JJNY : เสียงจาก'ผู้ว่าฯปู-บิ๊กแจ๊ส-หมอสุภัทร-ผอ.รพ.สนามมธ.'│ชายติดโควิดดับคาห้องเช่า│“กงเต๊กวัคซีน”│ตลาดสารทจีนเงียบเหงา

เสียงจาก 'ผู้ว่าฯปู-บิ๊กแจ๊ส-หมอสุภัทร-ผอ.รพ.สนาม มธ.' ชี้ระบบราชการอุ้ยอ้าย สู้ไม่ทันสงครามโควิด
https://www.matichon.co.th/local/news_2897189
 
 
เสียงจาก ‘ผู้ว่าฯปู-บิ๊กแจ๊ส-หมอสุภัทร-ผอ.รพ.สนาม มธ.’ ชี้ระบบราชการอุ้ยอ้าย สู้ไม่ทันสงครามโควิด
 
ผู้ว่าฯปูชี้กฎระเบียบทำแก้โควิดช้า
 
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ฟังเสียงจากคนด่านหน้าสะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและดูแลผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งต้องเจอปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะระบบราชการที่มีขั้นตอนมากมาย จนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานมหกรรมสุขภาพออนไลน์ Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน เป็นวันที่สามผ่านแพลตฟอร์มสื่อในเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชนทีวี โดยมีกิจกรรม Health Talk Special หัวข้อ “เรื่องเล่าคนด่านหน้า เมื่อเสี้ยววินาทีคือชีวิต” นำโดยนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาคร พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
 
นายวีระศักดิ์กล่าวว่า เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อใหญ่ พยายามแยกคนติดเชื้อให้ออกมาจากคนปกติ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแต่ก็ถูกต่อต้าน และจากการลงพื้นที่ไปให้กำลังใจประชาชน ทำให้ตัวเองติดเชื้อจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชถึง 82 วัน แล้วยังมีเอฟเฟ็กต์ตามมาอีก
 
“ปัญหาเรื่องโควิดที่เห็นชัดเจนก็คือการตอบสนองหรือการแก้ไขที่ไม่ทันการ เช่น ความต้องการวัคซีนที่มีมาก นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาด้านระเบียบขั้นตอน ความยุ่งยากในการรับมือแก้ปัญหา หรือระบบที่ไม่ใช่ช้าเพียงหนึ่งก้าวแต่ช้าไปหลายก้าว อะไรที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ควรต้องมาก่อน ส่วนระเบียบนั้นเอาไว้ทีหลัง เรื่องความเป็นความตายของประชาชนต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง” นายวีระศักดิ์กล่าว และว่า บางสิ่งบางอย่างต้องยอมรับให้ได้ก่อน วันนี้เราต้องช่วยกันก้าวข้ามระเบียบไปก่อน ถ้าไม่ทำลัดขั้นตอนไม่มีการดำเนินการที่เร่งรัดก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเข้าใจว่าโควิดไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
 
“บิ๊กแจ๊ส” ซัด รบ.ไม่ทันสงครามไวรัส
 
พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า จ.ปทุมธานีติดกรุงเทพฯ มีนิคมฯนวนคร ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และมีชุมชนตามคลองต่างๆ ช่วงที่เริ่มระบาดก็พยายามทำทุกอย่าง ทำให้ตลาดพรพัฒน์เปิดได้เร็วที่สุด หรือช่วงที่เริ่มติดเยอะ ก็เร่งหาชุดตรวจแรพิดเทสต์ซึ่งรู้ผลภายใน 3-5 นาที มีความแม่นยำ 98.2% หากตรวจแล้วผลเป็นบวกก็ขอให้อยู่บ้าน นำรถไปฉีดพ่นยาให้ที่บ้าน มีการส่งสวอปซ้ำ แล้วส่งอาหาร จากนั้นเดินหน้าหาวัคซีน เวลานี้ได้มา 55,500 โดส เร่งฉีดให้ได้วันละ 10,000 คน เริ่มฉีดได้แล้ว 10 วัน
 
ความล่าช้าที่ไม่ทันไวรัสเพราะการจัดซื้อจัดจ้างนั้นช้า ใช้วิธีการแบบเดิมๆ ออกทีโออาร์ มีการตรวจรับ แต่ไวรัสมันแพร่ทุกวัน ทำไมรัฐบาลที่มีอำนาจออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำไมไม่รีบจัดซื้อจัดจ้างให้ทันสงครามไวรัส เวลานี้เราต้องเอาความจริงมาพูดกัน” นายก อบจ.กล่าว
 
รพ.สนาม มธ.หนัก “ผู้ป่วย-ศพ” ล้น
 
ผศ.นพ.ฉัตรชัยกล่าวว่า โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ตั้งเมื่อปีที่แล้ว สิ่งที่เริ่มทำเวลานี้คือพัฒนาศักยภาพในการดูแลคนไข้หนัก มีไอซียูความดันลบ ขยายเตียง ช่วงที่ตลาดพรพัฒน์ติดยังไม่เกินศักยภาพ ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกันไม่ใช่ตั้งโรงพยาบาลสนามแล้วจะจบในตัวเอง ทั้งหมดคือคนไข้โควิด เมื่อสีเขียวแย่ก็ต้องย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม การทำงานเชื่อมประสานกันในภาพใหญ่ไม่เห็นชัด
 
ผศ.นพ.ฉัตรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ มีปัญหาบุคลากร ตู้ใช้เก็บร่างไม่เพียงพอ ปัญหาโควิดเกินศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย ในแง่การดูแลจริงๆ ถือว่าเต็มศักยภาพ มีคนติดใหม่เยอะ คนไข้เสียชีวิตเยอะ ที่ต้องการได้รับการดูแลในโรงพยาบาลเยอะ บางทีก็ต้องตัดสินใจ คนไข้ที่อยู่ไอซียูแล้วหมดหวังก็ต้องพูดคุยกับญาติว่าต้องดูแลประคับประคอง แล้วพอเสียชีวิตก็เกิดปัญหาญาติไม่สามารถเอาคนไข้กลับบ้านได้ต้องฝากไว้ ก็ล้นอีก
 
อีกปัญหาคือบุคลากรเริ่มมีการติดเชื้อจากที่ทำงาน เมื่อถึงจุดที่เป็นการติดเชื้อในชุมชน ก็ยิ่งทำให้การติดเชื้อของบุคลากรเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น การจัดสรรวัคซีนก็ไม่มีความชัดเจน ถึงเวลาจริงก็ไม่มา การจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้ระบบราชการเป็นปัญหามากๆ แม้จะบอกว่าใช้เร่งด่วนได้ แต่ก็ติดตรวจสอบ อีกส่วนสำคัญเวลานี้ที่ทำให้เห็นแสงสว่างคือการรับบริจาคอย่างเตียงสนาม” ผศ.นพ.ฉัตรชัยกล่าว
 
“หมอสุภัทร” ย้ำระบบราชการอุ้ยอ้าย
 
ด้าน นพ.สุภัทรกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกที่กรุงเทพฯ รอบนี้เป็นครั้งที่ 3 พบปัญหาวัคซีนเข้าไม่ถึง ยกตัวอย่างชุมชนริมคลองสามเสน ทีมได้วัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว ฉีดวัคซีนให้กับคนในชุมชนนี้ประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นคนสูงอายุ ทั้งพิการและติดเตียง จากนั้นเป็นชุมชนลาดกระบัง มีคนมาตรวจโควิดซึ่งเขารู้ก่อนหน้าแล้วว่าติดด้วยการตรวจจาก ATK แต่มาขอตรวจ RT-PCR ซ้ำ เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ค่อยไหวแล้วมาขอตรวจเพื่อจะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ วันนั้นตรวจประมาณ 1,300 คน พบว่าติดโควิดประมาณ 200 คน
 
สรุปชัดเจนว่าด่านหน้า แม้แต่เพื่อนๆ ที่เป็นแพทย์ด่านหน้าในกรุงเทพฯ ก็รับไม่ไหวเพราะเตียงเต็ม คนเข้าไม่ถึงการบริการและการสวอบ เข้าไม่ถึงยาฟาวิพิราเวียร์เนื่องจากเข้าไม่ถึงการตรวจ เข้าไม่ถึงวัคซีน โดยความเหลื่อมล้ำคือโจทย์สำคัญของปัญหา ต่างจังหวัดก็มีปัญหาบ้าง แต่ยังไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ
 
นพ.สุภัทรกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอจากปัญหาที่ได้พบเจอนั้น คิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะระบบราชการเป็นอุปสรรค ขณะที่การระบาดและการกลายพันธุ์มีความรวดเร็ว แต่ระบบราชการอุ้ยอ้าย เชื่องช้า โรงพยาบาลรัฐต้องได้งบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเราอยากได้งบประมาณที่เป็นเงินสดแต่ก็ไม่ได้ ต้องเขียนเป็นโครงการ ต้องจัดซื้อตามรายการที่เคยเสนอเป็นโครงการ ขณะที่เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้มีรายจ่ายฉุกเฉิน เช่น พัดลม ห้องน้ำมีไม่เพียงพอต้องเสริม แต่ไม่มีงบประมาณเงินสด จึงต้องขอบริจาคจากประชาชนหรือพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น ซึ่งเขาก็ช่วยบริจาคเพราะอยากให้สถานการณ์ดีขึ้น
 
ชี้ทางรอดต้องกระจายอำนาจ
 
ถ้าจะรอดต้องกระจายอำนาจ ต้องได้วัคซีนที่มีคุณภาพให้เร็วที่สุด แม้แต่ชุด ATK ก็ต้องได้คุณภาพ เพราะถ้าไม่ได้คุณภาพ ยกตัวอย่างปัญหาเช่น ติดเชื้อโควิดแล้วแต่ตรวจแล้วผลออกมาว่าไม่ติด ก็มีโอกาสไปกระจายเชื้อให้คนอื่นต่อ” นพ.สุภัทรกล่าว
 
ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า ฝากถึงประชาชนคนไทยว่า ตนเชื่อในพลังของพี่น้องคนไทย นอกจากจะต้องขยันล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ฯลฯ สิ่งสำคัญที่สุดคือพลังที่อยู่ในข้างใน เพราะเคยเห็นพลังเหล่านี้มาแล้วจากการที่มีจิตอาสามาช่วยที่โรงพยาบาล มีคนช่วยบริจาค ปัญหาของโควิดไม่เพียงการแพร่ระบาด ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่มีความสาหัส อยากเห็นคนไทยช่วยกัน เช่น นายจ้างก็ต้องดูแลพนักงานให้ดีที่สุด สถานการณ์จะสาหัสอย่างไรก็ต้องช่วย อย่าปล่อยให้เขาต้องไม่มีข้าวกิน หรือเพื่อนบ้านที่ติดโควิดแล้วต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ก็อาจโทรไปถามไถ่ว่าเขาขาดหรือต้องการอะไรบ้าง เพราะอาจมีคนแก่ที่รอความช่วยเหลืออยู่
 

 
ชายติดโควิดดับคาห้องเช่า เพื่อนเอะใจมาตามหา หลังติดต่อไม่ได้ สุดท้ายพบเป็นศพ
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6576394
 
หายไปติดต่อไม่ได้ เพื่อนเอะใจมาตามหาที่ห้อง สุดท้ายพบเป็นศพ คาดเสียชีวิตนานแล้ว ผวาจนท.ตรวจพบติดเชื้อโควิด
 
วันที่ 21 ส.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา พบศพ ชาย อายุ 49 ปี นอนเปลือยกายขึ้นอืดอยู่บนเก้าอี้ ภายในห้องเช่า ซอยวิลล่า เขตเทศบาลสำนักขาม อ.สะเดา หลังขาดการติดต่อไปตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. และผลการตรวจหาเชื้อโควิดพบว่ามีผลเป็นบวก โดยศพอยู่ในห้องเช่ามามากว่า 17 ชั่วโมง ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกมาได้ ต้องรอทีมกู้ภัยที่เชี่ยวชาญในการเก็บศพและมีชุดรวมถึงอุปกรณ์ป้องกันโควิดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งตรวจสอบไทม์ไลน์เพื่อหาผู้สัมผัสใกล้ชิด
 
จากการสอบถามทราบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชาว จ.เชียงราย มาอาศัยอยู่พื้นที่บ้านด่านนอก มากกว่า 15 ปีแล้ว โดยทำงานก่อสร้าง และพักอาศัยอยู่ในห้องเช่าคนเดียว โดยเพื่อนพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ส.ค. หลังจากไปทำงานก่อสร้างที่ ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ และได้ขอกลับมาที่บ้านด่านนอก และหายไปติดต่อไม่ได้ เพื่อนจึงมาตามหาที่ห้องเช่า พบว่าเสียชีวิตอยู่ภายในห้อง โดยผู้ตายมีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งเบาหวาน ความดัน และเก๊าท์ แต่ไม่มีใครทราบว่าติดเชื้อโควิด
 

 
“กงเต๊กวัคซีน” รับสารทจีน สะท้อนปัญหาโควิด
https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/154600
 
เข้าสู่เทศกาลสารทจีน บรรยากาศรวมๆหลายจังหวัดเงียบเหงา แต่ที่เยาวราช มีไอเดียผุดขึ้นที่ร้านขายขายกระดาษเงิน กระดาษทอง พบมีการทำกระดาศออกมาเป็นวัคซีนโควิด เซ็ตละ 3 โดส ไฟเซอร์ โมเดอร์นา มาครบผู้ออกแบบ เปิดใจกับทีมข่าวว่าอยากสะท้อนปัญหาสังคมเรื่องการกระจายวัคซีนและสถานการณ์โควิดแบบสร้างสรรค์
 
วัคซีนกงเต๊ก 1 ชุดมี วัคซีน 3  ขวด ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา และ แอสตร้าเซนเนก้า รวมถึงมีชุดตรวจหาเชื้อโควิด รวมอยู่ด้วย  เป็นไอเดียของนาย
พีรสรณ์ จิรพิชิตชัย  เจ้าของร้าน ขายกระดาษเงินกระดาษทอง ย่านเยาวราช เปิดใจว่านอกจากปรับเปลี่ยนเพื่อให้ยอดขายดีขึ้น ยังอยากสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องโควิด และ เรื่องการบริหารจัดการวัคซีน เป็นการประชดประชัน เชิงสร้างสรรค์ ว่า คนทั่วไปยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย แต่บรรพบุรุษกำลังจะได้ฉีด
 
ส่วน นางสาวรสิตา จิรพิชิตชัย เจ้าของร้านอีกคน เปิดเผยกับทีมข่าวพีพีทีวีว่าปกติวันสารทจีน จะมีลูกค้ามาซื้อกระดาษเงิน กระดาษทองไปประกอบพิธีกรรมน้อยกว่าวันตรุษจีนอยู่แล้ว แต่ช่วงโควิด-19 พื้นที่เยาวราชถือว่าย่ำแย่ ทำให้เธอและครอบครัวปรับรูปแบบการขาย ผลิตกระดาษกงเต็กที่เข้ากับสถานการณ์ โดยเลือกเป็นวัคซีนและหน้ากากอนามัย นอกจากนี้เธอยังเปลี่ยนรูปแบบเป็นขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
 
สำหรับภาพรวมการจับจ่ายซื้อของไหว้เจ้าในวันสารทจีน ย่านเยาวราช บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงากว่าปีก่อนๆอย่างเห็นได้ชัด ร้านขายขนมเทียน ขนมเข่งสำหรับไหว้บรรพบุรุษลดปริมาณการผลิตลงกว่า 50 % ขณะที่บางร้านปลดคนงานออกเพื่อประคองร้านให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่