*** ประวัติศาสตร์ของตัวเรา ***

ท่านผู้อ่านที่อ่านบทความนี้ ตอนเด็กๆ เคยได้ยินคำสอนให้ตั้งใจเรียน ขยันทำงาน, เชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส, รักใคร่ญาติพี่น้อง (บางบ้านก็มีระบบที่เรียกว่ากงสี) หรือเคยถูกย้ำเรื่องบทบาทของเพศชาย-เพศหญิง โดยผู้ชายมักถูกมองว่าสำคัญกว่าไหม? เคยสงสัยหรือไม่ว่าคำสอนเหล่านั้นมาจากที่ใด?

...ท่านผู้อ่านที่รัก คำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนคลาสสิกของชาวจีน ดังนั้นคำถามที่แท้จริงคือ ท่านผู้อ่านมีเชื้อจีนกันไหมครับ?

ผมเองเป็นคนเชื้อสายจีนคนหนึ่ง ผมพบว่าตั้งแต่เรียนประถม, ต่อชั้นมัธยม, ต่อมหาวิทยาลัย, และเข้าทำงาน คนรอบข้างตัวผมแทบทั้งหมดล้วนมีเชื้อสายจีน จนผมสงสัยว่าพวกคนไทยแท้ๆ อยู่ที่ไหนกันนะ?

เมื่อเติบโตขึ้น ผมได้ศึกษาและพบว่าคนเชื้อสายจีนในไทยไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น คือมีเพียงประมาณ 9,300,000 คน หรือ 14% ของประชากรทั้งประเทศ แต่กลับเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะเป็นชนชั้นกลางกันเยอะ

ในทางมานุษยวิทยาแล้วพวกเราถูกเรียกว่า “Thai Chinese” จัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง

ที่ผ่านมานั้น ผมได้พูดถึงประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มามากแล้ว วันนี้จึงขอเล่าเรื่องประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองบ้าง

คนเชื้อสายจีนในไทย มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร? มีความแตกต่างจากคนเชื้อสายจีนในประเทศอื่นๆ อย่างไร?

พวกเรายังมีความเป็นจีนขนาดไหน? ณ วันนี้ มีพวกเรากี่ใช้ภาษาจีนในบ้าน? มีกี่คนที่ยังใช้ชื่อแซ่จีน? มีกี่คนที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน?

หากบรรพบุรุษของเราไปอยู่ประเทศอื่น พวกเราจะเป็นเช่นนี้ไหม? เหตุอันใดบ้างที่ทำให้พวกเราปริวรรตเป็นไปเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน?

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปดูเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทย, การกลืนกินทางวัฒนธรรม, และรากเหง้าที่ยังหลงเหลืออยู่นะครับ


*** แรกมีชาวจีนในเมืองไทย: “เสื่อผืนหมอนใบ” ***

รัฐไทยกับจีนมีการติดต่อมานานแล้ว หลักๆ ผ่าน “ระบบจิ้มก้อง” โดยจีนซึ่งมองตนเองเป็นชาติที่สูงส่งกว่าเผ่าอื่นทั้งหมด จะยอมแลกเปลี่ยนสินค้ากับเผ่าอื่นเพียงในนามการรับของบรรณาการ และการตอบแทนผู้ที่มาสวามิภักดิ์


ภาพแนบ: ภาพวาดจิ้มก้องในราชสำนักจีน

 แม้สิ่งนี้ดูเหมือนเป็นการกดเผ่าอื่นให้ต่ำกว่า แต่เนื่องจากของที่จีนตอบแทนมานั้นมีค่ามาก รัฐต่างๆ จึงมักแย่ง “สิทธิในการสวามิภักดิ์เพื่อจิ้มก้อง” นี้ โดยมีบันทึกว่าในยุคสงครามกลางเมืองญี่ปุ่น พวกขุนศึกถึงกับเคยรบกันเพื่อแย่งสิทธิจิ้มก้องจีน และไทยนั้นเคยแต่งสำเภาไป “แสดงการสวามิภักดิ์” จีนแบบรัวๆ จนจีนทนรายจ่ายไม่ไหวต้องขอจำกัดว่า “ให้สวามิภักดิ์แค่สามปีครั้งก็พอนะ”



ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ตรงกับราชวงศ์ชิง) ได้มีชาวจีนมาพึ่งบารมีเป็นอันมากโดยเห็นว่ากษัตริย์มีเชื้อจีน หลังจากนั้นในยุครัตนโกสินทร์ จีนได้ประสบกับปัญหาภายในหลายอย่าง เช่น ปัญหาความไม่สงบและปัญหาภัยข้าวยากหมากแพง ทำให้มีชายฉกรรจ์เดินทางไปแสวงโชคยังดินแดนต่างๆ เพื่อส่งเงินกลับไปจุนเจือครอบครัวตนเองที่บ้านเกิด

ชายเหล่านี้เข้ามาในลักษณะ “เสื่อผืนหมอนใบ” คือ เข้ามาแต่ตัว ไม่มีทรัพย์สมบัติ หรือมีก็น้อยมาก


ภาพแนบ: ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นสมัยอยุธยา ภาพจากละคร “บุพเพสันนิวาส” ทางช่อง 3

ไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นยังใช้ระบบศักดินาซึ่งแบ่งคนเป็นไพร่กับเจ้าอยู่ เมื่อคนจีนเข้ามาไทย เจ้านายไทยรู้สึกไม่ไว้วางใจพวกเขา จึงมิได้เกณฑ์คนจีนมาเป็นไพร่ (การสักเลกไพร่หรือเกณฑ์ไปใช้แรงงานปีละ 3-6 เดือนนั้น สมัยก่อนไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชน แต่เป็นความภูมิใจที่ได้รับใช้เจ้านาย)

รัฐไทยใช้วิธีเก็บภาษี ที่เรียกว่า “ผูกปี้ข้อมือจีน” แทน ซึ่งมีคำอธิบายว่าเป็นภาษีสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 5 ที่เรียกเก็บ 3 ปีครั้งในอัตราครั้งละ 1.5 บาท ต่อมาขยับเป็นครั้งละ 4.5 บาท แทนการเกณฑ์แรงงาน เมื่อจ่ายแล้วก็ใช้การผูกข้อมือด้วยด้ายแดงเป็นสัญลักษณ์ไว้ นอกจากเป็นการหาเงินเข้าคลังวิธีหนึ่งแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อนับยอดคนจีนในอาณาจักรอีกด้วย (แต่จะเลือกถูกเกณฑ์แรงงาน 1 เดือน หรือจะเลือกจ่ายในอัตราสูงกว่านี้เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกผูกข้อมือก็ได้)

สิ่งนี้กลับทำให้ชาวจีนมีอิสระมากขึ้น เมื่อประกอบกับนิสัยขยันสร้างเนื้อสร้างตัว และรู้จักทำมาค้าขาย ทำให้ชาวจีนจำนวนมากสามารถถีบตัวเองขึ้นมาเป็น “ชนชั้นกลาง” ในดินแดนที่เคยมีแต่ “ไพร่” กับ “เจ้า” สำเร็จ


ภาพแนบ: เยาวราช

ต่อมาพอชาวจีนมั่งมีมากขึ้นก็มีบางส่วนทำงานให้ราชการ โดยตำแหน่งขึ้นชื่อที่ชาวจีนหลายคนรับไป คือตำแหน่ง “เจ้าภาษีนายอากร” คือ ชาวจีนจะรับสัมปทานเก็บภาษีราษฎรจากรัฐบาล มีอำนาจเก็บเงินประชาชนเข้าหลวงตามที่ตกลง แต่สามารถเก็บมากกว่าที่สัญญากับหลวงแล้วเอาส่วนต่างเข้าตัวได้ ระบบนี้ทำให้คนจีนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลกันมาก และน่าจะเป็นสาเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้เคยเกิดกระแสความเกลียดชังจีนในเมืองไทย

ปัจจุบันมีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่ 9.3 ล้านคน หรือประมาณ 14% ของประชากรไทย (สถิติปี 2012) เรียกได้ว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศไทยสูงยิ่ง แผ่อิทธิพลครอบงำวงการธุรกิจ, การเมือง, แม้กระทั่งในหมู่ชนชั้นสูงในไทยก็มีการแต่งงานรับเชื้อสายจีนเข้ามามาก

ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียงได้แก่ เยาวราช กรุงเทพฯ, ตลาดซากแง้ว ชลบุรี, ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก ราชบุรี, ตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง อุทัยธานี, ปากน้ำโพ นครสวรรค์, กาดกองต้า ลำปาง, ย่านเมืองเก่าสงขลา, และ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นต้น


ภาพแนบ: พวกอั้งยี่ที่ถูกจับได้

ประวัติศาสตร์ชาวจีนโพ้นทะเลที่มีชื่อเสียงอีกหน้าหนึ่งคือเรื่อง สมาคมลับ “พรรคฟ้าดิน” (บางทีเรียก “ซานเหอ” หรือ “Triad” ในภาษาอังกฤษ) เป็นกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่ตั้งขึ้นมาแบบ “เจ้าพ่อ” เพื่อดูแลคนจีนด้วยกันที่อยู่ห่างบ้านห่างญาติมิตร เดิมสมาคมดังกล่าวตั้งขึ้นโดยมีอุดมการณ์ “โค่นชิงฟื้นหมิง” คือ การขับไล่พวกแมนจูออกไปแล้วตั้งราชวงศ์คนจีนขึ้นมาปกครองคนจีนด้วยกัน แต่ต่อมาอุดมการณ์ได้เจือจางลง กลายเป็นกลุ่มอิทธิพลที่รักษาผลประโยชน์ตนเอง


ภาพแนบ: การกินโต๊ะจีนในสมัยก่อนซึ่งมักตามมาด้วยการทำร้ายกันระหว่างอั้งยี่กลุ่มต่างๆ

 สมาคมนี้คนไทยเรียกว่า “อั้งยี่” บ้างมีส่วนในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้าฝิ่น หรือบางทีก็ขัดแย้งฆ่าฟันกันเองสร้างความวุ่นวาย ทำให้เกิดการกวาดล้างอั้งยี่ในเมืองไทยอยู่เป็นระลอกๆ โดยครั้งสำคัญเกิดในยุครัชกาลที่ 6 หลังพวกอั้งยี่ไม่พอใจนโยบายภาษีของรัฐบาล จึงบังคับให้ชาวจีนหยุดงานประท้วงนำไปสู่การปราบปรามอั้งยี่ในประเทศไทยจนแทบดับสูญ


ภาพแนบ: ภาพลานหลังศาลเจ้ากวนอู คุ้งสำเภา ภาพจากไทยพีบีเอส 

แต่มรดกของอั้งยี่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยคำว่า “อั้งยี่” ยังคงถูกใช้ในการเรียกสมาคมลับใดๆ ที่ตั้งตัวเป็นผู้มีอิทธิพล (ไม่จำกัดเฉพาะสมาคมคนจีน) และศาลเจ้าจีนหลายแห่งที่เคยเป็นศูนย์บัญชาการของอั้งยี่ก็ยังเหลือร่องรอยมีประตูลับเชื่อมไปยังห้องสำหรับฝึกอาวุธที่อยู่ด้านหลัง



*** วัฒนธรรมจีนในเมืองไทย ***

เมื่อคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาในเมืองไทยแล้ว ก็ได้นำเอาวัฒนธรรมจากบ้านเกิดติดตัวมาด้วย

อย่างที่ได้เกริ่นถามไปในตอนต้นว่า ท่านผู้อ่านเคยได้ยินคำสอนให้ตั้งใจเรียน ขยันทำงาน เชื่อฟังผู้ใหญ่ผู้อาวุโส หรือย้ำบทบาทของเพศชาย-เพศหญิงอย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะทั้งหมดนี้เป็นคำสอนแบบคนจีน มีแกนหลักเป็นชุดคำสอน “ขงจื้อ” ที่ผูกพันกับคนจีนมานาน จนแทบเรียกว่าอยู่ใน DNA 



สำหรับขงจื๊อนั้นเป็นนักปราชญ์ชาวจีนในสมัยชุนชิว หรือราชวงศ์โจวซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของจีน ผลงานเอกของเขาคือการเผยแพร่คำสอนในรูปห้าตำราคลาสสิก หรือ “อู่จิง” (มักถือกันว่าเขาเขียนเองหมดทุกเล่ม แต่นักประวัติศาสตร์ชั้นหลังมองว่าขงจื๊ออาจเป็นเพียงผู้แก้ไขรวบรวมตำราโบราณ) เขามักได้รับยกย่องเป็นนักคิดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลก และคำสอนของเขาได้หล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมร่วมแบบเอเชียตะวันออกทุกวันนี้ขึ้นมา 


ภาพแนบ: ศาลบรรพชนจีนและป้ายวิญญาณในสมุทรสาคร ภาพจาก visitsk

ขงจื๊อสอนให้คนดำรงตนกลมกลืนกับสังคม ทำหน้าที่ของตนในสังคมให้ดี มีความภักดีต่อชาติบ้านเมือง ในแง่นี้จึงถือว่าลัทธิขงจื๊อเอื้อให้คนจีนเป็นประชากรที่ดีของดินแดนที่ตนไปอยู่

ขณะเดียวกันขงจื๊อยังเน้นบทบาทครอบครัวเหนือปัจเจกบุคคล มีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างชัดเจนทั้งในด้านอายุ และเพศ โดยสอนว่าผู้ใหญ่นั้นมีฐานะเหนือกว่าเด็ก และผู้ชายมีฐานะเหนือกว่าผู้หญิง สิ่งนี้สะท้อนออกมาในรูปของการบูชาบรรพบุรุษตามสายบิดา, การสืบสกุลผ่านทางผู้ชาย, การให้สิทธิสามีเป็นใหญ่ในครอบครัว, และการกำหนดให้เด็กเชื่อเชื่อฟังพ่อแม่และผู้อาวุโสกว่า
 

ส่วนในด้านการศึกษาและธุรกิจ ค่านิยมที่ติดตัวคนจีนมาก็คือความขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ มีความประหยัดอดออม หมั่นแสวงหาความรู้ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้า

หากเทียบกับคนไทยแต่ดั้งเดิมแล้ว มีคำวิจารณ์ว่าคนไทยนั้นค่อนข้างเฉื่อยชา ขี้เกียจ เวลาจะทำอะไรมักจะต้องรอคำสั่งจากเจ้านายเสียก่อน ...ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการอยู่ในสังคมศักดินาที่คนส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้นไพร่และทาส ต้องสังกัดมูลนาย และไม่มีอิสระในการใช้ชีวิตของตัวเอง 


ภาพแนบ: ตัวละครเอกเรื่องซ้องกั๋ง 

 สิ่งนี้ทำให้ชาวจีนอพยพสามารถเลื่อนฐานะของตนได้ง่าย เมื่อมีโอกาส

...อย่างไรก็ตามลัทธิขงจื้อก็มีปัญหาในตัวเอง มักถูกวิจารณ์ในสังคมจีนเสมอมา
เช่น:

ในวรรณคดีเรื่องผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซานนั้น แม้ตัวเอกชื่อซ่งเจียงจะถูกระบบราชการอันฟอนเฟะกลั่นแกล้งมาตลอด แต่ในตอนท้ายกลับยังยอมรับใช้ราชสำนักอย่างมืดบอด เพราะเชื่อมั่นในวัฒนธรรมแบบขงจื้อเกินไป สุดท้ายก็ถูกราชสำนักทรยศจนต้องตาย

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่