*** สงคราม 6 วัน ศึกตัดสินชะตาอิสราเอล***

“สงคราม” คือเส้นทางที่ชาวอิสราเอลต้องเผชิญมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ...

ในปี 1967 ประธานาธิบดี ญะมาล อับดุนนาศิร (หรือเราจะเรียกว่านัสเซอร์) แห่งอียิปต์ประกาศระดมพลพันธมิตรจากประเทศ จอร์แดน, อิรัก, และซีเรีย มาเพื่อจุดประสงค์เดียวคือ “การลบอิสราเอลออกจากแผนที่!”

อิสราเอลในวันนั้นไม่เหมือนวันนี้ ...พวกเขายังเป็นชาติเกิดใหม่ที่โดดเดี่ยว ขาดพันธมิตรมั่นคง แม้อเมริกาซึ่งต่อมาจะเป็นมหามิตร ในตอนนั้นก็ยังช่วยอิสราเอลแบบแทงกั๊กเพราะยังไม่ชัวร์ทิศทางของตะวันออกกลาง

...เมื่อมีศัตรูอยู่รายล้อมรอบด้าน ...การเผชิญหน้าด้วยกำลังทหารเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ อิสราเอลจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรับมือกับศึกครั้งใหญ่ที่จะตัดสินชะตาชาติ

...เพราะหากพวกเขาพ่ายแพ้ย่อมหมายถึงการสิ้นชาติ!

นี่คือเรื่องราวของสงคราม 6 วันที่จะผลิกโฉมหน้าภูมิรัฐศาสตร์ของตะวันออกกลางไปตลอดกาล…


*** เส้นทางสู่สงคราม ***

ในวันที่ 13 พฤษภาคม 1967 สหภาพโซเวียตซึ่งตอนนั้นเข้าข้างอียิปต์ได้ส่งข้อมูลแก่อียิปต์ว่ากองทัพอิสราเอลกำลังวางแผนบุกโจมตีซีเรีย หลังเกิดประเด็นข้อพิพาทในการใช้แหล่งน้ำจืดจากทะเลสาบกาลิลี หลังอิสราเอลสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำไปใช้ในประเทศ แต่ทางอาหรับอ้างว่าโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทางน้ำของตน จนนำไปสู่การปะทะหลายครั้ง (อย่างไรก็ตามยังเป็นที่ถกเถียงว่าข้อมูลชุดนี้จริงหรือไม่)

ขณะที่ผู้นำจอร์แดนก็เรียกร้องให้อียิปต์ออกมากดดันอิสราเอลซึ่งส่งกองทัพเข้ามาโจมตีกลุ่มต่อต้านชาวปาเลสไตน์ในเขตจอร์แดน



 ขณะนั้นนัสเซอร์ผู้นำอียิปต์กำลังมีบารมีมาก เพราะเคยประสบความสำเร็จในการนำประเทศผ่านวิกฤตคลองสุเอซ ทำให้เขากลายเป็นความหวังของการรวมชาวอาหรับขับไล่อิสราเอล ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นภัยคุกคาม

อียิปต์ตอนนั้นมีกองทัพที่มีกำลังพลและอาวุธเหนือกว่าอิสราเอล ซีเรียก็มีความได้เปรียบด้านชัยภูมิเพราะมีที่ราบสูงโกลัน นัสเซอร์เห็นว่าพันธมิตรฝ่ายตนแข็งแกร่ง จึงประกาศระดมพลครั้งใหญ่พร้อมยื่นคำขาดต่อกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติให้ถอนกำลังออกจากคาบสมุทรไซนายในปีเดียวกัน


ภาพแนบ: ช่องแคบติราน

 หลังจากไม่มีอุปสรรคใดๆขวางกั้น กองทัพอียิปต์จึงดำเนินการปิดช่องแคบติราน เพื่อขวางกั้นเส้นทางส่งสินค้าของอิสราเอล
ก่อนจะเริ่มวางแผนบุกเข้าอิสราเอล ซึ่งมีพื้นที่ติดกับชาติอาหรับต่างๆให้สิ้นซาก!


*** แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ***

ย้อนกลับไปก่อนนัสเซอร์ระดมพล อิสราเอลได้หน่วยข่าวกรองแห่งชาติอิสราเอลหรือมอสสาดที่มีสายลับกระจายอยู่ทั่ว ได้พยายามรวบรวมข้อมูลมาใช้ตั้งรับ และทราบความเคลื่อนไหวของนัสเซอร์และพันธมิตรเป็นอย่างดี

วันที่ 1 มิถุนายน 1967 อิสราเอลได้ก่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อรับสภาวะฉุกเฉิน พร้อมกับแต่งตั้งให้ โมเช ดายัน วีรบุรุษจากสงครามประกาศอิสรภาพ 1948 มารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหม



ตอนนั้นฝ่ายความมั่นคงได้เสนอต่อสภาว่า “อิสราเอลควรเป็นฝ่ายชิงโจมตีก่อน!” เนื่องจากกองทัพอิสราเอลมีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูงกว่าฝ่ายอาหรับ

นอกจากนี้ภูมิประเทศของอิสราเอลก็ไม่อื้อต่อการตั้งรับเพราะมีพื้นที่คับแคบทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกถล่มด้วยข้าศึกจำนวนมหาศาล (อนึ่งยุทธศาสตร์นี้ได้จากการเรียนรู้ที่อิสราเอลเป็นฝ่ายตั้งรับจากสงครามประกาศอิสรภาพ)


ภาพแนบ: กำลังสำรองของอิสราเอลระหว่างถูกเรียกระดมพล
 
 เมื่อมาตรการชิงโจมตีก่อน (Preemtive strike) ได้รับการอนุมัติ รัฐบาลแห่งชาติจึงออกคำสั่งระดมกำลังสำรองเกือบทั้งหมดกลับเข้าประจำการ

ตอนนั้นอิสราเอลระดมกำลังพลได้กว่า 200,000 นาย (บางแหล่งอ้างว่ามีมากถึง 260,000 นาย) พร้อมกับประกาศหาอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในการช่วยสร้างหลุมหลบภัย, โรงพยาบาลสนาม, แม้แต่หลุมศพสำหรับรองรับศึกใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ขณะเดียวกันชาวยิวในต่างประเทศก็พากันออกมาขับเคลื่อนระดมทุนเพื่อส่งไปสนับสนุนเพื่อนร่วมชาติไม่ขาดสาย



 กองทัพอิสราเอลเร่งฝึกฝนนักบินอากาศอย่างหนักให้เหมือนรบจริง โดยให้ฝึกบินขึ้น/ลง, เติมเชื้อเพลิง, โหลดอาวุธ, และบินกลับขึ้นไปปฏิบัติการเป็นเวลาติดต่อกันเฉลี่ยถึง 8 ครั้งในหนึ่งวัน

นอกจากนั้นพวกเขายังเปิดคอร์สโหดกับพวกทหารบก ฝึกซ้อมให้ทำการเคลื่อนกำลังรบบนทะเลทราย ซึ่งทหารส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าฝ่ายบัญชาการให้ฝึกแบบนี้ไปทำไม

...ทั้งหมดนี้เกิดขณะที่หน่วยมอสสาดพยายามปล่อยข่าวลวงผ่านสื่อต่างๆ ให้ศัตรูประมาทว่าทหารอิสราเอลส่วนมากยังอยู่ระหว่างช่วงพักผ่อน


ภาพแนบ: ภาพจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการโฟกัส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอากาศยานของอิสราเอลบินในระยะต่ำเพื่อโจมตีเครื่องอียิปต์ที่จอดบนพื้นโล่ง 

*** Operation Focus ***

ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 5 มิถุนายน 1967 นักบินอิสราเอลทุกนายพึ่งทราบเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงต้องทำการฝึกกันอย่างหนัก เพราะเมื่อรุ่งสางมาเยือนอากาศยานเกือบทุกลำได้ถูกส่งไปจัดการกับกองทัพอากาศของอียิปต์ภายใต้รหัสปฏิบัติการโฟกัส (Operation Focus)

ยุทธศาสตร์ลับของอิสราเอลในครั้งนี้คือให้ฝูงบินแสร้งหลอกล่อเรดาห์ศัตรู โดยแสร้งบินออกไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อนจะหันหัวกลับเข้ามาทำการโจมตีฐานทัพอากาศส่วนหน้าของอียิปต์จำนวน 14 แห่ง!


ภาพแนบ: จรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น SA2

แม้ว่าทางอียิปต์จะมีกองทัพอากาศขนาดใหญ่ ทว่าพวกเขากลับไม่ได้วางแผนรองรับการโจมตีทางอากาศดีเท่าที่ควร

เครื่องบินแทบทั้งหมดของอียิปต์ยังถูกจอดเอาไว้บริเวณพื้นที่เปิดโล่ง และแม้พวกเขาจะมีจรวดต่อสู้อากาศยาน SA-2 ซึ่งถือว่าทันสมัยในยุคนั้น แต่ในวันที่ถูกโจมตีกลับมีการปิดระบบตรวจจับของจรวดต่อสู้อากาศยานดังกล่าว (เชื่อว่าเพราะเช้าวันนั้นจะมีทหารระดับสูงของอียิปต์บินมาเพื่อรับตำแหน่ง จึงมีการปิดระบบไม่ให้สับสน)

"นี่แหละคือจังหวะทองที่มอสสาดสืบทราบได้!"
 

ภาพแนบ: ซากเครื่องบินอียิปต์ 

นักบินอิสราเอลที่ถูกฝึกมาอย่างหนัก ได้ใช้โอกาสนั้นบดขยี้ทัพอากาศอียิปต์อย่างโหด!

พวกเขาทำลายเครื่องบินขับไล่และทิ้งระเบิดกว่า 197 ลำในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง! จากนั้นอิสราเอลได้ระดมการโจมตีอีกสองระรอกในระยะเวลาห่างกันเพียงครั้งละ 2 ชั่วโมง! แม้อียิปต์จะไหวตัวตอบโต้ได้บ้าง แต่ก็ไม่มากพอจะเปลี่ยนผลลัพธ์ของสงคราม

...เมื่อการรบจบลงกองทัพอากาศอันเกรียงไกรของอียิปต์มลายหายไปกับกองเพลิง..


ภาพแนบ: ภาพจำลองสนามบินของจอร์แดนและซีเรียที่โดนโจมตี (พื้นที่สีเทาเข้มที่ตั้งบนแผ่นดินสีส้ม) 

เมื่อจัดการเด็ดปีกกองทัพอียิปต์ได้สำเร็จ อิสราเอลก็หันมาเล่นงานกองทัพอากาศของซีเรียและจอร์แดนที่พยายามส่งเครื่องบินรุกล้ำเข้ามา ด้วยการบินไปถล่มถึงที่!

ผลจากการโจมตีทำให้กองทัพอากาศขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูงของจอร์แดน (สามารถรบกวนปฏิบัติการของอิสราเอลได้ระยะหนึ่ง) และกองทัพอากาศขนาดกลางของซีเรียถูกทำลายลง เช่นเดียวกับกองทัพอิรักที่นำอากาศยานเข้ามาวางกำลังใกล้กับจอร์แดนก็ถูกทำลายเช่นกัน


ภาพแนบ: เครื่องบินขับไล่ Mirage 3 ซึ่งเป็นอากาศหลักที่ใช้ในการต่อสู้กับฝ่ายอาหรับ 

เพียงวันเดียวอิสราเอลสามารถเด็ดปีกกองกำลังทางอากาศของศัตรูจนหมดสภาพ โดยความสำเร็จของปฏิบัติการโฟกัส เป็นการประกาศศักดาตั้งแต่เริ่มรบว่าสงครามนี้พวกเขาจะครองน่านฟ้าแต่เพียงผู้เดียว! และนี่จะเป็นสิ่งที่จะตามหลอกหลอนฝ่ายอาหรับต่อมาอีกนาน


ภาพแนบ: ภาพจำลองการเผชิญระหว่างทัพอาหรับ (ซ้าย และ ขวาบน) กับอิสราเอล (กลาง) ที่ถูกโอบล้อมจากทั้งสองข้าง 

*** แนวรบคาบสมุทรไซนาย ***

แนวรบไซนายถือเป็นการต่อสู้ที่ใหญ่ที่สุดในสงคราม 6 วัน โดยกินเวลาระหว่างวันที่ 5 - 8 มิถุนายน 1967 หรือสี่วันแรกของสงคราม

โดยในช่วงก่อนสงคราม ทางอียิปต์ตั้งใจใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวส่งทหารเข้าไปยังอิสราเอล ทำให้มีการจัดการวางโครงข่ายป้องกันอย่างแน่นหนาทั้งสนามเพลาะ, ปืนใหญ่สนับสนุน, และกับระเบิดต่างๆ เชื่อว่าสามารถตั้งรับการโจมตีของอิสราเอลได้แน่

...แต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนตั้งแต่อิสราเอลสามารถครองน่านฟ้าสำเร็จ...


ภาพแนบ: รถถัง Centurion Mk.5 (อิสราเอลเรียกตระกูลนี้รวมๆ ว่า Sho't (แส้ในภาษาฮิบรู) และตามด้วยรุ่นแยกย่อย 

ตอนนั้นกองทัพอากาศอิสราเอลบินเข้าโจมตีเป้าหมายต่างๆ จนบอบช้ำก่อนจะเคลื่อนพลกว่า 14,000 นายพร้อมรถถังจำนวน 140 คันเข้าเผชิญหน้ากับทหารอียิปต์ ซึ่งแม้จะถูกทำลายหนัก หากกองกำลังอียิปต์ที่เตรียมตัวมาดีก็ยังสามารถปักหลักต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...แต่นั่นก็อยู่ในการคำนวณของอิสราเอล…

...การฝึกโหดให้ทหารบกเคลื่อนทัพในทะเลทรายก็เพื่อใช้ในจังหวะนี้เอง

...รถถังอิสราเอลอ้อมเข้าโจมตีตลบหลังแนวตั้งรับอียิปต์ผ่านทะเลทรายแทนการใช้ถนนหลัก จนสามารถเจาะเข้าแนวป้องกันทางเหนือได้เป็นผลสำเร็จ


ภาพแนบ: ภาพจำลองการเข้าโจมตีฐานปืนใหญ่ของอียิปต์ โดยพลร่มอิสราเอลที่ลำเลียงมาด้วยเฮลิคอปเตอร์ H34 (ซ้ายบนภาพ) 

ขณะเดียวกันหน่วยพลร่มอิสราเอลก็เริ่มต้นปฏิบัติการหลังแนวศัตรูเพื่อทำลายฐานปืนใหญ่อียิปต์ แม้ถูกต่อต้านอย่างหนักด้วยปืนครก แต่พวกเขายังสามารถสร้างความปั่นป่วนมากพอที่จะทำให้ปืนใหญ่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...ในที่สุดฝ่ายอิาราเอลซึ่งมีกำลังด้อยกว่า ก็เป็นฝ่ายประสบชัยชนะ ด้วยการข่าว และการวางแผน!


ภาพแนบ: ขบวนรถทหารอิสราเอล (ซ้าย) ขณะแล่นสวนกับรถเชลยอียิปต์ (ขวา) 

ภายหลังรัฐมนตรีกลาโหมอียิปต์ นายอับเดล ฮาคิม อาเมอร์ ทราบข่าวความพ่ายแพ้ จึงได้ออกคำสั่งถอนกำลังจากแนวรบทำให้ทหารอียิปต์ที่อยู่ในภาวะเสียขวัญต่างล่าถอยแบบทุลักทุเล

จนตกเป็นเหยื่อจากการโจมตีทางอากาศและกองทัพอิสราเอลซึ่งยกกำลังมาดักรอบริเวณทางผ่านไปคลองสุเอซ ซ้ำร้ายยังมีกรณีที่ฝ่ายอียิปต์ยิงปืนใหญ่โจมตีฝ่ายเดียวกันเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นกองทัพศัตรู

...ความผิดพลาดทั้งหมดส่งผลให้ กองทัพอียิปต์จำใจทิ้งยุทโธปกรณ์ทั้งรถถัง, ยานเกราะ, และยานยนต์ทางทหารอื่นๆ ที่ยังอยู่ในสภาพดีเอาไว้ให้อิสราเอลเก็บไปใช้เป็นอันมาก


ภาพแนบ: ซากรถถัง T-34 ของฝ่ายอียิปต์ 

เมื่อฝ่ายอาหรับย่อยยับแล้ว กองทัพอิสราเอลจึงเข้ายึดครองเมืองต่างๆ ในคาบสมุทรไซนาย จนยึดครองได้อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 8 มิถุนายน 1967 ใช้เวลาเพียง 4 วัน

อียิปต์ต้องยอมลงนามข้อตกลงหยุดยิงในวันที่ 9 มิถุนายน 1967 ทำให้กองทัพอิสราเอลสามารถเอาชนะกองทัพฝ่ายอาหรับซึ่งแข็งแกร่งที่สุดได้อย่างเด็ดขาด

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่