*** ประวัติศาสตร์ของ ไสยศาสตร์ไทย ***

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยกันไหมครับว่า ไสยศาสตร์ในไทยมีที่มาอย่างไร? เหตุใดจึงเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยทุกชนชั้น และยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคมเราอย่างมาก แม้จะอยู่ในยุคที่วิทยาการพัฒนาไปมากแล้ว?

เราจะไปดูความเป็นมาของไสยศาสตร์ ที่เกี่ยวโยงกับศาสนาและความเชื่อของไทย ซึ่งยังแฝงอยู่ในวิถีชีวิตของเรากันนะครับ


“ไสยศาสตร์” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาวไทยมานานนับพันปี

วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้นิยาม “ไสยศาสตร์” ไว้ว่าเป็น “ระบบของอำนาจเหนือธรรมชาติ” อาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1) ความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ 2) ความรู้, ความสามารถในการใช้อำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งกลายเป็นวิชาไสยศาสตร์ที่นักไสยเวทศึกษากัน

เชื่อกันว่าคำว่า “ไสยศาสตร์” อาจแปลงมาจากคำว่า “ไศวะศาสตร์” หรือศาสตร์ของพระศิวะซึ่งเป็นมหาเทพแห่งศาสนาฮินดู

เมื่อคนไทยเห็นผู้นับถือฮินดูสวดบทสวดจากคัมภีร์อาถรรพเวทในภาษาบาลีหรือเขมรเพื่อให้เกิดผลดีแก่ตน, ให้ผลร้ายแก่ศัตรู, ทำสเน่ห์, รักษาโรค, ฯลฯ ก็ชื่นชมว่ามีอำนาจ จึงเลียนรูปแบบมนต์คาถามาใช้ต่อๆ กัน

นานเข้ามีการนำสิ่งนี้มาผสมกับความเชื่อท้องถิ่นและศาสนาพุทธ กลายเป็นวิชาไสยศาสตร์ไป



ในลักษณะนี้ไสยศาสตร์ไทยจึงผูกติดอยู่กับภูมิปัญญาอื่นๆ ในสังคม ทั้งด้านการทำนาย, การรักษา, หรือการทำศึก

สอดคล้องกับที่อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวไว้ว่าไสยศาสตร์นั้นก็เปรียบเหมือนเทคโนโลยีของคนสมัยโบราณ


ไสยศาสตร์ในประเทศต่างๆ มักตั้งอยู่บนพื้นฐานศาสนาที่คนในชาตินั้นๆ นับถือ

ประเด็นคือศาสนาที่ชาวไทยส่วนใหญ่นับถือนั้นมิใช่ "พุทธบริสุทธิ์" อย่างที่มักเข้าใจกัน แต่เป็นศาสนาผสมระหว่างผี-พราหมณ์-พุทธ

ในจำนวนนี้ศาสนาพุทธสามารถชิงพื้นที่ของธรรมะชั้นสูง ระดับ "เหนือโลก" เห็นได้จากคนไทยนั้น ไม่ว่าจะเชื่อผีสางนางไม้เพียงใด แต่ถึงที่สุดแล้วยังคงเชื่อว่าความดีสูงสุดคือการละกิเลสซึ่งจะทำให้หมดทุกข์ และเชื่อในการบำเพ็ญตนให้เข้าถึงภาวะสงบสุขที่เรียกว่า "นิพพาน" ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดของศาสนาพุทธ 


อย่างไรก็ตามคนไทยยังนับถืออีกศาสนาหนึ่ง เรียกว่า "ศาสนาผี"

ศาสนาผี (Animism) หรือที่เรียกแบบวิชาการว่า “วิญญาณนิยม” คือศาสนาแรกของโลก มาจากการที่มนุษย์หลายๆ อารยธรรมมีความคิดจากจิตใต้สำนึกคล้ายกันว่า สรรพสิ่งรอบตัวเรานั้นมีวิญญาน หรือที่ไทยเรียกว่า “ผี” สถิตอยู่ และผีนั้นสามารถให้คุณให้โทษกับเราได้ 



คนไทยนับถือศาสนาผีเป็นศาสนาแรกเหมือนคนชาติอื่นๆ และต่อมาเมื่อรับเอาศาสนาพราหมณ์และพุทธมาแล้ว ศาสนาผีก็ถูกกลืนไป

ณ ที่นี้ขอเขียนไว้ว่าศาสนาผีของไทยก็เคยมีชุดเทพเจ้า หรือที่เรียกว่า "ผีแถน" และมีชุดศีลธรรมเช่นกัน

ที่เหลืออยู่เด่นๆ เช่นหลักฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถชิงพื้นที่ "ธรรมะระดับเหนือโลก" จากศาสนาพุทธได้ จึงถูกผสมกลมกลืนจนสาบสูญไปมาก

พื้นที่ๆ ศาสนาผีสามารถครองไว้นั้น กลับเป็นพื้นที่ "เทคโนโลยี" หรือพื้นที่ของไสยศาสตร์นั่นเอง 


เวลาที่คุณเดินเข้าวัดไทยหลายวัด คุณจะพบว่ามันเป็นที่ๆ มีรูปปั้นพระพิฆเนศ เจ้าแม่กวนอิม พญานาค ศาลปู่ย่า ต้นตะเคียน พระราหู และพระพุทธรูปอยู่ร่วมกันได้โดยกลมกลืน

นั่นเป็นเพราะคนไทยมองสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นทั้งหมดเป็น "ผี" ตนหนึ่ง (รวมทั้งพระพุทธรูปก็ถูกมองในลักษณะของผี ...คือพระพุทธรูปไทยนั้นมีชื่อ มีนิสัย และมีความสามารถชอบหรือเกลียดได้ นั่นแปลว่าเราไม่ได้นับถือพระพุทธรูปแต่เพียงฐานะตัวแทนของพระพุทธองค์ แต่นับถือดวงวิญญานที่สถิตในพระพุทธรูปนั้นๆ ...ซึ่งไม่น่าจะเป็นดวงวิญญานของพระพุทธเจ้า)

ตามหลักศาสนาผี ยิ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่รวมกันมากก็ยิ่งขลัง

เราสามารถกราบไหว้อะไรก็ได้ที่เราเห็นว่ายิ่งใหญ่, แปลกพิสดาร, หรือน่าเกรงกลัว เช่นไหว้ภูเขา, ไหว้ตนไม้, ไหว้งู 


ทั้งนี้ผีที่เรากราบไหว้ไม่จำเป็นต้องเป็นผีที่ดีเท่านั้น

คนอย่างชูชกต่อให้มีนิสัยไม่ดี แต่ดูเหมือนจะให้โชคลาภได้ง่าย ก็สามารถได้รับการกราบไหว้ได้

นอกจากนั้นเราไม่จำเป็นต้องไหว้ผีที่ให้คุณประโยชน์เท่านั้น ...ต่อให้เป็นผีดุร้ายเราก็สามารถกราบไหว้เพื่อมิให้มาทำร้ายเรา

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ศาสนาผีก็ยังครองพื้นที่ "เทคโนโลยี" ที่ใช้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคน มีการไหว้ผีเพื่อขอความร่ำรวย, ขอความปลอดภัย, หรือขอความต้องการที่ประกอบด้วยรัก โลภ โกรธ หลงอื่นๆ


แน่นอนศาสนาผีของไทยมิได้มีเวอร์ชันเดียว แต่มาจากหลายความเชื่อ เช่นลัทธิบูชางู (ต่อมาพัฒนาเป็นการนับถือนาค,) ลัทธิบูชาผู้หญิง (ต่อมาพัฒนาเป็นการนับถือเจ้าแม่ต่างๆ,) ลัทธิบูชาเด็ก (ต่อมาพัฒนาเป็นการนับถือผีเด็ก เช่น กุมารทอง หรือไอ้ไข่)

อย่างไรก็ตามศาสนาผีของไทยยังมีลักษณะเฉพาะของตนเองอยู่ คือความเชื่อในเรื่อง "ขวัญ"

"ขวัญ" เป็นสิ่งที่สถิตอยู่ในพวกเราทุกคน และมีความแตกต่างจากวิญญาณในศาสนาพุทธหรือพราหมณ์

ขวัญเป็นพลังงานที่มีผลต่อพลังชีวิตของคน มันมีหน่วยเดียว แต่แบ่งอยู่ในร่างกายมนุษย์หลายจุด จะอยู่กี่จุดขึ้นกับเป็นความเชื่อของชาวไทยเผ่าไหน ชาวไทยบางเผ่าก็เชื่อว่ามีขวัญอยู่ 32 จุด บางเผ่าเชื่อว่ามี 80 จุด 


แต่ไม่ว่าอย่างไรขวัญที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกคนเรียกว่า "จอมขวัญ" จะสถิตอยู่บริเวณกลางศีรษะ ที่มักมีเส้นผมวนเป็นลายคล้ายๆ ก้นหอย (ลักษณะเดียวกับลายที่ปรากฏในหม้อโบราณบ้านเชียงเชื่อเป็นลายที่สถิตของขวัญนั่นเอง) คนไทยจึงให้ความสำคัญกับหัว และมีความเชื่อว่าห้ามเล่นหัว

แน่นอนว่าขวัญมีอยู่ในทุกที่ ไร่นาก็มีขวัญ จอบเสียมก็มีขวัญ มันสามารถเคลื่อนที่ไปได้โดยอิสระ บางครั้งจึงเกิดเหตุ “ขวัญหาย” เช่นเวลาประสบอุบัติเหตุหกล้ม หรือแค่ตกใจ ก็อาจมีอาการ “ขวัญหนีดีฝ่อ” ทำให้พลังชีวิตต่ำลง

...ใครก็ตามที่พลังต่ำก็จะเริ่มเจ็บป่วย แล้วจากนั้นหากขวัญไม่กลับมา เขาก็จะเสียชีวิตในที่สุด 


 ดังนี้เองคนไทยจึงมีพิธี “บายศรีสู่ขวัญ” เพื่อ "เรียกขวัญ" กลับ ของที่นำมาใช้ล่อขวัญนั้นเรียกว่า “ของขวัญ”

หากใครเคยผ่านงานรับน้อง อาจผ่าน “พิธีรับขวัญ” ที่มีการนำด้ายขาวหรือสายสิญจน์มาพันข้อมือ นั่นก็เพื่อให้ขวัญอยู่กับตัว

เนื่องจากไสยศาสตร์ของไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาผีไทยมาก จึงมักทำกันบนความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องขวัญด้วย 


พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นมีรากเหง้ามาจากการ "ทำขวัญให้นา" เพื่อให้ไร่นามีความอุดมสมบูรณ์

พิธีนี้มาจากพิธีของศาสนาผีโบราณที่เรียกว่า "นาตาแฮก" หรือการทำนาครั้งแรก ซึ่งในภาคเหนือและอีสานยังปรากฏผู้ทำกันอยู่
อย่างไรก็ตามผู้ที่ประกอบพิธีแรกนาขวัญกลับได้ชื่อว่า "พราหมณ์"

...และนี่เองเป็นจุดที่ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเข้ามามีพื้นที่ในสังคมไทย 


ศาสนาฮินดูนั้นมีหลักปรัชญาและธรรมะที่ลึกซึ้งมากมาย เช่นคัมภีร์อุปนิษัท แต่ไม่สามารถแย่งพื้นที่ธรรมะชั้นสูงจากศาสนาพุทธในไทยดังกล่าวไปแล้ว

สิ่งที่คนไทยรับจากฮินดูกลับเป็น "ชุดเทพเจ้า" เช่นพระนารายณ์, พระพิฆเนศ, หรือพระอินทร์

เทพเจ้าเหล่านี้มีเครื่องทรงงดงาม มีอาวุธร้ายกาจ มีสัตว์พาหนะดูสง่า เมื่อคนไทยรับมาเทียบกับผีพื้นบ้านเช่น ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี หรือ ผีนางตะเคียน ในใจก็จัดลำดับชั้นไปโดยอัตโนมัติว่าเทพฮินดูนั้นควรเหนือกว่า

เชื่อว่าแม้กษัตริย์ไทยจะนับถือศาสนาผี แต่เมื่อจะประกอบพิธีสำคัญๆ ก็ไม่อยากให้หมอผีทำเพราะดู "บ้านๆ" เกินไป แต่หากจะใช้พระสงฆ์มาทำก็ดูไม่เข้า ในที่สุดกษัตริย์ไทยจึงสร้างพราหมณ์ขึ้นมาเวอร์ชันหนึ่ง เพื่อให้ทำพิธีผี 


พราหมณ์ของไทยไม่เหมือนที่อินเดีย ไม่ได้มีระบบวรรณะ ไม่ต้องกินมังสวิรัต บางคนนับถือพุทธด้วยซ้ำ แต่ก็บูชาเทพฮินดูไปด้วย

พวกเขาเอาบทสวดมนต์ และองค์ประกอบอื่นๆ ของฮินดูมาใช้ในการทำพิธีผีหลายอย่าง

ในลักษณะนี้พื้นที่ของศาสนาฮินดูในไทย จึงเป็น "เครื่องแต่งกายอันสวยงาม" ให้กับศาสนาผีนั่นเอง 


ตัวอย่างอื่น เช่นจริงๆ พิธีโล้ชิงช้า หรือเรียกว่า "ตรียัมปวาย" นั้นไม่มีในอินเดีย แต่น่าจะเป็นประเพณีของศาสนาผีโบราณที่ใช้ทำขวัญให้ผืนดิน โดยยังหลงเหลืออยู่บ้างในวัฒนธรรมของชาวอาข่า

คำว่าตรียัมปวายเป็นชื่อที่แปลงจากบทขับร้องภาษาทมิฬนาม “ติรุเวมปาไว” ของนักบุญหญิง ว่าด้วยความรักที่ผู้หญิงมีต่อเทพเจ้า

พราหมณ์ไทยเอาบทสวดนี้มาใช้ในงานโล้ชิงช้า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน และไม่มีในอินเดีย 


อีกตัวอย่างคือ “ศาลพระภูมิ”

...คนไทยแต่โบราณเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งมีผีเจ้าที่ เลยต้องสร้างศาลเล็กๆ ยกสูงไว้ให้ท่าน

อย่างไรก็ตามในอาคารใหญ่ๆ เช่นห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมนั้น มักมีการทำศาลไว้สองศาล คือศาลเทพฮินดู และศาลเจ้าที่

ทั้งนี้คนไทยเชื่อว่า พระภูมิเจ้าที่นั้นมีศักดิ์ไม่พอจะมาเป็นเทพคุ้มครองสถานที่ใหญ่ๆ จึงนำเทพฮินดูมาประดิษฐานไว้ในที่ของพระภูมิ เมื่อนำมาแล้วก็รู้สึกเกรงใจพระภูมิเก่า เลยต้องสร้างคู่กันไว้สองศาล

อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ให้ความเห็นไว้ว่า “พระภูมิสำหรับผมคือ ผีหรือเจ้าที่ที่ถูก 'จับบวช' เป็นพราหมณ์นั่นแหละครับ” ที่อินเดียนั้นไม่ได้บูชาเทพเจ้ากันแบบนี้ 

ด้วยประวัติศาสตร์ดังกล่าวมา ไสยศาสตร์ในไทยจึงมักอิงศาสนาผี โดยมีการเอาเปลือกของพราหมณ์มาสวมในพื้นที่ๆ อยากให้หรูหราขึ้น

การกลืนกันนี้มีอยู่ตลอด บางทีก็มีการเอาเปลือกของพุทธมาใช้กับศาสนาผี เช่นคนไทยมักมิได้สวมพระเครื่องเพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่สวมเพื่อประโยชน์ทางโชคลาภ หรือความแข็งแกร่งที่พระเครื่องนั้นๆ ให้ ประหนึ่งว่าพระเครื่องแต่ละองค์เป็นเครื่องรางที่มีฤทธิ์แตกต่างกันนั่นเอง

หากพิจารณาดีๆ แล้วแง่มุมหลังนี้มิใช่คำสอนของศาสนาพุทธเลย 

ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ไทยเริ่มรับแนวคิดจากตะวันตก ทำให้เกิดกระแสว่า ศาสนาเก่า หรือศาสนาผสมผี-พราหมณ์-พุทธที่ยังมีการไหว้ต้นไม้ ไหว้จอมปลวกนั้น "ดูงมงายเกินไป"

หากคนไทยยังนับถือเช่นนี้ก็จะไม่สามารถต้านทานการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ หรือกระแสตะวันตกที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ได้

...ดังนั้นจึงเกิดกระแส "พุทธบริสุทธิ์" ขึ้นมา...

กระแสนี้รังเกียจว่าองค์ประกอบของผีกับพราหมณ์นั้นงมงายไม่ควรนับถือ ควรจะนับถือแต่พุทธเท่านั้น

ปัจจุบันมีชนชั้นกลางไทยเป็นจำนวนมากนับถือศาสนาพุทธตามกระแสดังกล่าว 

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่