คุณเคยใช้ไซเบอร์บ่อยแค่ไหน

กระทู้คำถาม
ชีวิตวิถีใหม่และความฉลาดทางดิจิทัล

หน้าหลัก

การเป็นพลเมืองดิจิทัล

การทำร้าย การสร้างวาจาเกลียดชัง และการปกป้องตนเองการปกป้องความเป็นส่วนตัว

7.5 การทำร้าย การสร้างวาจาเกลียดชัง และการปกป้องตนเองการปกป้องความเป็นส่วนตัว

Pause

Mute

Loaded: 84.44%

Remaining Time -2:35

Fullscreen

นิเวศดิจิทัลได้สร้างสังคมวิถีใหม่ที่อยู่ในโลกไซเบอร์มากขึ้น ชีวิตผู้คนมีกิจกรรมออนไลน์ มีสมาร์ทโฟนประจำตัว ใช้โปรแกรมสื่อสังคมกันมาก เช่น เฟสบุก ทวีตเตอร์ อินสตราแกรม ไลน์ ติ๊กต๊อก ฯลฯ นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กและเยาวชน มีการเล่นเกมออนไลน์และมีสังคมในเกม สื่อสารพูดคุยกัน ส่งข้อความทางออนไลน์ ยิ่งเกมในสมัยปัจจุบัน เข้าถึงง่าย ใช้ได้ตั้งแต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ได้ เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา หลายคนเข้าสู่ระบบ เฟสบุก ทวีตเตอร์ ไลน์ แชทหรือส่งข้อความกันตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังมีอีเมลที่ส่งถึงกัน สามารถพิมพ์ข้อความด้วยเสียง การพบปะกันบนโลกไซเบอร์จึงเป็นของง่ายสำหรับชีวิตวิถีใหม่
คำว่าการทำร้ายกันทางไซเบอร์ (Cyberbullying) เป็นคำที่มีการกล่าวถึงมากขึ้นในยุคดิจิทัล การทำร้ายกันทางไซเบอร์ไม่ใช่ทำร้ายทางร่างกายเหมือนในโลกกายภาพ แต่เป็นการทำร้ายกันทางด้านจิตใจ เช่นการใช้วาจา คำด่า คำรุนแรง ดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ล่วงละเมิด กล่าวหา ก่อกวน กลั่นแกล้ง ข่มขู่ ทำให้ยุ่งยากใจ เป็นไปตามคำจำกัดความของการล่วงละเมิดทางไซเบอร์ หรือการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ซึ่งเป็นความผิดทางกฎหมาย
การโพสข้อความ รูปภาพ หรือ คลิป ด้วยการโพสให้ร้ายจึงเกิดขึ้นได้เสมอ บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องสนุก หยอกล้อ ตลก ขบขัน แต่สำหรับผู้ถูกกระทำ จะกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงได้ บางครั้งเป็นความตั้งใจกระทำ เพื่อให้ได้อับอาย หรือให้ร้ายจนทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จนไม่สามารถพบปะผู้คน หรืออยู่ในสังคมได้ การกลั่นแกล้งกระทำรุนแรงมักเกิดกับเด็ก และวัยรุ่น ซึ่งบางครั้งเป็นการทะเลาะวิวาทแบบหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจในโลกยุคใหม่ พบว่า เด็กที่เล่นออนไลน์ อินเทอร์เน็ต มักพบและประสบกับปัญหาในเรื่องเหล่านี้มาแล้ว การรังแกกันบนโลกไซเบอร์ จึงไม่จำกัดว่าอยู่ที่ใด เพราะโลกไซเบอร์ไม่มีขอบเขต ไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในโรงเรียนหรือบนถนน โดยใช้ข้อมูลข่าวสารที่กระจายง่าย การรังแกในโลกไซเบอร์จึงเกิดขึ้นและเข้าถึง หรือเห็นกันได้ทุกที่ ทุกเวลา การอยู่ในโลกไซเบอร์จึงมีความเสี่ยง
หากการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่รุนแรง และต่อเนื่อง หรือบ่อย ๆ อาจทำให้ผู้ที่ถูกรังแกมีความเสี่ยงในเรื่องการเป็นโรคซึมเศร้า ท้อแท้ วิตกกังวล ไม่มีความสุข และอาจมีความผิดปกติอื่น ๆ บางคนหันไปทำร้ายตัวเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย เคยมีตัวอย่างและข่าวมาแล้ว จนมีผู้นำเอาเหตุการณ์เหล่านี้ไปสร้างเป็นภาพยนต์หลายเรื่อง การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์มีความหลากหลาย อาจรวมถึงทำให้อารมณ์เสียระหว่างหรือหลังการออนไลน์หรือใช้โทรศัพท์ บางคนอาจถอนตัวจากกิจกรรม ไม่อยากร่วมหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่อยากพบปะผู้คนในสังคม ไม่อยากไปโรงเรียน หรือพบกลุ่ม จนทำให้ผลการเรียนลดลง มีผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม การนอนหลับ บางคนอาจไม่อยากใช้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ วิตกกังวล มีความกลัว
อย่างไรก็ตามการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ เป็นความผิดทางกฎหมาย ถ้ามีคำพูด รูปภาพ คลิป และข้อความที่เป็นภัยคุกคาม และละเมิด ถ้ามีหลักฐานสามารถแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้
ปัญหาการใช้งานดิจิทัลอีกเรื่องหนึ่งคือ การพูดให้เกลียดชัง (Hate Speech) ชีวิตวิถีใหม่อยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมดิจิทัล มีสื่อสังคมที่ทุกคนเป็นผู้ให้ข่าวสารและผู้รับข่าวสาร โลกไซเบอร์เป็นโลกที่ไม่เห็นตัวทางกายภาพ จึงเอื้อให้เกิดเสรีภาพในการพูด การแสดงออก การไม่เห็นตัวตนแบบซึ่งหน้าทำให้ขาดการเกรงใจ ทำให้กล้าที่จะใช้คำพูดที่รุนแรง คำหยาบคาย ซึ่งบางครั้งต่อหน้าไม่กล้าพูด แต่เมื่อเป็นอวาตาร์กล้าพูดคำสบถ คำหยาบได้ ลองนึกดูว่า ในโลกยุคใหม่ ถ้าเราตะโกน คำว่า “ไอ้โง่” ออกไปในสื่อสังคม จะมีคนได้ยินที่เราตะโกนออกไปมากมายโดยที่เราไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง ซึ่งแตกต่างจากในโลกกายภาพที่เราเห็นหน้าตากัน บางครั้งอาจมีการยับยั้งชั่งใจ แต่ในโลกไซเบอร์ทำให้การพูดหรือการสื่อความหมายที่สร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่เรียกว่า Hate Speech เกิดได้ง่าย และพบเห็นได้มาก โดยเฉพาะถ้าอยู่คนละกลุ่มและมีอคติระหว่างกัน การพูด การโพส ข้อความเสียดสี ใช้ข้อความแบบดูถูกเหยียดหยามจึงพบเห็นได้ทั่วไป

การใช้วาจา คำพูด Hate Speech
การพูด หรือให้เกลียดชังในรูปแบบของ Hate Speech ทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ การใช้ถ้อยคำ วาจา การใช้คำศัพท์แทนที่รู้กันในกลุ่ม การเขียนข้อความเสียดสี การใช้สื่อประกอบ ภาพนิ่ง อินโฟกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว การทำคลิปวิดีโอ การวาดภาพ ล้อเลียน การ์ตูน การร้อง แต่งเป็นเพลง กลอน การสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ ทั้งที่เป็นการผลิตขึ้นมาใหม่ และอื่น ๆ ในรูปสื่อดิจิทัลที่ส่งกระจายในสื่อสังคม อินเทอร์เน็ต และมักมีคนช่วยกันกระจายออกไปอย่างมากและรวดเร็ว
ถ้าดูบนสื่อสังคม โดยเฉพาะบนบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง จะพบการตอบโต้ แสดงออกด้วยความคิดที่เป็นคนละพวก คนละลัทธิ การแสดงคำพูดเกลียดชังในโลกดิจิทัล ใช้คำศัพท์ที่เรียกฝ่ายตรงข้ามด้วยศัพท์ที่สร้างมาเฉพาะ การแบ่งกลุ่มสี การเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่า ความเป็นมนุษย์ สร้างความเข้าใจที่ผิดหรือมีอคติต่อกลุ่มเป้าหมาย ยั่วยุหรือทำให้เกิดความเกลียดชัง การใช้วาจาก้าวร้าว บางครั้งออกมาทางหยาบคาย ระดับความรุนแรงของ Hate Speech มีตั้งแต่ตั้งใจ หรือวางแผน ในระดับทำเพื่อแบ่งแยก กลุ่มทางความชอบ การเมือง แบ่งสี แบ่งฝ่าย กีดกัน สร้างความเป็นพวก เป็นกลุ่มลัทธิ และโจมตีต่อกลุ่มเป้าหมาย และที่รุนแรงเพิ่มขึ้นคือการยั่วยุให้เกลียดชังในกลุ่มเป้าหมาย โดยสร้างภาพให้เป็นที่ดูถูกเหยียดหยาม จนถึงขั้นยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมายก็มี จนถึงการชักจูงให้เข้าร่วมโจมตี หรือที่เรียกว่า ทัวร์ลง โดยรวมกันทำเป็นทีม
ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในประเทศไทย คือ สื่อสังคม เช่น เฟสบุก ทวีตเตอร์ ยูทูบ ใช้เอไอในการตรวจสอบ และดูความนิยมชมชอบของผู้ใช้ เช่น ชอบอ่านข้อความหรือดูเพจประเภทใด ดูว่าอยู่ในกลุ่มใด ดูหน้าวิวแบบใด กดไลก์ กดแชร์เรื่องใด ซึ่งเมื่อเอไอวิเคราะห์ ก็จะป้อนข่าว ข้อความของกลุ่มนั้นมาให้ ตามความนิยม ผู้นั้นจะได้อ่าน ได้พบกับข้อมูลหรือพบกับกลุ่มที่ตนเองนิยมชมชอบ ยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกมากขึ้น และซึมซับกับเรื่องเหล่านั้น ทำให้เกิดการแบ่งแยกและสร้างอารมณ์ร่วม คล้อยตาม สร้างความเกลียดชังกลุ่มตรงข้าม
ควรมีการให้ความรู้และทักษะ เพื่อป้องกันการกระทำ Hate Speech บนโลกออนไลน์ สิ่งสำคัญคือ การใช้ปัญญา คิด ไตร่ตรอง ต้องอ่านข้อความ รับข้อมูลอย่างมีสติ ฝึกให้มีการคิดวิเคราะห์ ไม่ตอบสนองด้วยการกดไลก์หรือคอมเมนท์เห็นด้วยกับคำรุนแรง คำหยาบคาย ไม่ควรส่งต่อด้วยการแชร์ ส่งต่อทางไลน์ อีเมล ให้คิดก่อนโพสต์ ว่าสิ่งที่โพสไป กระทบกับใครบ้าง โดยไม่ควรใส่อารมณ์ หรือ ช่วยสนับสนุนข้อความรุนแรง หรือคำที่เป็นการแบ่งแยกกลุ่ม แบ่งสี แบ่งพวก ควรต้องให้ข้อมูลที่เป็น ข้อเท็จจริง เนื้อหาที่เข้าใจถูกต้อง ไม่มีอคติ และหากพบเห็นควรช่วยกดปุ่มรายงานการละเมิด บางโปรแกรมแพลตฟอร์มมีที่ให้รายงาน รายงานไปยังระบบ ให้ผู้ดูแลระบบจัดการ เพื่อช่วยกันลดข้อความรุนแรง
ในสังคมไซเบอร์ปัจจุบัน ยังมีกลุ่มที่มีความจงใจและใช้เครื่องมือ เพื่อหาผลประโยชน์ และหรือหวังผลทางการเมือง จึงต้องคิด วิเคราะห์ รู้เท่าทัน หากมีการวิเคราะห์ถ้อยคำที่เป็น Hate Speech ให้ไตร่ตรอง สังเกต จะเห็นถึงสิ่งที่อยู่ภายใต้คำหรือเจตนาของผู้ใช้คำรุนแรงนั้น ซึ่งมักหวังผลเพื่อพวกพ้องตนเอง เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นที่มีความคิดแตกต่างจากตนเองในด้านต่าง ๆ ที่อาจมีแนวคิดทางการเมือง ชนชั้น ศาสนา เพศสภาพ ที่แตกต่างได้ ควรเคารพสิทธิ์และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่หลากหลายได้อย่างรับผิดชอบ
คำพูดเกลียดชังในโลกดิจิทัล จึงเป็นสาเหตุของการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) ตามที่กล่าวมาแล้ว คำพูดและการสื่อสารในโลกดิจิทัลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการแสดงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนในโลกดิจิทัลของบุคคล เพื่อการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจอันดีและการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่