ เขาเชื่อว่าเขาดูแลครอบครัวได้ ในมุมที่เรามองว่า ต้องมีคนที่ช่วยเหลือพวกเขา แต่พวกเขาเองกลับมองว่า พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แบบคนทั่วๆไป "พวกเขาเท่าเทียม" เรารู้สึกแบบนั้น

ซีนที่ Leo ไปดื่มกับเพื่อน โดยไม่มี Ruby ไปด้วย ค่อนข้างกระทบความรู้สึกเรามากๆ มันตอกย้ำ 2 ประเด็นสำคัญ คือคนหูหนวก ยังไงๆก็ยังมีช่องว่างกับสังคมอยู่ดี นี่คือความเป็นจริงในสังคม พวกเขายังไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้จริงๆ ซีนบนโต๊ะที่นั่งดื่มกันด้วยความสนุกสนาน แต่ Leo กลับไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาคุยกัน เกิดความรู้สึกแปลกแยกขึ้นมา รวมไปถึงการระเบิดอารมณ์จนไปมีเรื่องชกต่อยขึ้นมา อีกประเด็นที่ชัดเจนมาก คือครอบครัวยังไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปราศจาก Ruby ได้ Ruby คือส่วนสำคัญมากๆของครอบครัวนี้ เธอแทบเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ขาดเธอไปแค่บางช่วงเวลา ก็อาจกลายเป็นเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้ง่ายๆเลย

หลังจากมีปากเสียงกันในเรื่องที่ Ruby ขอไปสอบทุนเรียนต่อด้านการร้องเพลงที่ Berklee แม่ก็เข้าไปพูดคุยกับ Ruby ในห้องนอน ซึ่งซีนนี้มันจริงใจมาก (เราเกิดความรู้สึกเหมือนในซีนหนังเรื่อง Lady Bird ที่แม่คุยกับลูกในซีนที่คุยกันในห้องลองเสื้อเลย) 
"แม่เคยอยากให้หนูเกิดมาเป็นคนหูหนวกไหม" Ruby ถาม
"ตอนหนูเกิดน่ะ ที่โรงพยาบาลได้ทำการทดสอบการได้ยินของหนู หนูยังตัวเล็กๆน่ารักและตัวเต็มไปด้วยสายไฟฟ้าทั่วทั้งตัว และแม่ภาวนาให้หนูเป็นคนหูหนวกเหมือนแม่ แต่เมื่อพวกเขาบอกแม่ว่า หนูได้ยินเสียงเหมือนคนทั่วไป แม่รู้สึกว่า หัวใจแม่จะแหลกสลาย" แม่สื่อสารผ่านภาษามือ
"อ้าว ทำไมละ" Ruby สงสัย
"แม่กังวลว่า แม่จะเชื่อมต่อกับหนูไม่ติด เหมือนแม่กับยาย เราไม่สนิทกันเลย แม่คิดว่าแม่อาจจะทำให้หนูรู้สึกผิดหวังในตัวแม่ได้ การเป็นคนหูหนวกอาจะทำให้แม่เป็นแม่ที่แย่ได้" แม่อธิบาย
"แม่ไม่ต้องกังวลหรอก แม่เป็นแม่ที่แย่ ด้วยเหตุจากเรื่องอื่นๆอีกเยอะแยะเลย" Ruby หยอกกลับไป

เรารู้สึกว่าพวกเขาทั้ง 4 คนในครอบครัว เชื่อมต่อกันได้อย่างแนบสนิทจริงๆ แม้ว่า Ruby จะหูไม่หนวกก็ตาม เราคิดว่าประเด็นหูหนวกคงเป็นเรื่องเล็กมาก เมื่อเทียบกับความเป็นครอบครัวที่พวกเขามีต่อกัน เราเชื่อลึกๆว่า แม้ว่า Ruby จะโดนเพื่อน Bully ในประเด็นครอบครัวของเธอ แต่เธอไม่ได้รู้สึกแย่กับครอบครัวเธอเอง เราเชื่อว่าเธอ Connect กับครอบครัวของเธอได้มากกว่าคนอื่นๆที่พูดคุยปกติได้ แม้ว่าจะไม่ได้พูดคุยกันด้วยเสียงพูดก็ตาม ภาษามือก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาสื่อสารกันได้ แต่เราเชื่อว่าพวกเขาสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้ผ่านทางความรู้สึกสีหน้าแววตาและความรู้สึกระหว่างกัน Ruby น่าจะเข้าใจครอบครัวขอเธอมากกว่า คนอื่นๆที่พูดคุยกับเธอด้วยเสียงพูดด้วยซ้ำไป

"เพลงที่หนูร้องคืนนี้ มันเกี่ยวกับอะไรเหรอ" พ่อถามผ่านภาษามือ
"มันเกี่ยวกับ อืมมม...อะไรทำให้เราถึงต้องการใครสักคนหนึ่ง" Ruby ตอบ
"ลูกร้องให้พ่อฟังหน่อยได้ไหม" พ่อขอ

Ruby ได้ร้องเพลงให้พ่อฟัง เราเชื่อว่าพ่อรับรู้ความรู้สึกของเพลงนี้ได้ แม้จะไม่ได้ยินเสียงใดๆเลยก็ตาม

ในการออดิชั่นสอบเข้าที่ Berklee นั้น Ruby เลือกใช้เพลง Both Sides Now ของ Joni Mitchell ในการสอบ พอเธอร้องเพลงไปได้ช่วงหนึ่ง ก็เหลือบมองไปเห็นครอบครัวของเธอแอบเข้ามานั่งให้กำลังใจ เธอจึงเริ่มร้องเพลงโดยใช้ภาษามือสื่อสารเนื้อร้องไปด้วย เราถึงกลับรู้สึกว่า ตอนเธอใช้ภาษามือไปด้วยนั้น เธอกลับสื่อสารเพลงได้ดีกว่าตอนยืนร้องเฉยๆด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่า เธอผ่อนคลายและสบาย เมื่อได้สื่อสารด้วยภาษามือ ตอนนั้นเรากลับรู้สึกว่า ภาษามือคือเนื้อเพลงหลัก ส่วนเสียงร้องคือส่วนรองของการร้องเพลงในครั้งนี้ เรารู้สึกถึงการสื่อสารที่ทรงพลังมากๆ เราไม่เข้าใจภาษามือเลย ด้วยซ้ำนะ แต่ไม่รู้ทำไม Ruby ถึงสื่อสารได้ทรงพลังเช่นนี้ อาจจะเพราะเธอมีครอบครัวอยู่ด้วยมั้ง นี่แหละที่เรารู้สึกถึงคำว่า "เชื่อมต่อ" คนเราไม่ได้เชื่อมต่อกันด้วยเสียงพูดแค่ทางเดียวจริงๆแหละ
ตอนท้ายเรื่อง Ruby สอบชิงทุนเข้า Berklee ผ่าน ซีนท้ายเรื่องตอนที่ Ruby ต้องรำลาครอบครัว มันอบอุ่นมากๆ เรารับรู้ความรู้สึกของพวกเขาได้ Ruby วิ่งมากอดครอบครัวของเธอ จนพ่อต้องพูดกับเธอว่า "Go" เราไม่รู้ว่าพ่อเคยฝึกออกเสียงคำพูดไหนมาบ้าง แต่คำว่า "Go" ที่พ่อออกเสียง มันชัดเจนมาก มันคงเป็นไม่กี่ครั้งที่พ่อจะยอมฝึกและพยายามเปล่งเสียงออกมา ครั้งนี้พ่อคงตั้งใจมากๆ เพื่อที่จะบอกกับ Ruby ว่า "ไป" ตามความฝันตัวเองเถอะลูก พวกเราดูแลตัวเองได้

ซีนที่แม่เข้ามาคุยกับ Ruby ในห้องนอน แม่ได้บอกกับ Ruby ว่า "แม่มีความสุขมากที่ลูกได้รู้จักตัวเอง" นี่คงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับครอบครัวที่ไม่ได้เหมือนคนทั่วไป ทั้งชีวิต Ruby ต้องช่วยเหลือครอบครัวในทุกเรื่อง ต้องใช้ชีวิตกับครอบครัวตลอด จนอาจจะไม่มีทางจะได้ใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ในตอนท้าย Ruby ได้เรียนรู้ เติบโต และเข้าใจตัวเองเธอไม่ได้ปฏิเสธครอบครัวของเธอ เธอไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่เธอเป็น เธอสามารถรู้จักตัวเองได้โดยมีครอบครัวอยู่เคียงข้างตลอดมา

"แม่มีความสุขมากที่ลูกได้รู้จักตัวเอง"

https://www.facebook.com/MyOwnPrivateFilm/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่