*** ทำไมเราจึงใช้ พลังงานน้ำมันเป็นหลัก ***

เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมน้ำมันถึงกลายเป็นพลังงานหลัก และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาโลกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การอุตสาหกรรม หรือการใช้ชีวิตประจำวันของเรา จนเรียกได้ว่าชีวิตมนุษย์ในแต่ละวันต้องมีการใช้น้ำมันไปไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ความสำคัญของมันทำให้เราเกิดคำถาม… มนุษย์ค้นพบน้ำมันได้อย่างไร? รู้จักการกลั่นและแปรรูปตอนไหน? แล้วมนุษย์นำมันไปทำอะไรบ้าง? ซึ่งบทความนี้ จะพาทุกท่านไปหาคำตอบด้วยกัน


ก่อนจะพูดเรื่องน้ำมัน เราต้องทำความรู้จักกับ “ปิโตรเลียม” กันก่อน ปิโตรเลียมเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ มีคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นธาตุประกอบหลักตามชื่อ

บางตำราจะนับแค่ น้ำมันดิบ (Crude Oil) เป็นปิโตรเลียม ขณะบางตำราจะถือว่าปิโตรเลียมเป็นได้ทั้งของแข็ง, ของเหลว, ก๊าซ ตามสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ และนับรวมพลังงานฟอสซิลอื่นๆ เช่น แก๊สธรรมชาติ (Natural Gas) กับถ่านหิน (Coal) เข้าไปด้วย


ภาพแนบ: กำแพงบาบิโลนที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

การค้นพบและนำปิโตรเลียมมาใช้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่หลายพันปีก่อน เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ชื่อดังยุคกรีกโบราณ บันทึกไว้ว่า กำแพงและหอคอยเมืองบาบิโลน (ปัจจุบันอยู่ในอิรัก) มีการใช้ยางมะตอยซึ่งเป็นปิโตรเลียมชนิดหนึ่งเป็นส่วนประกอบ

ส่วนทางฝั่งเอเชียเอง ก็มีบันทึกการใช้งานปิโตรเลียมไว้ในคัมภีร์อี้จิงของจีน และคนจีนรู้จักการสูบน้ำมันดิบผ่านกระบอกไม้ไผ่ตั้งแต่ราว 347 ปีก่อนคริสตกาลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง


ภาพแนบ: มูฮัมมัด อิบน์ ซาการียา ราซี หนึ่งในนักเคมีเปอร์เซียที่ทดลองกลั่นน้ำมัน

ยุคต่อมา มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมในตะวันออกกลางมากมาย นักเคมีชาวเปอร์เซียและอาหรับหลายคนได้พยายามกลั่นน้ำมันดิบเพื่อนำมาสร้างอาวุธติดไฟ

เทคนิคการกลั่นน้ำมันก็ได้เผยแพร่เข้าสู่ยุโรปหลังจากที่กองทัพมุสลิมยึดเสปนและโปรตุเกสมาเป็นของตนเอง ช่วงศตวรรษที่ 12


ในปี 1745 จักรพรรดินีอลิซาเบธแห่งรัสเซียได้มีพระดำริให้สร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกขึ้นในเมืองอุคห์ทา เพื่อกลั่นหินปิโตรเลียม แล้วนำไปใช้กับตะเกียงน้ำมันตามโบสถ์และศาสนสถาน

(คาดว่าอารมณ์น่าจะเป็นประมาณตะเกียงที่เราเจอเวลาไปวัดแล้วมีให้ทำบุญเติมน้ำมัน)


จากนั้นอีกราว 100 ปี นักประดิษฐ์ชาวโปแลนด์ อิกนาชี วูกาเซวิตซ์ (Ignacy Łukasiewicz) ได้สร้างแท่นขุดบ่อน้ำมันแบบใหม่ขึ้นในปี 1854 และกลั่นน้ำมันก๊าดหรือเคโรซีนออกมาได้สำเร็จในปี 1856

น้ำมันก๊าดสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงตะเกียงอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีตะเกียงริมถนนเกิดขึ้นทั่วยุโรป เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้น้ำมันมาเป็นพลังงานอย่างแพร่หลาย

ตั้งแต่นั้น ทวีปยุโรปรวมทั้งทวีปอเมริกาก็มีการขุดน้ำมันขึ้นมามากมายเพื่อนำมาใช้ให้แสงสว่าง


ภาพแนบ: แบบจำลองรถเบนซ์ ถือกันว่าเป็นรถยนต์คันแรกของโลก ใช้แก๊สโซลีน (น้ำมันเบนซิน) เป็นพลังงาน

นับจากนั้นเป็นต้นมา น้ำมันกลายเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลก จากเดิมที่คนใช้ไม้จุดไฟหรือให้ความร้อน ก็เปลี่ยนมาใช้น้ำมัน และรถยนต์จากที่เป็นไอน้ำพลังถ่านหินก็กลายเป็นรถน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมก็ใช้น้ำมันเดินเครื่องจักร

...นักวิชาการวิเคราะห์กันว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพราะมนุษย์ต้องการความสะดวกสบาย และน้ำมันได้ตอบโจทย์นั้น เพราะให้พลังงานได้ดีกว่าทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ


ภาพแนบ: วาสลีนผลิตจากปิโตรเลียมเจลลี สังเคราะห์มาจากไขน้ำมัน

นอกจากนี้ น้ำมันดิบยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นปิโตรเคมี ผลิตเป็นยาง, พลาสติก, เส้นใยสังเคราะห์ และอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเราได้อีกมากมาย

บางอย่างที่เราใช้อยู่ เช่น โทรศัพท์เอย เสื้อผ้าเอย หรืออุปกรณ์การแพทย์หรือยาเอย ก็ต่างมีส่วนผสมปิโตรเคมีทั้งสิ้น

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกอะไรที่ทั่วโลกจะแสวงหาการเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันดิบ จนกระทั่งมีการนำมาใช้เป็นเครื่องต่อรองหรือทำสงครามกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง


ภาพแนบ: การ์ตูนล้อเลียนสถานการณ์ น้ำมันมีฤทธิ์เท่าปืน

ตัวอย่างเช่นตอนสงคราม ยม คิปปูร์ ปี 1973 อียิปต์ร่วมมือกับซีเรียรบอิสราเอล ฝ่ายอิสราเอลเพลี่ยงพล้ำอย่างหนักในตอนแรก แต่เมื่อได้อเมริกาตัดสินใจมาช่วย จึงสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาได้ในที่สุด

ทว่าในขณะเดียวกัน เรื่องนี้ทำให้ชาติอาหรับโต้ตอบโดยการจำกัดการส่งน้ำมันดิบไปยังอเมริกาและชาติพันธมิตร เกิดเป็นวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่ น้ำมันราคาขึ้นแบบพุ่งพรวด


ภาพแนบ: ณ เมืองซีดาร์ ราพิดส์ ในรัฐไอโอวา ต้องตกแต่งงานคริสต์มาสด้วยพู่ประดับอย่างเดียว

ในปีนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้ตกแต่งไฟคริสต์มาส เพราะเกรงว่าจะไม่มีน้ำมันผลิตไฟฟ้าเพียงพอ ยังดีที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจากันได้ในปีต่อมา ทำให้วิกฤตคลายลง


จากผลสำรวจโดย สำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) ในปี 2018 ชาติที่ใช้ปิโตรเลียมเยอะที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ อเมริกา (20.5%) จีน (13.9%) อินเดีย (4.8%) ญี่ปุ่น (3.8%) และรัสเซีย (3.6%) รวมกันเกิน 1 ใน 4 ของโลก

หากเจาะลึกลงไปในข้อมูลของอเมริกาในปี 2020 ชาวอเมริกันใช้น้ำมัน 66% ในการคมนาคม 28% ในอุตสาหกรรม และ 3% สำหรับใช้ในบ้าน


อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันก็มีข้อเสียมหาศาล ตั้งแต่ขั้นตอนการขุดเจาะปิโตรเลียมขึ้นมาจากใต้พิภพ, การกลั่น, และการเผาไหม้หลังใช้งาน ต่างสร้างมลพิษมากมายให้แก่โลก

ผลสำรวจจากหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนระบุว่า คนในระยะครึ่งไมล์จากที่ขุดพลังงานฟอสซิลหรือโรงกลั่นจะได้รับสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เกี่ยวกับหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ถือเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วนับหลายล้านคน


ภาพแนบ: ไฟป่าครั้งใหญ่ในประเทศกรีซ

นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลต่อสภาพอากาศมหาศาล ...เชื่อว่า มันเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธรรมชาติเกิดความผันผวนแบบที่ไม่เคยมี ทั้งฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำท่วมสูง ไฟป่ารุนแรง ฯลฯ


ภาพแนบ: กังหันลมผลิตพลังไฟฟ้าที่เมืองโยโกฮาม่าของบริษัทโตโยต้า

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างเร่งหาทางแก้ไข มีการคิดค้นผลิตเทคโนโลยีหรือพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับน้ำมันออกมา ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าพลังงานแสดงอาทิตย์ การใช้พลังงานลม เป็นต้น

บริษัทต่างๆ ที่เคยพึ่งพาการขุดเจาะน้ำมันเป็นหลักก็เริ่มเปลี่ยนมาผลิต “พลังงานสะอาด” เหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ให้คงอยู่ต่อไป


ภาพแนบ: แต่ก่อนคนนิยมล่าวาฬเพื่อนำน้ำมันจากวาฬมาเป็นเชื้อเพลิง

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าแรกสุด มนุษย์เราก็เคยใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนจะหันมานิยมน้ำมัน เพราะว่าสะดวกสบายกว่า ได้พลังงานมากกว่า

...ถ้าว่ากันตามเชิงสถิติ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา มันช่วยลดการทำลายป่า ลดการล่าสัตว์มาเป็นเชื้อเพลิงหรือเครื่องนุ่งห่ม รักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วยซ้ำ


แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ทำให้การใช้น้ำมันและปริโตเลียมอื่นๆ มีมากขึ้น ต้องเพิ่มกำลังการขุดการกลั่นมากขึ้น เพื่อสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ที่ไม่อาจย้อนกลับสู่จุดเดิมได้อีกแล้ว

เราคงต้องมาติดตามดูกันต่อไปว่า อนาคตการใช้พลังงานของมนุษย์จะเป็นอย่างไรต่อไป...

::: อ้างอิง :::

- Why oil is important ukogplc (ดอต) com/page.php?pID=74

- Oil and petroleum products explained eia (ดอต) gov/energyexplained/oil-and-petroleum-products/use-of-oil.php

- Oil and world power americanforeignrelations (ดอต) com/O-W/Oil-Oil-and-world-power.html

- The Arab Oil Threat nytimes (ดอต) com/1973/11/23/archives/the-arab-oil-threat.html

- 'Invisible killer': fossil fuels caused 8.7m deaths globally in 2018, research finds theguardian (ดอต) com/environment/2021/feb/09/fossil-fuels-pollution-deaths-research

- ปิโตรเลียมคืออะไร dmf (ดอต) go (ดอต) th/public/list/data/index/menu/652/mainmenu/652/

- สารานุกรมเปิดโลกปิโตรเคมี pttgcgroup (ดอต) com/storage/download/knowledge/book/pttgc-petrochemical-encyclopedia2011.pdf

- เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ngthai (ดอต) com/science/26108/fossil-fuel/ 



:: ::: :::
 
สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตามเพจ https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat/
กรุ๊ปประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ https://www.facebook.com/groups/thewildchronicles/
กรุ๊ปท่องเที่ยว เที่ยวโหดเหมือนโกรธบ้าน https://www.facebook.com/groups/wildchroniclestravel/
Line Square: https://line.me/ti/g2/8pIcVHp3cc6-jyQJdzIFrg
และ youtube: https://youtube.com/user/Apotalai
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่