JJNY : รถไฟจีน-ลาวแผลงฤทธิ์ ผักผลไม้ท่วมตลาด│‘หมอมานพ’เตือนขอให้ตื่น│กัมพูชาพบ“โอไมครอน”คนแรก│กรุงเทพฯเช้านี้ฝุ่นพิษ6เขต

รถไฟจีน-ลาวแผลงฤทธิ์ ผักผลไม้ทะลักท่วมตลาด
https://www.prachachat.net/economy/news-821362
 
 
ไฮสปีดเทรนลาว-จีนพ่นพิษ “สภาเกษตรฯ” แฉ “ผัก-ผลไม้จีน” จาก “คุนหมิง” ถึง “ตลาดไท” ไม่เกิน 2 วันทะลักท่วมตลาด หวั่นทุบราคาผลผลิตร่วง ห่วงอนาคตเกษตรกรไทยเสียเปรียบต้นทุนผลิตจี้รัฐเร่งตั้งการ์ดคุมเข้มสุขอนามัย ด้านสมาพันธ์ SME ชี้ 9 เดือนแรก SMEs ไทยขาดดุลการค้าจีน 2.7 แสนล้าน เร่งช่วยรายย่อยเสริมความสามารถแข่งขันรับมือสินค้าจีนถล่มตลาดในอนาคต
 
รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (คุนหมิง-เวียงจันทน์) จัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ใช่เพียงสินค้าและบริการจากไทยจะรุกเข้าไปยังตลาดจีนที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนเท่านั้น
 
แต่อีกด้านหนึ่ง “สินค้าจีน” ซึ่งเป็นฐานการผลิตระดับโลกก็ทะลักมาที่ไทยเช่นกัน เพราะเส้นทางรถไฟช่วยให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากจีนมาถึงลาวใช้เวลาเพียง 24 ชม. หรือประมาณ 1 วัน และหากข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวมาที่ไทย โดยใช้รถบรรทุกขนส่งจากหนองคายก็จะใช้เวลาเพียงไม่เกิน 12 ชั่วโมงเท่านั้น
 
จีนรับประโยชน์เต็ม ๆ
 
รายงานข่าวจากด่านค้าชายแดนหนองคายระบุว่า ปัจจุบันการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยเข้าไปจีนผ่านทางรถไฟลาว-จีนยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดให้มีการนำเข้าสินค้าได้เพียง 3 ประเภทเท่านั้นคือ ยางพารา-มันสำปะหลัง และสินแร่ ประกอบกับการเชื่อมต่อกับทางรถไฟไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ระยะที่ 2 ระหว่างท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะทาง 7.5 กม. ก็ยังติดปัญหาส่งมอบ ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางปี 2565
 
แต่ด้านการเจรจาการค้าไทย/อาเซียน กับจีน กลับมี “ความคืบหน้าไปมากกว่า” จนถึงขั้นลงนามในข้อตกลงพิธีสารเกี่ยวกับการส่งออก-นำเข้าผลไม้ทางบกผ่านประเทศที่ 3 กับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ลดภาษีเป็น 0 มาตั้งแต่ปี 2546 แต่ในทางกลับกันยังไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค
 
“ในทางปฏิบัติแม้จะมีข้อตกลงระหว่างกัน แต่ด่านการค้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ที่เชื่อมต่อเพื่อขนสินค้าเข้าไปยังถูกปิดอยู่กว่าครึ่งหนึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาล สปป.ลาวจำกัดการเปิดด่านให้เหลือแขวงละ 1 ด่าน เฉพาะด่านสากล (บึงกาฬ-นครพนม-มุกดาหาร-เลย-หนองคาย)
 
ส่วนด่านจุดผ่านแดน จุดผ่อนปรน ยังปิดให้บริการ ส่งผลให้สินค้าผักและผลไม้จากไทย แม้ผ่านเข้าไปยัง สปป.ลาวได้ก็จะต้องผ่านพิธีการศุลกากรเข้าไปยังจีน เฉพาะที่ด่านโมฮาน-บ่อเต็น เพียงช่องทางเดียว แต่ก็ติดเรื่องด่านที่นั้นยังไม่พร้อม ที่ผ่านมาทำให้รถขนส่งสินค้าเข้าไปตกค้างจำนวนมาก และยังติดขั้นตอนการสอบโควิด-19 ของฝั่งจีนอีก” แหล่งข่าวกล่าว
 
ดังนั้นการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีนที่ฝ่ายไทยหวังว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านลาวเข้าไปยังจีน เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่า ในช่วงแรก “จีน” ได้ใช้ประโยชน์ขนส่งสินค้าผ่าน สปป.ลาวมายังประเทศไทยก่อน ล่าสุดตามข้อมูลศุลกากรพบว่า มีการนำสินค้าผักจากจีนเข้ามาแล้ว 33 ตู้ (บรรจุตู้ละ 20 ตัน) ในสัปดาห์แรกของการเปิดเดินรถไฟเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
 
โดยผักเหล่านี้จะถูกขนส่งขึ้นรถบรรทุกจากหนองคายมายัง “ตลาดไท” ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุด มีคนจีนเป็นเจ้าของพื้นที่เช่าเพื่อกระจายสินค้าในตลาดมากกว่า 20 เจ้า โดยสินค้าผักจะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีก 40-60 ตู้ และไม่เพียงแค่ผัก-ผลไม้เท่านั้น แต่มีสินค้าอื่น ๆ ที่จีนจะส่งผ่านทางรถไฟเข้ามาด้วย
 
โดยอัตราค่าบริการขนส่งสินค้าขนาด 20 ฟุตจะตกตู้ละ 11,444 หยวน หรือประมาณ 50,000-60,000 บาท ตู้สินค้า 40 ฟุต อัตราตู้ละ 15,921 หยวน หรือ 70,000-80,000 บาท เทียบกับการขนส่งทางเรือเข้ามาที่ด่านเชียงแสน ปรากฏมีการปรับค่าระวางขึ้นไปสูงมากกว่า 100% และยังเสียเวลามากกว่าการขนส่งขึ้นรถไฟลาว-จีน และส่งต่อเข้ามายังประเทศไทย
 
“ผักผลไม้จากคุนหมิงส่งขึ้นรถไฟจีน-ลาวมายังเวียงจันทน์ ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. รวมระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมงถึงชายแดนไทยที่หนองคาย ส่วนการขนส่งมาทางเรือขึ้นที่ด่านเชียงแสน อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 วัน นั้นแสดงให้เห็นว่าการขนส่งทางรถไฟช่วยประหยัดเวลามากกว่า”
 
ทั้งนี้ สถิติจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า การค้าข้ามพรมแดนจากจีน แยกเฉพาะที่นำเข้าผ่านทางด้าน สปป.ลาว ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2564 มีมูลค่า 139,395 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 61.74% โดยสินค้าหลักที่นำเข้าจากจีน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์-เทปแม่เหล็ก, เคมีภัณฑ์, ผลไม้และของปรุงแต่ง, วงจรพิมพ์, ส่วนประกอบและอุปกรณ์ตัวถัง เป็นต้น
 
24 ชม. ผักจีนมาถึงตลาดไท
 
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากเปิดรถไฟจีน-ลาวทำให้การส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากลาวเข้ามาใช้บริการรถบรรทุกมากขึ้น เท่าที่ประเมินเส้นทางรถไฟจีน-ลาวใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง และข้ามมาไทยอีก 1 ชั่วโมง จากนั้นรถบรรทุกจะขนตู้คอนเทนเนอร์ใช้เวลาเดินทางมาถึง “ตลาดไท” อีกไม่เกินครึ่งวัน แต่ช่วงนี้ยังไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น ดังนั้นจึงยังประเมินชัด ๆ ไม่ได้ และยังติดขัดเรื่องด่านเพราะมีสินค้าตกค้างที่ด่านโมฮานฝั่งจีนเป็นจำนวนมาก
  
ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรฯมีความเป็นห่วงถึงปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ “ผักและผลไม้จากจีน” หลังจากเส้นทางโลจิสติกส์เปิดกว้างสะดวกมากขึ้น ทำให้สินค้าจีนสามารถส่งผ่านเข้ามาขายในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาเพียง 1 วัน และเดินทางข้ามพรมแดนแค่ 1 ชม. ส่งผ่านมาขายในตลาดไทด้วยการขนส่งด้วยรถหัวลากคอนเทนเนอร์เข้ามาได้เลย ทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย
 
เพราะเท่าที่เคยลงพื้นที่สำรวจการผลิตสินค้าเกษตรของจีนพบว่า สินค้าเกษตรจีนมีความได้เปรียบสินค้าเกษตรไทยทั้งด้านต้นทุนและการผลิต จีนมีการผลิตปุ๋ยเอง รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และมีพื้นที่ปลูกที่สภาพอากาศดียิ่งกว่าเมืองหนาวของไทย ส่งผลให้สินค้าผัก-ผลไม้เมืองหนาวไทยยากจะแข่งขันกับจีนได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ไทยจะกลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรเมืองหนาวจากจีน โดยเฉพาะบร็อกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง รวมถึงผลไม้ ส้ม, สตรอว์เบอรี่, สาลี่, องุ่น, แอปเปิล หรือลำไย ส่วนที่เป็นสินค้าส่งออกของไทยก็มีปลูกในพื้นที่ทางตอนใต้
 
“ผมห่วงที่สินค้าจีนจะทะลักเข้ามามาก เพราะรัฐบาลไทยไม่มีการตั้งรับเลย ไม่เห็นมีใครพูดถึงเรื่องนี้ การตั้งการ์ดก็ยังไม่ชัดเจน ไม่เหมือนที่ฝั่งจีนเค้ามีมาตรการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าจากไทยเข้มงวดมาก ในลักษณะคล้ายมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTB มีการสุ่มตรวจอย่าง ลำไย เจอเพลี้ยตัวเดียวก็ต้องหยุดส่งออก ไทยไม่ต่อรองอะไรเลย ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องวางมาตรการแบบนี้บ้าง การตรวจสอบสุขอนามัยพืช ทางกรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการอาหารและยา ต้องเข้มงวด ซึ่งไม่ใช่เพียงช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังช่วยประชาชนให้ได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยด้วย อย่างน้อยก็ต้องทำให้ชะลอไว้” นายประพัฒน์กล่าว
 
พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะว่า 
1) รัฐบาลต้องตั้งการ์ดดูแลตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้มาตรฐาน 
2) เกษตรกรต้องปรับตัวปรับการผลิตสินค้าเกษตรหนีตาย อย่าไปผลิตอะไรที่จีนผลิตได้ในจำนวนมาก โดยเกษตรกรไทยต้องปรับไปปลูกพืชเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปศุสัตว์สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือการปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูง เช่น ประดู่ แดง ชิงชัน ไผ่ ซึ่งจะส่งผลดีระยะยาว 
3) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมในการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
4) มาตรการเยียวยาผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งในกรณีสินค้าผักอาจจะไม่เหมาะที่จะใช้ประกันรายได้เพราะเป็นพืชอายุสั้นแค่ 40-45 วัน แต่มีความอ่อนไหวสูงมาก คำนวณส่วนต่างราคายาก ดังนั้นควรจะปรับมาเป็นการจ่ายเยียวยาความเสียหายไปเลยจะดีกว่า
 
SMEs ไทยขาดดุลการค้าจีนบาน
 
ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่า SMEs จะได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ซึ่งจะมีการระบายสินค้าจากจีนมาไทย และประเทศทางแถบเอเชีย เนื่องจากผลกระทบที่กำลังเผชิญปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐ ทำให้การเติบโตและขยายตลาดของสินค้าราคาถูกต้นทุนต่ำจากจีนทะลักเข้ามายังประเทศไทย ทั้งจากช่องทางปกติและ e-Commerce โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา, สินค้ามือถือและอุปกรณ์, สินค้าเครื่องกีฬาและอุปกรณ์กลางแจ้ง, สินค้าประเภทเกมและงานอดิเรก เป็นต้น

“ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจที่ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ ขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย จากข้อมูลภาพรวมการส่งออกของไทยไปประเทศจีนทั้งหมดในช่วง 9 เดือน ปรากฏมีมูลค่า 940,549 ล้านบาท โดยเป็น SMEs ไทยส่งออกไปประเทศจีนมูลค่า 184,493 ล้านบาท หรือ 19.6% แต่มีการนำเข้าของไทยจากจีนมีมูลค่า 1,720,646 ล้านบาท โดย SMEs นำเข้าจากจีน 454,891 ล้านบาท หรือ 26.44%  เท่ากับ SMEs ไทยขาดดุลการค้าจีนถึง 270,398 ล้านบาท จากภาพรวมการค้าไทยที่ขาดดุลการค้ากับจีนถึง 780,097 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาคการผลิต 891,793 ล้านบาท ภาคการค้า 661,724 ล้านบาท ภาคการบริการ 123,966 ล้านบาท และภาคธุรกิจเกษตร 783 ล้านบาท” นายแสงชัยกล่าว
 
ดังนั้นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้านการส่งออกต้องเร่งดำเนินการปรับตัวและพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมมาปรับใช้ในภาคการผลิต เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถลดการนำเข้าสินค้าทุน ปัจจัยการผลิต วัตถุดิบจากจีน และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มไปในตลาดจีนมากขึ้น รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศทางการค้าที่ไม่ให้สินค้าจีนมี “แต้มต่อ” ทางภาษี เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าที่ไทยผลิตเอง
 
“การรุกหนักของสินค้าจีนในตลาดไทยส่งผลกระทบทั้งในแง่ของการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านช่องทาง e-Commerce ระบบโลจิสติกส์ก็มีนักลงทุนจีนเข้ามาสร้างศูนย์กระจายสินค้า รวมทั้ง e-Commerce platform ต่าง ๆ สัญชาติจีนที่ทะลักเข้ามา ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องร่วมกันทบทวนผลกระทบจากการรุกคืบครั้งนี้ของจีน ไม่ให้เศรษฐกิจฐานรากของไทยและตลาดของ SMEs ไทยต้องถูกทำลายลงไป” นายแสงชัยกล่าว



‘หมอมานพ’ เตือนขอให้ตื่น ใครหวัง โอไมครอน แทน เดลต้า แล้วคนป่วยหนักลดลง ยกเคส ยุโรป-สหรัฐฯ แนวโน้มสูงขึ้น หวั่นเคสใหม่พุ่ง ป่วยหนัก-ตายเพิ่ม
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6782637

‘หมอมานพ’ เตือนขอให้ตื่น ใครหวัง โอไมครอน แทน เดลต้า แล้วคนป่วยหนักลดลง ยกเคส ยุโรป-สหรัฐฯ แนวโน้มสูงขึ้น หวั่นเคสใหม่พุ่ง ป่วยหนัก-ตายเพิ่ม
 
วันที่ 14 ธ.ค.64 ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ manopsi แสดงความกังวลถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด โอไมครอน ความว่า 
 
ใครที่หวังว่า Omicron จะมาแทน Delta แล้วคนจะป่วยหนักน้อยลงขอให้ตื่นนะครับ
  
สถานการณ์ใน EU UK และ US 
ตอนนี้มีแนวโน้มสูงที่ Omicron จะจับมือกับ Delta มากกว่าแข่งกัน 

แม้สัดส่วน Omicron จะเพิ่มแต่ Delta ไม่ลด

Twin pandemic จะทำให้เคสใหม่สูงขึ้นเร็ว ป่วยหนักและเสียชีวิตจะเพิ่มตามมา

https://twitter.com/manopsi/status/1470546244800217089
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่