ประวัติศาสตร์การสร้างชาติ และอนาคตของชาติมาเลเซีย

64 ปี มาเลเซียได้ผ่านร้อนหนาวมาถึง 4 ชั่วอายุคนแล้วกับช่วงระยะหลังที่มาเลเซียต้องเผชิญกับวิกฤติหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง
ประวัติศาสตร์มาเลเซียไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่แหลมเดียวกัน ตรงที่ไม่เคยรวมเป็นอาณาจักรเดียวกันเหมือนไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา
ช่วงหนึ่งที่ชาวมลายูสามารถรวบรวมเป็นปึกแผ่นได้ก็คือยุคของอาณาจักรมะละกา ซึ่งเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมมลายูในปัจจุบัน รวมถึงศาสนาอิสลาม
ทว่าเมื่อมะละกาเสียเมืองให้กับโปรตุเกส แผ่นดินมลายูก็เกิดอาณาจักรใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมาก ทั้งที่อยู่ก่อนหน้า แตกแยกออกมา และเข้ามาในภายหลัง
ปัจจุบันมาเลเซียรวมกันเป็น 13 รัฐ ประกอบด้วยรัฐที่มีกษัตริย์ 9 รัฐ รัฐอดีตนิคมช่องแคบ 2 รัฐ รวมไปถึงรัฐในฝั่งตะวันออกอีก 2 รัฐที่ได้มาในปี 1963

สมัยอาณานิคม อังกฤษจัดการรวมรัฐอารักขา 4 รัฐ ประกอบไปด้วย เปราก์ สะลาโงร์ ปะหัง และ เนเกอรีซัมบิลัน กลายเป็นรัฐมลายูรวมในช่วงปี 1895
ภายหลัง อังกฤษได้ดินแดนปะลิส เกดะห์ กลันตัน ตรังกานูเข้ามาโดยสนธิสัญญาที่ทำกับสยามในปี 1909 รวมถึงยะโฮร์ที่ได้เข้าร่วมด้วยในภายหลัง
นอกจากนั้น ยังมีดินแดนปีนังและมะละกาที่เป็นอาณานิคมโดยตรง รวมไปถึงดินแดนบอร์เนียวเหนือและอาณาจักรซาราวะก์ที่ปกครองโดยรายาฝรั่ง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐรวมมลายู รัฐแยกทั้ง 5 รัฐ รวมไปถึงอาณานิคมช่องแคบ ได้รวมตัวเป็นสหพันธรัฐมลายู ปกครองได้ 9 ปีจึงเป็นเอกราช
วันที่ 31 สิงหาคม 1957 หรือเมื่อ 64 ปีที่แล้ว ตุนกู อับดุล ระห์มัน ได้ประกาศก้องว่า "เมอะเดอะกา!" 3 ครั้ง ท่ามกลางผู้คนประมาณ 20,000 กว่าคน

หลังจากประกาศเอกราชได้ 6 ปี ดินแดนบอร์เนียวเหนือ รวมถึงดินแดนของอาณาจักรซาราวะก์เดิม ถูกรวมกลายเป็นประเทศมาเลเซียมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ซูการ์โน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ไม่ยอมรับการผนวกดินแดนดังกล่าวที่ติดกับอินโดนีเซีย (ในชื่อ กาลิมันตัน) เข้ากับมาเลเซียตะวันตก
รัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งตอนนั้นอยู่ฝ่ายโลกม่านเหล็กโดยพฤตินัย ได้สนับสนุนการก่อกำเริบในบรูไนและกลุ่มคอมมิวนิสต์ในบอร์เนียวต่อสู้กับมาเลเซีย
แน่นอน มาเลเซียซึ่งมีโลกเสรีหนุนหลังมากกว่าเป็นฝ่ายชนะ ส่วนอินโดนีเซียนั้นพ่ายแพ้พร้อมกับอำนาจที่เสื่อมถอยของซูการ์โนในเวลาไม่นานนัก
ตั้งแต่นั้นมา ดินแดนทั้ง 11 รัฐในฝั่งตะวันตก และทั้ง 2 รัฐในฝั่งตะวันออก ก็อยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลในกรุงกัวลาลัมเปอร์มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวก็คือ มาเลเซียในปัจจุบัน มีโอกาสสูงที่บางรัฐนั้นจะแยกตัวออกไปโดยเฉพาะกับกลันตัน ยะโฮร์ และ 2 รัฐในฝั่งตะวันออก
กรณีของกลันตัน หากจะว่าสัมพันธ์กับเรื่องราวในชายแดนใต้เราก็คงไม่ผิด เพราะหลายท่านเองก็อาจจะได้ยินเรื่องราวหรือได้อ่านได้เห็นมาบ้างแล้ว
ส่วนยะโฮร์ มีกรณีฮึ่มๆ กันมาตลอดในช่วงหลัง โดยเฉพาะไม้เบื่อไม้เมาอย่างมหาธีร์ที่ซดเกาเหลากับทางราชวงศ์ของยะโฮร์มานานหลายสิบปีแล้ว
ส่วนกรณีของ 2 รัฐในมาเลเซียตะวันออก มีหลายกรณีที่สื่อแววว่าจะแยกตัวกันอยู่ในช่วงหลายปี โดยเฉพาะช่วงปี 2019 ที่มีเรื่องราวจนถึงขั้นขึ้นสภา
ทั้งนี้ เนื่องจากมาเลเซียเป็นสหพันธรัฐ การแยกตัวออกไปนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ที่ยากกว่าคือการแยกตัวแล้วจะอยู่รอดโดยไม่พึ่งพารัฐบาลจาก KL

ส่วนเรื่องรัฐบาลกลาง หากนับตั้งแต่ที่กลุ่ม PH โค่นล้มพรรคอัมโนแล้วตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ อันวาร์ อิบราฮีม ก็ถูกเพ่งเล็งว่าจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ตลอด
แต่สิ่งที่ทำให้ฝ่ายมลายูนิยมกลัวอันวาร์ก็คือ เขาเห็นทุกเชื้อชาติเท่าเทียมกันทั้งมลายู จีน อินเดีย ซึ่งเท่ากับว่าเขาเป็นอันตรายต่อนโยบายภูมิบุตรมาก
ดังนั้น หากจะว่าเหล่าพรรคที่มีความคิดเชื้อชาติมลายูนิยมโดยเฉพาะอัมโนหรือแม้แต่ตัวมหาธีร์เองจะไม่ไว้ใจอันวาร์เลยนั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก
เพราะว่ากันว่า การเป็นนายกฯ ของเขา จะทำให้นโยบายภูมิบุตรซึ่งผลักดันคุณภาพชีวิตและสิทธิชาวมลายูมานานถึง 50 กว่าปี ถึงขั้นดับสูญไปเลย
และนั้นเท่ากับว่า สิ่งที่เป็นทั้งกำแพงและเสาหลักของประเทศ อาจจะต้องพังทลายลงไปพร้อมกับความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นไปด้วยเช่นเดียวกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่