*** เส้นเก้าขีด และข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลี ***

ท่านผู้อ่านดูข่าวต่างประเทศทุกวันนี้ คงจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ และ จีน กำลังแข่งขันกันอย่างหนักในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า, อุตสาหกรรม, เทคโนโลยี รวมไปถึงการแผ่ขยายอำนาจ โดยมีสมรภูมิหนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ “สมรภูมิทะเลจีนใต้”

สมรภูมิทะเลจีนใต้นี้ทับซ้อนอยู่กับหลายประเทศ เช่นเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ลากยาวไปถึงไทย (อ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้)

ทำไมทะเลจีนใต้ถึงเป็นจุดสำคัญที่หลายประเทศต้องการอยากได้มาครอบครอง? “เส้นเก้าขีด” ที่ถูกใช้มาเป็นประเด็นสำคัญในศึกนี้คืออะไรกันแน่? ทำไมสหรัฐฯ ถึงได้ยื่นมือเข้ามาแทรกแซงในบริเวณนี้? แล้วไทยมีส่วนกับมันอย่างไรไหม? เราจะมาค้นคำตอบนี้ไปด้วยกันนะครับ


*** ความสำคัญของทะเลจีนใต้ ***

ทะเลจีนใต้ถือว่ามีความสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญที่มีรายได้หมุนเวียนกว่า 3.37 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (สถิติปี 2016), ใช้ขนส่งก๊าซธรรมชาติเกือบ 40% ของโลก, อาหารทะเล 10% ที่ประชากรโลกกินก็มาจากตรงนี้

...อีกทั้งจากการสำรวจ คาดว่าในบริเวณนั้นเอง ยังมีแหล่งพลังงานอย่างก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจำนวนมหาศาล รวมไปถึงมีแร่แรร์เอิร์ธรอการขุดค้นอยู่


ภาพแนบ: แผนแสดงภาพที่ EEZ ของแต่ละประเทศ 

ด้วยประโยชน์มากมาย จึงไม่น่าแปลกอะไรหากหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, มาเลเซีย รวมไปถึงบรูไน จะต้องการแย่งชิงพื้นที่ทางทะเลและหมู่เกาะในบริเวณนี้มาเป็นของตัวเอง แม้พวกเขาจะมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones - EEZ) ระยะ 200 ไมล์ทะเลอยู่แล้วก็ตาม (พื้นที่ 200 ไมล์ทะเลนี้เป็นตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทะเล หรือ UNCLOS)

...อย่างไรก็ตามหากว่าตามความคิดของจีนแล้ว พื้นที่ดังกล่าวเป็นของจีนที่แหลมลึกไปมากมันมีที่มาอย่างไรกันนะ?….


ภาพแนบ: แผนที่เส้น 11 ขีด 

*** เส้นเก้าขีด ***

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นในฐานะผู้แพ้ต้องถอนกำลังออกจากทะเลจีนใต้ ทำให้รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ก๊กมินตั๋ง) สามารถนำเรือเข้ามาคุมพื้นที่ โดยในปี 1947 รัฐบาลก๊กมินตั๋งได้ตีพิมพ์ “แผนที่เกาะในทะเลจีนใต้” ซึ่งมีการลากเส้น 11 ขีดที่กินพื้นที่ในทะเลจีนใต้ไปเกือบหมด


ภาพแนบ: แผนที่เส้น 9 ขีด 

ต่อมา เส้น 11 ขีด ลดลงเหลือ 9 ขีด ในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (พรรคคอมมิวนิสต์) จากการตัดพื้นที่ตรงอ่าวตังเกี๋ยลง เนื่องจาก โจวเอินไหล ต้องการผูกมิตรกับเวียตนาม ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เหมือนกัน


จีนตกลงยอมรับอนุสัญญา UNCLOS ในปี 1992 กระนั้นกลับดำเนินการพยายามเป็นเจ้าของพื้นที่ในเขตเส้นเก้าขีดมาโดยตลอด ทำให้ต้องปะทะกับเวียตนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, บรูไน, ไต้หวัน โดยมีหมู่เกาะสำคัญในข้อพิพาทระหว่างประเทศคือ พาราเซล และ สแปรตลี 


แม้ประเทศทั้งหมด จะพยายามเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2011 เพื่อหาข้อตกลงให้ความขัดแย้งจบลง แต่จนถึงปีนี้ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปอันใด แถมจีนยังพยายามจะเคลมเกาะในทะเลไปเป็นของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่น ในปี 2012 จีนได้เพิ่มเส้นประที่ 10 เข้าไปตรงเกาะไต้หวัน นัยว่าไต้หวันก็เป็นของจีนนั่นเอง แถมยังออกพาสปอร์ตเวอร์ชั่นใหม่ ที่ภายในตีพิมพ์แผนที่ประเทศจีนแล้วรวมพื้นที่ทะเลจีนใต้ไปด้วย 


ปี 2013 ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนกับศาลโตตุลาการระหว่างประเทศ ในข้อหารุกล้ำพื้นที่ หลังพบว่าจีนนำเรือจำนวนมากเข้ามาใน EEZ ของฟิลิปปินส์

ศาลโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก ตัดสินในปี 2016 ว่า ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะ เพราะถึงจีนอ้างเส้นเก้าขีด แต่มันไม่เคยถูกยื่นเรื่องอนุมัติหรือชี้แจงอย่างชัดเจนเป็นทางการ

...อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลกรุงเฮกไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย จีนจึงไม่เคยออกมาอธิบายเรื่องเส้นเก้าขีดให้กระจ่าง เพิกเฉยต่อคำตัดสิน และยังดำเนินการครองพื้นที่ต่อไปนั่นเอง 



*** หมู่เกาะสแปรตลีและกำแพงทราย ***

หมู่เกาะสำคัญหนึ่งที่อยู่ในบริเวณจีนใต้คือ หมู่เกาะสแปรตลี แต่เดิมมีสิ่งมีชีวิตเพียงนกและเต่า ไม่มีคนอยู่อาศัย

แต่เนื่องจากมันมีทรัพยากรมาก ทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ เช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็มาตั้งฐานเรือดำน้ำ และเมื่อตอนก๊กมินตั๋งหนีมาไต้หวันในปี 1949 ก็ได้มาตั้งกองกำลังไว้บนเกาะ อิทู อาบา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสแปรตลีทั้งมวล จึงมีหลายประเทศแย่งชิงกันสืบมา 


ในปี 2013 จีนเริ่มเข้ามาสร้างรากฐานอำนาจในหมู่เกาะสแปรตลี โดยใช้วิถีเอาทรายถมเกาะที่มีอยู่แล้วให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งสร้างเกาะเทียมใหม่ๆ ขึ้นมา พร้อมดำเนินการปลูกอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่พักอาศัย, โรงเรียน, โรงพยาบาล, ฐานทัพทหาร, ป้อมสกัดมิสไซล์ ฯลฯ ทั้งยังติดตั้งระบบเครือข่ายสื่อสาร 5G และนำคนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นที่เรียบร้อย


พลเรือเอก แฮร์รี แฮร์ริส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำแปซิฟิก นิยามการเคลมที่ด้วยการถมและก่อสร้างของจีนไว้ในปี 2015 ว่า “กำแพงทรายเมืองจีน” (Great Wall of Sand) ล้อกับ “กำแพงเมืองจีน” (The Great Wall)


อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้คล้ายกับที่อิสราเอลพยายามกลืนเวสต์แบงค์ของปาเลสไตน์ยิ่ง ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดกลุ่มแบ่งแยกดินแดนตามมา
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนเคยให้ความเห็นไว้ว่า จากสถานการณ์ น่ากลัวความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ในทะเลจีนใต้ จะกลายเป็น “ปาเลสไตน์แห่งเอเชีย” ไปจริงๆ
 

*** ท่าทีของสหรัฐฯ ***

ตอนแรกสุดนั้น สหรัฐฯ ไม่ได้สนใจเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้ เพราะเพียงแต่ต้องการทำการค้าเสรี กระนั้นเอง หลังปี 2012 ที่จีนเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นของสีจิ้นผิง และสหรัฐฯ ได้บารัค โอบามา มาดำรงตำแหน่งอีกสมัย ท่าทีของทั้งสองประเทศก็เริ่มเปลี่ยนไป


ตั้งแต่ปี 2013 สหรัฐฯ ได้ส่งเรือเข้ามาลาดตระเวนบริเวณทะเลจีนใต้ โดยอ้างหลักเสรีภาพในการเดินเรือ (FONOP) ว่าเรือชาติไหนๆ หากไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็จะไม่ถูกขัดขวางในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2017 รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งเลิกการตระเวน เพราะต้องการคืนดีกับจีนเพื่อกดดันเกาหลีเหนือให้เลิกทดลองมิสไซล์ กระนั้นพอถึงฤดูร้อน สหรัฐฯ ก็ส่งเรือรบมาในบริเวณใกล้เคียงเช่นเดิม


...จีนมองการกระทำเหล่านี้ว่าเป็นการยั่วยุ เพราะเสรีภาพในการเดินเรือ ไม่ควรรวมเรือรบอย่างที่อเมริกาทำ
แถมครั้งไหนที่สหรัฐฯ ไม่เดินเรือเอง ก็จะมีเรือของชาติพันธมิตรอเมริกา เช่น ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส มา “แล่นผ่าน” อยู่เรื่อยๆ


*** สถานการณ์ในปัจจุบัน ***

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้พยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นคู่พิพาทเรื่องทะเลจีนใต้มาตลอด โดยใช้ไม้แข็ง คือเร่งถมที่ และเสริมกำลังทหารของตัวเอง

อย่างกรณีล่าสุดเมื่อ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา จีนส่งเครื่องบินรบ 25 ลำ บินผ่านเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันขอเปลี่ยนชื่อสำนักงานคณะทูตไต้หวันที่กรุงวอชิงตันฯ จาก “สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป” หรือ Tecro เป็น “สำนักงานชาติไต้หวัน” (Taiwan Representative Office) ซึ่งเน้นความเป็นชาติอธิปไตยของไต้หวัน ทำให้จีนไม่พอใจ


นอกจากนี้ จีนยังมีใช้ไม้อ่อน เช่น การทูตแบบวัคซีน หรือการสร้าง soft power ต่างๆ เช่น การสร้างซีรีส์, ทำบริการสตรีมมิ่ง หรือแอปลิเคชั่น TikTok ที่ฮิตกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง เพื่อให้คนรู้สึกดีกับจีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของจีนในสายตานานาชาติยังไม่ดีนัก นับตั้งแต่เริ่มทำสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ซ้ำยังปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด เหล่านี้เป็นสิ่งที่จีนต้องแก้ไข


เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา อเมริกา, อังกฤษ และออสเตรเลีย ได้รวมตัวกันตั้ง “พันธมิตรต้านจีน” ขึ้นมา ชื่อว่า AUKUS (ย่อจาก Australia, United Kingdom, United States)

โดยออสเตรเลียจะรับเทคโนโลยีจากอังกฤษ-อเมริกามาสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จำนวน 8 ลำ สำหรับคานอำนาจจีนโดยเฉพาะ ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยสร้าง Quad กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือระหว่าง อินเดีย-ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น-อเมริกา เพื่อต้านจีนเช่นกัน

ทั้งไม่นานมานี้ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นางกมลา แฮร์ริส ยังได้มาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคขึ้นในกรุงฮานอย

นอกจากนี้ ก็ยังมีการสร้างสถานทูตใหม่ อย่างในไทยเองก็มีทั้งที่ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ที่กำลังก่อสร้าง โดยสหรัฐฯ ได้กล่าวยกไทยเป็นศูนย์กลางดำเนินการระดับภูมิภาคเลยทีเดียว


*** สรุป ***

หลังศึกอัฟกานิสถานจบใหม่ๆ ผมเคยวิเคราะห์ว่าอัฟกานิสถานเหมือนหุ้นที่ไม่คุ้มในการลงทุน อเมริกาเลยยอมทิ้งหมากตัวนี้ แล้วหันไปลงทุนกับความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีพันธมิตรมากกว่า ทำให้มีโอกาสชนะมากกว่าตามหลักยุทธศาสตร์


จากการเคลื่อนไหวไม่นานมานี้ อะไรๆ ก็เริ่มชัดเจนขึ้น ว่าสหรัฐฯ เริ่มปรับกำลังมายังแปซิฟิกเพื่อกระชับวงล้อมจีน และเร่งสร้างอิทธิพลในภูมิภาค หลังจากที่ปล่อยให้จีนนำหน้าไปก่อน


ดังนั้น ไทยเองก็ต้องติดตามสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ให้ดี เพราะแม้จะยังไม่ได้ไปร่วมข้อพิพาทกับเขาโดยตรง แต่ก็คงถูกดึงเข้าไปเกี่ยวทางใดทางหนึ่ง ในฐานะของ “ศูนย์กลางดำเนินการระดับภูมิภาค” ของสหรัฐฯ และ “บ้านพี่เมืองน้อง” ของจีนนั่นเอง
::: อ้างอิง :::
- Territorial Disputes in the South China Sea cfr (ดอต) org/global-conflict-tracker/conflict/territorial-disputes-south-china-sea
- South China Sea Tensions cfr (ดอต) org/backgrounder/south-china-sea-tensions
- Resources in the South China Sea americansecurityproject (ดอต) org/resources-in-the-south-china-sea/
- Almost 40% of global liquefied natural gas trade moves through the South China Sea eia (ดอต) gov/todayinenergy/detail.php?id=33592
- Why is the South China Sea contentious? bbc (ดอต) com/news/world-asia-pacific-13748349
- South China Sea dispute: what you need to know about The Hague court ruling theguardian (ดอต) com/news/2016/jul/12/south-china-sea-dispute-what-you-need-to-know-about-the-hague-court-ruling
- Asean Chief: South China Sea risks becoming 'Asia's Palestine' edition (ดอต) cnn (ดอต) com/2012/11/28/business/south-china-sea-asia-palestine/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่