*** เป็นจีน หรือไม่จีน? การแสวงหาตัวตน และอนาคตของไต้หวัน ***

เป็นจีนหรือไม่จีน?: การค้นหาตัวตนและอนาคตของไต้หวัน

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องประกาศแยกตัวเป็นเอกราช เพราะสถานะของไต้หวันถือเป็นรัฐเอกราชในตัวเองอยู่แล้ว”

นี่เป็นหนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่เรียบง่ายแต่หนักแน่นของประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน ต่อผู้สื่อข่าวบีบีซี หลังกุมชัยชนะในการเลือกสมัยที่สอง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมย์อันแน่วแน่ที่จะดำรงไว้ซึ่งความอิสระของสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวันจากอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ยื่นคำขาดให้ไต้หวันกลับมารวมกับแผ่นดินใหญ่ภายในปี 2049 หรือต้องเสี่ยงเผชิญหน้ากับการรุกรานทางทหาร

...แน่นอนว่านีไม่ใช่การกดดันทางการทูตครั้งแรกที่เกิดขึ้น หลังไต้หวันสูญเสียที่นั่งในสหประชาชาติเมื่อปี 1979 และการยอมรับใน “ข้อตกลงจีนเดียวปี 1992” อย่างไม่เต็มใจ…

นี่กลายเป็นคำถามในปัจจุบันว่า… ไต้หวันนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่? และดินแดนขนาดเล็กแห่งนี้จะจัดการกับสถานะความเป็นชาติที่ถูกนานาประเทศปฏิเสธได้อย่างไร?

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ทาง The Wild Chronicles จะนำทุกท่านกลับไปสู่ห้วงเวลากว่า 72 ปีแห่งการพัฒนาชาติ ซึ่งเริ่มต้นจากการเคยตกเป็นอาณานิคมของฮอลลันดา, จีนยุคราชวงศ์, และญี่ปุ่น รวมถึงภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์และการปกครองอันกดขี่ของเผด็จการก๊กมินตั๋งนานกว่า 42 ปี (1945-1987) จนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยท่ามกลางการกดดันจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งผลักดันให้ไต้หวันต้องพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับในสังคมโลก

อนึ่งบทความนี้เป็นตอนที่สามในซีรีย์ “ประวัติศาสตร์ไต้หวัน” หากผู้อ่านท่านใดต้องการจะทำความรู้จักจุดกำเนิดและช่วงเวลาที่สำคัญของไต้หวันสามารถติดตามจากบทความตอนที่ 1 “กำเนิดไต้หวัน” และตอนที่ 2 “ความน่าสะพรึงสีขาว” จากลิงค์ท้ายบทความได้เลยครับ



.*** จุดเริ่มต้น ***

หลังความพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์นับครั้งไม่ถ้วน ส่งผลให้จอมพลเจียงไคเช็กตระหนักว่าควรอพยพกำลังส่วนที่เหลือข้ามช่องแคบไปยังหมู่เกาะข้ามช่องแคบ โดยเลือกไต้หวันเป็นพื้นที่หลักในการระดมกำลังและรอคอยเวลาที่จะยกทัพกลับไปยังแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากเกาะดังกล่าวมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเช่นโรงไฟฟ้า, เขื่อน, สถานีรถไฟ, พื้นที่เกษตรกรรม, รวมถึงเมืองท่าพาณิชย์ขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ “เกาสง” และ “จีหลง” ซึ่งถูกสร้างโดยญี่ปุ่น แม้สถานที่เหล่านี้จะได้รับความเสียหายจากการโจมตีของสัมพันธมิตรในช่วงปลายสงครามก็ตาม


ภาพแนบ: บุคลากรของมหาวิทยาลัยไทโฮคุซึ่งเป็นมหาลัยชั้นนำบนเกาะฟอร์โมซา

นอกจากนี้ชาวไต้หวันซึ่งเป็นคนท้องถิ่นจำนวนมากยังได้รับการศึกษาภาคบังคับทั้งสายสามัญและสายอาชีวะ รวมถึงกลุ่มอาชีพเฉพาะทางอาทิแพทย์, นักกฎหมาย, และวิศวกร เมื่อรวมกับกลุ่มปัญญาชน, เจ้าของกิจการ, และผู้มีฐานะอีก 1.5 ล้านคนที่อพยพหนีไฟสงครามจากแผ่นดินใหญ่ ส่งผลให้ไต้หวันมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมากในการสร้างชาติ


ภาพแนบ: ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (ใส่สูท) ขณะเยี่ยมเยือนไต้หวันในต้นยุค 60 

*** การพัฒนาภายใต้เงาเผด็จการ ***

อย่างไรก็ตามพรรคก๊กมินตั๋งได้เล็งเห็นว่าการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วและรุดหน้าที่สุดคือการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ในบ้านเมืองและเข้าควบคุมปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เพื่อมอบอำนาจให้กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดเข้ามาจัดการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกับพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศโดยมีผู้สนับสนุนสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาที่มอบเงินช่วยด้านเศรษฐกิจคิดเป็นมูลราว 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อประชากร (GDP)ในเวลานั้นและมอบสถานะสมาชิกมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ให้เป็นหลักประกันถึงการมีตัวตนของ “สาธารณรัฐจีน” ต่อประชาคมโลก


ภาพแนบ: รูปปั้น ดร. ซุนยัตเซน บิดาแห่งการปฏิวัติจีน

ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะปลูกฝังปรัชญาไตรราษฎร์ หรือ “สามหลักการแห่งประชาชน” ของ ดร. ซุนยัตเซน ซึ่งประกอบด้วยหลักชาตินิยม, หลักการให้สิทธิประชาชนเป็นผู้ปกครอง, และหลักการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชน อันเป็นความพยายามจะสร้างค่านิยมแบบแผนดินใหญ่ให้กับคนในไต้หวัน ซึ่งถูกแทรกแซงโดยวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก่อน (จนแนวคิดดังกล่าวกลายเป็นพื้นฐานของสามัญสำนึกภาคประชาชนที่หันกลับมาเล่นงานรัฐบาลในเวลาต่อมา!)



แม้ว่าแผนการพัฒนาดังกล่าวจะได้รับการยอมรับว่ามีคุณูประการที่สำคัญต่อการวางรากฐานประเทศ… แต่ในทางกลับก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของเจียงไคเช็กนั้น… “ต้องการสร้างไต้หวันให้เป็นพื้นที่ใต้การปกครองของสาธารณรัฐจีน มากกว่ายอมรับความเป็นไต้หวันในฐานะประเทศที่มีรากเง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง”


ภาพแนบ: การพบกันระหว่าง เฮนรี่ คิสซิงเจอร์กับโจวเอนไหล 

*** นโยบายของสหรัฐฯต่อไต้หวัน ***

ในช่วงแรกสหรัฐฯ ถือเป็นผู้สนับสนุนหลักในการป้องกันเกาะไต้หวันภายใต้สนธิสัญญาการป้องกันประเทศร่วมหรือ Sino-American Mutual Defense Treaty ในปี 1954 นอกจากนั้นสหรัฐยังให้เงินทุนสนับสนุนและการรับรองสถานะในเวทีสหประชาชาติ

หากเมื่อโซเวียตแตกกับจีนทำให้สถานการณ์สงครามเย็นเปลี่ยนไป สหรัฐฯ ได้ฉวยโอกาสนี้ทำการเบนเข็มไปผูกมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1960 โดยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ส่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ พร้อมคณะไปเยือนรัฐบาลในกรุงปักกิ่งอย่างลับๆ



ภาพแนบ: ภาพกรุงไทเปในช่วงยุค 60
 
เมื่อรัฐบาลไต้หวันเริ่มรู้ว่าตนเองกำลังถูกเล่นงานจากนโยบายผูกมิตรจีนเพื่อปิดล้อมโซเวียตของสหรัฐฯ ทำให้เกิดความพยายามพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภายในประเทศที่แต่เดิมเคยถนัดผลิตแต่สินค้าคุณภาพต่ำเพื่อให้สามารถยืนหยัดได้อย่างเข้มแข็ง โดยไต้หวันประสบความสำเร็จในปรับปรุงการผลิตสินค้าส่งออกสำหรับแข่งขันในตลาดสากลภายในเวลาเพียง 5 ปี (1960-1965) จนสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมาได้เป็นอันมาก


ภาพแนบ: มติการยอมรับจีนเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 1972

แม้กระนั้นฝันร้ายของไต้หวันกลับกลายเป็นจริงเมื่อสหประชาชาติหันมายอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ก่อนที่ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน เดินทางเข้าคารวะประธาน เหมาเจ๋อตุง ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1972 เพื่อผลักดัน “การทูตข้ามค่าย” จนส่งผลให้ประเทศสมาชิกโลกเสรีอื่นๆ หันมาสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับทางแผ่นดินใหญ่ตาม ขณะที่ประเทศยุโรปมองว่าการมีจีนไว้คานอำนาจกับสหภาพโซเวียตที่เป็นภัยคุกคามในภูมิภาคให้ประโยชน์มากกว่าการปกป้องไต้หวันที่อยู่ห่างไกลพวกเขา จึงทยอยยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันด้วย

....จนท้ายที่สุดประเทศสมาชิกสหประชาชาติกว่า 2 ใน 3 ได้ลงมติผ่านข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 2758 (UN Assembly Resolution 2758) ให้ยกเลิกสถานภาพ “สาธารณรัฐจีน” ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติของไต้หวันอย่างเป็นทางการในปี 1979...


ภาพแนบ: เจียงจิงกว๋อเยือนสหรัฐ

*** ความเปลี่ยนแปลงจากภายใน ***

เมื่อไร้หัวเรือใหญ่คอยค้ำจุนผลประโยชน์ รัฐบาลเผด็จการของไต้หวันจึงพยายามทบทวนการบริหารภายใน เพื่อลดความไม่พอใจของประชาชนด้วยการหันกลับมาพัฒนาระบบคมนาคมและการเกษตร โดยมอบหมายให้บุตรชายของเจียงไคเช็กอย่าง เจียงจิงกว๋อ ผู้สำเร็จการศึกษาจากสหภาพโซเวียตและมีแนวคิดการปฏิรูปสังคมแบบสังคมนิยมแบบเเข็งขันมากุมบังเหียนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ


ภาพแนบ: รูปปั้นจำนวนมหาศาลที่เคยประดับรอบเกาะไต้หวัน ที่รัฐบาลขนมารวมกันในสุสานตระกูลเจียง

ภายหลังจากที่เจียงไคเช็กเสียชีวิตในปี 1975 ประธานาธิบดีเจียงจิงกว๋อได้พยายามลดความแข็งกร้าวของระบอบเผด็จการที่พุ่งเป้าไปยังการทำสงครามกับจีน มาเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับไต้หวันบนเวทีสากล

เขาตัดสินใจประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกของไต้หวันไปในปี 1987 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคแห่งความหวาดกลัวจากอำนาจเผด็จการที่ครอบงำไต้หวันมาถึง 38 ปี


ภาพแนบ: มอริส จาง ผู้ผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ของไต้หวัน

*** ปาฏิหาริย์แห่งไต้หวัน ***
ภายหลังประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก รัฐบาลไต้หวันพยายามผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทนำในการสร้างจุดยืนบนเวทีโลกด้วยการทาบทาม “มอริส จาง” นักธุรกิจชาวไต้หวันสัญชาติอเมริกาผู้มีประสบการณ์ในบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ มาสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังมีผู้เล่นจำกัดและไต้หวันมีแรงงานที่มีฝีมือจำนวนมากในราคาที่บริษัทผู้ผลิตพึงพอใจ


ภาพแนบ: TSMC บริษัทที่ผลิกโฉมเศรษฐกิจไต้หวัน


พวกเขาก่อตั้งบริษัท TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company เพื่อผลิตสินค้าดังกล่าวให้กับบริษัทชั้นนำของต่างประเทศ รวมถึงอัดฉีดค่าแรงมหาศาลประกาศรับสมัครพนักงานจากมหาลัยชั้นนำในต่างแดน ทำให้ชาวไต้หวันจำนวนหนึ่งตัดสินใจกลับมาทำงานในประเทศอีกครั้ง

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่รวดเร็วและชาญฉลาดนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าเฉลี่ยเติบโตปีละ 7.5 เปอร์เซ็นต์ และไต้หวันกลายสภาพเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกเรื่อยมา จนได้รับการเรียกขานว่าเป็นหนึ่งในสี่ “เสือเศรษฐกิจของเอเชีย” เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และฮ่องกง มาจนถึงปัจจุบัน



*** หลักการจีนเดียว ***
แต่แล้วมรสุมระลอกใหม่ก็ถาโถมใส่ไต้หวันอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลกรุงปักกิ่งใช้ความได้เปรียบใน “ข้อตกลงจีนเดียวปี 1992” (ซึ่งได้รับการยอมรับจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ทั้งหมด พร้อมกับชาติสมาชิกอื่นๆ มากกว่า 100 ประเทศ มาอ้างสิทธิความเป็นจีนกีดกันการค้ากับต่างประเทศของไต้หวัน
เรียกว่าช่วงที่ไต้หวันเติบโตกลับเป็นช่วงเดียวกับที่จีนแผ่นดินใหญ่เติบโตเหนือกว่า และธุรกิจบางส่วนของไต้หวันยังจำเป็นต้องพึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่อยู่… ทำให้รัฐบาลของไต้หวัน ณ เวลานั้นต้องพยายามพยุงประเทศฝ่าคลื่นลมด้วยความยากลำบาก 

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่