ย้อนรอย...กาเมร่าที่บินหายไป Gamera: 50th Anniversary

(ภาพโปรโมท Gamera: 50th Anniversary)

หลังร้องคำรามใน Gamera the Brave (2006) - เต่ายักษ์ กาเมร่า ก็หายไปจากโลกภาพยนตร์เป็นเวลาหลายปี 

กระทั่งคาโดคาวะ พิคเจอร์ส ผู้ถือสิทธิการสร้าง/จัดจำหน่ายหนัง Gamera ลุกขึ้นมาฉลองครบรอบ 50 ปี กาเมร่าอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการนำหนังสั้นเรื่องพิเศษไปเปิดโชว์ภายในงาน New York Comic-Con 2015 พร้อมกับเปิดเวบไซต์ที่ทำให้แฟนหนังหลายคนเนื้อเต้น เพราะมันนำเสนอภาพของเต่ายักษ์ตัวใหม่ในรูปแบบซีจีไอ

"ผมคิดว่ามันคือหนังเวอร์ชั่นไพลอต เราสร้างมันขึ้นมาด้วยการคำนึงถึงสิ่งนั้น"

คัตสึฮิโตะ อิชิอิ (The Taste of Tea) ผู้รับหน้าที่กุมบังเหียน ให้คำจำกัดความแก่หนังกาเมร่าขนาดสั้น ซึ่งคำว่าไพลอตในวงการภาพยนตร์/ซีรีส์/โฆษณา หมายถึงสิ่งที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างหรือนำร่องสิ่งที่กำลังจะตามมา

"โดยพื้นฐานแล้ว เราคือทีมทำโฆษณา" อิชิอิ เล่าต่อ "มันเลยไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำหนังใหญ่ แต่ในครั้งนี้ จากจุดเริ่มต้นผมได้รับข้อเสนอเพราะมันเป็นหนังสั้นประมาณ 4 ถึง 5 นาที เป็นโครงการที่จะทำบางอะไรอย่างเพื่อฉายในนิทรรศการเทคนิคพิเศษ ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี"

(คัตสึฮิโตะ อิชิอิ)

คัตสึฮิโตะ อิชิอิ เป็นคนทำสื่อที่หลากหลายในญี่ปุ่นครับ เขาทำทั้งหนังคนแสดง , หนังอนิเมชั่น , และหนังโฆษณา 

อิชิอิเข้ามาร่วมงานกับคาโดคาวะด้วยความรักที่มีต่อหนังไตรภาค Gamera ยุคเฮเซ (1995-1999) รวมถึงหนังกาเมร่าภาคแรกสุดจากยุคโชวะ Gamera: The Giant Monster (1965) แต่ในขณะเดียวกัน อิชิอิก็ชื่นชอบหนังเทคนิคพิเศษสมัยใหม่

"ในบรรดาหนังสัตว์ประหลาด ผมชอบ The Host (2006) มากที่สุดนะ หนังสั้น Giant God Warrior Appears in Tokyo (2012) ก็ชอบ ผมต้องการความรู้สึกที่เหมือนจริงแบบใน The Host" 

นั่นจึงอาจทำให้เราไม่ต้องแปลกใจที่อิชิอิต้องการอัพเดตโลกของกาเมร่า ในจังหวะที่คาโดคาวะกำลังตีบตันไอเดียทำหนังกาเมร่า ตามคำบอกเล่าของอิชิอิ

"ดูเหมือนว่าคุณ ชินิจิโร อิโนอุเอะ (ซีอีโอของคาโดคาวะ) จะพยายามทำหนังกาเมร่ามาประมาณห้าปีแล้ว" 

(อิชิอิ ให้สัมภาษณ์นี้เมื่อปี 2015 นั่นแสดงว่าคาโดคาวะเคยจะปั้นหนังกาเมร่าเรื่องใหม่มาตั้งแต่ช่วงปี 2010

"แต่มันดูเหมือนยากที่จะเข้าใจความสำคัญของหนังสัตว์ประหลาดในยุคสมัยนี้ งานของคุณอิโนอุเอะเลยไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไหร่" 

เมื่อบทหนังเต่ายักษ์แบบมีฉากเด็กๆตะโกนเรียกหากาเมร่าเหมือนยุคโชวะ ไม่ดึงดูดใจอิชิอิ เมื่อนั้นโปรดิวเซอร์กาเมร่าแห่งคาโดคาวะ สึโยชิ คิคุจิ เลยแนะนำให้อิชิอิคิดใหม่ทำใหม่ไปเลย

"ผมเลยตัดสินใจทำให้มันเป็นเวอร์ชั่นไพลอตสำหรับการพัฒนาเป็นหนังในอนาคต เหมือนกับว่าผมได้สร้างตัวละครหลักและสัตว์ประหลาดขึ้นมาในระหว่างคิดเนื้อเรื่อง" อิชิอิ เผย ในขณะเดียวกันอิชิอิก็ยังรักษา 'กาเมร่าเป็นพันธมิตรกับเด็ก' เอาไว้ 

"เราพูดถึงการเล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายผู้รอดชีวิต (ในโลกที่มีสัตว์ประหลาดเหมือนกับว่าผมจะเริ่มปั้นเรื่องขึ้นมาจากตรงนั้น โดยแบ่งครึ่งเรื่องแรก เป็นฉากย้อนอดีตของพระเอก กับครึ่งเรื่องหลังที่มีพัฒนาเหมือนบทสรุป" 

(ภาพจากหนังสั้น Gamera: 50th Anniversary)

แล้วเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้กาเมร่า 2015 ออกมาทันสมัยและมีราคาเหมาะสมสำหรับงบประมาณกับตารางงานคือ เทคนิคซีจีไอที่สมจริงด้วยการจำลองทางฟิสิกส์ พร้อมกับรักษากลิ่นอายของอนิเมชั่นทำมือ

"กับคนที่เคยดูเห็นหนัง Godzilla เวอร์ชั่นฮอลลีวู้ดมาแล้ว (2014) ผมคิดว่าเทคนิคพิเศษกับชุดยางแบบดั้งเดิม มันจะไม่ทำให้ผมรู้สึกเซอร์ไพรส์นะ ดังนั้น ผมเลยต้องสร้างสัตว์ประหลาดอย่างกาเมร่าในหนังเรื่องนี้ด้วยเทคนิค 3DCG เต็มรูปแบบ" อิชิอิ ประกาศกร้าว

กาเมร่าซีจีไอนี้ เริ่มต้นสร้างขึ้นมาจากงานออกแบบบนหน้ากระดาษของ ทาคุมิ ทันจิ ที่เริ่มต้นการดีไซน์ด้วยกระดองเต่าที่ดูแข็งแกร่งและดุร้าย 

(ภาพออกแบบของทาคุมิ ทันจิ)

ก่อนจะส่งต่อให้ มิกิ ทาคาฮามะ ศิลปินผู้เคยมีผลงานในหนัง Gamera ยุคเฮเซ ปั้นเป็นโมเดลขึ้นมา กระทั่งทีมงานนำโมเดลต้นแบบที่ทาคาฮามะสร้างไว้ ไปแปลงเป็นโมเดล 3DCG 

โดยกำหนดความสูงใหญ่ของกาเมร่าไว้ที่ 65 เมตร หลังจากอิโนอุเอะร้องขอให้กาเมร่าสูง 100 เมตร แต่ผู้กำกับศิลป์ ยูจิ สึซึกิ ท้วงติงว่าถ้ากาเมร่าใหญ่ขนาดนั้น มันจะยืนบนถนนโตเกียวไม่ได้เลยนะ 

"ก็อดซิลล่าเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ด (2014ก็เท่อ่ะนะ" อิชิอิ เปรียบเทียบ "แต่ด้วยความสูงขนาดนั้น (108 เมตรมันทำให้ไม่มีความรู้สึกว่ามีคนคั่นอยู่ระหว่างก็อดซิลล่ากับตึกเลย แล้วมันก็ค่อนข้างใหญ่เกินไปในแง่ของการสร้างด้วยมั้งนะ" 

(โมเดล 3DCG กาเมร่า)

นอกจากนี้ในหนังยังมีฝูงกาออสที่สร้างบาดแผลด้านจิตใจให้ตัวละครเด็กชาย รวมถึงสัตว์ประหลาดไร้ชื่อในตอนท้ายเรื่อง 

"ผมอยากให้สัตว์ประหลาดตัวใหม่สร้างการเคลื่อนไหวที่ลึกลับจนไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ เป็นศัตรูที่ทรงพลังกว่า ดังนั้น ตัวละครเลยต้องลุกขึ้นสู้" ผู้กำกับ บอกพร้อมกับเสียงหัวเราะ 

ส่วนฉากหลังที่เป็นเมืองก็สร้างด้วยซีจีไอเป็นหลัก ผสมกับช็อตคนแสดงที่ถ่ายกับกรีนสกรีน 

(การโจมตีของสัตว์ประหลาดลึกลับ)

ย้อนกลับไปในวันที่หนังสั้นเรื่องนี้ออกฉายที่ New York Comic-Con 

ผู้กำกับอิชิอิ พร้อมด้วยอิโนอุเอะและคิคุจิที่บินไปโชว์ตัวที่นั่นด้วย พวกเขาต่างก็ให้สัมภาษณ์แบบมีนัยว่ากาเมร่าเป็นตัวละครทรงคุณค่า มันสำคัญยิ่งสำหรับค่ายคาโดคาวะ และมันจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

(ภาพบนซ้ายสุด จากซ้ายไปขวา คิคุจิ , อิชิอิ , อิโนอุเอะ ที่  New York Comic-Con)
ทว่าหลังจากนั้น โปรเจ็คหนังกาเมร่าเรื่องใหม่ที่เหมือนจะมีการวางแพลนไว้จากอิชิอิ ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวอีกเลย และยังคงนิ่งเงียบมาจนถึงปัจจุบัน ราวกับกาเมร่าได้บินหายไป เหลือทิ้งไว้เพียงเวบไซต์ที่ยังเข้าเยี่ยมได้ (http://www.gamera-50th.jp/)

พวกเขาอาจติดขัดเพราะด้วยทุนสร้าง , เงื่อนไขการทำงาน , หรือกำลังค้นหาวิธีการนำเสนอกาเมร่าที่ใช่สำหรับโลกยุคปัจจุบัน
แต่อย่างน้อย 50 ปีของกาเมร่า ก็เคยทำให้พวกเราตื่นเต้นและพาเราจินตนาการไปไกลกับเจ้าเต่าไฟบินด้วยหนังสั้นของอิชิอิ

ชมหนังสั้น Gamera: 50th Anniversary 


ติดตามอ่านข่าวสารและเบื้องหลังหนังชุด Gamera และ Godzilla จากผมได้ที่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่