บทแทรกเกี่ยวกับไหมอีรี่ เสริมเรื่อง Chiang Mai Design Week 2021 ในโพสเรื่อง "ฝ้าย ซอ คำ"

บทแทรกเกี่ยวกับไหมอีรี่ เสริมเรื่อง Chiang Mai Design Week 2021 ในเรื่อง "ฝ้าย ซอ คำ"

ในการเขียนกระทู้ที่แล้วในเรื่องของ Chiang Mai Design Week 2021 ผมได้ระบุไว้ว่า หากเรื่องใดที่จะเขียนเสริม
จะขอแยกออกมาเป็นบทความใหม่ ด้วยเหตุผลก็คือ ไม่ต้องการให้กระทู้นั้นดูไม่เป็นการชมงานสักเท่าไร

...จนเมื่อมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับบางท่าน ที่ถามเกี่ยวกับจุดแสดงในงานที่มีการย้ายก็คือ "ฝ้าย ซอ คำ"
มันจึงเป็นแรงผลักดันให้คิดอยากจะเขียนกระทู้นี้ขึ้นมาทันที
เพราะผู้เข้าชมต่างก็ถามกันว่า ผ้าไหมอีรี่ มันอะไร ยังไง และอีกสารพัดเกี่ยวกับผ้าไหมอีรี่
ผมจึงคิดว่าควรทำความเข้าใจกับเรื่องนี้กันเสียก่อนจะดีกว่า จึงเขียนกระทู้นี้ขึ้นมานั่นเองครับ
......................................................................................................................................................................................................
เรามารู้จักกับเจ้าไหมอีรี่นี่ว่ามันเป็นอย่างไรกันดีกว่า ส่วนรูปของ "ฝ้าย ซอ คำ" ที่มีไหมอีรี่ และผีเสื้อ นั้นขอให้ดูในกระทู้ที่กล่าวถึงก่อนหน้าครับ
............................................
ไหมป่าอีรี่ (Eri silkworm : Philosamia ricini Boisd.) 
แมลงเศรษฐกิจ แนวทางเพิ่มรายได้และความยั่งยืนให้ชาวไร่มันสำปะหลัง


เป็นไหมป่าชนิดฟักตลอดปี (Polyvoltine) สามารถเลี้ยงได้ด้วยใบมันสำปะหลัง 
ในประเทศไทยพบไหมป่าชนิดนี้ที่จังหวัดยะลา เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครนายก 
ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อนำไหมชนิดนี้มาใช้ประโยชน์โดยหลายหน่วยงาน 
เพราะในประเทศไทยมีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังจำนวนมากและยังไม่มีการนำใบมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง 

สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 
เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้วิจัยและพัฒนาไหมป่าอีรี่แบบครบวงจร ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาไหมป่าอีรี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
เพื่อศึกษาและรวบรวมเชื้อพันธุกรรมของไหมป่าอีรี่ในประเทศไทย การผลิตไข่ไหม วิธีการเลี้ยงและอุปกรณ์ที่เหมาะสม
ตลอดจนการสาวเส้นและแนวทางการนำมาใช้ประโยชน์
ผลงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการเลี้ยงไหมป่าอีรี่ รองรับการขยายผลสู่เกษตรกรในอนาคต


คุณค่าไหมป่าอีรี่ในทางเศรษฐกิจ
...กระแสโลกปัจจุบันต้องการผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติและปลอดสารพิษ
ทำให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นเส้นใยธรรมชาติโดยเฉพาะเส้นใยอินทรีย์ (Organic fiber) เป็นที่ต้องการมากในตลาด 
เส้นไหมป่าอีรี่จึงเป็นเส้นใยชนิดหนึ่งที่มีโอกาสขยายตัวในตลาดโลกได้สูง 
ส่วนปริมาณการผลิตเส้นไหมป่าอีรี่ยังมีน้อย คือ ประเทศอินเดีย ผลิตได้มากที่สุด ประมาณ 1,283 ตัน 
รองลงมาคือประเทศจีน ในประเทศอื่นๆ มีการเลี้ยงกันน้อยมาก

...นับเป็นโอกาสดีของเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยที่มีจำนวนมากและได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 
เพื่อตอบสนองโครงการผลิตเอธานอลให้พอใช้ภายในประเทศ 
หากมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเหล่านี้สนใจมาเลี้ยงไหมป่าอีรี่เพิ่มขึ้น 
โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไหมป่าอีรี่เป็นอาชีพเสริมเพื่อผลิตผ้าไหมป่าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ
โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้เกษตรกรมีงานทำตลอดปีโดยสามารถเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรได้ไร่ละ 2,000-3,000 บาท/รุ่น
จะช่วยให้อาชีพปลูกมันสำปะหลังมีความมั่นคงและยั่งยืนเพิ่มขึ้น
การเลี้ยงไหมป่าอีรี่ในประเทศไทยจึงมีโอกาสขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

การศึกษาและรวมรวม เชื้อพันธุกรรมของไหมป่าอีรี่ในประเทศไทย
...การศึกษารวบรวมและปรับปรุงพันธุ์ไหมป่าอีรี่ได้รวบรวมพันธุ์แท้ไว้จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์จีน สายพันธุ์ไทย และสายพันธุ์เชียงใหม่ 
กำลังคัดเลือกพันธุ์เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงเป็นพันธุ์ไหมลูกผสมที่ดี สำหรับส่งเสริมการเลี้ยงในภาคเกตรกรต่อไป

...ไหมอีรี่ เป็นไหมชนิดหนึ่งที่มีการเพาะเลี้ยงได้เช่นเดียวกับไหมบ้าน แต่ง่ายกว่า ทนโรคทนแมลงได้มากกว่ามาก 
กินพืชอาหารได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชทนแล้งและดินเลว ที่มีแหล่งปลูกแหล่งใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
และเนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นแหล่งที่เกษตรกรมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมมายาวนาน 
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ศ.ดร.สุธรรม อารีกุล และ รศ.ดร.ทิพย์วดี อรรถธรรม จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
จึงได้ริเริ่มทดลองเลี้ยงไหมอีรี่ โดยใช้ใบมันสำปะหลังเป็นพืชอาหาร 
และเล็งเห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งเลี้ยงไหมชนิดนี้ 
ต่อมาภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ศึกษาและพัฒนาเพื่อนำไหมอีรี่มาทดลองเพาะเลี้ยง 
และสร้างผลิตภัณฑ์ไหมชนิดนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบัน

พืชอาหาร
...ไหมชนิดนี้กินพืชอาหารได้หลายชนิด เช่น ละหุ่ง มันสำปะหลัง มะละกอ มะยมป่า หรือมะยมหางไก่ อ้อยช้าง เป็นต้น 
แต่พืชอาหารหลักที่สามารถทำให้ไหมชนิดนี้เจริญเติบโตได้ครบวงจรชีวิต คือ ละหุ่ง และมันสำปะหลัง

...การศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการเลี้ยงไหมป่าอีรี่เพื่อหาชนิดพืชอาหารและจำนวนมื้อที่เหมาะสม 
ผลการทดลองพบว่า การเลี้ยงไหมป่าด้วยใบมันสำปะหลังหรือใบละหุ่ง วันละ 2 และ 3 ครั้ง ไม่มีผลต่อความแข็งแรงของไหมป่าอีรี่มากนัก 
คือการเลี้ยงไหมเพียง 2 มื้อทำให้น้ำหนักรังสดและน้ำหนักรังเปล่ามีแนวโน้มลดลง 
แต่ไม่แตกต่างกันในทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงไหมวันละ 3 มื้อ 
การเลี้ยงไหมป่าวัยอ่อนด้วยใบละหุ่งและวัยแก่เลี้ยงด้วยใบมันสำปะหลัง วันละ 3 มื้อ มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงสุด 
รองมาคือการเลี้ยงด้วยใบมันสำปะหลังตลอดวันละ 3 มื้อ 
โดยช่วงเวลาระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เหมาะสมต่อการเลี้ยงไหมป่าอีรี่มากที่สุดคือไหมป่าอีรี่จะมีผลผลิตดีและระยะเวลาเลี้ยงไหมสั้น 
ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง 
เมื่อหนอนไหมสุกเกษตรกรสามารถใช้วัสดุที่สามารถจัดหาในท้องถิ่นและมีช่องทำรังขนาดเหมาะสมมาทำจ่อ เช่น จ่อไม้ไผ่ จ่อกระด้ง หรือจ่อลวด 
ประเด็นสำคัญคือ ไม่ควรใส่หนอนไหมให้แน่นเกินไป 
ไหมป่าจะทำรังเป็นก้อน รังไหมสีคล้ำ และต้องมีตาข่ายหรือผ้าบางมาคลุมจ่อ เพื่อป้องกันหนอนไหมหนีออกไป

การผลิตไข่ไหม
...ระยะเวลาที่เหมาะสมของการผสมผีเสื้อและการวางไข่ไหมที่ให้ปริมาณไข่ไหมมาก 
คือในเวลากลางคืนถึงเช้าตรู่และมีเปอร์เซนต์ฟักของไข่ไหมสูงสุด
ในการกกไข่ไหมที่อุณหภูมิ 24-25 องศาเซลเซียส ความชื่นสัมพัทธ์ 80-85% 
ส่วนการเก็บไข่ไหม ควรเก็บในห้องเย็นอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 20 วัน หลังจากวางไข่ไหม

วงจรชีวิตไหมอีรี่
...ปัจจัยหลักที่มีผลต่อวงจรชีวิตของไหมอีรี่นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชอาหาร สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุณหภูมิและความชื้น 
การเพาะเลี้ยงด้วยใบมันสำปะหลัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่ามีวงจรชีวิตประมาณ 47-59 วัน



การสาวเส้นไหม
การศึกษาเทคนิคการสาวไหมป่าอีรี่มี 2 วิธี คือ
1. การสาวไหมโดยใช้เครื่องสาวพื้นบ้าน นำรังไหมป่ามาต้มในสารละลายด่าง 5-7 นาทีแล้วนำรังไหมสาวกลุ่มละ 10 รัง จะได้เส้นไหมขนาดใหญ่
2. การดึงเส้นไหมโดยใช้เครื่องปั่นดึงเส้นใย โดยการนำรังไหมเปล่ามาต้มในน้ำด่าง ล้างให้สะอาด แผ่เป็นแผ่นบางๆ ผึ่งแดดให้แห้ง ปั่นให้ฟูแล้วนำไปดึงเป็นเส้นไหม

คุณลักษณะและประโยชน์
* เพาะเลี้ยงได้ง่ายโดยใช้หลักการและอุปกรณ์คล้ายกับที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไหมบ้าน แต่ง่ายและประหยัดแรงงานกว่า และเพาะเลี้ยงได้ตลอดปี
* ทนโรคทนแมลงศัตรู ในการเพาะเลี้ยงจึงไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ
* กินพืชอาหารได้หลายชนิด
* เส้นใยจากไหมอีรี่มีความเหนียว มัน แต่ไม่แวววาว ทนเหงื่อไคลได้ดีกว่าไหมบ้าน
* ผลิตภัณฑ์ผ้าที่ได้ มีลายในเนื้อผ้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ สวยนุ่มแปลกตาคล้ายผสมด้วยขนสัตว์
* การผลิตเส้นใยจากไหมอีรี่ ไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวไหม จึงจัดเป็นผ้า "เจ" 
และในขบวนการเพาะเลี้ยงไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมี (Green Product)
* ดักแด้แห้งหรือสุกมีไขมัน 25% โปรตีน 50% ดักแด้เมื่อป่นแล้วมีไนโตรเจน 11% จึงประยุกต์ใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ได้ดี
* ตัวหนอนไหมสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ รวมทั้งใช้เพาะเลี้ยงแมลงที่มีประโยชน์ (ตัวห้ำ)
* ไข่สามารถใช้ในการเพาะเลี้ยงแมลงที่มีประโยชน์ (ตัวเบียน) ได้ดี
* ผงไหมป่าอีรี่ นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอาง สบู่ผงไหม
* ผ้าม่านที่ทำจากไหมป่าอีรี่สามารถป้องกันแสง UV ได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่นๆ

ความก้าวหน้าและผลงานวิจัยที่ดำเนินการแล้ว
...สามารถลดแรงงาน โดยการเพาะเลี้ยงด้วยการให้อาหารเพียง 1 ครั้ง/วัน ถ่ายมูล 1 ครั้ง/วัน และการจัดการพืชอาหาร (ศิวิลัย และคณะ,2543,2546)
...สามารถเพาะเลี้ยงได้โดยเกษตรกรภายใต้สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ตลอดปี (ศิวิลัย และคณะ,2537,2543,ข้อมูลยังไม่ได้ตีพิมพ์;Sirinungkararat et a1,2002; Atthatorn et a1,2002)
...สามารถใช้เป็นแนวทางในการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยผลผลิตหัวมันไม่ลด รวมทั้งผู้มีอาชีพเลี้ยงไหมบ้าน (ศิวิลัย และคณะ,2543)
...สามารถพัฒนาต่อเพื่อให้เป็นอาหารสำเร็จรูปของปลาสวยงาม (ศิวิลัย และคณะ,2544)
...สามารถทอเป็นผืนผ้าโดยการทอร่วมกับเส้นใยชนิดอื่น ทำให้มีความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ผ้าทอรวมทั้งซักรีดและดูแลรักษาง่ายขึ้น (Sirinungkararat et a1,2002)
...สามารถนำมาเป็นอาหารคนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปลอดภัยจากสารเคมี รสชาติที่อร่อย และมีโปรตีนสูงถึงประมาณ 66% ซึ่งสูงกว่าไหมบ้าน (ศิวิลัย และคณะ, 2547)
...สามารถเพาะเลี้ยงได้ด้วยพืชอาหารหลายชนิดรวมทั้งมันต้นและมันสาย ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในไทย และเป็นรายงานครั้งแรกของโลก
...สามารถสาวได้คล้ายไหมบ้าน จึงลดแรงงานและต้นทุนการผลิตเส้นไหมอีรี่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นรายงานครั้งแรกของโลก และกำลังอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรเรื่องผลิตเส้นไหมต้นแบบซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2546

ลักษณะทางการเกษตร
จำนวนไข่ไหมต่อแม่ 350-400 ฟอง
น้ำหนักรังสด 1 รังโดยเฉลี่ย 2.5 กรัม
น้ำหนักเปลือกรัง 1 รังโดยเฉลี่ย 23 เซนติกรัม
เปอร์เซนต์เปลือกรัง 11-12 เปอร์เซนต์
ผลผลิตรัง/กล่อง (20,000 ฟอง) 20-30 กิโลกรัม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่