*** เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีความสำคัญอย่างไร? ***

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีความสำคัญอย่างไร?

เร็วๆ นี้มีข่าวเรื่อง “การทำสัญญา AUKUS (ออกัส)” ใจความสำคัญคือสหรัฐและอังกฤษพร้อมถ่ายทอด “เทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” เพื่อสนับสนุนออสเตรเลียในการต่อเรือจำนวน 8 ลำ ทว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนบางส่วนเกี่ยวกับประเด็นนี้

หลักๆ คือคนอ่านข่าวนี้แล้วตีความผิดว่า “ออสเตรเลียจะจัดหาอาวุธนิวเคลียร์มาติดตั้งบนเรือดำน้ำ” ถือเป็นความคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะตัวเรือดำน้ำกับอาวุธที่ติดตั้งเป็นคนละอย่างกัน บทความนี้จะอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าว พร้อมให้คำตอบว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ (ที่ไม่เกี่ยวกับขีปนาวุธนิวเคลียร์) นั้นมีความสำคัญขนาดไหน เหตุใดจึงเป็นเหตุให้มหาอำนาจเช่นจีนรู้สึกถูกคุกคาม หากออสเตรเลียจะถือครองอาวุธชนิดนี้



*** เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แตกต่างจากเรือดำน้ำพลังงานดีเซลอย่างไร? ***

เราสามารถแบ่งประเภทของเรือดำน้ำออกเป็น 2 ประเภทคือ:

“เรือดำน้ำพลังงานดีเซล” เรือแบบนี้ใช้การทำงานผสานกันระหว่างเครื่องยนต์ดีเซลบนผิวน้ำ และมอเตอร์ไฟฟ้าเวลาอยู่ใต้น้ำ โดยปกติเรือดำน้ำพลังงานดีเซลสามารถดำน้ำได้ลึก 150-300 เมตร และทำความเร็วสูงสุดได้ราว 28-37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของระบบดังกล่าวคือความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานใต้ทะเล เนื่องจากเรือจำเป็นต้องทำการลอยลำขึ้นมาชาร์จพลังงานของมอเตอร์ไฟฟ้าหลังปฏิบัติการได้ในระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีที่เรียกว่า AIPS (Air Independent Propulsion System) ที่นำออกซิเจนเหลวซึ่งบรรจุอยู่ในถัง เป็นตัวช่วยในกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง เพื่อยืดระยะเวลาการปฏิบัติการให้ยาวนานขึ้น

แต่ถึงจะยืดระยะเวลาได้นานเช่นใด สิ่งนี้ก็ยังนับเป็นจุดอ่อน เพราะเป้าประสงค์หลักๆ ของเรือดำน้ำนั้นคือการใช้เพื่อให้มีความเคลื่อนไหวแบบไร้ร่องรอยตรวจสอบไม่ได้ การต้องขึ้นมาบนผิวน้ำเป็นระยะทำให้เกิดจุดอ่อน อาจถูกศัตรูโจมตีทำลายได้


ภาพแนบ: ภายในเรือ USS North Dakota เรือดำน้ำชั้น Virginia ของ ทร. สหรัฐ 

“เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” เรือชนิดนี้ขับเคลื่อนด้วยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก ที่สร้างความร้อนจนกลายเป็นไอน้ำแรงดันสูงเพื่อใช้ขับเคลื่อนแกนใบพัดภายในเรือ รวมถึงทำหน้าที่สร้างพลังงานให้กับกลไกเก็บพลังงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) บนเรือ

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีข้อดีคือมันสามารถล่องอยู่ใต้น้ำได้นานเป็นปีๆ โดยไม่ต้องขึ้นมาเหนือผิวน้ำเลย โดยถ้าจะขึ้นมานั้นก็มักเพราะอาหาร หรืออุปกรณ์อย่างอื่นหมดก่อนที่พลังงานจะหมด สิ่งนี้ทำให้มันเป็นอาวุธที่อันตรายมาก ตรวจสอบลำบากมาก และเป็นภัยคุกคามทางทะเลอย่างแท้จริง


ภาพแนบ: K222 หรือ Papa Class จากอสหภาพโซเวียตซึ่งสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 82.8 กิโลเมตรต่อ ชม. 
 
เรือดำนำพลังงานนิวเคลียร์มักจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าแบบพลังงานดีเซล เพราะต้องบรรทุกเตาปฏิกรณ์ มันจึงมักใช้รองรับกำลังพลจำนวนมากสำหรับการปฏิบัติภารกิจใต้ทะเลเป็นเวลาหลายเดือน เรือดำน้ำนิวเคลียร์ยังสามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 600 เมตรและสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 46-66 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือราวๆเท่าหนึ่งของเรือดำน้ำพลังงานดีเซล



ภาพแนบ: เรือดำน้ำชั้น Type 206 หนึ่งในเรือมือสองยอดนิยมจากเยอรมนี 
 
ดังนั้นหากเทียบประสิทธิภาพแบบหมัดต่อหมัดแล้ว… เรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ได้เปรียบทั้งเรื่องของระยะทำการ, ความต่อเนื่องในการปฏิบัติการ, และประสิทธิภาพการต่อสู้กับศัตรู อย่างไรก็ตามระบบขับเคลื่อนด้วยเตาปฏิกรณ์นั้นมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูงกว่ามาก ส่งผลให้มันกลายเป็นอาวุธที่ชาติมหาอำนาจเพียงหยิบมือมีใช้ขณะที่เรือดำน้ำดีเซลยังคงเป็นตัวเลือกของประเทศจำนวนมาก


ภาพแนบ: เรือดำน้ำชั้น Collin กระดูกสันหลังแห่งราชนาวีออสเตรเลีย ขณะฝึกร่วมกับสหรัฐ 

*** เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่เรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์? ***

ออสเตรเลียมีความต้องการเรือดำน้ำสำหรับภารกิจล่าสังหารที่ติดตั้งอาวุธเหมือนเรือปกติ แต่ต้องการเรือพลังงานนิวเคลียร์ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ได้ดีขึ้น


ภาพแนบ: เรือ USS Topeka ดำน้ำชั้น Los Angeles แนวหน้าของสหรัฐในเกาะกวม 

เรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีอยู่สองประเภทหลักๆ คือ เรือดำน้ำนิวเคลียร์ล่าสังหาร (SSN = Nuclear Attack Submarine) หมายถึงเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ และเรือดำน้ำนิวเคลียร์บรรทุกขีปนาวุธข้ามทวีป (SSBN = Ballistic Missile Nuclear Submarine) หมายถึงเรือดำน้ำบรรทุกขีปนาวุธข้ามทวีป)

โดยทั้งสองแบบมีหลักออกแบบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะเรือล่าสังหารนั้นเน้นความสามารถในการเล็ดรอดเข้าไปโจมตีเป้าหมายด้วยตอร์ปิโดหรือจรวดร่อนต่อเป้าหมายทั้งในทะเลและบนชายฝั่ง ก่อนจะหลบหนีการตามล่าจากกองเรือผิวน้ำด้วยความคล่องแคล่วทำให้มีระวางขับน้ำ (น้ำหนักของตัวเรือ) ต่ำกว่าเรือบรรทุกขีปนาวุธ



ภาพแนบ: เรือชั้น Xia หนึ่งในความภาคภูมิใจของกองทัพเรือปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA Navy) 
 
ขณะที่หลักการออกแบบเรือดำน้ำบรรทุกขีปนาวุธมักคำถึงความสามารถในการบรรทุก “ขีปนาวุธข้ามทวีป” ซึ่งมีขนาดใหญ่ (จะเป็นหัวรบนิวเคลียร์ หรืออย่างอื่นก็ได้) ทำให้เรือดำน้ำชนิดนี้มีความปราดเปรียวน้อยกว่าเรือล่าสังหารและไม่ตอบโจทย์ของกองทัพเรือออสเตรเลียที่ต้องการกองเรือดำน้ำขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในการคานอำนาจกับแสนยานุภาพทางทะเลของจีน


ภาพแนบ: เรือชั้นไต้ฝุ่นยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล ที่ปัจจุบันยังคงประจำการอยู่ในกองทัพเรือรัสเซีย 
 
เรือดำน้ำนิวเคลียร์บรรทุกขีปนาวุธข้ามทวีป (SSBN) ถือเป็นนาวิกานุภาพที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชาติมหาอำนาจ

มันมักถูกนำมาใช้ในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อคานอำนาจกับศัตรูบนเวทีระหว่างประเทศเช่นเดียวกับขีปนาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นหน้าที่ของมันคือการซ่อนเร้นใต้ความลึกของมหาสมุทรเพื่อรอคำสั่งการโจมตีประหนึ่ง “ไพ่ตาย” ที่ถูกเก็บไว้เป็นตัวเลือกท้ายๆในการทำสงคราม

กล่าวได้ว่ามีเพียงประเทศระดับมหาอำนาจเท่านั้นที่สามารถครอบครองมัน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการต่อและค่าซ่อมบำรุงที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเรือแบบอื่นๆ นอกจากนี้ประเทศผู้ใช้งานยังต้องมีขีดความสามารถในการเข้าถึง “เทคโนโลยีการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ระดับสูง” พร้อมกับการต่อเรือให้สามารถรองรับขีปนาวุธขนาดใหญ่ที่จะถูกบรรจุบนเรือและสามารถทำการยิงจากใต้ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ภาพแนบ: ภาพเปรียบเทียบจำนวนเรือดำน้ำบรรทุกขีปนาวุธของมหาอำนาจแต่ละประเทศ ที่เห็นมีมากกว่าจำนวนที่เขียน เพราะมีเรือดีเซลของจีนและเกาหลีเหนือปนมาด้วย
เครดิตภาพ: naval analyses 

โดยในปัจจุบันมีรายงานว่ามีเรือดำน้ำนิวเคลียร์บรรทุกขีปนาวุธข้ามทวีป (SSBN) ประจำการอยู่ในกองทัพเรือเพียง 6 ประเทศได้แก่:
- สหรัฐอเมริกา: กองทัพเรืออเมริกามีเรือดำน้ำชั้น Ohio ประจำการอยู่จำนวน 14 ลำ

- รัสเซีย: ประจำการด้วยเรือดำน้ำบรรทุกขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวน 12 ด้วยเรือถึง 3 ชั้นประกอบด้วยชั้น Borei จำนวน 4 ลำ, เรือดำน้ำเก่าชั้น Delta จำนวน 7 ลำ, และยักษ์ใหญ่แห่งท้องทหารอย่างเรือชั้น Typhoon อีกหนึ่งลำ

- จีน: ประจำการด้วยเรือดำน้ำชั้น Jin (Type 094) จำนวน 4 ลำ และชั้น Xia (Type 092) จำนวนหนึ่งลำรวมเป็น 5 ลำ

- อังกฤษ: เรือชั้น Vanguard จำนวน 4 ลำ

- ฝรั่งเศส: เรือชั้น Triomphant จำนวน 4 ลำ

- อินเดีย: เรือชั้น Arihant จำนวน 1 ลำ และอยู่ระหว่างการทดสอบอีกลำ



*** สรุป ***

เรือดำน้ำถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงที่สำคัญทางทะเล ที่สำคัญต่อการช่วงชิงความได้เปรียบมาเป็นเวลากว่าศตวรรษ แม้จะมีความแตกต่างกันในรูปแบบของพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อน, ขีดความสามารถในการปฏิบัติการ, รวมถึงจำนวนอาวุธ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรือดำน้ำทุกแบบถือเป็นเขี้ยวเล็บใต้สมุทรที่สามารถตรวจจับได้ยากและสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระ

หากมันอยู่ภายใต้การการควบคุมของนายทหารที่มีความสามารถ เขาจะสามารถใช้เรือดำน้ำเพียงลำเดียวสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับศัตรูเช่น กรณีของเรือยูเอสเอส อาร์เชอร์ฟิช (USS Archerfish) ที่สามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินชินาโน (IJN Shinano) ซึ่งถือเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำล่าสุดของญี่ปุ่นในปี 1944 ระหว่างทำการทดสอบในทะเล หรือเรือหลวงคองเคอเรอร์ (HMS Conquer) ที่สามารถจมเรือลาดตระเวณเบลการโน่ (ARA General Belgrano) จนอาเจนติน่าต้องถอนกองเรือผิวน้ำจากพื้นที่พิพาทใกล้กับหมู่เกาะฟอรค์แลนด์ในปี 1982 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของอาวุธชนิดนี้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน... เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า เรือดำน้ำสามารถถูกตรวจพบ, สกัดกั้น,และทำลายได้เหมือนอาวุธอื่นๆ แต่ต้องแลกมาด้วยการทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลหากต้องการจัดการมันอย่างมีประสิทธิภาพครับ 



::: ::: :::

อนึ่งถ้าสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ สามารถกดติดตามเพจ The Wild Chronicles ที่ The Wild Chronicles - ประวัติศาสตร์ ข่าวต่างประเทศ ท่องเที่ยวที่แปลก  facebook.com/pongsorn.bhumiwat
และถ้าสนใจตามผมใน Clubhouse สามารถเสิร์ชและ follow ไอดี Pup Pongsorn นะครับ หรือตามคลับ The Wild Chronicles ที่
https://www.clubhouse.com/club/the-wild-chronicles
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่