❤มาลาริน/ชาวกทม.คิดว่าอย่างไรคะ..."ชัชชาติ"โชว์วิชั่น แก้ปัญหาทางเท้า รื้อป้ายโฆษณา สร้างหลังคากันแดด-ฝน

"ชัชชาติ"โชว์วิชั่น แก้ปัญหาทางเท้า รื้อป้ายโฆษณา สร้างหลังคากันแดด-ฝน



ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินในเมือง ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการและทีมงานเมืองเดินได้ เมืองเดินดี (สสส. ร่วมกับ UDDC) สรุปไว้ชัดเจนดีว่า พื้นฐานที่ทำให้เมืองน่าอยู่ คือโครงข่ายการเดินเท้าที่ออกแบบอย่างกระชับ ทำให้คนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างมีคุณภาพคำว่า เมืองเดินดี ประกอบด้วย น่าเดิน มีกิจกรรมระหว่างทาง ร่มเงา ที่นั่งพัก สะอาด เดินสะดวกโดยความต่อเนื่องของโครงข่ายทางเดินเท้า ความกว้างของทางเท้าที่เหมาะสม มีความเรียบของทางเท้า มีกิจกรรมทางเท้าที่พลุกพล่านมีชีวิตชีวา มีทางข้ามที่ดี และมีแสงสว่างยามค่ำคืนรวมถึงมีความปลอดภัยตลอดเส้นทางเดิน

ปัญหาทางเท้าบ้านเรา 
- ไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ สร้างอุปสรรคต่อคนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม
- ขุดแล้ว ขุดอีก วางสายไฟ สายสื่อสาร ท่อประปา ต่างคนต่างทำ แล้วเวลาซ่อมกลับคืน ทำแบบลวกๆ เอายางมะตอยมาปะ
- สิ่งกีดขวางบนทางเดิน ไม่มีการจัดระเบียบ ป้ายโฆษณา หาบเร่ แผงลอยผิดกฎหมาย วินมอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า
- การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน แผ่นปูยุบ ฝาท่อชำรุด กระเบื้องกระเดิด 
- ทางตัดผ่าน เปลี่ยนระดับ ไม่เสมอทางเท้า ไม่มีทางลาด คนพิการ ผู้สูงอายุ เดินทางลำบาก
- สิ่งปลูกสร้าง เบียดทางเท้า เช่น สะพานลอย ป้อมตำรวจ 
- ทางม้าลายไม่ปลอดภัย ไม่ชัดเจน ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีสัญญานไฟ
- ขาดร่มเงา ฝนตก แดดร้อน เดินยาก
- ทางเดินมืด ไม่มีไฟส่องทาง อันตราย



แนวทางที่จะต้องดำเนินการ ยกระดับและพัฒนาทางเท้า
 
1. ทางเท้าใหม่ ออกแบบให้ได้มาตรฐาน Universal Design ตั้งแต่ต้น
2. ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง เช่น การควบคุมมาตรฐานวัสดุที่ใช้ การออกแบบ การก่อสร้าง และตรวจรับงาน พร้อมกับนำข้อมูลโครงการ มาเปรียบเทียบและเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับทราบ
3. ยกระดับมาตรฐานการซ่อมแซมทางเท้า ดำเนินการเชิงรุก ซ่อมได้รวดเร็ว ได้คุณภาพ มีบทลงโทษผู้รับเหมาที่ทำงานไม่ได้คุณภาพ
4. ออกแบบ พัฒนาทางตัดผ่านและทางเข้าออกให้เรียบเสมอทางเท้าและการเชื่อมต่อทางข้ามหรือสะพานให้ต่อเนื่องกัน
5. ปรับปรุงทางม้าลายเพิ่มไฟส่องสว่าง ติดตั้งกล้อง CCTV และในที่ที่คนพลุกพล่าน ติดสัญญานไฟ ปุ่มกดเพื่อข้ามถนน มีสัญญาณเสียงสำหรับผู้พิการเพื่อสร้างความปลอดภัยใหักับผู้สัญจร 
6. ทดลองสร้างต้นแบบ Covered Walkway หลังคาเพื่อป้องกันแดดและฝนให้กับผู้สัญจร โดยให้มีความต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับกันสาดของเอกชนโดยเฉพาะในเส้นทางที่มีปริมาณการใช้งานหนาแน่น
7. เชื่อมต่อทางเดิน ทางปั่นเลียบคลอง กับทางเดินเลียบคลองเดิมให้มีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับทางเดินเลียบคลอง เช่น จุดจอดรถจักรยานยนต์แหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ
8. จัดลำดับความสำคัญในแต่ละเขต กำหนดแผนการพัฒนาทางเท้าและเป้าหมายสั้น กลางยาว ให้ชัดเจน ตามความสำคัญของการใช้งานและรายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง
 
กำจัดสิ่งกีดขวาง เพิ่มความปลอดภัย

1. จัดการทางเท้าให้เรียบ ไร้สิ่งกีดขวาง กำหนดความกว้างขั้นต่ำที่ทางเท้าควรมี พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค จัดการกันสาดที่รบกวนทางเดิน เช่น ท่อน้ำฝนลงมากลางทางเดิน ผ้าใบ กันสาดที่ขึงขวางทางเดิน 
2. พัฒนาทางเดินสำหรับผู้พิการให้ครอบคลุม โดยหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายมนุษย์ล้อเพื่ออารยะสถาปัตย์ ของพี่อ๋อย กฤษณะ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการและทำแผนให้ชัดเจน
3. ลด รวบ ป้าย ยกเลิกป้ายโฆษณาที่กีดขวางทางเดินเท้าของประชาชน รวมทั้งรื้อถอนสิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็นออกจากทางเท้า
4. นำสายสื่อสารลงดินไม่ซ้ำซ้อน รื้อถอนสายเก่าที่ไม่ได้ใช้งานพร้อมกับพัฒนาแนวทางการนำสายสื่อสารลงดินอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน โดยพิจารณาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ (เช่น ท่อร้อยสายเดิมของ NT)
5. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพจาก CCTV เพื่อเพิ่มความปลอดภัย กวดขันวินัยการจราจร และลงโทษผู้สัญจรด้วยจักรยานยนต์และรถยนต์บนทางเท้า 
6. ดูแลไฟแสงสว่างให้เพียงพอ ปลอดภัย โดยทำหน้าที่เร่งรัดกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่นกฟน. ในการร่วมแก้ไขปัญหาไฟดับ แสงสว่างไม่พอ

ทำความสะอาด

1. ทำความสะอาดทางเท้า เพิ่มจุดวางถังขยะและจุดทิ้งขยะให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จัดการกับผู้กระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความสกปรกซ้ำซาก
2. จัดประกวดโครงการทางเท้า เดินได้ เดินดี โดยให้เอกชน ชุมชนมีส่วนร่วมกันในการดูแลรักษาทางเท้าหน้าบ้าน ในชุมชนตัวเอง
 
ปรับปรุงภูมิทัศน์และระบบนิเวศน์เมือง
 
1. จัดตั้งรุกขกรมืออาชีพประจำเขต ช่วยสำรวจจัดทำทะเบียนต้นไม้และช่วยกำหนดแนวทางในการดูแลรักษาต้นไม้ให้กับแต่ละเขต และปลูกต้นไม้ให้เหมาะสมกับสภาพทางเท้า
2. จัดให้มีที่นั่ง หรือ Street Furniture อื่นๆ ในจุดที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางเดิน เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเท้า ส่งเสริมการเดิน และกิจกรรมสาธารณะภายนอกอาคาร

การเดินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมือง ไม่ต้องลงทุนเป็นหมื่นล้าน แต่ช่วยให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นได้จริงในทุกๆวัน

https://www.bangkokbiznews.com/news/976832

ปูเสื่อ ดิฉันอ่านดูไม่มีอะไรใหม่เลยค่ะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่