ทำไมครั้งนี้อาเซียนถึงเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินนโยบายกับพม่า และจะส่งผลอย่างไรต่อไป

หลายๆท่านที่ติดตามแวดวงการเมืองระหว่างประเทศอาจทราบจากข่าวบ้างแล้วว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดที่บรูไนเป็นประธานอาเซียน ชาติสมาชิกอาเซียนมีมติไม่ให้ผู้นำทหารพม่าเข้าร่วมประชุม ซึ่งนับว่าไม่บ่อยครั้งนัก ที่ชาติอาเซียนที่ยึดหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก (ซึ่ง คหสต. มองว่าหลักการนี้ทำให้อาเซียนซึ่งชาติสมาชิกมีความแตกต่างหลากหลายมากสามารถดำรงอยู่ได้) มีมติดังกล่าว ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเป็นการแสดงมาตรการให้รัฐบาลทหารพม่าเร่งจัดการกับความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ภายหลังจากการยึดอำนาจของกองทัพในช่วงต้นปี ซึ่งแนวทางนี้ได้รับความสนับสนุนจากหลายๆประเทศ

เลยอยากถามความเห็นของท่านที่ติดตามแวดวงการเมืองระหว่างประเทศว่า ทำไมในครั้งนี้อาเซียนถึงดำเนินนโยบายกับพม่าที่ต่างออกไป เพราะหากหลายๆท่านจำกันได้ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ช่วงที่พม่าถูกประณามและคว่ำบาตรจากนานาชาติหลังจากเหตุการณ์ 8888 อาเซียนกลับดำเนินนโยบายที่แตกต่างออกไป โดยมีความสัมพันธ์กับพม่าในรูปแบบความเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์ หรือ Constructive Engagement (ถ้าจำไม่ผิดเป็นการเสนอจากทางการไทย เคยอ่านมาคร่าวๆจำไม่ได้ว่าเหตุผลของนโยบายคืออะไร) และต่อมาพม่าก็ได้เป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1997 ทำให้ช่วงนั้นอาเซียนถูกโจมตีจากชาติตะวันตกพอสมควร (แม้ไทยจะเป็นผู้เสนอแนวคิดดังกล่าวในระดับนานาชาติ แต่ในระดับทวิภาคีไทยกับพม่าในช่วงนั้นก็ระหองระแหงพอสมควร เนื่องจากบรรยากาศช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ทำให้กระแสประชาธิปไตยในไทยเบ่งบาน ทำให้หลายฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า และเห็นใจกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยและชนกลุ่มน้อย ซึ่งช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่ตึงเครียดที่สุดในยุคสมัยใหม่ของทั้งสองชาติเลยทีเดียว จากการที่มีข่าวการปะทะกันตามชายแดน และการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัย ซึ่ง จขกท. ในตอนนั้นยังเด็กมากยังสัมผัสได้เลยว่าบรรยากาศเป็นอย่างไร หลายๆท่านที่มองว่าละครหรือภาพยนตร์แนวไทย - พม่ายุคนั้นถึงดี ส่วนหนึ่งคือดีจริงครับ อีกส่วนคือเพราะอารมณ์ร่วมในตอนนั้นค่อนข้างมีสูงมาก หลายคนอาจจำได้ว่าช่วงนั้นจนถึงต้นทศวรรษที่ 2000 มีภาพยนตร์กับละครแนวไทย - พม่า และแนวที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยจำนวนหลายเรื่อง จุดนี้ทำให้ไทยนั้นอาจทำไม่ได้มากเท่าที่หลายคนหวังในกรณีพม่า เพราะมีชายแดนติดกัน หากมีนโยบายออกมาก็จะส่งผลมากกว่าประเทศที่ไม่ได้มีชายแดนติดกับพม่า) จะเห็นได้ว่า ในตอนนั้นแม้ว่าพม่าจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน และชาติตะวันตกค่อนข้างมีอิทธิพลสูงมากในช่วงหลังสงครามเย็น แต่อาเซียนกลับเลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับพม่า ทว่าในปัจจุบันยุคที่ชาติตะวันตกต้องแข่งกับจีนในด้านอิทธิพล และพม่าก็เป็นสมาชิกของอาเซียนแล้ว ทำไมอาเซียนถึงเลือกที่จะมีแนวทางดังกล่าวกับพม่า อะไรเป็นปัจจัย และสิ่งนี้จะส่งผลต่อแนวทางของอาเซียนในอนาคตหรือไม่ครับ

รบกวนช่วยตอบด้วยครับ ขอบคุณครับ หากมีส่วนใดที่เข้าใจผิดหรือพลาดไปก็ขออภัยด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่