โลกยังคงวุ่นวาย สงครามใหญ่ยังคงห่างไกล แต่ไม่อาจเลี่ยงสงครามกัดกร่อน (Attrition warfare) ในทุกมิติ

แก้เบื่อเรื่องการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น

จากข่าวฝรั่งเศสเรียกทูตกลับจากออสเตรเลียและสหรัฐฯ จากกรณีรัฐบาลออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส...
อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/news/284404/ 
เป็นสัญญาณบอกว่าคู่ขัดแย้งคือ สหรัฐฯ กับ จีน จะยังไม่ทำสงครามใหญ่กันในเร็วๆ นี้ เหตุผลเพราะ
1. สหรัฐฯ ยังไม่พร้อมในการปรับพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการทำสงครามขนาดใหญ่ (ถึงแม้กำลังรบจะพร้อมก็ตาม)
2. จีนยังไม่พร้อมในเรื่องของพลังอำนาจทางทหารที่จะต่อกรกับสหรัฐฯ (ถึงแม้พื้นฐานทางเศรษฐกิจจะพร้อมมากกว่า)
3. ตาอยู่เช่นยุโรป หรือ รัสเซีย พร้อมสอดแทรกมาเป็นมหาอำนาจที่ทัดเทียมภายหลังสงครามไม่ว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะ หากสหรัฐฯ กับ จีน ทำสงครามกัน

แล้วทำไมสหรัฐฯ กับ อังกฤษ ถึงต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลีย ประเทศมหาอำนาจขนาดกลาง ที่มีประชากรเพียงแค่ 25 ล้านคน ทหารทั้งกองทัพ (ทุกเหล่าทัพ) มีไม่เกิน 80,000 คน ขนาดเศรษฐกิจก็ยังอยู่ในระดับเดียวกับเกาหลีใต้ มากกว่าไทยประมาณ 3 เท่าของ GDP ไทย แต่ยังห่างไกลจากญี่ปุ่นเกินครึ่ง เหตุผลที่พอจะมองเห็นนอกจากความเป็น Five Eyes ด้วยกันแล้ว คือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ มีพื้นที่เยอะ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่เลยระยะยิงของขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงพิสัยกลางของจีน (หากยิงจากแผ่นดินจีน ยกเว้นจะมาตั้งฐานยิงนอกประเทศ) ด้วยที่ตั้งของออสเตรเลียอยู่ไม่ไกลจากช่องแคบมะละกา ดังนั้นไม่แปลกใจเลยว่าทำไมออสเตรเลียจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถปฏิบัติการได้ยาวนานและในระยะไกลมากกว่าเรือดำน้ำแบบปกติที่เคยทำสัญญากับฝรั่งเศส และที่สำคัญ นอกจากออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคตแล้ว ออสเตรเลียยังเป็นจุดพักและซ่อมแซมเรือดำน้ำของสหรัฐฯ และอังกฤษในภูมิภาคนี้ที่จะปลอดภัยจากขีปนาวุธของจีนอีกด้วย

แต่กว่าออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ก็อีกหลายปี (คาดว่าไม่ต่ำกว่า 3 ปี) กว่าจะถึงเวลานั้น คงไม่มีใครคิดจะทำสงครามขนาดใหญ่หากยังไม่มั่นใจว่าจะชนะแบบเด็ดขาดแน่นอน

ข้างบนเป็นแค่เรื่องเกริ่นนำ แต่เนื้อหาจริงๆ จะเน้นเรื่อง (การ)สงครามกัดกร่อน หรือ Attrition warfare มากกว่า 

Attrition warfare ผมแปลว่า (การ)สงครามกัดกร่อน บางท่านอาจจะแปลว่า สงครามพร่ากำลัง ทั้งนี้ก็แต่สำนวนหรือคำที่จะใช้ สงครามกัดกร่อน เป็นลักษณะของการทำสงครามที่จะค่อยๆ ทำลายกำลังรบ ยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตรงข้ามจนไม่สามารถผลิตได้ทัน จนถึงจุดที่ทำให้พ่ายแพ้หรือต้องยอมแพ้ในที่สุด หลายคนอาจสงสัยว่าการทำสงครามก็มุ่งจะทำลายฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้ว มันแตกต่างกันอย่างไร คำตอบคือ สงครามกัดกร่อนจะไม่เน้นการทำลายอำนาจกำลังรบของฝ่ายตรงข้ามในครั้งเดียวหรือในจำนวนน้อยครั้ง แต่จะค่อยๆ ทำลายไปทีละนิดๆ จนฝ่ายตรงข้ามพังทลายลง จะยกตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติว่าเราต้องการทำลายตึกซักหลัง วิธีที่เร็วที่สุดที่จะทำให้ตึกพังลงมาคือการใช้ระเบิดวางไว้ที่ฐานรากและระเบิดลงในคราวเดียว ลักษณะแบบนี้หากเปรียบเทียบกับศัพท์ในทางทหารแล้วจะเรียกว่า Decisive victory หรือชัยชนะแบบเด็ดขาด  ในอีกทางหนึ่ง หากเราค่อยๆ ทุบเสาตึกทีละต้น ค่อยๆ ทุบผนังให้ร้าวไปทีละนิด จนสุดท้ายตึกก็พังทลายลงมาเหมือนกัน แบบนี้จึงคล้ายกับ สงครามกัดกร่อน หรือ Attrition warfare ในความหมายที่ผมใช้ในกระทู้นี้

ด้วยเวลาจำกัด ผมจะเขียนแบบเล่าเรื่อง เนื้อหาอาจจะไม่ได้ต่อเนื่องกันนัก ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้

ย้อนไปเมื่อในอดีต ครั้งที่โลกยังไม่แยกการทหารกับการเมืองออกจากกันอย่างชัดเจน จักรพรรดิที่เป็นผู้นำทางการเมืองยังเป็นผู้นำทางทหารออกไปรบ  ชัยชนะในการรบหมายถึงการชนะหรือพ่ายแพ้ของรัฐหรือประเทศเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่นในสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่สำสงครามขยายอำนาจไปทั่วยุโรป การแพ้ในยุทธการที่วอเตอร์ลู สงผลให้นโปเลียนพ่ายแพ้และหมดอำนาจในที่สุด 

เพราะสงครามผลาญทรัพยากร สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าไม่เว้นแม้แต่ประเทศผู้ชนะ ดังนั้นนักการทหารหลังจากสมัยนโปเลียนจึงพัฒนาเทคนิควิธีการวางแผนเพื่อให้ชนะสงครามได้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด เทคนิควิธีการเหล่านี้ถ่ายทอดต่อกันมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเริ่มต้นสงคราม ทุกประเทศได้นำหลักการเหล่านี้มาวางแผนการรบและหวังว่าจะชนะได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่อนิจจา เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะปืนกล และปืนใหญ่ เมื่อรวมกับลวดหนามและสนามเพลาะทำให้ทุกประเทศที่พยายามหา decisive victory แต่ก็ไม่เคยพานพบ จนสุดท้ายจึงได้ตระหนักถึง attrition warfare และฝ่ายที่ตระหนักถึงเรื่องนี้ก่อนใครเพื่อนคือฝ่ายของสัมพันธมิตรโดยกองทัพอังกฤษ และก็สามารถทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางต้องพ่ายแพ้ในที่สุด

อังกฤษตระหนักดีกว่าฝ่ายตนเองมีกองทัพเรือที่แข็งแกร่งกว่าจึงทำการปิดล้อมเยอรมัน ขณะเดียวกันในสงครามทางบก การรบปะทะในแต่ละครั้งจะมุ่งหวังการสังหารทหารเยอรมันให้ได้มากที่สุดโดยพยายามรักษาชีวิตทหารฝ่ายตนเองไว้ เมื่อประกอบกับการได้กำลังทหารจากสหรัฐฯ มาเพิ่มอีกนับล้านคน ฝ่ายมหาอำนาจกลางที่ไม่สามารถเกณฑ์กำลังทหารได้ทันจึงต้องยอมแพ้ในที่สุด

เมื่อมีการปิดล้อมโดยมุ่งเน้นในการปิดกั้นการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อใช้ในการทำสงครามของศัตรู มิติของการทำสงครามจึงขยายขอบเขตออกไปมากกว่าด้านการทหาร เกี่ยวพันกับเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และเรื่องทางเศรษฐกิจ คำว่ายุทธศาสตร์ หรือ strategy จึงไม่ใช่ใช้เฉพาะสำหรับการทำสงครามเท่านั้น เกิดนิยามคำใหม่เช่น Grand strategy (อังกฤษ) หรือ National strategy (สหรัฐฯ) ที่มองรวมถึงทรัพยากรทุกอย่างในทุกด้านของประเทศเพื่อให้ชนะฝ่ายตรงข้ามขึ้นมา

สงครามใหญ่ครั้งต่อมา (สงครามโลกครั้งที่ 2) เป็นการผสมระหว่าง decisive battles กับ attrition warfare และจบลงด้วย decisive victory ที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นเป็นชัยชนะที่เรียกได้ว่าเป็น decisive victory ไม่กี่ครั้งในสงครามยุคใหม่ 

เมื่อโลกเข้าสู่สงครามเย็นเราแทบจะไม่เห็น decisive victory เช่นนี้อีกเลย ทุกอย่างบ่งชี้ไปถึง attrition warfare ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลีที่ยังไม่สิ้นสุด สงครามเวียดนาม หรือ สงครามของสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ บทบาทของคู่ขัดแย้งขยายขอบเขตไปมากกว่าแค่การทำสงคราม ยังมีการต่อสู้กันในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นจุดที่ทำให้สหรัฐฯ เอาชนะสงครามเย็นและกลายมาเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลกหลังจากนั้น

หลังสงครามเย็น พลังอำนาจของสหรัฐฯ ยิ่งใหญ่จนไม่มีประเทศใดๆ ในโลกที่สามารถเอาชนะได้โดยการทำสงครามกับสหรัฐฯ โดยตรง ด้วยเหตุนี้การทำสงครามจึงเปลี่ยนไปเกิดเป็นสงครามการก่อการร้ายหรือการก่อความไม่สงบขึ้นมาเป็นแนวทางหลัก เมื่อสู้ตรงๆ ไม่ได้ เปลี่ยนเป็นค่อยๆ ทำลายกัดกร่อนฝ่ายตรงข้ามลงจนไม่คุ้มค่ากับการครอบครองก็แล้วกัน หลายภูมิภาคในโลกเต็มไปด้วยการก่อการร้ายตั้งแต่นั้น

อีกแนวคิดหนึ่ง เมื่อการทำสงครามมันสิ้นเปลืองทรัพยากร กระนั้นเลย การเอาชนะโดยไม่ต้องรบน่าจะละมุนละม่อนและประหยัดทรัพยากรมากกว่า การใช้ soft power เพื่อครอบงำประเทศต่างๆ โดยมหาอำนาจจึงเป็นสิ่งที่บรรดามหาอำนาจได้ทำอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กติกาประชาธิปไตยที่ถูกผลักให้เป็นระเบียบโลกในปัจจุบัน หากผู้แทนที่ถูกเลือกมานิยมมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง การจะครอบงำก็เป็นเรื่องง่าย หรือแม้หากผู้นำรัฐบาลไม่ได้นิยมประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น ก็เปลี่ยนเป็นใช้พลังอำนาจด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจด้านเศรษฐกิจ  อำนาจด้านข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่อำนาจด้านการทหาร ในการบีบบังคับให้ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตาม ทุกอย่างถูกใช้ในการวางแผนอย่างประสานสอดคล้องกัน เกิดเป็นแนวคิดของ Hybrid warfare ในปัจจุบัน

ที่น่าสังเกตุคือ attrition ถูกใช้ในแทบจะทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมุมสว่างของการเมือง การกัดก่อนหรือลดทอนจำนวนผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาและเพิ่มจำนวนผู้สนับสนุนของฝ่ายตนเอง ในด้านมืด การใช้เงินสนับสนุนกลุ่มต่อต้านเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพของรัฐบาล ก็ล้วนเป็น attrition ทั้งสิ้น

ในภาพใหญ่ การใช้ soft power บีบบังคับประเทศต่างๆ ให้เลือกข้างไม่ว่าจะเป็นฝั่งของพญาอินทรี หรือ ฝั่งของพญามังกร ก็ล้วนเป็น attrition อีกเช่นกัน ทุกแผนยุทธศาสตร์จะมุ่งเน้นในการลดทอนพลังอำนาจของฝ่ายตรงข้าม และเพิ่มพลังอำนาจของฝ่ายตนเอง หากถึงจุดที่ได้เปรียบเป็นอย่างมาก การเจรจาต่อรองก็จะง่ายดายขึ้น

สรุปแล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีสงครามใหญ่ โลกเราคงจะหลีกหนีไม่พ้น (การ)สงครามกัดกร่อน หรือ attrition warfare เป็นแน่แท้ attrition warfare เป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน จนกว่าจะเกิดสงครามอวกาศที่ตัดสินผลแพ้ชนะได้ในลักษณะของ decisive victory โดยไม่กระทบต่อทรัพยากรบนพื้นผิวโลกที่คาดว่าจะเป็นรูปแบบของการทำสงครามในอนาคต
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่