ขอบคุณ ภาพจาก
https://www.clipmass.com/story/124413 ครับผม
....หนึ่งสลึง....( เรื่องของป้อง )....
........
ป้องจำเรื่องราวของตัวเองได้บางส่วนเมื่ออายุเลยหกขวบมาแล้ว ก่อนหน้านั้นป้องไม่รู้ว่าพ่อแม่ป้องคือใครหรืออยู่ที่ไหน เพราะทุกเช้าตื่นขึ้นมาก็จะเจอแค่ปู่กับย่าเท่านั้น จนมาตอนหลังป้องจึงรู้ว่า พ่อของป้องเป็นทหาร และต้องไปอยู่ชายแดนครั้งละหลาย ๆ เดือน พอกลับมาบ้านครั้งหนึ่ง อยู่ได้ไม่กี่วันก็กลับไปใหม่ ภาพพ่อแต่งชุดทหารสะพายถุงทะเลใบใหญ่เดินออกบ้าน จึงเริ่มเป็นภาพที่คุ้นตา ส่วนแม่นั้นไป ๆ มา ๆ ไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อถึงแม้เวลาพ่อกลับมาบ้านก็ตาม ซึ่งในปีถัดมา เขาทั้งสองก็แยกทางกัน
เมื่อปี พ.ศ. 2515 ปู่กับย่าของป้องอาศัยอยู่ในเรือ ที่เรียกว่า “เรือกระแซง” เรือนี้มีท้องเรือโค้งกลมคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง และมีหลังคาคลุม ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยแทนบ้าน แต่เวลามีใครถามว่าป้องอยู่ไหน แล้วป้องตอบว่า “อยู่เรือหน้าวัด” คนถามจะเข้าใจทันที
เรือของป้องจอดอยู่หน้าวัดใหญ่ริมแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับประตูวัดด้านริมแม่น้ำทางทิศเหนือ โดยปักหลักไม้ไว้บนตลิ่งทั้งด้านหัวเรือและด้านท้ายเรือ แล้วโยงเชือกเส้นใหญ่ ๆ ที่เรียกว่า “เชือกพวน” ระหว่างหลักบนตลิ่งกับเรือ กันเรือลอยไปตามน้ำ ซึ่งเรือแต่ละลำที่จอดอยู่ในแม่น้ำก็ทำแบบนี้เหมือน ๆ กัน
ในแม่น้ำจะมีเรือใหญ่แบบของปู่ป้องเพียงไม่กี่ลำ ที่อยู่อาศัยนอกนั้นส่วนใหญ่เป็นเรือนแพ จอดเรียงอยู่สองฝั่งน้ำหลายสิบหลัง ทุกหลังมีหลังคามุงด้วยสังกะสีเห็นเป็นสีน้ำตาลเข้ม ยาวไปสุดแนว ลอยตัวอยู่บนทุ่นซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ลำใหญ่ มัดรวมกันประมาณมัดละห้าสิบลำ อาจมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับขนาดไม้ว่าลำใหญ่เล็กแค่ไหน เมื่อมัดแน่นหนาดีแล้วก็นำไปวางรองรับตามยาวสองด้าน ริมซ้ายและขวาของตัวบ้าน ด้านละมัด เว้นช่องกลางไว้เพื่อลดแรงต้านของน้ำ ซึ่งถ้าเป็นหน้าฝน กระแสน้ำในแม่น้ำจะไหลแรงกว่าหน้าร้อนพอสมควร
ฝาเรือนส่วนใหญ่เป็นไม้ฝาแผ่นบาง ๆ สีแดงมั่ง สีโอ๊คมั่ง นานไปก็จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเหมือนกัน เนื่องจากกรำแดด กรำฝนมาเป็นแรมปี ริมตลิ่งของแพแต่ละหลังจะปลูกพืชผักต่าง ๆ ไว้หลายชนิด ส่วนมากเอาไว้กินเอง ชายน้ำริมตลิ่งจะมีลำไม้ไผ่ผูกเป็นแพเล็ก ๆ กว้างสักสองศอกลอยอยู่ บนนั้นจะมีสะระแหน่ ผักกระเฉด ผักบุ้ง ทอดยอดกระจายอยู่รอบแพ เมื่อยืนอยู่ริมตลิ่งแล้วมองลงไป จะเห็นพืชผักสีเขียว กระด้งตากปลาเกลือ และวิถีชีวิตชาวแพ ยาวตลอดแนวฝั่งแม่น้ำมองแล้วเพลินตา
ป้องตกน้ำบ่อยมาก แทบจะวันเว้นวัน เพราะเวลาจะไปท้ายเรือ ป้องไม่กล้าเดินผ่านเข้าไปกลางเรือ ป้องกลัวผี ถึงแม้จะเป็นตอนกลางวัน แดดข้างนอกแจ้งจนแสบตา แต่ในเรือจะมืดสนิทเหมือนกับกลางคืน ป้องจึงเดินเลาะกราบเรือไป และพลาดตกน้ำหลายที แต่พอป้องจมลงไปทุกครั้ง ก็จะไปโผล่ขึ้นพ้นน้ำตรงใกล้ ๆ แพหลังถัดไป ไม่หลังที่สองก็หลังที่สาม ซึ่งคนในแพแต่ละหลังจะออกมารออยู่แล้ว ตามเสียงตะโกนโวยวายของย่า ว่าป้องตกน้ำ และช่วยดึงป้องขึ้นมา ทำให้ป้องรอดตายหลายครั้ง จนปู่ต้องบังคับให้ป้องหัดว่ายน้ำให้เป็นให้ได้ เพราะก่อนหน้านั้นป้องหลบไปหลบมาอยู่หลายที
ป้องเป็นลูกแม่น้ำตามคำเรียกของใครหลาย ๆ คน แต่ป้องกลับกลัวน้ำ กลัวเสียงที่ก้องไปมาใต้น้ำเวลาดำลงไป ตอนอาบน้ำป้องจะยืนอยู่ข้างย่าตรงที่น้ำสูงแค่อก และเวลานั่งลงไปให้น้ำท่วมหัวเพื่อสระผมและล้างฝุ่นผงออก เสียงก้องอยู่ใต้น้ำจะทำให้ป้องรีบทะลึ่งตัวขึ้นมาพร้อมกับขึ้นจากน้ำทันที
ย่าหัวเราะแล้วบอกว่า เสียง
“โอก โอก โอก” ถี่ ๆ นั้นคือเสียงของปลากด ส่วนเสียง “
อึ่งงงงงง อึ่งงงงงง” ยาว ๆ นั้นคือเสียงปลาลิ้นหมา และอีกเสียงหนึ่งที่ทำให้ป้องไม่กล้าลงน้ำในตอนกลางคืนอย่างเด็ดขาด ก็คือเสียง “ตูม” แรง ๆ คล้ายคนกระโดดลงในน้ำ ย่าบอกว่านั่นเป็นเสียงปลาค้าวขึ้นมาฮุบเหยื่อบนผิวน้ำนั่นเอง ไม่ใช่คน คนที่ไหนจะมาโดดน้ำเล่นกลางค่ำกลางคืน แต่ไม่ว่าเหตุผลของย่าจะเป็นยังไง ป้องก็ยังกลัวน้ำอยู่ดี แต่ต้องฝืนใจหัดว่ายน้ำตามคำสั่งของปู่ เพราะไม้เรียวของปู่ น่ากลัวกว่าเสียงปลา
การหัดว่ายน้ำของป้องนั้นทำได้ง่าย ๆ ปู่ใช้มะพร้าวแห้งลูกใหญ่ ๆ ทั้งเปลือกสองลูก ดึงเปลือกมะพร้าวแต่ละลูกให้ออกมาเป็นเส้นเท่าสองนิ้วมือของคนโตโดยไม่ให้หลุดออกจากลูกมะพร้าวทั้งสองใบ ก่อนผูกเข้าไว้ด้วยกันให้แน่นแล้วพาดไว้ตรงหน้าอก จากนั้นก็ลงไปในน้ำใช้มือพุ้ยน้ำให้ตัวพุ่งไปข้างหน้า ส่วนเท้าก็ยกตีน้ำสลับกันไปมาโดยมีลูกมะพร้าวประคองตัวให้ลอยอยู่เหนือน้ำ ทำให้ไม่จมลงไป
ป้องว่ายวนอยู่ระหว่างริมตลิ่งกับเรือ ซึ่งเป็นเขตที่มีระดับน้ำลึกท่วมหัว และเริ่มสนุกกับการเล่นน้ำจนปู่ต้องเรียกให้ขึ้นหลายครั้งตรงข้ามกับก่อนหน้านี้ ที่ต้องบังคับให้ลง แต่ไม้เรียวยังคงเป็นไม้อันเดิม จึงทำให้ป้องต้องเลิกเล่นอย่างจำใจทั้งที่ปากและเล็บเขียวไปหมด ส่วนมือก็ซีดจนนิ้วมือเหี่ยวมองเห็นชัดทั้งสองมือ
ผ่านไปเป็นสิบวันป้องก็ยังว่ายน้ำไม่เป็น และจมลงทุกครั้งที่ว่ายตัวเปล่าโดยไม่มีลูกมะพร้าวเป็นทุ่นช่วยให้ลอยตัว กระทั่งปู่ที่ว่าดุ ๆ ยังอดนั่งยิ้มและส่ายหน้าไม่ได้ ทำให้ย่าซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ พลอยหัวเราะตามปู่ไป
เย็นวันหนึ่ง เสียงกลองในวัดดังมา ป้องนับได้สิบเจ็ดครั้งจึงรู้ว่าเป็นเวลาห้าโมงเย็น ป้องลงเล่นน้ำโดยมีลูกมะพร้าวคู่ พาดอยู่ตรงหน้าอกอย่างเคย และเริ่มรู้สึกหนาวเนื่องจากอยู่ในน้ำมานานพอควร เลยคิดในใจว่าจะว่ายไปแตะท้องเรืออีกหนึ่งครั้ง แล้วว่ายกลับเข้าฝั่งขึ้นเรือไปเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนที่ปู่จะถือไม้เรียวมาตาม คิดแล้วจึงใช้มือพุ้ยน้ำและตีเท้าถี่ ๆ มุ่งหน้าไปทางเรือซึ่งน้ำตรงนั้นถ้าลงไปยืนบนพื้นใต้น้ำต้องชูมือขึ้นสุดแขน มือจึงจะพ้นน้ำขึ้นมา
พอมือป้องแตะท้องเรืออย่างที่คิดไว้ เปลือกมะพร้าวที่ผูกติดกันมาหลายวันก็ขาดออกจากกันทันที และเด้งออกไปข้าง ๆ อย่างเร็ว เมื่อเป็นอิสระจากการถูกกดจมไปครึ่งใบใต้น้ำตลอดเวลา ป้องใจหายแวบเอื้อมมือคว้าลูกมะพร้าวที่ค่อย ๆ ลอยห่างออกไปแต่ก็ไม่ถึง มือที่ยื่นออกไปอย่างเร็วแล้วพลาดเป้าหมายฟาดลงน้ำดังตูม ทำให้เกิดคลื่นเล็ก ๆ พาลูกมะพร้าวลอยห่างไปกว่าเดิม และค่อย ๆ ไหลตามกระแสน้ำไกลออกไป
ป้องหันหน้ากลับไปทางตลิ่งพร้อมกับสะบัดเท้าขึ้นลงตีน้ำด้วยความตกใจ ส่วนมือสองข้างก็พุ้ยน้ำพาตัวไปข้างหน้าด้วยความเร็วพอกัน และเข้าถึงฝั่งอย่างไม่รู้ตัว ก่อนนั่งลงตรงชายน้ำหอบจนตัวโยน
ย่าหัวเราะจนตาแทบปิด พร้อมกับหันไปบอกปู่ว่าป้องว่ายน้ำเป็นแล้ว พลางบอกให้ป้องลองว่ายออกไปอีกครั้ง แต่ป้องยังไม่หายตกใจจึงนั่งอยู่อีกพักจนตัวหายสั่น จึงค่อย ๆ ก้าวลงน้ำจนลึกแค่อก แล้วโผไปมาตามแนวตลิ่งเพราะยังไม่กล้าและไม่มั่นใจ ที่จะพุ่งออกไปทางเรือ จนผ่านไปหลายรอบย่าจึงบอกให้ป้องว่ายไปหาเรือ ป้องคิดอยู่นิดหนึ่งก่อนค่อย ๆ ว่ายเข้าไปหาเรือช้า ๆ เมื่อมือแตะท้องเรือได้ ก็รีบว่ายกลับเข้าฝั่งทันที และเมื่อมั่นใจว่าไม่จมแน่ จึงว่ายกลับไปกลับมาอีกหลายรอบ จนปู่ต้องถือไม้เรียวมายืนมองตรงหัวเรือ ป้องจึงขึ้นจากน้ำด้วยความเสียดาย
หลังจากวันนั้น ปู่กับย่าก็ไม่ต้องกลัวป้องจมน้ำอีกต่อไป เมื่อป้องว่ายน้ำเป็นแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า ปู่ต้องคอยมาเรียกขึ้นจากน้ำอยู่บ่อย ๆ เมื่อป้องใช้เวลาเล่นน้ำครั้งหนึ่งเป็นชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่ปู่จะตามด้วยความเป็นห่วงว่าจะเป็นตะคริว เพราะน้ำบางเวลานั้นเย็นจัด ไม่ได้ดุว่าด้วยความโมโหจริงจังอะไร เพราะรู้อยู่ว่า ความสนุกของเด็กอย่างป้อง ถ้าไม่ลงเล่นน้ำ ก็ได้แค่วิ่งเล่นตามริมตลิ่งเท่านั้นเอง ....
( มีต่อครับ )
.....เรื่องสั้น........ เรื่อง.......หนึ่งสลึง.... ( เรื่องของป้อง ) ........@@ โดย ลุงแผน
....หนึ่งสลึง....( เรื่องของป้อง )....
........ป้องจำเรื่องราวของตัวเองได้บางส่วนเมื่ออายุเลยหกขวบมาแล้ว ก่อนหน้านั้นป้องไม่รู้ว่าพ่อแม่ป้องคือใครหรืออยู่ที่ไหน เพราะทุกเช้าตื่นขึ้นมาก็จะเจอแค่ปู่กับย่าเท่านั้น จนมาตอนหลังป้องจึงรู้ว่า พ่อของป้องเป็นทหาร และต้องไปอยู่ชายแดนครั้งละหลาย ๆ เดือน พอกลับมาบ้านครั้งหนึ่ง อยู่ได้ไม่กี่วันก็กลับไปใหม่ ภาพพ่อแต่งชุดทหารสะพายถุงทะเลใบใหญ่เดินออกบ้าน จึงเริ่มเป็นภาพที่คุ้นตา ส่วนแม่นั้นไป ๆ มา ๆ ไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อถึงแม้เวลาพ่อกลับมาบ้านก็ตาม ซึ่งในปีถัดมา เขาทั้งสองก็แยกทางกัน
เมื่อปี พ.ศ. 2515 ปู่กับย่าของป้องอาศัยอยู่ในเรือ ที่เรียกว่า “เรือกระแซง” เรือนี้มีท้องเรือโค้งกลมคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง และมีหลังคาคลุม ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยแทนบ้าน แต่เวลามีใครถามว่าป้องอยู่ไหน แล้วป้องตอบว่า “อยู่เรือหน้าวัด” คนถามจะเข้าใจทันที
เรือของป้องจอดอยู่หน้าวัดใหญ่ริมแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับประตูวัดด้านริมแม่น้ำทางทิศเหนือ โดยปักหลักไม้ไว้บนตลิ่งทั้งด้านหัวเรือและด้านท้ายเรือ แล้วโยงเชือกเส้นใหญ่ ๆ ที่เรียกว่า “เชือกพวน” ระหว่างหลักบนตลิ่งกับเรือ กันเรือลอยไปตามน้ำ ซึ่งเรือแต่ละลำที่จอดอยู่ในแม่น้ำก็ทำแบบนี้เหมือน ๆ กัน
ในแม่น้ำจะมีเรือใหญ่แบบของปู่ป้องเพียงไม่กี่ลำ ที่อยู่อาศัยนอกนั้นส่วนใหญ่เป็นเรือนแพ จอดเรียงอยู่สองฝั่งน้ำหลายสิบหลัง ทุกหลังมีหลังคามุงด้วยสังกะสีเห็นเป็นสีน้ำตาลเข้ม ยาวไปสุดแนว ลอยตัวอยู่บนทุ่นซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ลำใหญ่ มัดรวมกันประมาณมัดละห้าสิบลำ อาจมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับขนาดไม้ว่าลำใหญ่เล็กแค่ไหน เมื่อมัดแน่นหนาดีแล้วก็นำไปวางรองรับตามยาวสองด้าน ริมซ้ายและขวาของตัวบ้าน ด้านละมัด เว้นช่องกลางไว้เพื่อลดแรงต้านของน้ำ ซึ่งถ้าเป็นหน้าฝน กระแสน้ำในแม่น้ำจะไหลแรงกว่าหน้าร้อนพอสมควร
ฝาเรือนส่วนใหญ่เป็นไม้ฝาแผ่นบาง ๆ สีแดงมั่ง สีโอ๊คมั่ง นานไปก็จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเหมือนกัน เนื่องจากกรำแดด กรำฝนมาเป็นแรมปี ริมตลิ่งของแพแต่ละหลังจะปลูกพืชผักต่าง ๆ ไว้หลายชนิด ส่วนมากเอาไว้กินเอง ชายน้ำริมตลิ่งจะมีลำไม้ไผ่ผูกเป็นแพเล็ก ๆ กว้างสักสองศอกลอยอยู่ บนนั้นจะมีสะระแหน่ ผักกระเฉด ผักบุ้ง ทอดยอดกระจายอยู่รอบแพ เมื่อยืนอยู่ริมตลิ่งแล้วมองลงไป จะเห็นพืชผักสีเขียว กระด้งตากปลาเกลือ และวิถีชีวิตชาวแพ ยาวตลอดแนวฝั่งแม่น้ำมองแล้วเพลินตา
ป้องตกน้ำบ่อยมาก แทบจะวันเว้นวัน เพราะเวลาจะไปท้ายเรือ ป้องไม่กล้าเดินผ่านเข้าไปกลางเรือ ป้องกลัวผี ถึงแม้จะเป็นตอนกลางวัน แดดข้างนอกแจ้งจนแสบตา แต่ในเรือจะมืดสนิทเหมือนกับกลางคืน ป้องจึงเดินเลาะกราบเรือไป และพลาดตกน้ำหลายที แต่พอป้องจมลงไปทุกครั้ง ก็จะไปโผล่ขึ้นพ้นน้ำตรงใกล้ ๆ แพหลังถัดไป ไม่หลังที่สองก็หลังที่สาม ซึ่งคนในแพแต่ละหลังจะออกมารออยู่แล้ว ตามเสียงตะโกนโวยวายของย่า ว่าป้องตกน้ำ และช่วยดึงป้องขึ้นมา ทำให้ป้องรอดตายหลายครั้ง จนปู่ต้องบังคับให้ป้องหัดว่ายน้ำให้เป็นให้ได้ เพราะก่อนหน้านั้นป้องหลบไปหลบมาอยู่หลายที
ป้องเป็นลูกแม่น้ำตามคำเรียกของใครหลาย ๆ คน แต่ป้องกลับกลัวน้ำ กลัวเสียงที่ก้องไปมาใต้น้ำเวลาดำลงไป ตอนอาบน้ำป้องจะยืนอยู่ข้างย่าตรงที่น้ำสูงแค่อก และเวลานั่งลงไปให้น้ำท่วมหัวเพื่อสระผมและล้างฝุ่นผงออก เสียงก้องอยู่ใต้น้ำจะทำให้ป้องรีบทะลึ่งตัวขึ้นมาพร้อมกับขึ้นจากน้ำทันที
ย่าหัวเราะแล้วบอกว่า เสียง “โอก โอก โอก” ถี่ ๆ นั้นคือเสียงของปลากด ส่วนเสียง “อึ่งงงงงง อึ่งงงงงง” ยาว ๆ นั้นคือเสียงปลาลิ้นหมา และอีกเสียงหนึ่งที่ทำให้ป้องไม่กล้าลงน้ำในตอนกลางคืนอย่างเด็ดขาด ก็คือเสียง “ตูม” แรง ๆ คล้ายคนกระโดดลงในน้ำ ย่าบอกว่านั่นเป็นเสียงปลาค้าวขึ้นมาฮุบเหยื่อบนผิวน้ำนั่นเอง ไม่ใช่คน คนที่ไหนจะมาโดดน้ำเล่นกลางค่ำกลางคืน แต่ไม่ว่าเหตุผลของย่าจะเป็นยังไง ป้องก็ยังกลัวน้ำอยู่ดี แต่ต้องฝืนใจหัดว่ายน้ำตามคำสั่งของปู่ เพราะไม้เรียวของปู่ น่ากลัวกว่าเสียงปลา
การหัดว่ายน้ำของป้องนั้นทำได้ง่าย ๆ ปู่ใช้มะพร้าวแห้งลูกใหญ่ ๆ ทั้งเปลือกสองลูก ดึงเปลือกมะพร้าวแต่ละลูกให้ออกมาเป็นเส้นเท่าสองนิ้วมือของคนโตโดยไม่ให้หลุดออกจากลูกมะพร้าวทั้งสองใบ ก่อนผูกเข้าไว้ด้วยกันให้แน่นแล้วพาดไว้ตรงหน้าอก จากนั้นก็ลงไปในน้ำใช้มือพุ้ยน้ำให้ตัวพุ่งไปข้างหน้า ส่วนเท้าก็ยกตีน้ำสลับกันไปมาโดยมีลูกมะพร้าวประคองตัวให้ลอยอยู่เหนือน้ำ ทำให้ไม่จมลงไป
ป้องว่ายวนอยู่ระหว่างริมตลิ่งกับเรือ ซึ่งเป็นเขตที่มีระดับน้ำลึกท่วมหัว และเริ่มสนุกกับการเล่นน้ำจนปู่ต้องเรียกให้ขึ้นหลายครั้งตรงข้ามกับก่อนหน้านี้ ที่ต้องบังคับให้ลง แต่ไม้เรียวยังคงเป็นไม้อันเดิม จึงทำให้ป้องต้องเลิกเล่นอย่างจำใจทั้งที่ปากและเล็บเขียวไปหมด ส่วนมือก็ซีดจนนิ้วมือเหี่ยวมองเห็นชัดทั้งสองมือ
ผ่านไปเป็นสิบวันป้องก็ยังว่ายน้ำไม่เป็น และจมลงทุกครั้งที่ว่ายตัวเปล่าโดยไม่มีลูกมะพร้าวเป็นทุ่นช่วยให้ลอยตัว กระทั่งปู่ที่ว่าดุ ๆ ยังอดนั่งยิ้มและส่ายหน้าไม่ได้ ทำให้ย่าซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ พลอยหัวเราะตามปู่ไป
เย็นวันหนึ่ง เสียงกลองในวัดดังมา ป้องนับได้สิบเจ็ดครั้งจึงรู้ว่าเป็นเวลาห้าโมงเย็น ป้องลงเล่นน้ำโดยมีลูกมะพร้าวคู่ พาดอยู่ตรงหน้าอกอย่างเคย และเริ่มรู้สึกหนาวเนื่องจากอยู่ในน้ำมานานพอควร เลยคิดในใจว่าจะว่ายไปแตะท้องเรืออีกหนึ่งครั้ง แล้วว่ายกลับเข้าฝั่งขึ้นเรือไปเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนที่ปู่จะถือไม้เรียวมาตาม คิดแล้วจึงใช้มือพุ้ยน้ำและตีเท้าถี่ ๆ มุ่งหน้าไปทางเรือซึ่งน้ำตรงนั้นถ้าลงไปยืนบนพื้นใต้น้ำต้องชูมือขึ้นสุดแขน มือจึงจะพ้นน้ำขึ้นมา
พอมือป้องแตะท้องเรืออย่างที่คิดไว้ เปลือกมะพร้าวที่ผูกติดกันมาหลายวันก็ขาดออกจากกันทันที และเด้งออกไปข้าง ๆ อย่างเร็ว เมื่อเป็นอิสระจากการถูกกดจมไปครึ่งใบใต้น้ำตลอดเวลา ป้องใจหายแวบเอื้อมมือคว้าลูกมะพร้าวที่ค่อย ๆ ลอยห่างออกไปแต่ก็ไม่ถึง มือที่ยื่นออกไปอย่างเร็วแล้วพลาดเป้าหมายฟาดลงน้ำดังตูม ทำให้เกิดคลื่นเล็ก ๆ พาลูกมะพร้าวลอยห่างไปกว่าเดิม และค่อย ๆ ไหลตามกระแสน้ำไกลออกไป
ป้องหันหน้ากลับไปทางตลิ่งพร้อมกับสะบัดเท้าขึ้นลงตีน้ำด้วยความตกใจ ส่วนมือสองข้างก็พุ้ยน้ำพาตัวไปข้างหน้าด้วยความเร็วพอกัน และเข้าถึงฝั่งอย่างไม่รู้ตัว ก่อนนั่งลงตรงชายน้ำหอบจนตัวโยน
ย่าหัวเราะจนตาแทบปิด พร้อมกับหันไปบอกปู่ว่าป้องว่ายน้ำเป็นแล้ว พลางบอกให้ป้องลองว่ายออกไปอีกครั้ง แต่ป้องยังไม่หายตกใจจึงนั่งอยู่อีกพักจนตัวหายสั่น จึงค่อย ๆ ก้าวลงน้ำจนลึกแค่อก แล้วโผไปมาตามแนวตลิ่งเพราะยังไม่กล้าและไม่มั่นใจ ที่จะพุ่งออกไปทางเรือ จนผ่านไปหลายรอบย่าจึงบอกให้ป้องว่ายไปหาเรือ ป้องคิดอยู่นิดหนึ่งก่อนค่อย ๆ ว่ายเข้าไปหาเรือช้า ๆ เมื่อมือแตะท้องเรือได้ ก็รีบว่ายกลับเข้าฝั่งทันที และเมื่อมั่นใจว่าไม่จมแน่ จึงว่ายกลับไปกลับมาอีกหลายรอบ จนปู่ต้องถือไม้เรียวมายืนมองตรงหัวเรือ ป้องจึงขึ้นจากน้ำด้วยความเสียดาย
หลังจากวันนั้น ปู่กับย่าก็ไม่ต้องกลัวป้องจมน้ำอีกต่อไป เมื่อป้องว่ายน้ำเป็นแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า ปู่ต้องคอยมาเรียกขึ้นจากน้ำอยู่บ่อย ๆ เมื่อป้องใช้เวลาเล่นน้ำครั้งหนึ่งเป็นชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่ปู่จะตามด้วยความเป็นห่วงว่าจะเป็นตะคริว เพราะน้ำบางเวลานั้นเย็นจัด ไม่ได้ดุว่าด้วยความโมโหจริงจังอะไร เพราะรู้อยู่ว่า ความสนุกของเด็กอย่างป้อง ถ้าไม่ลงเล่นน้ำ ก็ได้แค่วิ่งเล่นตามริมตลิ่งเท่านั้นเอง ....
( มีต่อครับ )