ลำพูน-วัดรมณียาราม (กู่ละมัก) ตำบลต้นธง อำเภอเมือง ปฐมอารามแห่งหริภุญชัยและประเพณีลอยโขมด


วัดรมณียาราม (กู่ละมัก) ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
...ในปี พ.ศ.1206 พระนางเจ้าจามเทวี ได้เสด็จขึ้นเรือมาตามแม่น้ำปิงตามคำเชิญของพระฤาษีวาสุเทพ เพื่อขึ้นครองเมืองหริภุญชัย 
เมื่อมาถึงท่าน้ำชื่อ เจียงตอง (ปัจจุบันอาจเป็นอำเภอจอมทอง) พระนางจึงหยุดพักลี้พล ณ.ที่นั้น

(ภาพนี้เป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากเจียงตอง)

และได้ตรัสกับนายธนูผู้ขมังเวทย์เป็นผู้จัดการคาดคะเนยิงธนูหาภูมิประเทศที่วิเศษที่จะสร้างวัด
โดยที่พระนางเจ้าได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากลูกธนูไปตก ณ.ที่แห่งใดจะให้สร้างองค์มหาเจดีย์และวัด ณ ที่แห่งนั้น

...ดังนั้น นายธนูผู้มีพระเวทย์ก็ยิงลูกธนูหันหัวศรมุ่งตรงมาทางทิศเหนือ 
และเป็นที่ประหลาดอัศจรรย์ใจ เมื่อลูกธนูพุ่งขึ้นสู่อากาศจากจุดที่ยิงจากเจียงตอง ลูกธนูพุ่งมาตามแรงอธิษฐานของพระนางเจ้า 
ซึ่งเมื่อนายธนูได้ติดตามค้นหาลูกธนูที่ยิงมานั้น ก็ได้พบว่าตกมายัง ณ จุดที่สร้างองค์เจดีย์กู่ละมัก 
และเมื่อสร้างองค์เจดีย์เสร็จแล้วได้นำเอาพระธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งนำมาจากกรุงละโว้บรรจุไว้ข้างในองค์มหาเจดีย์ 
และให้สร้างวัดไว้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมจำพรรษาของพระสงฆ์องค์เจ้าและสามเณรที่ได้อาราธนามาจากกรุงละโว้


...กล่าวถึงองค์เจดีย์กู่ละมัก 
ซึ่งพระนางเจ้าจามเทวีได้นำเอาพระธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุไว้ข้างในและยังเอาลูกธนูเสี่ยงทายลูกนั้นบรรจุไว้ด้วย 
และยังได้สร้างพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ขนาดเท่ากับเรือนร่างของพระนางเจ้าบรรจุไว้ข้างในด้วย 
เพื่อให้เป็นที่กราบไหว้ของผู้คนทั้งหลายและให้เป็นศิริมงคลแก่ผู้เคารพบูชา 
และยังเป็นการนำมาซึ่งความผาสุกความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้คนที่มาเคารพสักการะ


(อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี องค์นี้มีลักษณะแตกต่างจากหลายๆ ที่)




ทางเข้าวัดจะสร้างเป็น "ซุ้มประตูป่า"
...ในความเชื่อของชาวล้านนาซุ้มประตูป่า มีความหมายอยู่ 2 ความหมาย
1. ความหมายแรก หมายถึง ปากทางที่จะเข้าสู่ป่า 
ซึ่งมักจะปรากฏอยู่เป็นเสาตั้งอยู่ที่ชายหมู่บ้าน ขนาบทางเดินที่จะเข้าป่า ซึ่งมักจะเป็นส่วนประดับอยู่ระหว่างเสาทั้งคู่ 
ใช้เป็นบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมสำหรับหมู่บ้าน และยังหมายถึงบริเวณพิธี ที่ประกอบพิธีกรรมในการยกทัพอีกด้วย
2. ความหมายที่สอง ประตูป่าในล้านนาหมายถึง บริเวณทางเข้าที่ล้อมด้วยรั้วราชวัตร 
ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามที่ใช้ประกอบพิธี หรือสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ในช่องทางนี้มักประดับไปด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย 
และใช้ทางมะพร้าวผ่าออกเป็น 2 ส่วน เพื่อประดับที่เสาประตูด้านละส่วน แล้วโน้มปลายมาผูกติดกันเพื่อแสดงช่องทางเข้าสู่สถานที่นั้น 
และการประดับประดาด้วยดอกไม้และประดับด้วยโคมไฟล้านนา พร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางประทีส) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย 
การประดับประตูป่าเช่นนี้จะจัดทำขึ้นที่ประตูบ้านในเทศกาลยี่เป็งหรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันลอยกระทง 
ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าทำเพื่อต้อนรับพระเวสสันดร เพราะชาวล้านนานิยมฟังมหาเวสสันดรชาดก 
และหากใครฟังครบ 13 กัณฑ์ จะเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและบ้านเมือง


ภายในวิหารจะเห็นธรรมาสน์องค์ใหญ่มาก



โขมด

อีก 1 ตำนานที่กล่าวว่า เมืองหริภุญชัยหรือลำพูนในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มแรกของประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) ในปัจจุบัน
...ประเพณีลอยโขมดหรือลอยกระทง มีมาแต่โบราณกาลแล้ว นับแต่สมัยอาณาจักรหริภุญชัย 
ชาวมอญที่เดินทางมาในขบวนเสด็จของพระนางจามเทวีที่จำต้องพลาดพรากจากญาติพี่น้องได้มีการระลึกถึงกัน 
ยิ่งบรรพบุรุษที่ได้ล้มหายตายจาก 
จึงได้มีการทำโคมหรือกระทงตามไฟเพื่อส่องไฟตามวิญญาณของบรรพบุรุษไปสู่สรวงสวรรค์ตามความเชื่อในอาณาจักรล้านนาไทย
เมื่อถึงวันเดือนยี่เพ็ง ก็จะทำพิธีลอยโขมด เป็นการลอยโดยความหมาย

- เป็นการลอยเคราะห์ลอยบาป ต้องการลดเคราะห์เสนียดยิ้มในตัวให้ไหลล่องไปตามน้ำในเทศกาลเดือนยี่
- เป็นการลอยเพื่อส่งของแก่บรรพบุรุษ ตามคติความเชื่อของคนโบราณในนครหริภุญชัยที่ส่งให้แก่ญาติพี่น้องในนครหงสาวดี (มอญ) 
ในสมัยต่อมาประชาชนยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันจนทุกวันนี้การลอยกระทง เพื่อสักการะ
- เป็นการลอยเพื่อบูชาพระนารายณ์ ซึ่งบรรทมในเกษียรสมุทรตามคติความเชื่อพราหมณ์ บางแห่งใช้น้ำมันจากไขข้อของโคบูชาด้วย 
ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีผลมากในการบูชา 
คือการทำอย่างนั้นเป็นการโปรดปรานของเทพเจ้าการบูชาพระพุทธบาทที่ประทับไว้เหนือหาดทรายแม่น้ำนัมนที 
เป็นความเชื่อของประชาชนผู้นับถือพุทธศาสนาว่า 
การลอยลงโขมดกระทงนั้น คือการบูชาพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ประดิษฐานไว้ปรากฏใน ตำนานการลอยกระทง 
แต่ยังไม่ปรากฏว่าพระพุทธบาทแห่งแม่น้ำนัมนทีนั้นอยู่ที่ไหนและมีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร
- เป็นการบูชาพระพุทธบาทในหาดทรายแม่น้ำนัมนที
- เป็นการลอยเพื่ออธิษฐาน เป็นเป้าหมายของประชาชนโดยตรง คือ อธิษฐานเอาตามความคิดของตน 
โดยเฉพาะการอธิษฐานของหนุ่มสาวที่ต้องการจะร่วมชีวิตกัน เมื่อทำกระทงแล้วก็ไปลอยในแม่น้ำและอธิษฐานสิ่งที่ตนปรารถนา
- เพื่อเป็นการส่องไฟตามทางให้วิญญาณเดินทางไปยังสวรรค์ การลอยกระทงนั้น แต่โบราณล้านนาเรียกกันว่า ลอยโขมด 
คำว่า โขมด เป็นชื่อผีป่า เรียกกันว่า ผีโขมดชอบออกหากินกลางคืน จะมีพะเนียงไฟเห็นเป็นระยะ อย่างผีกระสือ 
ดังนั้น กระทง (ลักษณะคล้ายแพ) ที่จุดเทียนแล้วปล่อยลงในน้ำจะกระทบกับน้ำเกิดเงาสะท้อนขึ้นวับๆ แวมๆ 
หากเรายืนอยู่ไกลๆ จะเป็นเสมือนแสงพะเนียงทางล้านนาแต่โบราณจึงเรียกลอยกระทงว่า "ลอยโขมด"
- เพื่อบูชาและขอขมาต่อเจ้าแม่คงคา

ประเพณีลอยโขมด ตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
ได้กำหนดจัดขึ้นทุก 8 ค่ำ เดือน 12 (ในช่วงน้ำหลาก) ทุกปี ซึ่งจะมีการขึ้นท้าวทั้งสี่และพิธีแห่พระอุปคุต เพื่ออัญเชิญให้เทวดาจตุโลกบาลและพระอุปคุตมาปกปักรักษา ในการดำเนินกิจกรรมประเพณีลอยโขมดให้กิจกรรมผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีอุปสรรคและมารใดๆ มาเบียดเบียนยุ่งเกี่ยวในงานนี้
หลังจากเสร็จสิ้นงานประเพณีลอยโขมดแล้ว จะนิมนต์พระอุปคุตเพื่อกลับไปยังเมืองบาดาลดังเดิม ตามความเชื่อของชาวพุทธล้านนา ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ในช่วงเช้าของงานจะมีพิธีบวงสรวงพระธาตุเจ้ากู่ละมักและอนุสาวรีย์พระแม่เจ้าจามเทวี ก่อนจะเริ่มกิจกรรมงานประเพณีลอยโขมด ตำบลต้นธงต่อไป
การก่อพระเจดีย์ทรายหรือก่อเจดีย์ทราย เป็นคติความเชื่อเรื่องของเวรกรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว โดยมีการประดับตกแต่ง จุดผางประทีป และดอกไม้
กิจกรรมที่จัดขึ้นในประเพณีลอยโขมด ยังมีการเตรียมจัดตกแต่งประตูบ้านและประตูวัดด้วยซุ้มประตูป่า โดยนำต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุงช่อ ประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่างๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา พอตกกลางคืนจะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทองพร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะตี๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย การสร้างซุ้มประตูป่านอกจากมีคติความเชื่อ ในเรื่องการต้อนรับการเสด็จกลับจากป่าของพระเวสสันดรแล้ว ยังเป็นซุ้มที่ใช้จุดผางประทีป เพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ โดยจุดไว้ในโคมหูกระต่าย อีกทั้งยังมีโคมชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในการประดับตกแต่งอีกด้วย
งานประเพณี "ลอยโขมด" ตำบลต้นธง จังหวัดลำพูน ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประเพณีที่ได้รับบรรจุในปฏิทินเทศกาลแสดงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีทั่วไทยประจำปี 2564 จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ประจำปี พุทธศักราช 2564 ด้านส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

ซุ้มต๋าแหลว
ต๋าแหลว หรือตาเหยี่ยว เป็นเครื่องสานทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้ไผ่ที่จักสานเป็นเส้นๆ นำมามัดไขว้รวมกันหรือสานให้เป็นตาข่าย 
ในรูปแบบต่างๆ อาทิ แบบเหลี่ยม เช่น สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม เป็นต้น 
โดยต๋าแหลวแล้วจะมีรูปลักษณะต่างๆ ไม่เหมือนกันแล้วแต่ว่าจะนำมาใช้ประกอบพิธีในงานรูปแบบไหน 
ซึ่งชาวล้านนาจะให้ความสำคัญใช้ต๋าแหลวนำมาประกอบในพิธีกรรมต่างๆ มาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

เจดีย์ทราย

บ่อน้ำของวัดนี้มีขนาดใหญ่มากๆ 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่